การประเมินตามสภาพจริง


ครูอ้อยเขียนบันทึกเรื่อง การประเมินผลทางภาษามาแล้ว 19 ตอนแล้ว คราวนี้มาเจาะลึกถึง การประเมินตามสภาพจริง มาเรียนรู้ไปพร้อมๆกับครูอ้อยค่ะ

แนวคิดและความหมายการประเมินตามสภาพจริง

การเรียนรู้ตามสภาพจริง  (Authentic Learning)  เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เรียน  ในการประยุกต์ใช้ทักษะที่เรียนรู้มาให้เข้ากับชีวิตจริงและสภาพแวดล้อมที่เป็นบริบท

ความเข้าใจที่แท้จริงของผู้เรียน  จะดูได้จากความสามารถในการแก้ปัญหาที่ไม่เคยคุ้นมาก่อนของผู้เรียน ซึ่งจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจงลงไป  เป็นปัญหาซึ่งไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้  และเป็นปัญหาที่โยงใยถึงความสามารถ  ในการประมาณการจากความรู้ที่มีอยู่ ในการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมกับการแก้ปัญหาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

การพัฒนาความรู้ในลักษณะดังกล่าว  ไม่สามารถยืนยันได้โดยอาศัยวิธีการประเมินผลแบบเก่า  ถ้าเรายังยึดถือเอาข้อสอบมาตรฐาน  (Standardized Tests)  เป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว  เราก็ยิ่งล้าหลังไปอีกนาน

ผู้เรียนแต่ละคน   มีเอกลักษณ์ของตนเอง  มีสมองที่ใฝ่หาลีลาการเรียนรู้เฉพาะตน   และมีความฉลาด พอๆกับความสามารถที่มีอยู่ในตนตั้งแต่แรกเกิด  และที่สร้างขึ้นเองจากการเรียนรู้

ถ้าผู้เรียนแต่ละคน  มีเอกลักษณ์เฉพาะตนจริง 

ทำไมพวกเราจึงยังคง  ใช้การวัดและประเมินตามวิธีเดิมๆ  อีกเล่า

เช่น  อย่างเดียว  ประเภทเดียว  แต่วัดกับทุกคน  อีกเล่าคะ

ถ้าการประเมินผล  และการสอนเพื่อสอบ  เป็นสิ่งผลักดันระบบการศึกษาจริง  ขณะนี้  ถึงเวลาแล้ว  ที่จะต้องเริ่มเคลื่อนไหว  เปลี่ยนแปลงในการประเมินผล 

นักการศึกษา  เน้นย้ำการประเมินผลในเรื่องการใช้การประเมินแบบทางเลือก  (Alternative Assessment Methods)  ซึ่งเข้ากันได้ดีกับวิธีการที่สมองเรียนรู้  เป็นวิธีการที่มีและใช้มาตรฐานที่เข้มงวด  รวมทั้งมีระดับความท้าทายสูงสำหรับผู้ใช้  ไม่ว่าจะเป็นผู้สอนที่มีประสบการณ์มานานหรือผู้สอนใหม่ที่เพิ่งเริ่มสอนเหมือนกัน

การประเมินตามสภาพจริง  เป็นรูปแบบหนึ่งของการประเมินแบบทางเลือกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  เป็นแนวทางการประเมินที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรม  และทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนในชีวิตจริง  สามารถจำลองให้เห็นได้จากการแสดงออกในภาคปฏิบัติ  เป็นวิธีการประเมินที่เน้นทั้งกระบวนการเรียนรู้ (Process) และผลผลิต (Products) 

เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการประเมินผล  และจัดการกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง

ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้บรรลุถึงความต้องการของแต่ละบุคคลได้ 

สรุปได้ว่า  การประเมินตามสภาพจริง  หมายถึง  กระบวนการสังเกต  การบันทึก  และการรวบรวมข้อมูล  อย่างต่อเนื่องจากงานและวิธีการที่ผู้เรียนทำ  เพื่อเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ  ในการศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้เรียนเหล่านั้น

การประเมินตามสภาพจริง  จึงไม่เน้นการประเมินเฉพาะทักษะพื้นฐาน  แต่จะเน้น  การพัฒนาการเรียนของผู้เรียน  เน้นความสามารถในการแก้ปัญหา  และการแสดงออกที่เกิดจากการปฏิบัติตามสภาพจริงในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียน  เป็นผู้ค้นพบ  และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  ให้โอกาสได้ฝึกปฏิบัติจริง  เชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

วันนี้.....คงจะพอแค่นี้ก่อน....โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 71663เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท