โครงการอาสาสมัครสร้างเสริมและดูแลผู้สูงอายุ


เป้าหมาย: สร้างบุคลากรเพื่อทำหน้าที่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ โดยการจัดอบรมให้กับสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ แยกเป็นชมรมพี่ 5 ชมรม และชมรมน้อง 5 ชมรม ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคเหนือ ซึ่งมีความสนใจให้ได้รับความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนของตน

โครงการอาสาสมัครสร้างเสริมและดูแลผู้สูงอายุ

1.คำสำคัญ:การสร้างเสริมสุขภาพ

2.จังหวัด:เชียงใหม่

3.กลุ่มเป้าหมาย: ผู้สนใจจะเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมผู้สูงอายุ ที่มีชมรมกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ต่างๆ รวม 10 ชมรม ประกอบด้วย ชมรมผู้สูงอายุ (ชมรมพี่) ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด และพิกุลทอง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ศูนย์บริการผู้สูงอายุ (วัดพระพุทธบาทตากผ้า) จ.ลำพูน ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อ.เมือง จ.ลำปาง และศูนย์บริการผู้สูงอายุในวัดศรีศักดาราม ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ส่วนชมรมผู้สูงอายุ (ชมรมน้อง) ประกอบด้วย ป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด และแม่สายนาเลา จ.เชียงใหม่ บ้านหนองดู่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน บ้านนาเรือน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และบ้านฮ่องปลาขาว ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย  รวมทั้งกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ซึ่งเป็นสมาชิกของชมรมพี่ และชมรมน้องดังที่กล่าวมาทั้งหมด 

4.เป้าหมาย: สร้างบุคลากรเพื่อทำหน้าที่อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ โดยการจัดอบรมให้กับสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ แยกเป็นชมรมพี่ 5 ชมรม และชมรมน้อง 5 ชมรม ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคเหนือ ซึ่งมีความสนใจให้ได้รับความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนของตน 

5.สาระสำคัญของโครงการ: สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย มีโครงการชมรมพี่-ชมรมน้อง กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน ทำให้พบปัญหาในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องประสบกับปัญหาทางด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสถานพยาบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดญาติมิตรคอยให้การดูแลเอาใจใส่ ขณะที่ตัวของผู้สูงอายุเองขาดซึ่งทักษะในการดูแลรักษาสุขภาพของตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม

            เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ ซึ่งจัดอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง ให้กับสภาผู้สูงอายฯ มาก่อน มองเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ ขณะที่เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ มีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุจากต่างประเทศ จึงเสนอโครงการขอทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ

6.เครื่องมือที่ใช้:การจัดกิจกรรมหลักๆ คือ 1.1 การจัดสัมมนา 1 ครั้ง โดยการเชิญตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ตัวแทนศูนย์อนามัย ตัวแทนสาขาผู้สูงอายุฯ ของ 4 จังหวัดที่กลุ่มเป้าหมายตั้งอยู่ และตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ อีก 4 คน รวมทั้งหมด 40 คน เข้าร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อนำเสนอปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ พร้อมแนวทาง และความรู้ที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรในการจัดอบรมอาสามัครดูแลผู้สูงอายุ จากนั้นให้แต่ละชมรมพี่และชมรมน้องจัดเวทีของตัวเองเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครชมรมละ 10 คน  เพื่อจัดทำเป็นแผนการฝึกอบรมของแต่ละชมรม ซึ่งจะมีการจัดอบรมทั้งหมดรวม 5 ครั้ง  1.2 ลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร

            กิจกรรมที่กำหนดขึ้น ทั้งการจัดสัมมนาใหญ่ และการจัดเวทีเพื่อคัดเลือกอาสาสมัคร เพื่อให้สมาชิกเข้าใจถึงสภาพปัญหาของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง และร่วมกันหาทางแก้ไข รวมทั้งร่วมกันทำแผนที่ข้อมูลผู้สูงอายุที่มีปัญหาของแต่ละชมรม ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องมีความพร้อม มีจิตใจที่เสียสละ อดทน และมีเวลา รวมทั้งความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น     

7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ เป็นผู้ออกแบบกิจกรรมและดำเนินกิจกรรมทั้งหมด            ส่วนชมรมผู้สูงอายุแต่ละชมรมมีบทบาทในโครงการฯ ด้วยการให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการส่งตัวแทนเข้าร่วมสัมมนาเพื่อแสดงความคิดเห็นสำหรับประกอบการจัดทำหลักสูตร รวมทั้งให้ความร่วมมือในการจัดเวทีเพื่อคัดเลือกอาสาสมัครที่จะเข้ารับการอบรม เมื่ออาสาสมัครผ่านการอบรมครบหลักสูตรแล้ว อาสาสมัครจะต้องลงพื้นที่ปฏิบัติงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงที่อาสาสมัครและชมรมผู้สูงอายุต้องทำงานในพื้นที่ร่วมกัน แต่ช่วงแรกๆ ที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน จะมีเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ  ลงพื้นที่ประกบเพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยง เนื่องจากอาสาสมัครยังขาดความมั่นใจ ส่วนผู้สูงอายุเองก็ยังขาดความไว้วางใจในตัวอาสาสมัคร 

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ: ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 พฤศจิกายน 2547 รวมระยะเวลา 1 ปี ดำเนินการกับสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จำนวน 10 ชมรม ที่สนใจจะเป็นอาสาสมัคร จำนวน 200 คน และสมาชิกชมรมผู้สูงอายุที่น่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ

9.การประเมินผลและผลกระทบ: ไม่มีการประเมินผลตามหลังสิ้นสุดโครงการฯ แต่มีการประเมินผลการทำงานของอาสาสมัครแต่ละคน จากสมุดบันทึกประจำตัวของอาสาสมัคร ซึ่งลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อาสาสมัครเองมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือและดูแลเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน โดยที่ไม่คิดถึงผลตอบแทน ส่วนชมรมผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพอใจที่โครงการฯ นี้ได้สร้างคนเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลสร้างเสริมสุขภาพให้กับเพื่อนสมาชิก

10.ความยั่งยืน:อาสาสมัครในพื้นที่กลุ่มเป้าหมายยังคงทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต่อไป ยกเว้นในรายที่ผู้สูงอายุเสียชีวิต หรือแม้วันไหนที่ไม่ต้องทำหน้าที่อาสาสมัคร ก็ยังหมั่นลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพูดคุยเหมือนเพื่อนไปเยี่ยมเพื่อน ซึ่งจุดนี้เกิดจากคำชี้แจงก่อนทำโครงการฯ ตั้งแต่ต้นว่า หากโครงการฯ จบลง แต่เจ้าหน้าที่เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ ไม่มีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมเยียน จะยังทำโครงการฯ ต่อไปหรือไม่

            นอกจากนี้มีอยู่หลายพื้นที่ที่มีชมรมผู้สูงอายุเรียกร้องเมื่อรับทราบว่ามีโครงการฯ ดังกล่าวก็เรียกร้องให้เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จัดอบรมให้กับชุมชนของตน เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จึงของบประมาณก้อนใหม่จากสสส.เพื่อทำโครงการกับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และได้รับงบประมาณสนับสนุนในเวลาต่อมา บางพื้นที่ให้ความสนใจของบจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อจัดอบรม และขอหลักสูตรจากเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ มาทำต่อ

11.จุดแข็งและอุปสรรค: โครงการฯ ที่ทำ ไม่ทำในลักษณะหว่าน คือไม่ทำมากพื้นที่ แต่ทำในลักษณะที่ต้องการสร้างให้เป็นโมเดลตามแนวทางที่ประยุกต์มาจากต่างประเทศ ซึ่งหลักสูตรของการอบรมเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งสำรวจความพึงพอใจว่า อาสาสมัครซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปถ่ายทอดได้จริงหรือไม่ โดยวิธีการลงพื้นที่สำรวจเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ เพื่อวัดความพึงพอใจจากผู้สูงอายุที่ได้รับบริการ ซึ่งตัวแทนของเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จะต้องลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ เพื่อสังเกตพฤติกรรมต่างๆ เช่น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ การดูแลความสะอาดดีขึ้นหรือไม่  

            อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่พบก็คือ อาสาสมัครบางพื้นที่ไม่มีเวลาลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นอาสาสมัครหมู่บ้าน ซึ่งต้องทำงานในหน้าที่อื่นๆ ด้วย ทำให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการดูแลเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ

12.ที่ติดต่อ: เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ

 

หมายเลขบันทึก: 71624เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท