เล่าเรื่องจากเรื่องเล่า : ห้องเรียนแห่งศานตินิเกตัน


ไม่มีครูคนใดสามารถสั่งสอนได้ดีเท่าการศึกษาจากธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติรอบตัวและในตัวตนของเขา

          การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ทำกันเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมใน มน. อีกอย่างหนึ่งก็คือ  การแลกจุลสารกันอ่านระหว่างหน่วยงาน

          วิธีนี้ นับเป็น KM ได้เหมือนกันนะคะ......

          อย่างวันนี้ ดิฉันได้รับ "จุลสารสองแคว"  จุลสารประชาสัมพันธ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - ธันวาคม 2549 เปิดอ่านแล้ว มาสะดุดที่เรื่องเล่าบนปกหลังของจุลสารดังกล่าว

          ชื่อคอลัมน์ มุมสารศิลป์  เขียนโดย อาจารย์ธีรวุฒิ  บุญยศักดิ์เสรี  อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะและการออกแบบ 

          จึงขอนำมาเผยแพร่ขยายผลอีกต่อหนึ่ง  เพราะโดนใจคนที่กำลังอินอยู่กับเรื่องการศึกษาค่ะ....  : )   : )


เรื่องเล่าใต้ต้นไม้ : ห้องเรียนแห่งศานตินิเกตัน

          ผมเคยนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ซึ่งกำลังผลิดอกสีชมพูบานสะพรั่ง ท่ามกลางความเหน็บหนาวของยามเช้าวันศุกร์ในเดือนธันวาคม นี่คือชั้นเรียนวิชา สุนทรียศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวิศวภารตรี  แห่งเมืองศานตินิเกตัน  ประเทศอินเดีย  รายรอบตัวผมคือเพื่อนๆ  รุ่นพี่ จากนานาประเทศที่กำลังตั้งใจฟังคุณครูฝรั่งบรรยายเรื่องราวว่าด้วยปรัชญาศิลปะตะวันตก

         หลายปีที่แล้วที่ผมจากเมืองไทยมาศึกษาศิลปะ ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้  สภาพบ้านเมืองและผู้คนที่นี่ ถ้าจะเปรียบเทียบแล้วแทบจะไม่มีอะไรคล้ายกับชีวิตคนเมืองอย่างที่ผมคุ้นเคยเลย  แต่ก็น่าแปลกว่า ผมไม่ได้รู้สึกว่าต้องพยายามปรับตัวอะไรเป็นพิเศษเลย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารหรือภาษาพูดจา  อยู่ที่นั่นผมตื่นนอนโดยเสียงนกร้องประมาณ 6 โมงเช้า  ปั่นจักรยานไปโรงเรียน  ชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์และปรัชญาศิลปะเริ่ม 7 โมง ถึง 9 โมงเช้า  จากนั้นก็นั่งจิบชากับเพื่อนๆและคุณครู  แล้วก็แยกย้ายกันเข้าสตูดิโอ  บ่ายโมงก็ไปกินข้าวที่โรงอาหาร  อาหารนั้นก็เหมือนกันทุกเช้าค่ำ  คือแกงมันราดข้าวกับไข่ต้ม 1 ฟอง  บ่ายสองโมงทุกคนก็แยกย้ายกันกลับที่พัก  หลับสัก 1 - 2 ชั่วโมง  จนประมาณ 4 โมง จึงกลับเข้าสตูดิโอ  อยากจะทำงานถึงกี่โมงก็ตามใจ  ใครไม่มีอารมณ์จะทำงานในสตูดิโอ  แต่อยากจะไปนั่งชมตะวันตกดิน  หรือเขียนรูปตามท้องทุ่งก็ตามแต่ความพอใจ  3 ทุ่มก็เป็นเวลาอาหารค่ำและกลับที่พัก  เช้าวันรุ่งขึ้นก็ตื่นไปโรงเรียนตามเดิม  ชีวิตเป็นภาพซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ทุกวัน

          ผู้คนที่นั่นส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง  หลายๆคนเป็นโปรเฟสเซอร์ในสาขาต่างๆ  บางคนเป็นศิลปินหรือนักคิดที่มีชื่อเสียง  ประสบความสำเร็จในระดับโลก  แต่เขาไม่ได้ใส่สูท  ผูกไท ขับรถเก๋งคันหรู พวกเขาแต่งตัวง่ายๆตามฤดูกาล  ส่วนใหญ่อัธยาศัยดี  ไปไหนมาไหนด้วยการเดิน  ปั่นจักรยาน  หรือนั่งสามล้อ  พวกเขาไม่เคยสอนผมด้วยวิธีการที่ผมคุ้นเคยตั้งแต่เล็กจนโตเลย ทุกๆวันเราจะพบกันในตอนเช้า  กล่าวคำทักทาย  จิบชา  คุยเรื่องลมฟ้าอากาศหรือเทศกาลต่างๆ  ถ้าผมถามปัญหาในเรื่องการเรียน  คุณครูมักจะแนะนำหนังสือดีดีให้ไปอ่านในห้องสมุด

          ด้วยการเดินตามแนวคิดที่ว่า  ไม่มีครูคนใดสามารถสั่งสอนได้ดีเท่าการศึกษาจากธรรมชาติ  ทั้งธรรมชาติรอบตัวและในตัวตนของเขา  ที่ซึ่งในแต่ละคนย่อมมีธรรมชาติ  ที่หมายรวมไปถึงความเป็นมา ที่สะสมจากสภาพแวดล้อมรอบๆตัวตั้งแต่เล็กจนโต  หล่อหลอมจนเป็นบุคลิกภาพ  รสนิยม  ทัศนคติ  หรือแง่มุมในการมองโลกที่แตกต่างกันออกไป  การเรียนแบบรับฟังจากปากคนๆเดียว  พร่ำบ่นให้คนทั้งชั้นเรียนเชื่อตามๆกันไป  ซึ่งแม้จะได้ผลลัพธ์เร็ว  มีมาตรวัดที่คงที่  และกำหนดได้ง่าย  จึงไม่เป็นที่พึงปฏิบัติมากนักในสำนักนี้  พวกเขายินดีรอคอยความสำเร็จที่แท้จริงของนักเรียนเอง  ดังที่ รพินทรนาถ ฐากูร  กวีโนเบลไพรซ์คนแรกของเอเชีย  ผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้  ได้กล่าวไว้ว่า  "วันใดเราสามารถเล็งเห็นถึงองค์ความรู้บนใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นได้  สรรพสิ่งในโลกก็คงสร้างองค์ความรู้ให้เราได้ทั้งหมด"

           คำถามที่ว่า " การเรียนแบบนี้จะได้ผลจริงหรือ " สำหรับตัวผมเองก็ยังลังเลใจ อีกทั้งยังเคยหงุดหงิดอยู่บ่อยครั้งในช่วงที่ไปเรียนแรกๆ  ว่าทำไมคุณครูถึงไม่เคยสอนอะไรเราเลย  แต่การเรียนและชีวิตที่นั่น ได้นำพาผมไปสู่คำถามที่ธรรมดาแต่สำคัญที่สุดในชีวิตของผม "ทำไมคุณถึงวาดรูป"  แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับที่ผมได้รับความสุขกับการเรียนมากที่สุด ในชีวิตการเป็นนักเรียนของผมตั้งแต่เล็กจนโต  ที่มหาวิทยาลัยในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ที่ชื่อ ศานตินิเกตัน......

 

หมายเลขบันทึก: 71765เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 สวัสดีรับอาจารย์

              สอดคล้องกับแนวคิดของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีที่ว่า  ....หากเราเรียนรู้เส้นผมเพียงเส้นเดียวอย่างถ่องแท้ก็จะทำให้เข้าใจเส้นผมของคนทั้งโลกได้......เลยครับ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณดิศกุล

        แหม! คนคอเดียวกันเลยนะค่ะเนี่ย   : )  : )

เดือนที่ผ่านมาวิภาได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านอาจารย์ธีรวุฒิ  บุญศักดิ์เสรี  ในการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ครั้งที่ผ่านมา  เห็นท่านทุ่มเทให้กับการสอนวาดภาพมาก  และยังออกเดินขึ้นเขาไปสำรวจทัศนียภาพเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว ควบคู่กับอาจารย์ธนพงษ์  บุญญฤทธิ์ และ ดร.เสมอ ถาน้อย  วิภาเลยมองว่าอาจารย์ได้ปฏิบัติตามหลักของท่าน รพินทรนาถ ฐากูร  อย่างถ่องแท้เลยล่ะค่ะ ^^

ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี...

  • บันทึกนี้ทำให้นึกถึงโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก(ที่กาญจนบุรี)...
  • ธรรมชาติมักจะเป็นครูที่ดีเสมอ

คนในศานตินิเกตันขี่จักรยานกัน...

  • หันมาดูคนใน มน. บ้าง... ดูจะไม่ค่อยใช้จักรยานกันเลย

หรือว่า...

  • ต้นไม้ใน มน. ยังมีน้อยไป แดดยังส่องถึงพื้นดิน
  • หรือคนใน มน. ลืมไปแล้วว่า เย็นนี้มีภาพพระอาทิตย์ตกดิน...

หมายเหตุ:

  • การปลูกต้นไม้ที่ดี... ควรลดแสงส่องถึงพื้นดินให้น้อยที่สุด อากาศจึงจะเย็นลง

ชอบสันตินิเกตันมากค่ะ

อยากไปเรียนต่อที่นั่นมาก

ได้ไปครั้งนึงแล้วอยากไปอีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท