โครงการกลไกด้านการแนะแนวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเพศ และเอดส์


เป้าหมาย: บูรณาการงานป้องกันเอดส์เข้าไปในโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านกลไกที่ทางสถานศึกษามีอยู่แล้ว คือ บุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านการแนะแนว และให้คำปรึกษา เพื่อให้บุคลากรดังกล่าวได้มีความรู้ความเข้าใจ และเกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงานเรื่องเพศและเอดส์ โดยร่วมกับกระบวนการในการให้ความรู้โดยกลุ่มเพื่อน เพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาได้เรียนรู้และเกิดความตระหนักในการป้องกัน และเพื่อให้สถานศึกษาเกิดแนวทางในการทำงานป้องกันปัญหาเพศ และเอดส์

โครงการกลไกด้านการแนะแนว

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเพศ และเอดส์

 

1.คำสำคัญ: การบูรณาการ ปรับทัศนคติ

 

2.จังหวัด: เชียงใหม่

 

3.กลุ่มเป้าหมาย: กลุ่มอาจารย์แนะแนว/อาจารย์ที่ปรึกษา นักเรียน/นักศึกษาแกนนำ และนักเรียนในสถาบันการศึกษานำร่อง 4 แห่ง ประกอบด้วย สายสามัญ 2 แห่ง คือ ร.ร.กาวิละวิทยาลัย และร.ร.หางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ และสายอาชีพ 2 แห่ง คือ ร.ร.เทคโนโลยีเอเชีย กับร.ร.พายัพเทคโนโลยีและบริหารธุรกิจ

 

4.เป้าหมาย: บูรณาการงานป้องกันเอดส์เข้าไปในโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านกลไกที่ทางสถานศึกษามีอยู่แล้ว คือ บุคลากรที่ทำหน้าที่ด้านการแนะแนว และให้คำปรึกษา เพื่อให้บุคลากรดังกล่าวได้มีความรู้ความเข้าใจ และเกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงานเรื่องเพศและเอดส์ โดยร่วมกับกระบวนการในการให้ความรู้โดยกลุ่มเพื่อน เพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาได้เรียนรู้และเกิดความตระหนักในการป้องกัน และเพื่อให้สถานศึกษาเกิดแนวทางในการทำงานป้องกันปัญหาเพศ และเอดส์

 

5.สาระสำคัญของโครงการ: องค์การโปรเจคโฮพแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรต่างประเทศที่ทำงานด้านสุขภาพ ที่ไม่แสวงหากำไร เริ่มก่อตั้งองค์การฯ ขึ้นในประเทศไทย เมื่อประมาณ ปี 2539เน้นการทำงานในด้านให้การศึกษาด้านการป้องกันและนโยบายสุขภาพ โดยเฉพาะงานเอดส์นับเป็นโครงการแรกๆ ขององค์การฯ จนเกิดการพัฒนาเป็นโครงการนำร่องร่วมกับ ร.พ.สันทราย ขึ้นในปีพ.ศ.2541 ชื่อว่า โครงการส่งเสริมสุขภาพ คู่รักคู่สมรสโรงพยาบาลสันทรายถือเป็นงานวิจัยที่จุดประกายให้แกนนำองค์กรหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น คือ เยาวชน เนื่องจากพบสัญญาณวัยรุ่นเริ่มอยู่กินด้วยกัน และเริ่มพบด้วยว่า วัยรุ่นไปรักษาโรคติดเชื้อจากร.พ. องค์การโฮพฯ จึงเข้าไปประสานเชื่อมกับระดับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ในจ.เชียงใหม่ เพื่อจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเพศ และเอดส์แก่นักเรียน และนักศึกษา

ผลของการจัดอบรมหลายๆ ครั้ง จึงได้รับข้อแนะนำจากเวทีต่างๆ ว่า เมื่อมีการฝึกอบรมครูเกิดขึ้น แต่เมื่อครูกลับไปร.ร.ก็จะพบข้อจำกัดในเรื่องของแรงสนับสนุนจากฝ่ายบริหารร.ร. เนื่องจากเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ทำให้การผลักดันในร.ร.ไม่เกิดขึ้น ข้อแนะนำที่ได้รับจึงนำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตร ขณะที่ข้อจำกัดต่างๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการนำความรู้เรื่องเอดส์เข้าไปขับเคลื่อนในระดับร.ร. จูงใจให้องค์การโฮพฯ นำเสนอโครงการกลไกด้านการแนะแนวฯ ต่อสสส. โดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานและการจัดอบรมทั้งหมด พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบกลไกที่จะทำร่วมกับร.ร. และคาดหวังให้รูปแบบกลไกที่สร้างขึ้นช่วยทำให้ร.ร.ได้เรียนรู้เรื่องของการป้องกันเอดส์ทั้งระบบ

 

6.เครื่องมือที่ใช้:การจัดกิจกรรม 2 ส่วน หลักๆ คือ 1.1 การจัดสัมมนาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาเพศ และเอดส์ เพื่อปรับมุมมอง แก่อาจารย์แนะแนว/อาจารย์ที่ปรึกษา และแก่ตัวแทนนักเรียน  1.2 การจัดกิจกรรมในโรงเรียนภายใต้โครงการต่างๆ    

          กิจกรรมส่วนแรกเป็นการปูพื้นฐานความรู้และปรับทัศนคติมุมมองเกี่ยวกับปัญหาเพศ และเอดส์ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม โดยการแยกจัดสัมมนาออกเป็น 2 เวที คือ เวทีอาจารย์แนะแนว/อาจารย์ที่ปรึกษา กับเวทีนักเรียน/นักศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน/นักศึกษามีความกล้าที่จะแสดงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่

            หลังจากกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ปัญหาเกี่ยวกับเพศ และเอดส์แล้ว กลุ่มเป้าหมายทั้งหมดจะต้องมาร่วมสัมมนาด้วยกันอีก 1 ครั้ง เพื่อนำเสนอกิจกรรม (โครงการ) ที่จะต้องทำร่วมกันในโรงเรียน ซึ่งนำไปสู่กิจกรรมในส่วนที่สอง เป็นการลงมือปฏิบัติหลังจากได้รับความรู้มาแล้วจากการเข้าร่วมอบรมสัมมนา

 

7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: เน้นการประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษากับเจ้าหน้าที่ประสานงานขององค์กรโฮพฯ  โดยใช้วิธีการทำงานร่วมกันตลอดกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินการ การประเมินผล และการวางแนวทางในการทำงานให้เกิดความต่อเนื่อง ภายใต้รูปแบบการทำงานเรียงลำดับตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

·       สัมมนาอบรมอาจารย์แนะแนว/อาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาเพศ เอดส์

·       สัมมนา ตัวแทนนักเรียน เกี่ยวกับเพศ และเอดส์

·       อบรมผู้นำกลุ่มเพื่อน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักเรียน/นักศึกษาในการขับเคลื่อนกิจกรรม

·    สัมมนาระหว่างอาจารย์แนะแนว อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้นำกลุ่มเพื่อน เพื่อนำเสนอกิจกรรม (โครงการ) ที่ต้องทำร่วมกันในโรงเรียน

·       ดำเนินกิจกรรม (โครงการ) ในโรงเรียนๆ ละ 4 โครงการ รวมระยะเวลา 4 เดือน

·    ติดตามผล โดยผู้ประสานโครงการฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โฮพฯ จะคอยแวะเวียนไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

·       สรุปและอภิปรายผล

·    เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการเชิญผู้บริหารโรงเรียน และอาจารย์แนะแนวทั้งหมดใน จ.เชียงใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ 4 ร.ร.นำร่อง ที่จะนำเสนอผลของการดำเนินกิจกรรม

·        

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ: ดำเนินการกับอาจารย์แนะแนว/อาจารย์ที่ปรึกษา และนักเรียน/นักศึกษาใน 4 โรงเรียนนำร่อง ระยะเวลาระหว่าง วันที่ 15 เมษายน 2547 – 15 เมษายน 2548

 

9.การประเมินผลและผลกระทบ: หลังปิดโครงการฯ องค์กรโฮพฯ ได้ประเมินผลจากตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อประเมินคุณภาพของกิจกรรม ในเชิงปริมาณคือ มีผู้เข้าร่วมทุกเวทีสัมมนา ตลอดจนถึงเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกินเป้าหมายจากที่กำหนดไว้ ขณะที่คุณภาพของกิจกรรมนั้น องค์กรโฮพฯ ตั้งไว้ที่ระดับ 4 ผลปรากฎว่าทุกกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ในระดับ 4 ซึ่งถือว่าบรรลุผลสำเร็จ

 

10.ความยั่งยืน: ทั้งครูแนะแนวและอาจารย์ที่ปรึกษาจำนวนมากเรียกร้องให้องค์กรโฮพฯ จัดอบรมให้ความรู้กับกลุ่มครูเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกิจกรรมที่จัดทำให้เกิดเครือข่ายจากการพบปะและจัดงานร่วมกันในงานวันเอดส์โลก ส่วนเครือข่ายอื่นๆ ก็สะท้อนว่าโครงการฯ ช่วยเปิดพื้นที่ให้องค์กรอื่นๆ เข้าไปทำกิจกรรมสร้างความเข้าใจเรื่องเพศ และเอดส์ในร.ร. เด็กๆ และร.ร.เองก็มีโอกาสเรียนรู้เรื่องเพศ และเอดส์จากองค์กรอื่นๆ           

            นอกจากนี้ผู้บริหารร.ร.บางแห่งเกิดความตระหนักและมองเห็นความสำคัญของปัญหา เห็นได้ชัดเจนจากผู้บริหารร.ร.ของ 4 ร.ร.นำร่องบางแห่ง แม้จะย้ายไปประจำอยู่ร.ร.อื่น ยังประสานมาที่องค์การโฮพฯ เพื่อขอจัดส่งทีมวิทยากรไปจัดอบรมเรื่องนี้ให้กับร.ร. รวมทั้งความต้องการของร.ร.ต่างๆ ที่เข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งไม่อยู่ในโครงการนำร่อง เขียนระบุเอาไว้ในใบสมัครที่แจกว่า ต้องการให้องค์กรโฮพฯ ไปจัดอบรมให้กับร.ร. ซึ่งผลปรากฎว่า หลังดำเนินโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน (ช่วงที่ทีมวิจัยจัดการความรู้ลงพื้นที่) องค์การโฮพฯ สามารถจัดอบรมให้กับร.ร.ต่างๆ ไปแล้วประมาณ 50 ครั้ง

            สำหรับกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนนำร่องพบว่า ร.ร.ที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องภายใต้การทำงานในรูปแบบของชมรม คือ ร.ร.พายัพเทคโนโลยี ส่วนร.ร.กาวิละ ไม่มีกิจกรรมต่อเนื่อง แต่ใช้วิธีแทรกความรู้ในห้องเรียน ส่วนร.ร.เทคโนโลยีเอเชีย ไม่มีกิจกรรมต่อเนื่อง แต่เน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

 

11.จุดแข็งและอุปสรรค : ช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการฯ เอื้ออำนวยให้ทำโครงการฯ เนื่องจากสภาพปัญหาในเวลานั้นมีความชัดเจน ร.ร.เองมองว่าปัญหาเกิดขึ้นรอบๆ ตัว การวางแผนงานก็ค่อนข้างรัดกุม และมองถึงความเป็นไปได้ รวมทั้งมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในการทำงานที่ค่อนข้างแน่นและเอาใจใส่ในการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่องค์การโฮพฯ กับครู ทำให้งานออกมาค่อนข้างดี ส่งผลทำให้เด็กได้สร้างระบบการเรียนรู้ หรืออย่างน้อยองค์การโฮพฯ เองได้เปิดเวทีสู่ระบบร.ร.ด้วยกัน  

          สำหรับอุปสรรค คือ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปฏิเสธที่จะให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้โครงการเกิดความต่อเนื่อง หลังจากองค์กรโฮพฯ เขียนโครงการขอทุนเพื่อขยายผลในระดับอำเภอ ในลักษณะโครงการนำร่อง และการเชื่อมเครือข่าย โดยให้ร.ร.มัธยมทำกับอำเภอๆ ละ 1 ร.ร. และให้ร.ร.ไปเชื่อมต่อกับร.ร.ขยายโอกาสในอำเภอของตัวเอง เหมือนกับเป็น Leaning Center ด้านเพศและเอดส์ ขณะที่องค์การโฮพฯ จะช่วยสนับสนุนด้านเทคนิกและองค์ความรู้ แต่สสส.มองว่า การดำเนินโครงการเป็นไปได้ยาก

 

12.ที่ติดต่อ : องค์การโปรเจคโฮพแห่งประเทศไทย สำนักงานประจำ จ.เชียงใหม่

 

 

หมายเลขบันทึก: 71623เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท