ช่วยด้วย!! คนตกหลุมรักKM.


นับว่าโชคดีไปเดินชนสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเนื้อทองภูมิปัญญาไทยขนานแท้ ที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นั่นก็คือจั่นดักปลา “จั่น” เป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับวิถีไทยมากที่สุด

ช่วยด้วย!! คนตกหลุมรักKM.

   ผมชวนนักศึกษาออกภาคสนามข้ามแม้น้ำมูล ไปดูพื้นที่การเกษตรริมลำพังชู แรงบันดาลใจที่ให้มาที่นี่ เกิดจากตัวทีมงานผู้นำชุมชนต้องการที่จะเรียนรู้และพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เราจึงมีโอกาสพบกันหลายครั้ง สังเกตเห็นว่าท่านเหล่านี้มีเชื้อความคิดความตั้งใจแบบคนอีสานรุ่นอาวุโสทั้งหลาย ที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมอยู่ในตัว มีความสุขกับการให้ เอาประสบการณ์ชีวิตมาสอนลูกสอนหลาน และทำหน้าที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในชุมชนมายาวนาน
  ท่านผู้อาวุโสชุมชนเหล่านี้ ได้ไปมาหาสู่กันหลายครั้ง เช่น มาร่วมประชุม มาเข้าค่ายเป็นครูพี่เลี้ยงให้กับเด็ก มีครั้งหนึ่งพระจากสำนักสงฆ์มาดูงานที่มหาชีวาลัยอีสาน 300 รูป ผมก็ชวนท่านเหล่านี้มาเป็นครูพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม หลังจากงานนี้ผ่านไปผมก็ดวงตาเห็นธรรม สรุปได้ว่า ที่แท้ในท้องถิ่นเราก็มี  “คุณกิจ” สายพันธุ์อีสานอยู่ไม่น้อย ถ้าวิเคราะห์ให้ดีก็จะเห็นว่า กระบวนการทางสังคมของพ่อใหญ่แม่ใหญ่ของอีสานนั้น ได้สร้าง "คุณกิจ” “คุณอำนวย”ไว้แล้ว เพียงแต่นักพัฒนาสมัยนี้มองข้ามจุดนี้ไป รวมทั้งตัวผมเองนี่แหละที่ตาบอดสีมองไม่เห็น ตัวตนตัวจริงที่ผ่านการสร้างสมบ่มเพาะโดยจารีตประเพณีไทย ที่ทำให้เราได้ผู้นำทางธรรมชาติตัวจริงเสียงจริง เป็นตู้ประสบการณ์ชีวิต เป็นกุญแจไขไปหาชุดความรู้ท้องถิ่น เป็นลายแทงที่จะสืบเสาะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวในอดีตได้อย่างมีชีวิตชีวา 
   ก็ขอสารภาพบาปไว้ตรงนี้เลยว่า ผมนี่แหละเป็นคนหนึ่งที่ตกหล่มKM.อย่างที่อาจารย์ใหญ่ว่า แต่เพื่อให้กระชุ่มกระชวยใจผมเลี่ยงไปใช้คำว่า “ตกหลุมรักของKM.” แต่จะหลุมหรือหล่มมันก็แสดงถึงความเซ่อบ้องพอๆกันนั่นแหละ ผมเที่ยวไปอุปโหลกคนโน้นคนนี้ให้เป็น “คุณเอื้อ” “คุณกิจ” แล้วก็เอามาทำหน้าที่นักจัดการความรู้ระดับชุมชน ในรูปแบบที่เราคิดว่ามันจะก้าวกระโดด สุดท้ายผมขอพูดอย่างไม่อายว่า ผมส่งจดหมายลืมจ่าหน้าซอง 
   ทำไงได้ละครับ ถ้าไม่บ้องตื้นเสียก่อน มันก็ไม่ตระหนักรู้และฉุกคิดอะไรที่มันลึกซึ้งได้บ้าง เมื่อผมเห็นสุวรรณอยู่ชั้นในอย่างนี้แล้ว  ผมรีบกำหนดรายชื่อไว้ในใจ ว่ามีพ่อใหญ่แม่ใหญ่คนไหมบ้างที่จะชวนมาตกหลุมรักKM.ของผม วางแผนเจ้าชู้ประตูดินแบบเจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยวนั่นแหละ ยิ่งสืบเสาะก็ยิ่งเห็นสีทองเปล่งประกายเจิดจ้า ทำให้ผมคิดว่าต่อไปนี้จะไปไม่บ้าทำแบบเดิมอีกแล้ว มาร่วมงานกับคนที่หัวใจพร้อมจะโบยบิน ดีกว่าที่จะไปทำงานกับคนที่หัวใจพลาสติก มีน่าละพระพุทธองค์จึงเลือกโปรดสัตว์เฉพาะดอกบัวดอกที่1-2-3 พวกดอกท้ายๆปล่อยให้เป็นอาหารปูปลาไป คุณสมบัติของคนขี้เกียจนี่ร้ายนัก ขนาดพระพุทธเจ้ายังยกธงขาว! 
  วันนั้นเราไปสำรวจพื้นที่ ขอให้ผู้สันทัดกรณีเล่าร่องรอยที่ผ่านมาในอดีต ได้ใจความว่าสมัยก่อนผู้ใหญ่บ้านได้แบ่งพื้นริมแม่น้ำลำพังชูให้แก่ลูกบ้านทุกคน คนละไร่สองไร่ตามความจำเป็นของครอบครัว ชาวบ้านได้ออกมาปลูกผักกันอย่างคึกคัก ช่วง-เย็นถ้าจะไปพบใครตามใครให้มาที่ริมลำพังชูนี่แหละ ทุกครัวเรือนมาชุมนุมทำสวนครัวกันอย่างมีความสุข โดยเฉพาะไอ้หนุ่มลำพังชูตกล่องปล่องชิ้นกับหวานใจที่นี่กันครึ่งค่อนหมู่บ้าน
   ภาพที่เราเห็นวันนี้ มีแต่ร่องรอยการทำสวนครัว มีปลูกไม้ผลบ้าง ปลูกหญ้า ปลูกกล้วย ปลูกหม่อน เห็นแล้วเสียดาย มัคคุเทศก์เล่าว่าชุมชนลำพังชูตกอยู่ในกระแสซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าเช่นเดียวกับ ทำให้เป้าหมายที่วางไว้อย่างดีเปลี่ยนไปตามกระแสตื่นตูมแห่งยุคสมัย

   วันนี้ต้องมานั่งจับเข้าเอาความรู้สะสางงานกันให้ ว่าจะพลิกฟื้นพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์เพียบพร้อมประหนึ่งสวรรค์บนดิน ให้เป็นจุดต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดมหาสารคาม

 


  ก่อนกลับเราแวะไปชมพื้นที่ทำกินสมาชิกหลายราย นับว่าโชคดีไปเดินชนสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเนื้อทองของภูมิปัญญาไทยขนานแท้ ที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นั่นก็คือจั่นดักปลา “จั่น” เป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับวิถีไทยมากที่สุด  คุณสมบัติที่ว่านี้ประกอบด้วย
1. ใช้วัสดุพื้นบ้าน เช่น เศษไม่ต่างๆมาตีเป็นลัง ใช้เชือกเป็นกลไกล็อคไม่ให้ปลาถอยกลับออกมาได้
2. รูปแบบเรียบง่าย ไม่ซ้ำซ้อน สามารถผลิตได้จำนวนมาก
3. ทำเองได้ทุกขั้นตอน ใช้ฝีมือแรงานในครัวเรือน
4. ทนทาน ใช้งานได้หลายปี
5. วิธีใช้ง่าย ไม่ต้องเตรียมการอะไรมาก
6. ไม่ต้องกังวลว่าปลาจะตาย เหมือนเครื่องมือดักปลาอย่างอื่น
7. มีปลามาประกอบอาหารแทบทุกวัน
8. เป็นการพึ่งตนเองด้านโปรตีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

    เราได้ลงไปดูจั่นที่ดักไว้ริมตลิ่ง  ผู้สันทัดกรณีเล่าว่า เมื่อดักทิ้งไว้แล้วก็ไม่ต้องกังวล ตอนเย็นๆเดินลงมาอาบน้ำที่ท่า เดินผ่านไปจุดที่ดักจั่น ถ้าเห็นน้ำเปียกข้างจั่นก็แสดงว่ามีปลา ค่อยๆลงไปเปิดเอาปลาออกมาใส่ตะข้อง แค่นี้จริงๆครับวิธีหาอาหารของชาวลำพังชู  เห็นแล้วอดที่จะอิจฉาไม่ได้ที่พรรคพวกเรามีที่อยู่ที่กินสะดวกสบาย และถ้าได้พัฒนาขึ้นมามันก็จะเป็นสวรรค์บนดินจริงๆด้วย
  เรามีแผนร่วมกันที่จะพลิกฟื้นพื้นที่ลำพังชูให้เป็นสวรรค์บนดินให้ได้  โดยการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชที่เหมาะกับริมน้ำ เช่นมะพร้าวน้ำหอม กล้วย มะกอกน้ำ มะม่วง ไผ่หมาจู ปลูกข้าวโพด แตงกวา แตงโม แตงคันตาลูป พริก มะเขือ ผักนานาชนิด ปลูกผักตามฤดูกาล ปลูกผักยืนต้น ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ไม้ใช้สอย  ไม้ติดแผ่นดิน เลี้ยงปลาแรด ปลาบึก ปลาธรรมชาติ ไก่ไข่ นี่คือขั้นตอนการสร้างเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตำหรับมหาสารคาม คาดว่าภายในเวลา 3 ปี พื้นที่ริมลำพังชูจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่มีกลิ่นอายภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานเต็มรูปแบบ ถ้าคนมหาสารคามร่วมด้วยช่วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 71810เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2007 00:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ตกหลุมรัก KM มานานแล้วครับ
  • ที่เมืองกาญจน์และสุพรรณฯมีไอ้โง่ คล้ายจั่นดักปลาแต่วางที่น้ำนิ่ง ครูบาเคยเห็นไหมครับ
  • ปลาก็ติด เต่าก็ติด ล่าสุดผมหัวใจจะวาย งูเหลือมเข้าไปติดอยู่ด้วยครับ
  • สนใจเรื่อง การทำเกษตรผสมผสาน ครับ

อ ขจิตครับ ฟังเรื่องเล่า พวกคอเดียวกันจะนึกภาพออก รู้สึกได้ว่าตื่นใจ ลุ้นระทึก ว่าจะมีอะไรดิ้นอยู่ในนั้น กึกกีกๆๆๆ

  • สงสัยผมก็คงตกหลุมรักKMเช่นเดียวกับ อ.ขจิตนะครับ
  • อ่านบันทึกของครูบาแล้วมีความสุขครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • หนูตกหลุมรัก+หลงไหล KM มาซัก 2 ปีได้แล้วค่ะ
  • ขอบพระคุณสำหรับทุกบันทึกของครูบาค่ะ
  • ได้เปิดโลกกว้างของกบตัวน้อยอีกมากเลยค่ะ

  เรียน ชาวKM.ทุกท่าน

ขอให้มีความสุขในการอ่านนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท