พระบรมราโชวาทฯ วันเด็ก (1) : การส่งต่อความดีอย่างเป็นระบบคือรากฐานของการพัฒนาประเทศชาติ


เด็กจำเป็นต้องเติบโตและเรียนรู้จากการมีต้นแบบที่ดีและได้รับการดูแลและส่งต่อสู่ห้วงวัยต่าง ๆ อย่างมีระบบ

การที่เด็กจะเติบโตและงอกงามเป็นพลังของการพัฒนาประเทศชาติได้หรือไม่นั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นจากการวางระบบแห่งการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่ดี  โดยเริ่มจากครอบครัวที่มีพ่อ  แม่ หรือแม้แต่พี่ ๆ และเครือญาติ  รวมถึงผู้ใหญ่ในสังคมเป็น "ต้นแบบที่ดี" เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้และซึมซับจากวิถีที่ดีงาม อันเป็นกระบวนการ "ถ่ายทอด"  จาก "รุ่นสู่รุ่น"  อย่างมีระบบและต่อเนื่อง     ดังพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปี 2522  ดังว่า...

 

"เด็กเป็นผู้ที่จะได้รับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่  รวมทั้งภาระรับผิดชอบในการธำรงรักษาอิสรภาพและความสงบสุขของบ้านเอง  ดังนั้น  เด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม  ให้มีความสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่าง ๆ  พร้อมทั้งการฝึกหัดขัดเกลาความคิดจิตใจให้ประณีต  ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณงามความดี  มีความประพฤติเรียบร้อยสุจริตและมีปัญญาฉลาดแจ่มใสในเหตุในผล  หน้าที่นี้เป็นของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันกระทำโดยพร้อมเพรียงสม่ำเสมอ  ผู้ที่เกิดก่อน  ผ่านชีวิตมาก่อนจะต้องสงเคราะห์ อนุเคราะห์ผู้เกิดตามมาภายหลัง ด้วยการถ่ายทอดความรู้ความดีและประสบการณ์อันมีค่าทั้งปวงให้ด้วยความเมตตาเอ็นดูและความบริสุทธิ์ใจ  ให้เด็กได้ทราบ ได้เข้าใจและสำคัญที่สุด  ให้รู้จักคิดด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง  จนสามารถเห็นจริงด้วยตนเองได้ในความเจริญและความเสื่อมทั้งปวง  โดยนัยนี้  บิดามารดาจึงต้องสอนบุตร  พี่จึงต้องสอนน้อง  คนรุ่นใหญ่จึงต้องสนคนรุ่นเล็กและเมื่อคนรุ่นเล็กเป็นผู้ใหญ่ขึ้น  จึงต้องสอนคนรุ่นต่อ ๆ ไปไม่ให้ขาดสาย  ความรู้  ความดี  ความเจริญงอกงามทั้งมวลจึงจะแผ่ไพศาลไปได้  ไม่มีประมาณเป็นพื้นฐานของความพัฒนาผาสุกอันยั่งยืนสืบไป"

 

จากหนังสือ :  คำพ่อสอน      

คำสำคัญ (Tags): #พระบรมราโชวาทฯ
หมายเลขบันทึก: 71824เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

คุณแผ่นดินคะ

  • พื้นฐานจากครอบครัว เป็นสิ่งแรกที่จะช่วยให้เด็กเติบโต งอกงามอย่างคนมีคุณภาพ
  • ในสังคมปัจจุบัน คนขาดคุณธรรม จริยธรรม ในการครองตน ครองคน ครองงานมาก 
  • รัฐบาลมีนโยบายด้านจริยธรรม ธรรมภิบาล และการป้องกันการทุจริตและการประพฤติมิชอบ โดยให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการอบรมจริยธรรม โดยส่วนของภาคราชการให้พิจารณากำหนดการอบรมดังกล่าวเป็นหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการปฏิบัติงานราชการของทุกหน่วยงาน......สำหรับภาคธุรกิจ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมไปประสานกับองค์กรภาคธุรกิจ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการ ส่งเสริ คุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องการกันทุจริตและการประพฤติมิชอบด้วย
  • ด้วยนโยบายดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในการทำดีร่วมกัน ส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี ค่ะ
  • ลปรร.ด้วยกันนะคะ
  • ขอบคุณมากครับ Miss somporn poungpratoom
  • ผมเห็นด้วยกับทัศนะนะครับ ในสังคมปัจจุบัน คนขาดคุณธรรม จริยธรรม ในการครองตน ครองคน ครองงานมาก
  • ตอนนี้สังคมก็โหมนโยบายด้านจริยธรรมและความพอเพียง อันเป็นหัวใจหลักในการครองตนและครองคนและถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้สังคมไทยมีความผาสุกและเข้มแข็ง
  • แต่ก็น่าเสียดายครับสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้กลับแตกแยก ขาดความรักสามัคคี
  • น่าจะกับไปอ่าน "ไตรภูมิพระร่วง" กันบ้างก็ดี จะได้ละอายใจ ละอายบาป ....เพราะสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม แต่วิถีแห่งบาปบุญก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่นแปลง...
สวัสดีค่ะ ใช่นะคะ การปลูกฝังเด็กเหมือนการปลูกต้นกล้าเชียงละ ครอบครัวมีสาวนสำคัญมากเลย เมือวานดิฉันเข้ารับร่วม ชวนคิดชวนดู เรียนรู้ KM ที่คุณเมตตาจัด และวิทยากรได้ฉายภาพมูลนิธิขวัญข้าว ตอนที่ชาวนาชวนกันไปจับหนอนและเพลี้ย พบว่าว่ามีหนอนและเพลี้ยที่เป็นตัวดีและร้าย(ตัวกินพืชและกินเนื้อ) ในนาข้าวต้องการหนอนและเพลี้ยตัวกินเนื้อให้ทำลายหนอนและเพลี้ยตัวกินพืช ในสังคมนักศึกษาก็เช่นกันนะคะ มีทั้งเด็กที่ดีและไม่ดีเราจะพัฒนานิสิตนักศึกษาของเราได้อย่างไร? เราต้องใช้เครื่องมืออะไร? เราน่าจะได้ลปรร.กันนะคะ
  • ขอบคุณครับอาจารย์อัมพร
  • เป็นมุมองที่งดงามมากครับ "เด็ก เสมือนเป็นต้นกล้า"  และเป็นต้นข้าวของแผ่นดิน
  • ผมชอบคำว่า "ขวัญข้าว"  ชอบมานานและเคยปรารถนาที่จะตั้งชื่อคนใกล้ชิดว่า "ขวัญข้าว"
  • อาจารย์ไพฑูรย์  ธัญญา  นักเขียนซีไรต์ที่ผมรักและเคารพ เคยเขียนบทกวีบทหนึ่งเกี่ยวกับผู้ซึ่งเป็นเสมือน "ต้นกล้า"  ไว้อย่างน่าฟัง  จึงนำมาฝากท่านอาจารย์ นะครับ

               ผลิบาน  แย้มยิ้มรับ  กับแดดจ้า

               อ่อนเยาว์แต่หาญท้าตะวันฉาย

              ยิ่งเติบโต ยิ่งกล้า ยิ่งท้าทาย

              เต็มค่า เต็มความหมาย เต็มแผ่นดิน

...ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนให้กำลังใจนะครับ

 

ชอบบทกลอนบทนี้จัง

  • ผลิบาน  แย้มยิ้มรับ  กับแดดจ้า
  • อ่อนเยาว์แต่หาญท้าตะวันฉาย
  • ยิ่งเติบโต ยิ่งกล้า ยิ่งท้าทาย
  • เต็มค่า เต็มความหมาย เต็มแผ่นดิน

อยากให้เด็กในวันนี้เป็นคนดีและช่วยกันสร้างประเทศไทยทุกคนค่ะ แต่ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องช่วยเป็นต้นแบบที่ดีด้วยนะคะ

  • ขอบคุณมากครับ...ศุภลักษณ์ หิริวัฒนวงศ์
  • ว่าด้วยเรื่องต้นแบบ...เมื่อสมัยที่ผมเป็นเด็กมี "พ่อ" เป็นต้นแบบ  อยากใส่ชุดของพ่อ อยากสวมรองเท้าของพ่อ  อยากเกี่ยวข้าวและจับปลาเก่งเหมือนพ่อ  ซึ่งไม่เคยรู้หรอกครับว่านั่นคือ "ต้นแบบ"  นั่นคือ "ฮีโร่"  สำหรับเราในวันเด็ก
  • แม้แต่วันนี้ผมก็ยังมี "พ่อ"  เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และถึงแม้จะไม่ต่อยกล้าแสดงออกเหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่ก็รัก เคารพและศรัทธาในต้นแบบในดวงใจเสมอมา..
ในมุมมองหนึ่ง การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการส่งต่อความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน  ความรู้ ตัวแบบที่ดี จึงถ่ายทอดจากคนถึงคนโดยตรง  ขณะที่ปัจจุบันความรู้ถูกถ่ายทอดด้วยเครื่องมือสื่อสารมากมาย  ทำให้มีฤาษีแปลงสาร มากมายเช่นกัน  พฤติกรรมคนก็เลอะเทอะมากมายตามไปด้วย
  • ขอบคุณครับอาจารย์ เม็กดำ
  • การ "ส่งต่อความรู้ในตัวคนจากรุ่นสู่รุ่น" ก็ถือเป็นการจัดการความรู้ด้วยเช่นกันใช่หรือไม่ครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท