สัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ : เผาปิฏกไตรเป็นเชื้อไฟแห่งปัญญา


สัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ : เผาปิฏกไตรเป็นเชื้อไฟแห่งปัญญา

เขียนโดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช ร้อยเรียง

ในโลกสมัยใหม่ ศาสนาและเรื่องทางจิตวิญญาณมักจะถูกมองไปเป็นรูปของหลักการ ปรัชญา และความเชื่อ โดยมากเราก็มักจะทึกทักไปว่าเส้นทางการค้นหาทางจิตวิญญาณนั้นคงจะถูกปูด้วยหลักวิธีคิดที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง สารัตถะสูงสุดในวิถีพุทธกลับไม่ได้อยู่ที่การรู้หลักการแนวคิด หรือการท่องจำคัมภีร์พระไตรปิฏกทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ แต่มันคือ เส้นทางการปฏิบัติทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายใน(Transformation) และการตื่นรู้ (Realization) ในตัวของผู้ปฏิบัติ

             อันชายผู้หนึ่งกำลังจะตายจากบาดแผลที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนั้นสิ่งที่เขาต้องการก็คือ ความรู้อันจะนำไปปฏิบัติได้ นั่นคือวิธีที่จะดึงลูกศรออกและการเยียวยาบาดแผล สำหรับความรู้อื่นๆ นอกจากจะเกินความจำเป็นแล้ว ยังจะก่อให้เกิดอันตรายเสียอีกด้วย เพราะมันจะทำให้เกิดความไขว้เขวและสูญเสียเวลาอันมีค่า เช่นเดียวกับชายผู้นั้น สิ่งที่เราทุกคนต้องการ ก็คือความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิต หาใช่หลักวิธีคิดอันสูงส่งที่มุ่งแต่จะพยายามอธิบายว่าสิ่งต่างๆว่าควรเป็นเช่นไร   

ส่วนมากเชื่อในความมีอยู่ของ ตัวตนที่เต็มแน่นและถาวร ซึ่งก็คือความเชื่อใน ตัวฉัน” “ของฉันอันต้องการการดูแลเอาใจใส่ ปกป้อง และรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง ความเชื่อนี้ได้นำเราไปสู่การใช้เวลาและพลังชีวิตอย่างมหาศาลในการกระทำเพื่อรับใช้ตัวตนที่ว่านั้น ก็ด้วยความเชื่อนี้นี่เอง เมื่อใดที่ตัวตนนั้นเริ่มรู้สึกสั่นคลอน อ่อนแอ หรือกระทั่งรู้สึกถึงความไม่มีอยู่จริง เรามักจะตื่นตระหนกไปว่ามีอะไรที่ เลวร้ายได้เกิดขึ้นเสียแล้ว  เราอาจจะตรงรี่ไปยังมุมหนังสือคู่มือฝึกตนที่ร้านหนังสือใกล้บ้าน ปรึกษาจิตแพทย์ พุ่งไปยังตู้เย็นหรือสถานออกกำลังกาย หากเป็นคนบ้างาน เราอาจจะตรงรี่กลับไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อจะทำงานให้หนักขึ้น หากหดหู่มากเข้า ก็กระดกเหล้าสักแก้ว เสพยา หรือโทรหาเพื่อน  เมื่อชีวิตตั้งอยู่บนความเชื่อในตัวตนเสียแล้ว หากคนรอบข้างเมินเฉยหรือเยาะเย้ยเรา เราก็จะมองเขาเหล่านั้นว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ จากนั้นก็จะระดมเอาความรู้สึก ทัศนคติ และการกระทำ ที่เราได้พิจารณาว่าสาสมต่อบุคคลที่ได้ชื่อว่า ต่อต้านตัวตนของเรา  เรียกได้ว่าเป็นงานหนักอึ้งทีเดียวที่จะพยายามรักษาอัตตานั้นไว้ให้ดูดีตลอดเวลา แต่กระนั้นก็ดูเหมือนเราต่างมุ่งมั่นเสริมสร้างตัวตนให้แข็งแรงกันเป็นโครงการระยะยาวทั้งชีวิตกันเลยทีเดียว

           

                 ความเชื่อทั้งหลายมีอำนาจมหาศาล ก็เพราะสิ่งที่เราทำในทุกขณะของชีวิตต่างก็ถูกชักนำโดยความเชื่อ หากความเชื่อในสัจธรรมของเราถูกต้อง ชีวิตนี้ก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า แต่หากเป็นความเชื่อที่ผิดเสียแล้ว ชีวิตเราก็กำลังถูกตั้งอยู่บนรากฐานที่ไม่มีแก่นสาร ชีวิตไร้ซึ่งความดี ความงาม และความจริง และแน่นอนว่าไม่ช้าก็เร็วรากฐานผิดๆของอัตตาก็อาจถึงคราทรุดฮวบ และชีวิตก็เราก็จะล่มสลายอย่างไม่เป็นท่า ไม่เชื่อก็ลองสังเกตรอบตัวคุณ สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และท้ายที่สุดแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นกับเราทุกคนเมื่อเราต้องเผชิญกับความตายในท้ายที่สุด ความเชื่อในตัวตนที่เต็มแน่นและถาวรเป็นตัวอย่างของมิจฉาทิฏฐิในลักษณะหนึ่ง อาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ก็ด้วยความเชื่อนี้นี่เอง ที่ไม่ว่าเราจะทุ่มเทให้กับมันมากเท่าไร ก็ไม่สามารถถูกต้องขึ้นมาได้ และก็ไม่ได้สัมพันธ์กับสภาวะอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งแต่อย่างใดเลย

 รู้จักตั้งคำถาม

            ขั้นแรกของเส้นทางการปฏิบัติทางจิตวิญญาณก็คือ การรู้จักตั้งคำถามต่อความเชื่อทั้งหลายทั้งมวลที่เราแบกติดตัวไปไหนมาไหน การตั้งคำถามนี่เองที่จะกระตุ้นเตือนให้เราได้ตระหนักถึงบางเหตุการณ์ในชีวิต บางสิ่งที่ก่อให้เกิดความปวดร้าว ความสับสน หรือ ความสิ้นหวัง ถึงจุดหนึ่งเราก็จะเห็นว่าหลักการ และความคาดหวังร้อยแปด นอกจากจะไม่มีทางที่จะถูกทำให้เป็นจริงได้แล้ว กลับยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากมายต่อตัวเราและผู้คนรอบข้าง และ ณ จุดนี้นี่เองที่เราจะเริ่มต้นสนใจการภาวนาอย่างจริงจัง อาจจะเริ่มด้วยการมองการภาวนาเป็นหนทางที่เป็นไปได้ที่จะช่วยให้เราได้มองตัวเองอย่างลึกซึ้ง

ยิ่งขึ้นและเริ่มต้นที่จะเข้าใจถึงพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมากขึ้น เราอาจเริ่มด้วยการอ่านตำรับตำรา พูดคุยกับกัลยาณมิตร หรือ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมของธรรมาจารย์ สิ่งแรกที่พุทธศาสนาแสดงให้เราเห็นก็คือความจำเป็นที่จะต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น และนั่นก็หมายถึงความเข้าใจที่ถูกต้องในเชิงหลักการว่า เราคือใคร และชีวิตคืออะไร เราต้องเริ่มที่จะสลัดมิจฉาทิฐิของสิ่งที่เรามีอยู่ในหัวทิ้งไปเสีย แล้วเริ่มตั้งคำถาม แสวงหา และเรียนรู้ ซึ่งดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ให้เราได้เข้าสู่วิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่แท้ เราอาจมีคำถามที่ว่า ถ้าไม่มีใครยึดมั่นถือมั่นในการมีอยู่จริงของอัตตา แล้วจะมาฝึกภาวนากันไปทำไมล่ะ? เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าอัตตา คือสิ่งตรงข้ามกับการมีชีวิตที่แท้ การปฏิบัติภาวนาเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการมองดูประสบการณ์ด้านใน ตรงกันข้ามกับอัตตา ที่มีแต่หลักคิดฟุ้งซ่านที่ไร้อนาคต ด้วยการรู้จักตั้งคำถาม และมองดูประสบการณ์ด้านในอย่างง่ายๆนี่เองที่จะส่งสัญญาณถึงการอวสานของมัน ความคับแคบค่อยๆถูกเปิดกว้างสู่การค้นหาความหมายที่ลึกซึ้ง ประสบการณ์ด้านในทำให้เราเริ่มสังเกตเห็นว่า ความคิดและหลักการทั้งหลายหาได้เต็มแน่น ไร้ช่องโหว่อย่างที่เราเคยคิด แม้แต่หลักพุทธศาสนาที่เราอ่านพบในพระไตรปิฎก ในประสบการณ์จริงของการฝึกฝนด้านใน เราเริ่มค้นพบพื้นที่ว่างสำหรับอารมณ์และความรู้สึก ในรอยต่อของหลักการที่เรามีอยู่ในหัวอย่างเต็มเอี้ยด แสงสว่างแห่งชีวิตได้ลอดผ่านให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่กว้างใหญ่ไพศาล เราเริ่มสัมผัสประสบการณ์ตรงที่อธิบายไม่ได้ เป็นแง่มุมเกี่ยวกับตัวเราที่ไม่เคยได้สังเกตและพบเห็นมาก่อน  กระบวนการเรียนรู้ด้านในที่สมบูรณ์ประกอบด้วยปัญญาสามขั้นแห่งจิตตปัญญาศึกษา นั่นคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (สุตตามยปัญญา) การใคร่ครวญด้วยใจ (จินตามยปัญญา) และการภาวนา (ภาวนามยปัญญา)

ปัญญาจากการฟังอย่างลึกซึ้ง 

               การรับฟังหรือการเรียนรู้คำสอน แบ่งได้เป็นสองวิธี วิธีแรกคือการเรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดปากเปล่า เรื่องเล่า หรือคำอธิบายของธรรมาจารย์ที่ยังมีชีวิต และวิธีที่สองก็คือ การเรียนรู้ผ่านตำรับตำรา ข้อจำกัดของการเรียนรู้จากตำรา ก็คือ แม้หนังสือจะมีคำอธิบายรายละเอียดอย่างวิจิตร เต็มไปด้วยตัวอย่างและหลักโต้แย้งอย่างเป็นระบบ แต่เนื่องจากมันถูกเขียนขึ้นในต่างยุคสมัยและสถานที่ บางครั้งเนื้อหาของมันจึงยากที่จะซึมซึบได้ บ่อยครั้งที่เราต้องการอรรถาธิบายจากธรรมาจารย์ บวกกับตัวอย่างจากประสบการณ์การฝึกฝนที่ท่านเคยผ่านมา เพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจคัมภีร์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น   ในอีกด้านหนึ่ง คำสอนปากเปล่าที่เราได้ยินจากครูบาอาจารย์โดยตรงมักจะอธิบายสถานการณ์ชีวิตของเราได้ดียิ่งกว่า อีกทั้งยังถูกพูดในวิถีทางที่ง่ายต่อการรับฟังและการทำความเข้าใจ บ่อยครั้งที่คำสอนปากเปล่านั้นก็ยังคงยึดตามหลักดั้งเดิมตามพระคัมภีร์ แต่ก็ได้มีการปรับและตีความโดยครูบาอาจารย์เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง

ปัญญาจากการใคร่ครวญด้วยใจ

             ปัญญาหรือความเข้าใจลักษณะที่สอง คือ การใคร่ครวญด้วยใจ หรือการสะท้อนความรู้สึกด้านใน โดยปกติแล้วเมื่อเราได้ฟังหรือศึกษาคำสอนใดๆ มันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเห็นด้วยหรือมองคำสอนนั้นว่าจริงแท้เสียทีเดียว ปัญญาขั้นที่สองเป็นกระบวนการที่บอกเราว่า  เราจะต้องน้อมนำสิ่งที่เราศึกษาเข้ามาสู่ใจเพื่อที่จะมองดูมันอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงตั้งคำถามกับตัวเราเอง...อะไรคือความหมายที่แท้จริงของคำสอนนี้มันกำลังชี้ให้เราเห็นถึงอะไร? มันถูกต้องในแง่ที่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของตัวเราและผู้คนรอบข้างหรือไม่? การพิจารณาใคร่ครวญเช่นนี้ไม่ได้เป็นแค่การพิจารณาว่าคำสอนหนึ่งจริงหรือไม่เท่านั้น ในขั้นที่ลึกซึ้งขึ้นไป มันยังหมายถึงการนำพาเราไปสู่การเริ่มต้นตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันในทุกๆเรื่องยกตัวอย่างในกรณีของพระพุทธเจ้าศากยมุนี  สิ่งที่ท่านทรงสอนต่อศิษย์ก็คือ หลักอริยสัจสี่ข้อแรกที่ว่า ชีวิตคือความทุกข์ ปัญญาขั้นแรก คือการที่เรารู้หลักวิธีคิดและคำสอนพื้นฐานในเรื่องของความทุกข์ ว่าชีวิตนั้นมักจะเต็มไปด้วยความรู้สึกพร่อง และไม่พึงใจอยู่เสมอๆ ปัญญาขั้นที่สองจะนำไปสู่การมองชีวิตอย่างชิดใกล้ วินาทีต่อวินาที เพื่อที่จะให้เห็นว่า จริงหรือไม่ที่อริยสัจข้อแรกดูจะขยายต่อออกไปอีก ด้วยการผ่านการบ่มเพาะปัญญาในขั้นที่สองนี้ เป้าหมายของเราก็คือการค้นหาว่าสัจจะแห่งความทุกข์นั้นจริงหรือไม่อย่างไร ในขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะให้เห็นถึงขอบเขตและวิถีทางของสัจจะแห่งความทุกข์นั้นการได้ใคร่ครวญสัจจะแห่งทุกข์ แล้วเห็นว่ามันได้ถูกสะท้อนสู่ชีวิตเช่นไร สามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสภาวะการดำรงอยู่ในแต่ละวันของเรา เราพบว่าชีวิตของเราลดความเร็วลง กลายเป็นคนติดดิน ที่อยู่กับประสบการณ์ในปัจจุบันขณะมากขึ้น จิตใจของเราก็สงบระงับ มั่นคง และแข็งแรงขึ้นตามไปด้วย ความมั่นคงและความแข็งแกร่งเช่นนี้ได้ถูกบ่มเพาะขึ้นจากปัญญาขั้นที่สอง การใคร่ครวญด้วยใจ ซึ่งได้ให้พื้นฐานที่จำเป็นที่สุด ต่อปัญญาขั้นที่สาม ซึ่งก็คือ การฝึกจิตภาวนา

ปัญญาจากการภาวนา

              ในปัญญาขั้นที่สามหรือภาวนามยปัญญา ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้จะถูกตรวจสอบอย่างลงลึกขึ้นไปอีกด้วยการทำความเข้าใจธรรมชาติของพลังตื่นรู้ภายในตัวเรา กระบวนการเรียนรู้ในขั้นนี้จะทำให้เราได้เข้าใจด้วยประสบการณ์การค้นพบในแบบของเราเอง ในการภาวนา เรามองตรงไปที่จิต เพื่อจะได้เห็นว่ามันคืออะไร มีคุณลักษณะเช่นไร เรามองไปที่ธรรมชาติของร่างกาย ความคิด อารมณ์ และความรู้สึก เรียนรู้การปรุงแต่งของความคาดหวัง ความกลัว ความคิดฝันลมๆแล้งๆ อันเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินของเรา เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความฟุ้งซ่านเริ่มเบาบางลง เราจึงค่อยๆเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติเดิมแท้ของจิตอันกว้างใหญ่ อันเป็นพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ ที่จะทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกับประสบการณ์ ผู้คน และสิ่งต่างๆรอบตัวตามที่เป็นจริง

             ในขั้นต้น ปัญญาทั้งสามจะถูกนำมาสอนตามลำดับขั้น แต่ในการฝึกฝนในชีวิตประจำวัน เราจะหลอมรวมปัญญาทั้งสามไปด้วยกัน เช่น เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญคำสอน จนนำมาซึ่งความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์กับประสบการณ์ตรง เราอาจมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปศึกษาตำราอย่างละเอียดมากขึ้น หรือเมื่อได้ฝึกภาวนา เราก็อาจจะพบกับคำถามมากมายในใจ ที่อยากจะนำไปซักถามอาจารย์ หรือนำไปค้นคว้าหาคำตอบจากตำรา ด้วยต้องการที่จะรู้ว่าอาจารย์หรือตำราเหล่านั้นให้คำแนะนำไว้ว่าเช่นไร ในประเด็นที่เราได้ประสบมาแล้วโดยตรงจากการฝึกฝนปฏิบัติ สิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ด้านใน ก็คือ ความรู้จะต้องไม่ถูกยื่นต่อให้กันเหมือนวัตถุ ผู้สอนต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในหัวใจแห่งคำสอน และสามารถส่งผ่านแรงดลใจนั้นไปยังศิษย์ แรงบันดาลใจนี้เองที่จะนำให้ผู้เรียนได้เข้าสู่กระบวนการฝึกฝนตนเอง บ่มเพาะพลังทางปัญญาที่จะปลุกให้เขาตื่นจากความหลับใหล จากนั้นนักเรียนจึงส่งผ่านกระบวนการนั้นไปยังนักเรียนของเขาต่อไป สายการปฏิบัติจึงถือกำเนิดขึ้น ทำให้ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่มีชีวิต และทันกับยุคสมัยและเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ ความรู้จะต้องไม่ถูกสงวนรักษาราวกับโบราณวัตถุคร่ำครึ ไม่ใช่นิทานหรือเทพนิยายหลอกเด็กที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง  ความรู้ที่แท้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งกระบวนการ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สดใหม่ ผุดบังเกิดออกจากประสบการณ์ด้านในบนพื้นฐานแห่งการตื่นรู้ในทุกปัจจุบันขณะ และนั่นคือสารัตถะของการดำรงอยู่ที่แท้ในแต่ละย่างก้าวของการเดินทางแห่งชีวิต

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 71672เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท