เมื่อนักศึกษาไทยริจะวิจัยซามูไรญี่ปุ่น---ความรักครั้งแรก


...ฉันจึงรู้สึกว่าโชคดีมาก ที่ทำได้มากกว่าแค่การอ่าน หรือการทำวิจัยทั่วไปที่ใช้การสัมภาษณ์ และ แบบสอบถาม แต่ฉันได้มีโอกาสเรียนรู้ที่จะปฏิบัติ พูด และ คิด แบบซามูไรด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้เกิดประสบการณ์ตรง เพื่อที่จะได้ตอบคำถามได้ว่า การฝึกดาบซามูไร มีองค์ประกอบของการเจริญสติอย่างไรบ้าง และส่งผลต่อแนวคิด การใช้ชีวิต ของชนชั้นปกครองที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติญี่ปุ่นมาอย่างไรบ้าง

**หมายเหตุ ** นี่คือความรู้สึกของฉันเมื่อเดือนเมษา ๒๕๔๘ เมื่อฉันเริ่มเรียนการใช้ดาบซามูไรได้ไม่กี่ครั้ง  เคยเขียนเก็บไว้  ไม่ได้บอกใคร  คราวนี้ดีใจที่จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้สนใจไถ่ถามมา


Samurai Book

วิถีดาบซามูไร เป็นสิ่งที่ลี้ลับสมชื่อหนังสือเล่มนี้ ที่ฉันได้จากเซนเซมาในวันแรกที่ไปฝากตัวเป็นศิษย์และได้จับดาบซามูไรเป็นครั้งแรกในชีวิต (หนักมาก)


ฉันไปเรียน เพราะได้เห็นจากใบประกาศว่าเป็นการฝึกสมาธิแบบเซนด้วยดาบซามูไร ดาบนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ และวิถีดาบเป็นเพียงกระบวนการสอน ศิลปการป้องกันตัวถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนาตนเองด้วยสมาธิแบบเซน


ดุษฎีนิพนธ์ที่ฉันตั้งใจจะทำนั้น จะมีส่วนหนึ่งที่พูดถึงหลักการฝึกสติในพุทธศาสนา ที่กลมกลืนอยู่ในศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ของญี่ปุ่นมากมาย วิถีดาบซามูไร ก็เป็นหนึ่งในนั้น


ฉันจึงรู้สึกว่าโชคดีมาก ที่ทำได้มากกว่าแค่การอ่าน หรือการทำวิจัยทั่วไปที่ใช้การสัมภาษณ์ และ แบบสอบถาม แต่ฉันได้มีโอกาสเรียนรู้ที่จะปฏิบัติ พูด และ คิด แบบซามูไรด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้เกิดประสบการณ์ตรง เพื่อที่จะได้ตอบคำถามได้ว่า การฝึกดาบซามูไร มีองค์ประกอบของการเจริญสติอย่างไรบ้าง และส่งผลต่อแนวคิด การใช้ชีวิต ของชนชั้นปกครองที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติญี่ปุ่นมาอย่างไรบ้าง


เพียงการฝึกครั้งแรก เซนเซก็ได้ทำให้ฉันตระหนักว่า นี่ไม่ใช่คอร์สศิลปะป้องกันตัว สิ่งที่เซนเซสอน ไม่ว่าจะเป็นด้วยการกระทำ หรือ ปากเปล่า ล้วนสอดแทรกปรัชญา แนวคิด การพัฒนาบุคลิกภาพ และการวางตนในสังคม

 

แต่ก็แน่นอน....ฉันยอมรับว่าฉันยังแพ้กิเลสแบบปุถุชนทั่วไป....เพราะฉันหลงรักการไปเรียนดาบซามูไรกับเซนเซเข้าให้แล้วหลังจากได้ลิ้มลองรสชาติการทดสอบกายใจเป็นครั้งแรก...


มองจากในกรอบของ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งฉันตั้งใจจะใช้เป็นกรอบในการวิจัย ฉันพบว่า การฝึกดาบซามูไรไม่ได้เป็นการฝึกอยู่ในเพียงฐานกาย แต่ยังทำให้ฉันสามารถฝึกการรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการต่าง ๆ ของตัวเอง ซึ่งอาจจะเปรียบได้กับฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน


ตัวอย่างเช่น เมื่อเข้าชั้นเรียนกับศิษย์ผู้พี่ที่เก่งมาก ๆ เมื่อฝึก ๆ ไป ฉันสามารถรับรู้ได้ถึงความกลัวในใจฉัน ที่จะทำพลาด และทำให้ทั้งชั้นต้องรอฉันคนเดียว ท่าเก็บดาบจากการออกดาบในท่ายืนเป็นจุดอ่อนของฉัน เพราะยังทำได้ไม่คล่อง และมันเป็นการยากไม่น้อยที่จะต้องสะบัดดาบที่ทั้งหนัก ทั้งคม และ ยาวมากรีดจนสุดกับฝักแล้วสอดเก็บแนวเฉียงโดยไม่มองที่ดาบเลย

Iaido Image
ภาพการเก็บดาบเข้าฝักในจังหวะสุดท้าย ยืมภาพมาจากสำนัก
 Eishin Ryu ที่มาภาพ: http://itama.org/iaido/iaipics/iaipics-Images/1.jpg


ในการฝึกนั้น สายตาจะต้องมองไปข้างหน้าตรงตำแหน่งศัตรูสมมติ ซึ่งสถานที่ฝึกเป็นโรงยิมที่มีกระจก ก็พอจะช่วยได้บ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะให้เห็นรายละเอียดว่า ปลายดาบนั้นได้สอดเข้าฝักหรือยัง ฉันฝึกท่านี้จนโดนน้ำหนักด้ามดาบกดลงไปที่นิ้วโป้งขวาจนเป็นรอยถลอกและช้ำเล็กน้อย แต่ก็ไม่เจ็บมาก เว้นแต่ตอนอาบน้ำครั้งแรกแสบเล็กน้อย



นอกจากนั้น ก็มีบาดเจ็บนิดหน่อยที่เข่าบ้าง เพราะท่าฟันดาบสองในสามท่าแรกนั้น จะมีท่าคุกเข่าลงไปอย่างค่อนข้างแรง สลับกันไปทั้งสองเข่า ที่แรงก็เพราะว่าคุกเข่าลงไปพร้อมกับจังหวะฟันดาบจากท่ายืนเป็นนั่งคุกเข่าข้างหนึ่ง ก่อนที่จะสลับเข่า สะบัดเลือด(สมมติ) แล้วกรีดทำความสะอาดดาบก่อนเก็บเข้าฝัก

oda iaido

 ภาพจังหวะการฟันลงพร้อมคุกเข่าลงจากท่ายืน ก่อนจะสะบัดเลือด (ในจินตนาการ) แล้วกรีดเก็บดาบอย่างภาพบนสุด   ที่มาภาพ: http://www.bkr.be/images/oda_iaido.jpg

 

 

haruna iaido

ส่วนภาพนี้ น่าจะเป็นจังหวะการสะบัดเลือดในจินตนาการออกจากดาบ สำหรับการฟันท่านี้ ของอีกสำนักหนึ่ง ซึ่งเป็นจังหวะต่อเนื่องของภาพกลาง  ก่อนที่จะไปจบที่ภาพบนสุดตอนกรีดดาบเก็บ  ที่มาภาพ: http://www.uoguelph.ca/~iaido/Haruna.jpg


การเรียนของวิชาการใช้ดาบซามูไร ยังมีการฝึกนั่งสมาธิจริง ๆ ทั้งก่อนและหลังออกดาบ และสุดท้ายตอนจบการฝึกด้วย อย่างหลังนี้ทำอย่างเป็นทางการมาก โดยเซนเซจะเป็นผู้นำอยู่หน้าชั้น และพวกเราก็นั่งลดหลั่นกันไปอยู่ข้างหลัง


อีกทั้งยังมีการฝึกการแก้สถานการณ์ต่าง ๆ กัน โดยทั้งมีดาบ และ มือเปล่า ซึ่งเซนเซเน้นมากถึงความสำคัญของการไม่ให้ใช้กำลังรุนแรงทั้งกายและใจ แต่ให้ใช้ความนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ พร้อมทั้งกำลังภายในออกมาสยบคู่ต่อสู้


เซนเซใจเย็นมาก และก็พูดไทยไม่ค่อยได้ ฉันเองก็พูดญี่ปุ่นยังไม่ค่อยคล่อง แต่ก็พยายามเรียนรู้จากสัมผัสและท่าทาง เซนเซจะให้ฝึกแก้สถานการณ์ที่สมมติขึ้นมาจนกว่าฉันจะทำถูก นั่นก็คือ ไม่ใช่เพียงแก้ไขออกไปได้ แต่จะต้องไม่ใช้กำลัง และต้องหัดใช้กำลังภายในด้วย



ในส่วนนี้ ฉันพบว่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรมฉ้นช่วยได้มาก โดยเฉพาะในส่วนของสมถะภาวนา ที่เน้นไปที่การฝึกกำลังความกล้าแข็งของสมาธิ เน้นการใช้ใจช่วยส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายล้วน ๆ โดยไม่ออกแรงบังคับกล้ามเนื้อเลย เป็นต้น

 


ที่ฉันชอบที่สุด ก็คือเวลาเซนเซจะคอยบอกฉันว่า ตอนนี้ใจร้อนอยู่ รู้ตัวหรือเปล่า หรือไม่ก็ ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องกลัว หรือบางทีก็จะบอกว่า ไม่ต้องเกรงใจ เพราะฉันไม่กล้าฟันดาบส่วนตัวของเซนเซที่เซนเซให้ยืมหัดซ้อมท่าฟันอย่างเต็มที่ เพราะเป็นดาบที่ดีมาก มีความสมดุลย์ที่ดี เวลาฟันลงมามีเสียงดาบผ่าลมชัดเจน และรู้สึกเบากว่าดาบที่ใช้ฝึกทั่วไป

 

ฉันกลัวทำดาบเซนเซพัง แต่เซนเซรู้ใจฉัน เพียงดูแค่ท่ายกดาบฟันเท่านั้น หรือแม้แต่ท่านเดินเอามือไพล่หลังอยู่ไกล ๆ อารมณ์คล้าย ๆ เดินจงกรมแบบเซน  ต่างกับเดินจงกรมของเถรวาทเราหน่อยคือเหมือนจะลากเท้าแนบไปช้า ๆ กับพื้นไม้ ท่านไม่หันมามองฉันเลย  แถมยังหันไปชมนกชมไม้ข้างนอกอีกด้วย   แต่แค่ได้ยินเสียงฉันฟันดาบจากระยะไกลท่านก็รู้แล้วว่าฉันจิตใจเป็นอย่างไร  ซึ่งยิ่งทำให้ฉันประหม่าเข้าไปใหญ่

 


มีปรัชญาอีกมากมายที่เซนเซสอดแทรกมาในการสอน ไม่ว่าจะเป็น วิธีทำสมาธิแบบเซน ให้ทำใจอย่างไรเวลาก่อนและขณะออกดาบ รวมไปถึงเวลาเก็บเข้าฝัก เซนเซยกตัวอย่างว่า เวลาทำสมาธินั่งหลับตา ๑๕ วินาทีก่อนออกดาบนั้น ให้ทำใจเหมือนทะเลที่สงบนิ่ง พอช่วงออกดาบ ให้ทำใจเป็นทะเลแบบเวลามีสึนามิ และเวลาเก็บดาบ ก็ให้ทำใจให้เป็นทะเลนิ่งอีกครั้ง  โห....ฉันชอบมากเลยวิธีอธิบายแบบนี้  เห็นภาพชัดเลย...ง่า...แต่ยังทำไม่เป็นน่ะค่ะเซนเซ  sumimasen! (ขอโทษด้วยค่ะ)

 


หรือไม่ เวลาเซนเซเห็นฉันทำได้แล้วในบางท่า ที่ใช้ความนิ่งแก้สถานการณ์คับขัน เซนเซก็จะพูดสั้น ๆ ว่า เรียนไปแล้ว ออกไปข้างนอก ก็ต้องใจเย็น(อย่างนี้) ด้วยนะ  เอาออกไปใช้ให้ได้ด้วย เซนเซบอก 

 

ฉันชอบมากกับการสอดแทรกเนื้อหาการสอนการใช้ชีวิต ที่มีอยู่ตลอดเวลาที่เรียน แต่ไม่มากเกินไป และดูไม่เป็นการจงใจ เป็นเหมือนคำพูดที่เตือนสติ ที่เกิดจากสถานการณ์นั้น ๆ เฉย ๆ ไม่ใช่เป็นคำสอนที่ต้องท่องในแต่ละขั้น

ginkakuj temple, kyoto 

ทุกครั้งที่เรียนการทำสมาธิด้วยดาบซามูไร   เซนเซจะทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคไปฝึกอยู่แถว ๆ ริมน้ำข้างขุนเขาอันทมึนของวัดกินคะคุจิ  ที่เกียวโต ราวปลายสมัยมูโรมาจิ เป็นอันมาก  ภาพนี้ฉันถ่ายเองเมื่อกลางเดือนธค.ที่ผ่านมานี้  ถ้าท่านใดมีโอกาสไปเกียวโตและมีเวลาชมเมืองน้อย  ฉันขอแนะนำวัดนี้เป็นอย่างยิ่ง

 


ฉันสนุกกับการประยุกต์สิ่งที่ได้เคยเรียนรู้มาจากการปฏิบัติธรรมแนวสติปัฏฐาน ๔ (วิปัสสนา) กับการเรียนวิถีดาบซามูไรมาก เซนเซฟังอย่างสนใจ เมื่อฉันพยายามอธิบายด้วยภาษาไทยปนญี่ปุ่น(แถมภาษามือ) ว่า วิปัสสนาก็เป็นสมาธิเคลื่อนไหวเหมือนอย่างดาบซามูไรเหมือนกัน ฉันพบว่า การฝึกดาบซามูไร เป็นการฝึกให้เราได้อยู่ใน "ปัจจุบันขณะ" ได้ดี ซึ่งก็ตรงกับหลักการสำคัญของวิปัสสนา นั่นก็คือ ให้มีสติระลึกรู้ อยู่กับปัจจุบันขณะ ของกายและใจ


ที่จริงแล้ว ฉันไม่ได้เพิ่งมาตกหลุมรักอะไรเกี่ยวกับซามูไรตอนนี้หรอก  ที่จริงความรักครั้งแรกระหว่างฉันกับซามูไรโบราณนี้ มันเริ่มตั้งแต่เมื่อฉันอยู่ม. ๓ แล้ว เมื่อฉันได้อ่านงานเขียนชื่อดังของ เจมส์ คลาเวลส์ คือ โชกุน    

 

ตอนอ่านโชกุนนั้น ฉันก็เคยสงสัยว่า ทำไมซามูไรถึงชอบนึกถึงแต่ความตายของตัวเองกันนัก  เมื่อฉันได้มาฝึกวิปัสสนา ฉันจึงรู้ว่า นั่นเป็นแนวคิดแบบพุทธ เรื่องการไม่ประมาท หรือ เป็นการเจริญมรณานุสติ นั่นเอง ซามูไรจะไม่กลัวความตายของตน และจะหมั่นนึกถึงเสมอเพื่อเตรียมพร้อม และเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในแต่ละวันอย่างสมถะ เรียบง่าย ไม่สะสม ไม่ฟุ้งเฟ้อ เพราะพรุ่งนี้อาจจะเป็นวันตายแล้วก็ได้


เมื่อได้อ่านเวบไซต์ของเซนเซ ฉันจึงชอบเป็นพิเศษ ที่เซนเซเปรียบการฝึกดาบซามูไรว่า เหมือนการปฏิบัติธรรมของพุทธ ซึ่งมีการฝึกทั้งสมาธิ และมีศีล หรือ วินัย ด้วย 


ฉันเพิ่งมีโอกาสได้ไปเรียนเพียง ๓ ครั้ง แต่ฉันก็พบว่า ฉันได้อะไรมามากมาย และทุกอาทิตย์ ฉันก็จะตั้งหน้ารอวันที่จะได้ไปฝึกอีกครั้ง บางครั้ง ฉันพบว่า ฉันหลับตาและทบทวนท่าต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว มันทำให้ฉันนึกถึงที่ฉันเคยอ่านเมื่อตอนเด็ก ๆ ว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่ซามูไรทั้งหลายในประวัติศาสตร์เขาทำเหมือนกัน

 

จากความรักครั้งแรกตอนม.๓ ของฉันกับหนังสืออิงประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งที่เป็นตัวจุดประกายให้ฉันเริ่มค้นคว้าประวัติศาสตร์อ่านเอง 

มาเป็นรักแรกพบ...เมื่อได้มาบรรจบพบกับซามูไรน้ำใจงามในศตวรรษที่ ๒๑  ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาพร้อมดาบคู่ใจถึงเมืองไทย 

เพื่อมาสอนศิลปโบราณหลายร้อยปีนี้ให้กับคนที่จริงใจไม่กี่คน ที่วิบากกรรมเก่าส่งผล ดลบันดาลให้ได้มาเจอกัน

เพื่อสานฝันฝึกฝนการเจริญสติ ทำสมาธิใต้แมกไม้ ใกล้ธารน้ำ ท่ามกลางสายลมเอื่อยและแสงแดดอ่อน  ร่วมกันอีกครั้ง

 

นี่ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง ในมิติอันลี้ลับ ของดาบซามูไร ที่ฉันเพิ่งจะได้เริ่มมาสัมผัสนี้ คอร์สต่อไป ฉันจะได้สัมผัสปรัชญาอะไรใหม่ ๆ อีกก็ไม่ทราบได้ แต่ฉันรู้ว่า ตราบใดที่ฉันสามารถรักษาใจให้มีสติระลึกรู้อย่างแนบแน่นอยู่ในปัจจุบันขณะได้ ก็ถือว่า ฉันได้เดินตามมาในทางเดียวกับเหล่าซามูไรที่เลื่องชื่อในอดีตแล้ว....

つつぐ。。。sepia  paragonbattoujutsu



ความเห็น (5)
  • เปลี่ยนรูปซะแล้ว
  • งง งง นึกว่าจะฟันท้องฟ้า สายลม แสงแดด
  • รอมาเปิดที่เมืองไทยจะไปเรียนด้วย

ก่อนเข้ามาก็รู้สึกว่าตัวเองรู้เรื่องเซนดีในระดับหนึ่ง พอได้อ่านไป-มาใจก็แฟ่บลงไปครึ่งนึง แล้วก็ตระหนักรู้ขึ้นมาได้อีกหน่อยนึงว่าใน84000วิธีนั้น แม้การฝึกดาบเองก็ย่อมไม่ต่างอะไรไปจากการปฏิบัติธรรมรูปแบบหนึ่งจากที่เคยเข้าใจมาก่อนหน้านี้ วิธีการที่หลากหลายแต่จุดหมายยังคงเดิม คือการกลับมาของ'จิตเดิมแท้' 

           วิถีที่แท้จริงมันยังอยู่อีกไกลเหลือเกิน  

            ยังต้องเรียนรู้อีกมากจริงจริง...

คุณณัชร เขียนเล่าได้น่าติดตามจนจบ....มีแง่มุม ข้อคิดไปทุกตอน ชอบ การเปรียบเทียบของเซนเซ เกี่ยวกับทะเลคะ...เห็นภาพ และลึกมาก แบบน่าจะเข้าใจ แต่ยากจะเข้าใจ และยากมากที่จะทำ........."ก่อนออกดาบนั้น ให้ทำใจเหมือนทะเลที่สงบนิ่ง พอช่วงออกดาบ ให้ทำใจเป็นทะเลแบบเวลามีสึนามิ และเวลาเก็บดาบ ก็ให้ทำใจให้เป็นทะเลนิ่งอีกครั้ง "

สวัสดีและขอบคุณมากค่ะ คุณขจิต คุณอนุเซน รินไซ และคุณดอกแก้ว  ที่กรุณาแวะมาอ่าน และให้กำลังใจ

ผู้เขียนจะมีกำลังใจเขียนยาว ๆ อยู่ได้  ก็เพราะสองสามบรรทัดของผู้คอมเม้นท์นี่ล่ะค่ะ จิตมนุษย์นี่ก็แปลกดีนะคะ ฮิ  ๆ

คุณขจิตคะ  จริงๆ นี่เรียนเมืองไทยก่อนไปต่อที่ญี่ปุ่นค่ะ  แต่ตอนนี้เต็มแล้วค่ะ เซนเซเลิกรับลูกศิษย์ใหม่มานานแล้ว เพราะท่านสอนคนเดียวค่ะ ถ้าอยากสมัครก็ต้องไปเวบไซต์ท่านแล้วตามข่าวไปเรื่อยๆ  ไม่ทราบจะอีกนานแค่ไหน (คงต้องรอให้พวกเราคนใดคนหนึ่งศิษย์ปัจจุบันตายไปก่อนล่ะค่ะ แหะ ๆ  ศิลปป้องกันตัวโบราณไม่เหมือนสมัยใหม่ค่ะ  จริงๆแล้วส่วนใหญ่เรียนตัวต่อตัวจะมีคลาสรวมบ้างเดือนละหนเท่านัน)

รูปไม่ได้เปลี่ยนนะคะ คุณขจิตยังเป็นรูปเดิมค่ะ รูปไม่โหลดหรือคะ?

คุณอนุเซนคะ เห็นชื่อก็ทาบแล้วว่าศึกษามาลึกซึ้งจริงๆ   รินไซเชียวหรือคะ?  เป็นแขนงที่โหดที่สุดของทุก ๆ สำนักเซนเชียวนะคะนี่  ว่าแล้วก็ขอโค้งงาม ๆ คารวะหนึ่งที

พวกเราทุกคนก็ยังคงต้องฝึกฝนเหมือนกันน่ะค่ะ  ไม่มีใครรู้ไปมากกว่าใครหรอกค่ะ เหมือนที่คุณว่าไว้นั่นล่ะค่ะ คือก็แสวงหาจิตเดิมแท้ด้วยวิธีต่าง ๆ  กัน

แวะมาอีกนะคะ มีอะไรก็แนะนำกันด้วยนะคะ ขออย่าได้เกรงใจเลย 

แค่ที่กรุณาคอมเม้นท์  ก็ซาบซึ้งแล้วล่ะค่ะ

คณดอกแก้วที่เคารพ  ขอบพระคุณมากค่ะ  จริง ๆ  ก็รู้ตัวเหมือนกันว่ายาวไปหน่อย  แต่ยกของเก่ามาทั้งก้อนแล้วขี้เกียจตัดตอนค่ะ  เลยแปะมันทั้งอย่างนั้น  ตกแต่งหารูปใส่ใหม่และใส่สีสันแค่นั้นเอง

คุณดอกแก้วชอบจุดเดียวกันกับณัชรเลยค่ะ  ตอนไปเรยีนวันแรกนั้น  ประทับใจเรื่องใจกับทะเลมาก คนญี่ปุ่นเขาใกล้ชิดธรรมชาติมากค่ะ   และเป็นปรัชญามากด้วยมีการเปรียบเทียบเสมอ คือซามูไรเขาจะโรแมนติคอย่างนี้น่ะค่ะ ทำเอาคอโรแมนติคอย่างข้าพเจ้าแทบจะตายไปเลยด้วยความประทับใจ ฮิ ๆ 

 

โห...เจอหน้าใครหนแรกแล้วเขาบอกให้เราลองทำใจเหมือนทะเลยามราบเรียบนี่  ไม่วาบหวิวก็ให้มันรู้ไป ฮิ ๆ ๆ  ง่า....เกือบทำดาบบาดมือน่ะค่ะ  ดีนะคะที่เป็นดาบที่ใช้เรียน  จึงไม่ใช่ดาบแบบคม ไม่งั้นมือคงเป็นแผลเหวอะหวะทุกครั้งที่เซนเซพูดถึงทะเล ต้นไม้ และสายลมอะไรอย่างนี้เป็นต้น ฮี่ ๆ  ๆ

  • มาบอกว่าผมมีสองบันทึก
  • ที่เข้าไปล่าสุดเป็นบันทึกเรื่องทั่วไปครับ
  • ครั้งก่อนรูปคุณNash เป็นรูปด้านข้างครับ
  • แต่ตอนนี้เป็นรูปฟันท้องฟ้า
  • P
  • ยิ้ม ยิ้ม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท