ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เห็ด : ในระบบเกษตรประณีตจะผลิตอย่างไร


เห็ดเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของเมืองไทย คนที่มีพื้นที่น้อย หรือมากก็เพาะได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเพาะ อีกทั้งเห็ดยังให้ผลตอบแทนต่อหน่วยพื้นที่สูง ดังนั้นผมจึงเห็นว่าน่าจะเหมาะต่อการเพาะในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต 1 ไร่

เห็ด (Mushrooms) จัดเป็นพืชผัก และสมุนไพร ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งเป็นพืชที่มีศักยภาพต่อการเพาะปลูกในบ้านเราเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกับการปลูกพืชผักชนิดอื่นแล้ว เห็ดสามารถให้ผลตอบแทนต่อหน่วยพื้นที่ค่อนข้างสูง

เห็ดกับเกษตรประณีตทำด้วยกันได้หรือ? ผมใคร่ขอเรียนอย่างนี้ครับว่าในระบบเกษตรประณีตนั้นเราจะเน้นการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินเป็นหลัก เหลือกินแบ่งปัน เหลือแบ่งปันก็ขายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว และเห็ดก็เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องชาวอีสานแทบจะขาดไม่ได้เลยทีเดียว

หมู เห็ด เป็ดไก่ เป็นสำนวนที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย เพราะผมเกิดมาก็ได้ยินเลยครับ นั่นแสดงให้เห็นว่าเห็ดได้มาการบริโภคกันมาอันยาวนาน ซึ่งการเพาะปลูกเห็ดนั้นก็มีมากมายหลายแบบ หลายวิธี ซึ่งผมได้เคยนำเสนอไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเห็ดที่เพาะโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยเพาะในถุงพลาสติก หรือการเพาะลงดินเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้เราสามารถทำได้ค่อนข้างหลากหลายทีเดียว

แล้วเห็ดอะไรที่เหมาะ ต่อการผลิตในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต จริงๆ แล้วการเพาะเห็ดทุกชนิดสามารถทำได้ในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต ถ้าเป็นเห็ดที่เพาะเลียนแบบธรรมชาติเช่น เห็ดผึ้ง เห็ดเผาะ เห็ดระโงก รวมทั้งเห็ดโคน เห็ดตีนแรด สามารถผสมผสานกับพืชผัก และไม้ผลไม้ยืนต้นได้เลย สำหรับเห็ดที่เพาะในโรงเรือน (Indoor cultivation) ผมขอแนะนำพวกเห็ดฟาง นางฟ้า นางรม หูหนู เห็ดบด และขอนขาว เนื่องจากเพาะง่าย อีกทั้งพี่น้องชาวอีสานชอบรับประทาน

พื้นที่ 1 ไร่ จะเพียงพอสำหรับการปลูกหรือ? มีหลายคนสงสัยครับว่าพื้นที่นิดเดียวจะปลูกเห็ดได้หรือ ยังที่เรียนในเบื้องต้นนะครับว่าเห็ดนั้นใช้พื้นที่น้อย อีกทั้งเป็นพืชผักที่ยังใช้น้ำน้อยอีกด้วย เมื่อเราคิดจากพื้นที่ 1 ไร่ หรือ1,600 ตารางเมตร เราใช้พื้นที่เพียง 120 ตารางเมตร ก็สามารถผลิตเห็ดได้ถึง 1 ตัน ในระยะเวลา 5 เดือน ดังตัวอย่างฟาร์มเห็ดคุณอเนก บ้านดงเจริญ .ปทุม .เมือง จังหวัดอุบลราชธานี พี่เขามีพื้นที่เพียง 400 ตารางเมตร (2 งานหรือ 0.5 ไร่) ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และผลิตก้อนเห็ดประมาณ 200 ตารางเมตร ใช้ในการเพาะเห็ดขอนขาว และเห็ดบดอย่างละหลัง ในพื้นที่ 120 ตารางเมตร ส่วนที่เหลือ และตามแนวรั้วปลูกพืชผักสวนครัว และจากการเพาะเห็ดทั้ง 2 หลัง(ประมาณ 4500 ก้อน/หลัง) สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ในระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ขายกิโลกรัมละ 40 -70 บาทขึ้นอยู่กับฤดูกาล นอกจากนั้นพี่เขายังเล่าให้ฟังว่าหากใครมาซื้อเห็ดเราถึงบ้านจะได้รับของแถมไปด้วย คือผักแมงลัก (ผักอีตู่) และผักติ้ว ซึ่งเป็นเครื่องเทศอย่างดี นั่นแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรต่อกัน และนอกจากขายเห็ดแล้วยังมีพืชผักอื่นๆ ขายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน และได้ส่งลูกเรียนหนังสือได้สบายๆ

ดังนั้นในพื้นที่หนึ่งไร่จึงไม่ใช่พื้นที่ที่น้อยเลย หากเราทำด้วยใจ และมีการจัดการแบบประณีต มีการวางแผนงานที่ดีว่าจะผลิตอะไรดี และผลิตอย่างไรที่จะให้เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในกิจกรรมทั้งหมดของเรา เช่นก้อนเห็ดเก่านำไปเป็นปุ๋ยปรับปรุงดินในการปลูกพืช ดังที่ผมได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวาน แล้วกิจกรรมต่างๆ หรือ ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้จะขยายแนวคิดไปได้อย่างไร ถ้าเราไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฉะนั้นเราต้องร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ อันจะได้มาซึ่งชุดของความรู้ ที่จะนำพาพี่น้องเกษตรกรไทยไปสู่สังคมอุดมปัญญา

ขอบคุณมากครับ

อุทัย อันพิมพ์

8 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 71499เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แต่ที่ชาวบ้านทำสำเร็จ สม่ำเสมอ สอดคล้องกับระบบเกษตรกรรมแบบประณีต คือเห็ดฟางครับ

เห็ดอื่นที่ทำแบบ "ประณีต"

ยังไม่มีตัวอย่างให้เห็นครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

  • ผมคิดว่าเห็ดในถุงพลาสติกเป็นเห็ดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะเห็ดบด เห็ดขอนขาว ที่ดูแลรักษาง่ายกว่าเห็ดฟางมากเลยครับ
  • เห็ดถุงเป็นเห็ดที่คนอีสานชอบกิน และเก็บได้หลายเดือนกว่าเห็ดฟาง
  • ต้องการความพิถีพิถันน้อยกว่า
  • จากประสบการณ์ ผมจึงคิดว่าน่าจะมีความเหมาะสมเช่นกันครับ
  • ผมคิดว่าเป็นแนวทางสำหรับการเลือกการผลิตที่หลากหลายสำหรับพี่น้องเกษตรกรครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท