ตามไปดู KM บุรีรัมย์ที่ฐานการเรียนรู้บ้านส้มกบ


ปุ๋ยธรรมชาติ คือ ฝนแรกที่ตกเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างฝุ่นละอองที่มีในอากาศลงสู่พื้นดิน ใบไม้ใบหญ้าจะเร่งการเจริญเติบโต แข่งกันเขียวขจีเหมือนกับมีอาหารอร่อยถูกใจกินเข้าไปแล้วสดชื่นนั่นเอง

ตอน : ปุ๋ยธรรมชาติ ขนมหวานของพืช

              จากทางที่ผ่านมองลงไปทุ่งนาเห็นความแห้งแล้งคืบคลานมาให้เห็นเป็นระยะ เห็นวัว ควายเล็มหญ้า และตอฟางอยู่กลางทุ่งที่แห้งแล้งนั้น เพราะตลอดทางที่ผ่านสังเกตุเห็นจากความเขียวชะอุ่มมีน้อยมาก ถ้ามองเห็นมีสีเขียวบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นแปลงเกษตรกรเครือข่ายของครูบา ออกไปอยู่ทุ่งนาทำมาหากิน ปลูกสร้างให้เกิดความเขียวขจี มีชีวิตกว่าแปลงข้างเคียงตั้งมากมาย เมื่อมองเปรียบเทียบกันเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ได้แต่คิดในใจว่า ฝากไว้ก่อนแล้วจะย้อนมาค้นหา  แต่วันนี้เรามีจุดหมายปลายทางอยู่ที่แปลงน้องกิ่งค่ะ
              วันที่เราไปลงแปลงของน้องกิ่ง เรามีนัดประชุมพูดคุยถึงความคืบหน้าในเชิงปฏิบัติการของฐานการเรียนรู้จากหลาย ๆ ฐานที่อยู่ใกล้กันโดยนัดหมายหัวหน้าฐานเดิมของเราเป็นตัวแทนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ขอยืมใช้ฐานการเรียนรู้ของน้องกิ่งเป็นสถานที่ในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน คณะของเราเดินทางไปถึงที่แปลงนาของน้อง ยังไม่ทันได้ดูอะไรสักเท่าไร ก็เห็นรถอีแต็กที่บรรทุกของมาเต็มคันรถ พร้อมมีหนุ่มน้อยหน้ามนสองคนใส่แว่นดำนั่งมาในรถ คนหนึ่งขับอีกคนหนึ่งจับสิ่งของที่ใส่มาไม่ให้กระเด็นกระดอนออกจากรถ เพราะทางเข้าแปลงนาขรุขระมาก พอรถจอดกลายเป็นพ่อใหญ่ทั้งสองของเรานั่นเอง พ่อกว้าง เป็นสารถีนั่งคู่กับพ่อวิจิตร ตามมาติด ๆ เป็นพ่ออุ่นขับจักรยานยนต์ซิ่งมาทันกันพอดี ยังไม่ทันจะนั่งให้ดี พ่อทองก็มาถึงอีกคน แหมครบองค์ประชุมแล้วค่ะ
                หันหน้าเข้าหากันต่างประชันฝีปาก โดยไม่ได้ลำบากจัดคิว สิ่งที่น่ารู้พรั่งพรูออกมาเป็นทิวแถว
พ่ออุ่นบอกว่า หน้าแล้งให้เตรียมไถ สานไซให้สานหน้าฝน หลังจากที่ถามว่าควรปลูกกล้วยตอนไหนดีที่สุุุุุุุุุุุุุุุุุุุด และยังบอกต่อว่า กล้วยชอบดินร่วน ไม่แฉะ ทนแล้ง แต่ไม่ชอบดินร้อน และถ้าให้ดีให้ปลูกก่อนหรือในช่วงที่จะมีปุ๋ยธรรมชาติร่วงลงมาจากฟากฟ้า          
              
ปุ๋ยธรรมชาติ
คือ ฝนแรกที่ตกเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างฝุ่นละอองที่มีในอากาศลงสู่พื้นดิน ใบไม้ใบหญ้าจะเร่งการเจริญเติบโต  แข่งกันเขียวขจีเหมือนกับมีอาหารอร่อยถูกใจกินเข้าไปแล้วสดชื่นนั่นเอง ตามหลักคิดของคนเฒ่าคนแก่บอกว่าสิ่งที่ฝนนำมาด้วยในฝนแรกของฤดูนี้แหละคือของหวานหรือปุ๋ยธรรมชาติของต้นไม้  ถ้าใครปลูกหรือเพาะกล้าต้นไม้ก่อนหน้าที่ฝนจะลงสัก
2-3  สัปดาห์ ต้นไม้ที่ปลูกไว้ไม่ตายแน่นอน และเป็นการดีที่ต้นไม้จะออกรากมากเพื่อหาอารมาเลี้ยงลำต้น เพราะต้นไม้เองก็กลัวตายเหมือนกัน มันต้องสู้สุดฤทธิ์ที่จะมีชีวิตรอดให้ได้ แต่ทางตรงกันข้ามถ้าปลูกในช่วงที่ฝนลงมามาก ดินแฉะ มีน้ำขัง กลายเป็นว่าปลูกพืชติดยากกว่ากัน จะมีโรคต่าง ๆ ตามมาอีกหลายโรค เพราะมีอาหารมากเกินไป ต้นไม้ไม่ออกราก บ้างก็สำลักน้ำ บ้างก็ยืนตาย เน่าไปเฉย ๆ ก็มากมาย เพราะต้นอ่อนอยู่ ยังไม่แข็งแรง
                 จึงเข้าสูตรที่พ่ออุ่นบอกว่า
หน้าแล้งให้เตรียมไถ สานไซให้สานหน้าฝน เพราะหน้าแล้งควรเตรียมพื้นที่ เตรียมแปลงปลูก และลงมือปลูก ถ้าจะเตรียมของใช้ไว้จับปลาให้เตรียมในหน้าฝน เช่น ไซ (สานด้วยไม้ไผ่ รูปทรงยาวรี มีปากไซ และด้านข้างทำทางเข้าไซไว้ล่อให้ปลาเข้าไป แต่เวลาออก ออกไม่ได้ เพราะถูกไม้ไผ่ที่สานขัดกันไว้กันทางออก)  จึงจะได้ใช้งานจริง
         
               
หลายคนอาจจะคิดว่าก็ในเมื่อมันแล้ง แ้ล้วจะปลูกได้เหรอ ถ้ามาคิดให้ดีตามที่พ่ออุ่นปฏิบัติจนเป็นความรู้ที่ติดปลายนวมมาขนาดนี้ ต้นไม้ที่ปลูกในช่วงที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้องหาทางอยู่ให้รอดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ ถือเป็นประเด็นที่
1 แล้วพออยู่ได้ไกล้จะหมดแรง ก็มีน้ำจากธรรมชาติมาโปรยให้แผ่นดินมีความชุ่มขึ้น ต้นไม้ที่ขาดน้ำต้องรีบปรับตัวรับกับชีวิตใหม่ เร่งกินเร่งโต จึงต้องเร่งแตกยอดอ่อน กลับมีชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกในหนึ่งฤดูนั่นเองคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่ 2
 เช่นเดียวกันกับหญ้าในทุ่งนาก็จะเขียวขจีขึ้นมาให้วัวควายแทะเล็มได้อ้วนท้วนสมบูรณ์ เพื่อเตรียมรับงานไถ งานคราดที่จะตามมานั่นเอง เหมือนกับที่คนเฒ่าคนแก่เชื่อว่าถ้ามะม่วงต้นไหนไม่ออกดอกในฤดูที่ควรออกแล้วให้ใช้มีดฟันกิ่งใหญ่ หรือลำต้น เพื่อให้เกิดแผลไปถึงแก่นของไม้ สัก 2-3 แผลจะทำให้มะม่วงกลัวตายต้องรีบออกดอกเพื่อจะได้ขยายพันธุ์มีลูกมีผล ให้เราได้เก็บกินกัน อันนี้ก็เป็นความรู้อีกหนึ่งความรู้ 
               
แต่ก็น่าจะอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้นะคะ ขอความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์จากผู้รู้ทั้งหลายได้ช่วยบอกเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ ในเรื่องของปุ๋ยธรรมชาติ ขนมหวานของพืช ว่ามันคืออะไรและเกิดอะไรขึ้น
 
ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกความคิดเห็นนะคะ แล้วติดตามตอนต่อไปค่ะ                         
หมายเลขบันทึก: 71971เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมว่า Keyword ของงานนี้คือการวางแผนในแปลงตามจังหวะเวลาครับ

ที่น่าตื่นเต้นกว่าที่เล่ามา

อยากให้ไปดูวิธีการเล่าของคุณตุ๊ครับ

จะเห็นการเล่าที่เร้าใจเป็นอย่างไร

   เข้าไปติดตามงานของคุณตุ๊อยู่บ่อย ๆ ค่ะ ชื่นชมในงานเขียนมาก ก็ยอมรับนะคะว่าตนเองด้อยฝีมือจริง ๆ ไม่สามารถเข้าไปเจาะใจของท่าน ดร.แสวงได้ แต่จะพยายามพัฒนาค่ะ

                                       ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท