โครงการประชาคมเมืองฝางเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ


เป้าหมาย :ลดต้นทุนการผลิต การดูแลรักษาสุขภาพโดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น

โครงการประชาคมเมืองฝางเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ

 

๑.  คำสำคัญ :          

 

๒.  จังหวัด :           เชียงใหม่

 

๓.  กลุ่มเป้าหมาย :   เกษตรกรผู้ปลูกส้มในเขต ต.แม่สูน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

๔.  เป้าหมาย :ลดต้นทุนการผลิต การดูแลรักษาสุขภาพโดยใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น

 

๕.  สาระสำคัญของโครงการ :

               อำเภอฝาง แหล่งปลูกส้มคุณภาพดีของเมืองไทย ซึ่งมีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก สารเคมีเหล่านี้ตกค้างอยู่ในผลส้มจำนวนมาก โดยที่ส่วนหนึ่งยังกระจายอยู่ในอากาศ แทรกซึมอยู่ในดิน ถูกชะล้างลงในแหล่งน้ำ ซึ่งสร้างปัญหาในกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบริเวณอย่าง

               ก่อนหน้าพื้นที่แถบนี้จะเป็นสวนลิ้นจี่ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป การทำสวนลิ้นจี่ในระยะนั้นเริ่มมีปัญหา ทั้งภาระด้านต้นทุนที่สูงขึ้นขณะที่ราคาตกต่ำลง ประกอบกับเริ่มมีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินทำสวนส้มขนาดใหญ่เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง ชาวบ้านจึงค่อยเปลี่ยนจากสวนลิ้นจี่มาเป็นสวนส้ม ระยะเวลาไม่กี่ปีสวนลิ้นจี่ของชาวบ้านก็กลายเป็นสวนส้มเกือบทั้งหมด

               ราคาส้มสูงอยู่ได้เฉพาะในระยะแรก หลังจากนั้นราคาก็เริ่มตก ในขณะที่ต้นทุนในการผลิตก็เริ่มสูงขึ้น สภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ย่ำแย่ลงทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมี ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ราคาผลิตผลตกต่ำลง ราคาไม่คงที่ส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจที่เคร่งเครียดมากขึ้น

               จากสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากสวนส้ม ในขณะที่ยังไม่สามารถเลิกปลูกส้มได้จะมีแนวทางในการลดต้นทุนในการผลิตอย่างไร และจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการดูแลสุขภาพที่มีประสบการณ์จากการทำงานร่วมกันมาดูแลสุขภาพซึ่งได้รับผลกระทบจากการเกษตรอย่างไร จึงเป็นที่มาของการทำโครงการนี้

 

๖.  เครื่องมือที่ใช้ :

               ระยะแรกเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องพิษภัยของสารเคมี โดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในระดับกลุ่มโดยใช้เทคนิค AIC และ Mind map ระยะที่สองเป็นการพัฒนาความรู้ในการสร้างทางเลือกเพื่อการลดต้นทุนการผลิตและการพัฒนาทักษะการลดต้นทุนการผลิต โดยการศึกษาดูงาน หลังดูงานมีการสรุปบทเรียนที่ได้จากการดูงาน หาแนวทางที่จะนำมาปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป ระยะที่สามเป็นการพัฒนาทักษะการทำสารชีวภาพเพื่อการลดต้นทุนการผลิต

               หลังจากการจัดกิจกรรมทั้งสามไประยะหนึ่งแล้วมีการจัดเวทีสรุปบทเรียนร่วมกัน โดยเชิญตัวแทนจากทั้ง ๑๒ หมู่บ้านมาร่วม                จากนั้นเป็นการลงไปเยี่ยมเกษตรกรในพื้นที่ และได้นำเรื่องราวต่าง ๆ ไปเผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุ สวท.ฝาง และต่อมาได้นำหมอพื้นบ้านมาให้ความรู้การดูแลสุขภาพแก่ชาวบ้าน รวมทั้งการฝึกอบรมการนวดเพื่อสุขภาพและการนวดเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น

 

๗.  การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน :

               โครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่าง ๔ ภาคี คือ มูลนิธิฯ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง หมอพื้นบ้าน (หมอเมือง) เกษตรกรผู้ปลูกส้ม และเจ้าหน้าที่จากสถานีวิทยุ สวท.ฝาง

 

๘.  ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ :

               ระยะเวลาดำเนินงาน ๑ ปี ระหว่าง

 

๙.  การประเมินผลและผลกระทบ :

               ไม่มีการประเมินผลหลังสิ้นสุดโครงการ

               ผลจากโครงการช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตส้มได้ อัตราการเจ็บป่วยจากสารเคมีลดน้อยลง สภาพผืนดินที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพเริ่มฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งความวิตกกังวลของชาวบ้านจากต้นทุนการผลิตและผลต่อสุขภาพลดลง

 

๑๐. ความยั่งยืน

               หลังสิ้นสุดโครงการฯ มีเกษตรกรได้หันมาใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ การผลิตสารชีวภาพเหล่านี้มักจะกระทำกันเองภายในครอบครัวหรือกลุ่มบ้านใกล้เรือนเคียง แม้ว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนอกส่วนหนึ่งจะได้จากธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรต้องปลูกไว้ใช้เอง เช่น รางจืด สะเดา เป็นต้น ดังนั้นในหัวไร่ปลายนาของเกษตรกรแม้กระทั่งตามรั้วบ้านเรือน  มีการแลกเปลี่ยนความรู้ (สูตร) กับเกษตรกรคนอื่น ๆ ผ่านหลายช่องทาง เช่น การเยี่ยมเยียนระหว่างสวน การพบปะในที่ประชุมสัมมนาต่าง ๆ รวมทั้งการพบปะในระหว่างการขายส้ม เป็นต้น

 

๑๑. จุดแข็งและอุปสรรค

            โครงการนี้มีการออกแบบการดำเนินงานอย่างเป็นกระบวนการ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนัก, การสร้างความมั่นใจ, การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง, การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แต่ละช่วงของการดำเนินงาน ซึ่งการดำเนินงานแต่ละกิจกรรมนั้นโครงการได้พิจารณาความเหมาะสมตามจังหวะและโอกาส รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรณรงค์เผยแพร่ประสบการณ์ของเกษตรกร ที่ช่วยขยายความคิดและสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกร

            แม้ว่าเกษตรกรรายย่อยจะปรับเปลี่ยนมาใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่คือลดต้นทุนการผลิต เหตุผลด้านสุขภาพยังเป็นผลพลอยได้ที่ยังไม่ได้ถูกเน้นและให้น้ำหนักมากนัก

 

๑๒. ที่ติดต่อ : โครงการพัฒนาเมืองฝาง มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน

หมายเลขบันทึก: 71602เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท