ใหญ่..แต่..เล็ก


ชาวบ้านหยิบจับอะไร มีอุปสรรคกีดขวางไปหมด

พวกเราบังอาจคิดการใหญ่...และจะทำใหญ่
เพราะไม่ว่าชาวบ้านหยิบจับอะไร มีอุปสรรคกีดขวางไปหมด

ทำปุ๋ยหมัก แกลบก็หายากไปเรื่อย ๆ  ไม่เป็นไรใช้อย่างอื่นแทน
ใช้กากน้ำตาลทำน้ำหมัก เขาไม่ขายให้ มีคนเหมาหมดแล้ว
ทำไบโอดีเซล วัตถุดิบก็ขึ้นราคาพรวด ๆ  ทำท่าจะแพงกว่าซื้อน้ำมัน

ดีเหมือนกัน   ทำให้ต้องรีบทบทวนแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง

ชาวบ้านเรา มีสองหมู่บ้านเคยทำน้ำตาลจากอ้อย ถึงขั้นขายมาแล้ว
ที่เหลือนอกนั้นก็เคยมีประสบการณ์ประปราย ได้ทันเห็น ได้ทันช่วยพ่อแม่ทำ

ชีวิตที่พึ่งภายนอกมันไม่แน่นอนเลย เขาจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด ที่น่าโมโหคือคนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้วมักจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าเขาเพื่อนทุกที  ขณะเดียวกันมันก็ช่วยย้ำความหมาย ของ อัตตา หิ อัตตาโน นาโถ ให้เด่นชัดขึ้นอีก

เอ... ที่ดินเราก็มี
พันธุ์อ้อยก็หาได้
การปลูกก็ไม่ยากนี่
ทำน้ำอ้อยก็ทำเป็น

อย่ากระนั้นเลย  เมื่อปีที่แล้วพวกเราพากันปลูกอ้อยของกลุ่ม พื้นที่ ๑  ไร่ จัดหาพันธุ์อ้อย ลงแขกช่วยกันปลูก ขนปุ๋ยหมักมา ใส่ปุ๋ย ช่วยกันดายหญ้า

หนึ่งปีผ่านไป  อ้อยออกดอกแล้ว ยาวเลื้อยไปกับดิน
ทำให้เราต้อง 
หาเครื่องอิ้วอ้อย  หาได้แล้ว เป็นไม้กลมขนาดใหญ่สามชิ้นของพ่อวิเชียร แสงสว่าง เป็นแบบโบราณ คณะทางยางคำจะช่วยกันสร้าง ประกอบชิ้นอื่น ๆ เพิ่มขึ้นให้มันใช้งานได้
หากะทะ ที่ชาวบ้านเรียก หม้อขาง ที่จะมาเคี่ยวน้ำอ้อย
หาข้อมูลทำเตาดินเคี่ยวน้ำอ้อย 
เตรียมฟืน
ทำเครื่องมือที่ใช้ระหว่างการเคี่ยว  การหยอดน้ำอ้อย ซึ่งบ้านเหล่าจะทำมาให้เพื่อน ๆ  ดู ในวันประชุมเตรียมงาน
ผู้มีประสบการณ์ที่จะมาช่วยดู ก็สมาชิกพวกเรานี่แหละ
มีผู้เสนอวีธีทำน้ำอ้อย ใส่งา ใส่มะพร้าวเก็บไว้กินกับข้าวเหนียว
ต้องเตรียมสถานที่เคี่ยวน้ำอ้อย ที่พัก อาหาร ให้กับเพื่อน ๆ  ที่จะไปร่วม ตัดอ้อย หีบอ้อย เคี่ยวน้ำอ้อย  ซึ่งคงต้องใช้เวลาไม่น้อ้ยกว่า ๓  วัน
เตรียมกลอนลำ ไปขับโต้ตอบกันเพื่อความเพลิดเพลิน
เตรียมไปฟ้อนหีบอ้อย เคี่ยวน้ำตาลตามจังหวะของพิณ แคน  ......ฯลฯ

ใหญ่เลยงานนี้  แต่งานใหญ่แบบนี้ถูกวางแผนอย่างอาจหาญที่จะทำโดยคนเล็กคนน้อยอย่างพวกเรานี่แหละค่ะ...

 

หมายเหตุ    ครูบาสุทธินันท์ อาจารย์แสวง อาจารย์หมอวิจารณ์คะ    คณะผู้ก่อการทั้งหมดจะประชุมใหญ่เตรียมการ และดูสถานที่ร่วมกัน แบ่งงาน ซักซ้อมกันในวันที่  ๕  กพ.  ๕๐  และจะกำหนดวันหีบอ้อยในวันนั้นค่ะ
ดิฉันอยากจะทำหนังสั้น  ๑  เรื่อง  เพื่อเสนอเนื้อหาการพยายามต่อสู้กับปัญหาของชาวบ้านและเก็บบรรยากาศของการแปรรูปอ้อยด้วยวิถีของชาวบ้าน  ชื่อ  ฟื้นการหีบอ้อย : ฟื้นตัวตน
กรุณาให้ข้อแนะนำด้วยค่ะ ดิฉันคิดว่าตนเองได้สูญเสียการเก็บบรรยากาศพวกนี้หลายครั้งเนื่องจากความไม่พร้อม และข้อจำกัดของการทำงานค่ะ  สายน้ำไหลไปแล้วไม่กลับค่ะ  บางอย่างแม้จะจัดอีกแต่บรรยากาศ องค์ประกอบก็เปลี่ยนไปแล้ว ได้แต่เสียดาย แล้วก็ได้แต่ทำใจว่า ทำได้แค่นี้

 

 

หมายเลขบันทึก: 71896เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ย่อมได้ครับ

แต่ทำไมต้องเป็นวันจันทร์ผมมีสอนที่หลบยาก

ขอเป็นวันอาทิตย์ที่ ๔ ได้ไหมครับ

  ส่งกำลังใจไปช่วย 5 ปิ๊บ อยากให้เร่งทำความฝันให้เป็นความจริง" ตำราว่าด้วยชีวิตและสังคมของสาวน้อยที่ชื่อว่าตุ๊" โอ้โฮ ทำไมชื่อหนังสือมันยาวขนาดนี้ละ เรื่องเจ้าภาพพิมพ์ไม่น่ามีปัญหา เขียนมาอีกา บินมาไวๆ ได้ไหมละ

อาจารย์แสวงคะ 

ที่กำหนดเป็นวันที่ ๕  เพราะว่าให้ห่างจากวันที่  ๒ กพ. ซึ่งจะเป็นบุญเดือนสามที่วัดพระธาตุพนม สมาชิกเราก็จะพากันไปช่วยวัดตีกลองยาวแห่กองบุญ บ้างก็จะไปขายไข่ปิ้งกัน พองานเสร็จก็จะเป็นธรรมเนียมหาซื้อถ้วยจานที่เลหลัง ซึ่งไม่รู้ว่าเลจริงหรือเลคำพูด ก็ให้มีช่วง

แต่ครูบาอาจารย์จะมาร่วมประชุมด้วยก็ไม่น่าจะเลื่อนไม่ได้ค่ะ ดิฉันจะแจ้งทางพื้นที่ขอเลื่อนวันค่ะเพื่อ

ครูบาสุทธินันท์คะ

กรุณาเปลี่ยน คำ สาว ฟังแล้วแหม่ง ๆ พิกล

เขียนวันละหนึ่งนี่ ยังไม่ไวใช่ไหมคะครูบา

  • ตามมาอ่านและส่งกำลังใจมาให้ครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่มีบันทึกดีให้ได้อ่านและได้ ลปรร.ครับ
  • เข้ามาแนะนำตัวครับ
  • อ่านบันทึกของ อาจารย์ แล้วมีพลัง  และมีความหวังสำหรับชาวบ้านมากครับ
  • ผมขอสมัครเป็นลูกศิษย์อาจารย์ครับ  เพราะกำลังศึกษานโยบายรัฐกับการพัฒนาชุมชน ครับ

 ที่ตั้งมานั่นเป็นชื่อ ตัวอย่าง จะมีคำว่าสาวไม่สาวก็ลองคิดชื่อหนังสือ ที่จะพิมพ์เอาให้เหมาะอีกทีหนึ่งหรือจะเอาเป็นประสบการณ์จากสาวไม่น้อย หรือสาวใหญ่ หรือสาวไปสาวมา อยากเห็นต้นฉบับ วันละเรื่องพอไหม ก็อยู่ที่แรงใจแรงสมอง แต่ก็ไม่รู้ว่าช้าทำไม มีเหตุผลในการช้าด้วยหรือ

คนเราจะลงโลงวันไหนก็ไม่รู้ รีบๆทำอะไรให้ได้มากที่สุด จะได้ไปนอนยิ้มเผล่ในหลุม ไม่ต้องนึกเสียดายว่าไม่ได้ทำโน่นทำนี่ แล้วงัดฝาโลงออกมาส่งบล็อก ป่าช้าแตกแน่ๆ 

วันที่5 ก.พ.อยากให้ใครไปบ้างละ จะได้ชวนกันทั้งประเทศ ในช่วงนั้นยังมีงานไหว้พระธาตุไหม ไม่แน่นะอาจจะเอาสมาชิกไปทัศนศึกษาดูงานด้วย แต่ก็ไม่รู้จะสะดวกการเดินทางแค่ไหน ถ้าบ้านเมืองระแวงกันมันจะมีด่านเยอะ ยิ่งไปมากๆก็ต้องลงอผะบาย เขาเกรงว่าเป็นพวกม๊อบหรือเปล่า ทั้งๆที่เราไม่ทำหรอกจิเจ้ยแค่นี้ ลดละเรื่องปะทะทางกำลังแล้ว มาปะทะกันทางการทำความดีเพื่อพวกเราดีกว่า

 

ครูบาคะ

๑) งานบุญเดือนสาม นมัสการพระธาตุพนม เริ่ม ๒๖ มกราคม ถึง ๒ กุมภาพันธ์ ๕๐ ค่ะ

๒) วันประชุมเดือน กพ.นี้อาจเลื่อนเป็นวันที่ ๔ ถ้าอาจารย์แสวงจะมาร่วมแลกเปลี่ยน

วันประชุมนี้พวกเราวางไว้คร่าว ๆ  ว่า เป็นการไปเยี่ยมไร่นากัน เช็คข้อมูลการผลิตข้าวที่ยังขาดอยู่ ที่ดงหลวง  กินข้าวกลางวันที่ดงหลวง บ่ายเคลื่อนทัพมาที่ยางคำ เพื่อชมสวนอ้อย แล้วคงจะประชุมอีกรอบคราวนี้วางงานคร่าว ๆ  เลยว่า ใครจะทำหน้าที่อะไรในการแปรรูปอ้อย ฝ่ายจัดสถานทีขนาดไหน ไฟ ห้องน้ำส้วม ฝ่ายอาหาร ระบบไฟ ฯลฯ และจะกำหนดวันอิ้วน้ำอ้อยร่วมกันอีกครั้ง คาดกันไว้คร่าว ๆ  ว่าน่าจะเป็นช่วงประมาณ ๒๐  กพ.

ตอนอิ้วน้ำอ้อยนี่แหละ น่าจะเป็นช่วงน่าสนใจ เพราะจะเป็นช่วงที่หมู่สมาชิกจะต้องได้ไปใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่น่าจะน้อยกว่า ๓ วัน ๒ คืน ก็แบ่งหน้าที่กันทำงาน ทั้งฝ่ายตัด ฝ่ายอิ้ว ฝ่ายบรรจุ ฝ่ายอาหาร ฝ่ายดนตรี และเรื่องจะเชิญชวนใครบ้างนั้น หรือจะทั้งประเทศเลย ดิฉันต้องขอครูบาช่วยชี้แนะ จะมาทัศนศึกษา ก็ยินดีค่ะ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ตอนนี้ทางยางคำที่เป็นเจ้าภาพสถานที่ก็มีการเกริ่นกับทางอบต. ผู้ใหญ่บ้านบ้างแล้วตามสมควรค่ะ เข้าใจว่าเด็ก ๆ  ในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านก็น่าจะออกไปสมทบกับเราค่ะ วิญญาณเก่าของนักผลิตน้ำอ้อยคุโพลงแน่ค่ะงานนี้ ( ยางคำ เคยเป็นแหล่งผลิตน้ำอ้อยมาแต่โบราณ เคยทำถึงเป็นธุรกิจชุมชน แต่ต่อมาไม่ได้พัฒนาเทคนิค คนซื้อบอกว่า น้ำอ้อยสีไม่สวยเหมือนเจ้าอื่น ก็เลยเลิกผลิตไป)

  • เป็นบันทึกที่มีคุณภาพ
  • ไม่แปลกใจที่ตามมาอ่านบ่อยๆ
  • ขอบคุณมากครับผม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท