BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข


เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข

แม้ว่าในการดำเนินชีวิต เราไม่สามารถจะทำความปรารถนาทั้งสี่ประการให้สมบูรณ์ครบถ้วนได้ (ดู ความปรารถนา ? ) พระพุทธเจ้าก็สอนว่าให้แสวงหาความสุขในการดำเนินชีวิต ๔ ประการ นั่นคือ

๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์ นั่นคือ ต้องขยันทำมาหากินเพื่อให้ได้ทรัพย์สมบัติมา 

๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ นั่นคือ เมื่อมีทรัพย์ก็ให้ใช้จ่ายแสวงหาความสุขตามที่ใจปรารถนา บางคนอาจมีความสุขจากทรัพย์สมบัติที่มีมากมาย แต่เป็นผู้ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ค่อยใช้จ่าย จึงไม่ได้ความสุขจากทรัพย์ที่มีอยู่ (มีแต่ความพูมใจหรือความสุขว่าตัวเองมีทรัพย์สมบัติเท่านั้น)... ทรัพย์ที่มีอยู่ แต่ไม่ใช้จ่ายแสวงหาความสุขก็ไม่มีประโยชน์เปรียบเหมือนมะพร้าวแห้งที่สุนัขได้ไป ฉะนั้น

๓. สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ นั่นคือ ให้รู้จักควบคุมมิให้รายจ่ายมากกว่ารายได้ บางคนแสวงหาความสุขจากการใช้จ่ายเกินตัว จนกระทั้งเป็นหนี้สิน จึงไม่ได้ความสุขในข้อนี้ ...พอมีทรัพย์สมบัติอยู่บ้าง สามารถจับจ่ายสิ่งต่างๆ ได้พอสมควร และไม่เป็นหนี้ใคร...ถ้าได้ครบทั้งสามอย่างนี้ ก็ชื่อว่ามีสุขในสามข้อนี้

๔. สุขเกิดจากการงานไม่มีโทษ นั่นคือ การดำเนินชีวิตจะต้องถูกต้องตามหลักกฎหมายและศีลธรรม...บางคนอาจร่ำรวย ใช้จ่ายได้ตามใจปรารถนา และไม่มีหนี้สิน ...แต่ทรัพย์สมบัติที่ได้มานั้นประกอบอาชีพไม่ถูกต้อง เช่น ค้ายาเสพติด หรือหลอกลวงต้มตุ่นผู้อื่น ก็ชื่อว่าการงานมีโทษ และจะไม่ได้ความสุขจากข้อนี้... เพราะต้องคอยระแวดระวังเวรภัยที่จะมาถึงตัว คล้ายๆกับวัวสันหลังหวะ ที่ต้องทนลำบากเพราะแมลงมารบกวน ...ฉะนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสย้ำถึงความสุขในการงานไม่มีโทษข้อนี้ว่า มีค่าสูงสุดในบรรดาสุขทั้งสี่ประการ โดยตรัสว่า สุขสามประการข้างต้นรวมกันยังไม่ถึงเสี้ยวที่สิบหกของสุขประการสุดท้าย ...

  • ผู้เขียนคิดว่า แม้จะไม่มีความรู้มากมาย มิได้ร่ำรวยล้นฟ้า และเป็นคนไร้เกียรติยศ แต่ถ้าในการดำเนินชีวิต มีความสุขครบถ้วนตามนัยนี้ ก็ได้ชื่อว่าดำเนินชีวิตที่ดีและถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
หมายเลขบันทึก: 71986เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ท่านครับ จำเป็นต้องมีความสุขจากข้อ 1 -  4 เรียงลำดับกันมาหรือว่าสามารถมีความสุขข้อ 4 ได้โดยไม่ต้องผ่านข้อ 1 - 3 ครับ เพราะตอนนี้กระผมอาจจะมีข้อสี่ แต่ข้อ 1-3 อาจจะไม่ค่อยมีครับ

เจริญพร อาจารย์

ด้วยความยินดีครับ...คำถามของอาจารย์ค่อนข้างยาก ต้องจัดลำดับความคิดเพิ่มเติมครับ..

ตามที่ผ่านมา...หมวดธรรมทั้งหมดจะมีนัยสำคัญในการเรียงลำดับเสมอ เช่น จากน้อยไปหามาก มากไปหาน้อย ระบบต่อเนื่องแบบลูกโซ่ หรือมีความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน....

พิจารณาจากประโยชน์ คำสอนทางพระพุทธศาสนาจัดแบ่งประโยชน์ไว้ ๓ ประการคือ ๑. ประโยชน์ปัจจุบัน (หรือชาตินี้) ๒. ประโยชน์อนาคต (หรือชาติหน้า) ๓. ประโยชน์สุดสุด (คือนิพพาน)

สุข ๔ ประการ นี้ สามข้อข้างต้นเน้นประโยชน์ปัจจุบัน ส่วนข้อสุดท้ายเน้นประโยชน์ครบทั้งสาม กล่าวคือ..

ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยสุจริตตามทำนองครองธรรม ที่เรียกว่า การงานไม่มีโทษ แล้ว ก็จะได้ ประโยชน์ปัจจุบัน คือมีความพูมใจในตัวเอง นับถือตัวเองได้ และจะเกื้อหนุนสุขข้อที่สองคือเป็นที่ยอมรับนับถือของลูกหลานบริวาร เป็นต้น

ไม่ต้องคอยระแวดระวังเวรภัยที่จะมาถึงในอนาคต เช่น นักการเมืองบางคนมีความสุขอยู่ระยะหนึ่งก็ต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน อาจเป็นเพราะเค้าขาดข้อสุดท้าย (สุขไม่มีโทษ) นั่นคือ สุขข้อสุดท้ายจะก่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต (ทั้งชาตินี้และชาติหน้า แต่ชาติหน้าไม่สามารถแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ได้เท่านั้น)

ประโยชน์สูงสุด ก็คือ การสิ้นทุกข์หรือนิพพานตามอุดมคติทางพระพุทธศาสนา (คือชาติสุดท้าย) นั่นคือ การดำเนินชีวิดด้วยการงานไม่มีโทษ จัดเป็นการบำเพ็ญบารมีเพื่อการสิ้นอาสวกิเลส

ดังนั้น ความสุข ๓ ประการข้างต้นคล้ายๆ เครื่องเล่นในระหว่างการเดินทางเพื่อไปสู่จุดหมาย ส่วนความสุขประการสุดท้ายคงจะคล้ายๆ การบำรุงพาหนะให้มีพลังเพียงพอในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ถูกทางและใกล้เคียงจุดหมายยิ่งขึ้น...ประมาณนี้ ..

รวมความว่าการดำเนินชีวิตด้วยการแสวงหาความสุข ๔ ประการนี้ เป็นการทำประโยชน์ทั้งสามประการให้สำเร็จนั่นเอง

ถ้าอาจารย์ไม่ถามประเด็นนี้ อาตมาก็คงไม่มานั่งวิเคราะห์เรื่องนี้ จึงขออนุโมทนาต่ออาจารย์ที่มีส่วนให้อาตมาเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องนี้ยิ่งขึ้น

เจริญพร 

 

 

 

อาจารย์เก๋(ไม่รู้เรียกถูกป่าว)ครับ....

 

ข้อเดียวน่ะ...สุดยอดแล้วครับ

 

การงานไม่มีโทษ...ขออนุญาตล้ำเส้นพระอาจารย์นิดนึง(ตามประสานักขัดคอ...อิอิ) การงานไม่มีโทษ(มีแต่คุณ)มีอาชีพเดียวครับ...พระสมณเจ้า(ที่ประพฤติตนตามพระธรรมวินัยจริงๆ...อิอิ)เท่านั้น...555

 

ตีความโดยหยาบๆ...อาจมีอาชีพที่เป็นสัมมาชีพอีกหลายอาชีพ...แต่ทำแล้วหวังผลเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นอย่างแท้จริง เช่น เป็นครูก็มุ่งมั่นสอนนักเรียนให้ได้ความรู้เกิดปัญญาจริง ๆ ไม่มุ่งหวังอามิสสินจ้างจนกระทั่งต้องสอนในเวลาไม่เต็มที่ ไปสอนพิเศษดีกว่าประมาณนี้... เป็นหมอก็รักษาคนไข้โดยมุ่งหวังให้หายจากโรคภัยจริง ๆ ไม่เลี้ยงไข้ไว้ไปเจอกันที่คลีนิค....555 

 

เข้าใจว่าอาจารย์เก๋คงหมายถึงประเด็นหลังมากกว่า....และอาจารย์เก๋คงเป็นอาจารย์อย่างที่ผมคิด...ซึ่งสอบผ่าน 3 ข้อแรกตั้งแต่ต้นแล้วอ่ะครับ....

โยมขำ ?

มาเมื่อไหร่ เนียะ.... 5 5 5

จะเขียนต่อ พอดีกังวลเรื่องออกข้อสอบกลางภาคอยู่นะ รอก่อน นะคุณโยม

 เจริญพร

ในความเข้าใจของผมก็คือ "ไม่น้อยเกินไป และก็ไม่มากเกินไป" ดังคำกล่าวที่ว่า(จำไม่ได้ว่าของใคร) "ไปไกลเกินไป แย่พอ ๆ กันกับ ไปไม่ไกลพอ"

อาจจะเป็นธรรมชาติของคนเราที่ มักจะแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองไม่มี หรือคิดว่าไม่มี แต่เมื่อได้มาแล้วกลับทิ้งขว้าง(เป็นซะอย่างนั้น) เมื่อเป็นกระนั้นแล้ว ก็อยากจะได้อีก เพิ่มขึ้นอีก ๆๆๆๆๆ ไม่มีที่สุดสิ้น

โทรศัพท์ฟังก์ชันครอบจักรวาล แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากรับสายเข้าและโทรออก

โน๊ตบุ๊ค เช่นเดียวกัน ราคาหลายหมื่น ทำอะไรบ้างนอกจากพิมพ์งาน ดูหนัง ฟังเพลง

สังคมติดกับ(ดัก) คำว่า "ดีขึ้น" "ดีกว่า" มากกว่า คำว่า "เพียงพอ หรือ พอเพียง"

เจริญพร คุณอุทัย

เห็นด้วยครับ...

ไม่รู้ใครเหมือนกันจำแนกออกเป็น คุณค่าแท้ และ คุณค่าเทียม...

คุณค่าแท้สำคัญ...มิใช่ว่าคุณค่าเทียมจะไม่สำคัญ...แต่ ถ้าปล่อยให้คุณค่าเทียมมีอิทธิพลเข้าไปครอบงำคุณค่าแท้ ก็เข้าข่าย หลงมัวเมา ได้ครับ

เจริญพร

 

อีกคำนึงคือค่านิยมลวงอ่ะครับ...พระอาจารย์

 

ผมได้พูดคุยกับน้องที่เขาไปเก็บตัวตกผลึกทางความคิด(คนนั้นแหละครับ)... เขาเห็นว่าค่านิยมลวงเกิดขึ้นจากการเห็นความจริงขั้นที่สอง

ความจริงสูงสุด..คือ...สัจจธรรม...อันนี้น้องเขาไม่ได้บอก...ผมว่าเอง...555

ความจริงขั้นแรก...การเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น...เขาเปรียบเทียบการมองของเด็กกับการมองของเรา...เรามักปรุงแต่เกินกว่าสิ่งที่เป็นอยู่จริง...

ความจริงขั้นที่สอง...(หรือความจริงที่หลอกลวง) เราผนวกเอาอาการรับรู้ทางผัสสะต่าง ๆ ร่วมสร้างอุปทาน...เช่นแทนที่จะกินอาหารเพื่อมีชีวิตอยู่..ก็ต้องให้อร่อยด้วย แทนที่จะมีที่อยู่อาศัยกันลมกันฝน...ก็ต้องใหญ่โตหรูหรา...แทนที่จะมีเครื่องนุ่งห่มพอปิดบังกาย...ก็ต้องสวยงาม(แถมโชว์นั่นโชว์นี่อีกต่างหาก...อันนี้ผมว่าเองครับ...อิอิ)แทนที่จะใช้ยารักษาโรคให้ตรงกับอาการ...ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลดีๆ หมอเก่ง ๆ...

กลายเป็นค่านิยมลวงที่เกิดขึ้น... คราวนี้สิ่งที่พอกพูนให้หนาขึ้นก็คือความจริงขั้นที่ 3 คือการปรุงแต่งให้เลิศหรูสแมนแตนมากขึ้นไปอีก...

 

น้องเขาเชื่อว่าการแก้ปัญหาในปัจจุบันเป็นการแก้ปัญหาของความจริงระดับที่ 3 มากกว่า...ซึ่งมันทำให้เกิดอาการยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง...เพราะมันจะพัวพันกันไปมาไม่รู้จักจบ...เฮ้อ..

คุณโยมขำ ครับ

ตถตา คำนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาส แปลว่า เช่นนั้นเอง

ถ้าแยกศัพท์ ตถะ + ตา= ตถตา

ตถะ แปลว่า ความจริง

ตา แปลว่า ความเป็น

ตถตา แปลว่า ความเป็นแห่งความจริง

เจริญพร

ขอบพระคุณพระอาจารย์และคุณขำมากครับ ผมยังไม่ได้เป็นอาจารย์อย่างที่คุณขำเขียนแน่ๆ  เลยครับ อิอิ กิเลสยังหนาอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท