โครงการหนึ่งมวนดับ จับแก้วคว่ำ ร่วมใจลดค่าใช้จ่ายในงานศพ


.เป้าหมาย:การปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อและค่านิยมของชาวบ้าน ให้มีความเข้าใจว่าการจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ไว้เลี้ยงแขกในงานศพเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้เสียสุขภาพแล้วที่สำคัญยังทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

โครงการหนึ่งมวนดับ จับแก้วคว่ำ ร่วมใจลดค่าใช้จ่ายในงานศพ

 

1.คำสำคัญ: การปรับเปลี่ยนความเชื่อและค่านิยม การมีส่วนร่วม

 

2.จังหวัด: ลำปาง

 

3.กลุ่มเป้าหมาย: ชาวบ้านต.แม่สัน จำนวน 9 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านป่าเหียง หมู่ 1 บ้าน

โป่งขวากหมู่ 5 บ้านส้มป่อย หมู่ 6  บ้านปันเต้าหมู่ 7 บ้านนาเงินหมู่ 8 และหมู่ 4 บ้านหัวทุ่งพัฒนาหมู่ 9 บ้านหัวทุ่ง หมู่ 3 และบ้านลุ่มกลางหมู่ 2

 

4.เป้าหมาย:การปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อและค่านิยมของชาวบ้าน ให้มีความเข้าใจว่าการจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ไว้เลี้ยงแขกในงานศพเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้เสียสุขภาพแล้วที่สำคัญยังทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

 

5.สาระสำคัญของโครงการ: แกนนำกลุ่มแม่หญิงห้างฉัตร มีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งช่วยบ่มเพาะความคิดเรื่องการทำงานกับชาวบ้านจะต้องมีความต่อเนื่อง กระทั่งมีโอกาสเห็นตัวอย่างโครงการ งดเหล้าในงานศพ ที่สกว.ให้ทุนสนับสนุนแก่บ้านนายาว จ.น่าน แกนนำกลุ่มแม่หญองห้างฉัตร จึงเกิดความสนใจ เนื่องจากคนเมืองภาคเหนือต่างก็มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการจัดงานศพไม่แตกต่างกัน คือ การจัดงานศพแต่ละครั้งเจ้าภาพต้องหมดเปลืองเงินทองไปกับเหล้า-บุหรี่เพื่อเลี้ยงแขกเหรื่อตลอดทั้งวันทั้งคืนจนกว่างานศพจะเสร็จสิ้น ประกอบกับวัฒนธรรมประเพณีงานศพของที่นี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นบาทสำหรับทำปราสาทจำลองสำหรับทำพิธีเผาส่งไปให้ผู้ตาย กลุ่มแม่หญิงห้างฉัตรจึงเขียนโครงการหนึ่งมวนดับจับแก้วคว่ำ ร่วมใจลดค่าใช้จ่ายในงานศพ เสนอขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

6.เครื่องมือที่ใช้: การจัดกิจกรรมหลักๆ คือ 1.1 จัดประชุมคณะทำงานร่วมกับคณะที่ปรึกษาการค้นหาอาสาสมัครแกนนำประจำหมู่บ้าน เพื่อลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในงานศพ ก่อนนำข้อมูลไปนำเสนอในเวทีประชาคมชาวบ้าน 1.2 การประชาสัมพันธ์ ผ่านเสียงตามสายในชุมชน วิทยุชุมชน และป้ายประชาสัมพันธ์

            กิจกรรมทั้งหมดเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ การค้นหาอาสาสมัครในชุมชน ที่ใช้วิธีสอบถามความสมัครใจ เนื่องจากกลุ่มแม่หญิงห้างฉัตรมีความคุ้นเคยกับชุมชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ก็ดึงแกนนำในชุมชน ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมรับทราบถึงเป้าหมายของโครงการฯ ในเวทีประชุมผู้นำหมู่บ้านอีกด้วย

 

7.การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน: เป็นโครงการฯ ที่ดำเนินการ และออกแบบกิจกรรมโดยกลุ่มแม่หญิงห้างฉัตร โดยขอความร่วมมือจากชุมชนกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันมาก่อนจากการทำงานร่วมกันในโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมา

 

8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ:ดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม ธันวาคม 2548 โดยทำกับชาวบ้านตำบลแม่สัน และแกนนำชุมชน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ให้การสนับสนุนดำเนินโครงการฯ  

 

9.การประเมินผลและผลกระทบ: ชาวบ้านในชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับความรู้ความเข้าใจว่า อันดับต้นๆ ของค่าใช้จ่ายในงานศพคือ เหล้าและบุหรี่

            อย่างไรก็ดี โครงการฯ นี้ไม่มีการประเมินผลตามหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ

 

10.ความยั่งยืน: จากการสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มแม่หญิงห้างฉัตรให้คำยืนยันว่า เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย จึงมักได้รับเชิญให้ไปร่วมในงานศพ ก็สังเกตเห็นว่า แม้โครงการฯ จะปิดไปแล้ว งานศพที่ไปร่วมมักไม่เห็นเจ้าภาพนำเหล้า-บุหรี่มาบริการแขกที่มาร่วมงาน และพบด้วยว่า มีเจ้าภาพงานศพไปขอเบิกป้ายโครงการฯ ที่เก็บไว้ในชุมชนเพื่อนำไปติดในงานศพ ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้เคียงเมื่อรับทราบกิจกรรมของโครงการฯ จาก 9 หมู่บ้าน ก็ให้ความสนใจและร้องขอให้กลุ่มแม่หญิงห้างฉัตรทำโครงการฯ ในชุมชนของตน กลุ่มแม่หญิงห้างฉัตรมองว่า จำเป็นต้องทำโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง จึงเขียนโครงการเสนอขอทุนจากสสส.โดยดำเนินการกับบ้านเมืองยาว ซึ่งอยู่ติดกับต.แม่สัน แต่สสส.ไม่สนับสนุนโครงการฯ โดยให้เหตุผลว่าถือเป็นเรื่องของพื้นที่อื่น ไม่เกี่ยวกับต.แม่สัน ทั้งที่กลุ่มแม่หญิงห้างฉัตรมองว่า การคิดเรื่องการขยายโครงการฯ จำเป็นต้องมีงบมาสนับสนุนในการทำกระบวนการ เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน และหาคำตอบในการแก้ไขปัญหากันเอง

 

11.จุดแข็งและอุปสรรค: คนทำงานคือแกนนำโครงการฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการซึ่งมีความพร้อมที่จะทำ และมีอาสาสมัครของหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านมาช่วยกันทำงานส่งผลให้งานประสบความสำเร็จ จากที่คาดหวังเอาไว้ว่า ต้องลดค่าใช้จ่ายในงานศพ โดยเฉพาะเหล้า-บุหรี่ ระหว่างที่ดำเนินโครงการฯ สิ่งที่คาดหวังก็ปรากฎผลบ้าง เมื่อมีงานศพเกิดขึ้น 3 ครั้ง พบว่าแต่ละงานชาวบ้านให้ความร่วมมือในการเบิกป้ายรณรงค์ของโครงการฯ จากผู้ใหญ่บ้านเพื่อไปติดในงานศพ แม้จะได้รับความร่วมมือจากผู้มาร่วมงานบ้าง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ลงทุนออกไปซื้อจากข้างนอกเข้ามาดื่มในงาน

ขณะที่นักวิชาการจากสกว.มีส่วนที่ทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จเพราะคอยกระตุ้นให้แกนนำโครงการฯ ทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาช่วยเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับโครงการฯ 

          ส่วนที่เป็นอุปสรรคคือ ชาวบ้านส่วนในพื้นที่ต.แม่สัน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร จึงส่งผลต่อการนัดหมายวันประชุมช่วงจัดเวทีประชาคม เพราะกว่าชาวบ้านจะมาร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงได้ ก็ต้องเลื่อนวันประชุมออกไปหลายต่อหลายครั้ง  รวมทั้งงานบุญประเพณีของชาวบ้าน และแม้แต่งานศพที่เกิดขึ้นติดต่อกันประมาณ 3 งาน ทำให้ระหว่างที่ดำเนินโครงการฯ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามแผน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะร่วมเวทีประชาคมชาวบ้าน ประกอบกับมีโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย โครงการแผนแม่บทชุมชน และโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำปุ๋ยชีวภาพ ลงไปในพื้นที่เป้าหมาย จึงเป็นอุปสรรคต่อเวลาที่ชาวบ้านจะมาร่วมโครงการฯ ได้อย่างพร้อมเพรียง

 

12.ที่ติดต่อ: กลุ่มแม่หญิงห้างฉัตร

หมายเลขบันทึก: 71615เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งจะอ่านเจอ วันนี้ 19/05/09

หลักการดีมาก

แต่ ณ วันนี้ ขอบอกว่า ไม่ได้ผลเลยครับท่าน

งานศพบ้านนอก อย่างต่ำๆ ค่าใช้จ่าย งบ ร่วม แสนบาท

หมู 3 ตัว

วัว 1-2 ตัว

ดนตรี(สมัยใหม่)แดนเซอร์ นักรัอง พร้อม

เหล้า,น้ำแข็ง,น้ำอัดลม

อาหารอื่นๆ เครื่องแกง 3มื้อต่อวัน

กินกันตั้งแต่เช้ว กลางวัน ยัน ดึก 5 - 7 วัน ที่ศพตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่

ตั้งโต๊ะรับแขกประหนึ่งจัดโต๊ะจีน ในงานแต่งงาน

ไม่เชื่อไป ลองสุ่ม ไป ดูได้เลย โดยเฉพาะ ต.แม่สัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท