บนความหลากหลายที่มีเป้าหมายเดียวกัน


ในวันนี้พวกเราได้ริเริ่มที่จะออกแบบการเรียนรู้โดยเอาวิชาการผสมผสานกับวิชาชีวิต เรากำลังคิดหลักสูตรทางเลือกที่มีวิชาชีพควบคู่วิชาสามัญ เพื่อสานฝันให้เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ปรารถนาวิชาชีพเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว อาทิเช่น วิชาเพาะเห็ด ( ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ) หมายถึง การเรียนวิชาเพาะเห็ด แต่ได้เกรดวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ ฯลฯ

                              วันนี้ที่ มหาสารคาม อากาศค่อนข้างหนาว ในความหนาวทำให้ผู้คนแต่งแต้มสีสันผ่านการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สดใส ซึ่งบนความหลากหลายแห่งสีสันเหล่านั้น เป้าหมายสำคัญคือการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายส่งผลให้ตัวผมเองเข้าใจความหมายของการจัดการความรู้(Knowledge   Management) มากขึ้น   ด้วยตระหนักว่าศาสตร์แห่งการจัดการความรู้มีอยู่ในตัวของผู้คนทุกผู้ทุกนามมาช้านาน   นับแต่การมีวิวัฒนาการของมนุษย์จวบจนปัจจุบันและในอนาคต                      
              
อากาศดีๆเช่นวันนี้ ทีมงานเม็กดำ ส่วนหนึ่งอันประกอบด้วยครูพยงค์ การิเทพ  ครูเจริญ  ขาวเมือง  ครูบัวผิน  ฝาแก้ว  ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์ ที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน  ใจความสำคัญเป็นการตั้งวงคุยกันถึงความเป็นมาและจะเป็นไปในอนาคต  มีครูศิริพงษ์  สิมสีดา  นักศึกษาปริญญาโท  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ร่วมวงด้วยอีกคนหนึ่ง  วงสนทนาเริ่มออกรสออกชาติ
ด้วยพวกเราคาดหวังว่าการศึกษาจะนำพาให้ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข  ทุกความคิดเห็นมีความหลากหลายในจังหวะและลีลา  แต่ทุกคนปรารถนาในเป้าหมายเดียวกัน  ปรารถนาให้ผู้คนตระหนักและเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ที่มีสถานศึกษากระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของเมืองไทย ทำให้เราคิดถึงความหลากหลายของชุดความรู้ในท้องถิ่นกับความหลากหลายในการออกแบบการเรียนรู้จากครูถึงนักเรียน จะเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไรและเมื่อเชื่อมโยงถึงกันแล้ว ความยั่งยืนก็เป็นคำถามที่จะต้องหาคำตอบต่อไป  และในวันนี้พวกเรามีความข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าการศึกษาจะเป็นไปเพื่อให้ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข  ต้องทำให้ทุกคนมีความสุขในการเข้ารับการศึกษา   ดังนั้นความเป็นไปในกระบวนงานของเม็กดำ จึงจะเป็นการทำงานบนฐานของการจัดการความรู้ในท้องถิ่น  อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง                     
           

         การจัดการความรู้ในท้องถิ่น  ที่ผ่านการผสมผสานพลังกาย พลังใจ ของครู นักเรียน   ชุมชน  ตลอดจนพันธมิตรทางวิชาการ  เกิดเป็นห้องเรียนของคนหลายวัยในเม็กดำ  ที่พวกเราทำงานร่วมกันมาช่วงหนึ่ง  เห็นจุดอ่อน  จุดแข็ง  โอกาสและข้อจำกัด วันนี้เรามีความคิดว่าจะสร้างสรรค์โอกาสทางการศึกษาที่จะนำพาให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขได้อย่างไร  บนฐานการทำงานในปัจจุบันจะสานฝันถึงอนาคตได้อย่างไร  ด้วยรูปแบบกระบวนการใด                       
             
ในวันนี้พวกเราได้ริเริ่มที่จะออกแบบการเรียนรู้โดยเอาวิชาการผสมผสานกับวิชาชีวิต  เรากำลังคิดหลักสูตรทางเลือกที่มีวิชาชีพควบคู่วิชาสามัญ  เพื่อสานฝันให้เด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ปรารถนาวิชาชีพเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว  อาทิเช่น   
  วิชาเพาะเห็ด ( ภาษาไทย   คณิตศาสตร์ )  หมายถึง การเรียนวิชาเพาะเห็ด แต่ได้เกรดวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์  ฯลฯ                                                                                                                                       อาจจะฟังดูสับสนนิดๆ เนื่องจากกำลังเริ่มคิด    ท่านผู้รู้ทุกท่านคิดอย่างไร ขอความกรุณาได้แลกเปลี่ยน….ครับ   

หมายเลขบันทึก: 71487เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
น่าสนใจเช่นเพาะเห็ด ก็คิดกำไร คิดการขายเห็ดเป็นวิชาคณิตศาสตร์ เขียนเรื่องการเพาะเห็ด บรรยายการเพาะเห็ดเป็นภาษาไทย บูรณาการเห็ด(mushroom)โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษประโยคง่ายๆด้วยครับ โอโหได้ 3 วิชาแล้วครับ

ครูเม็กดำที่เคารพ

อยากถามท่านว่าครูทุกคนคิดเอาเองหรือว่าเป็นความคิดของครู (นอกโรงเรียน) 3-4 คน แล้วคิดว่าถูกต้องหรือไม่ในขณะที่ครูนั่งคุยกันถึงการจัดการเรียนการสอนแล้วปล่อยให้เด็กรอครูไปสอนเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่กำลังแก่งแย่งแข่งขันในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ

ตอบด้วยนะถ้าประสบผลสำเร็จจะย้ายมาขออยู่ด้วยคน

พวกเรากำลังคิดว่าเนื้อหาแบบนี้จะช่วยเด็กที่ค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้วิชาสามัญ ได้บ้าง ขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากอาจารย์ว่าในแง่มุมของผู้อยู่ในแวดวงอุดมศึกษา คิดอย่างไร

เรียนครูสมร  ที่เคารพ

             พวกเราทำงานเป็นทีม  โดยใช้การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้  เราตระหนักในคุณภาพของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด   และยินดีต้อนรับทุกท่านในการร่วมเรียนรู้กับเรา

สวัสดีครับอาจารย์

  • ยุ่ง ๆ อยู่หลายวัน จึงไม่ได้เข้ามาติดตามข่าวสารเรื่องดี ๆ  ที่อาจารย์นำมา แบ่งปันสู่การเรียนรู้
  • "ห้องเรียนของคนหลายวัย"  ที่เม็กดำ คือ ห้องเรียนคุณภาพที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
  • ยังตั้งใจว่าสักวันจะไปเยือนที่นั่น ไปสัมผัสเรียนรู้ด้วยตนเอง...

เรียน  คุณแผ่นดิน

         ช่วงนี้ทีมงานผมกำลังช่วยกันจับประเด็นข้อคิดเห็นต่างๆเพื่อสังเคราะห์และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

           ขอบคุณในทุกข้อคิดเห็น    ครับ

      กระบวนการที่เราคิด เราทำ พยายามที่ช่วยเหลือเด็กทุกกลุ่ม 
       กลุ่มเก่ง  ส่งเสริม สนับสนุนไม่ยาก
       กลุ่มอ่อน  ที่เข้าสู่ระบบโรงเรียนตามกฏหมายบังคับ  เราควรจัดกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับเขา
       เพื่อให้ คน เห็นคุณค่า และความสำคัญของเขา

ผมมีความคิดเห็นว่าเป็นไปได้ แต่ระบบการประเมินการศึกษาของเราที่กระทรวงกำหนดน่าเป็นห่วงครับ ผอ

เรียน คุณขจิต

          ผมเห็นว่าเราต้องช่วยกันให้ความสำคัญต่อการประเมินผลจากความสำเร็จในชีวิตจริงของผู้เรียนและ เชื่อมแนวการประเมินผลให้สอดคล้องกันในทุกระดับการศึกษา   ครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์เม็กดำ1...

  • ขอสนับสนุนแนวคิดของท่านอาจารย์ และท่านอาจารย์ขจิตครับ...

การเพาะเห็ดน่าจะนำไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ ได้หลายวิชา เช่น

  • คณิตศาสตร์ > ให้นักบัญชี นักการธนาคาร นักสหกรณ์ หรือไฟแนนซ์มาช่วยสอนการทำบัญชี รายรับรายจ่าย ลงให้ละเอียด และควรพัฒนาระบบบัญชีเกี่ยวกับ "เวลา-แรงงาน" ด้วย เช่น ใช้คน 3 คนๆละ 3 ชั่วโมง รวมเป็น 9 คน-ชั่วโมง ฯลฯ
  • ทำอย่างไรจึงจะประหยัด "เวลา-แรงงาน" ได้ เช่น ทำอย่างไรจะให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม หรือดีขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง ฯลฯ

ภาษาไทย-อังกฤษ...

  • นอกจากจะบรรยายเรื่องเห็ดเป็นภาษาอังกฤษแล้ว.. น่าจะลองให้เด็กแต่งนิทาน "เห็ด" ประกอบภาพ
  • ถ้านิทานดี... เรียนเสนอให้ติดต่อสำนักพิมพ์ ทำภาพการ์ตูนให้มีสีสันดีๆ จำหน่ายเป็นทุนการศึกษา+พัฒนาโรงเรียนเลย
  • เมืองไทยขาดนิทานดีๆ สำหรับเด็กมาก... ถ้าเรามีนิทานดีๆ สำหรับเด็ก ทั้งในรูปหนังสือ และการ์ตูน ทั้งเป็นเล่ม และเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต > เด็กไทยรุ่นใหม่จะก้าวไปไกล... (เพราะครูดีสนับสนุน)

ท่านขุนพล

ท่านมีพัฒนาการที่เร็วมาก

ขอชื่นชม และเหมาะกับขุพล ห้าดาว ครับ

เรียน...ท่านอาจารย์เม็กดำ 1

        แนวคิดของท่านอาจารย์เยี่ยมมากเลยครับ... ผมก็เคยคิดทำแนวน้ีกับงาน กศน. ในพื้นที่ของผมในปีงบประมาณน้ีเหมือนกันคิดว่า ผมคงได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกคนหนึ่งแล้ว ผมจะติดตามบันทึกของอาจารย์เพื่อ ลปรร งานของเรานะครับ....

        สวัสดีปีใหม่ครับ...

                     ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ
 

ดีครับ

สนับสนุนครับ

ผมเคยเสนอแนวคิดนี้ให้กับที่ทำงานผมแล้ว แต่มีปัจจัยบางอย่างที่ยังไม่ตอบสนองได้เท่าที่ควร

แต่ของอาจารย์ทำ

.ได้ประโยชน์ กันทุกฝ่าย

.เป็นการบูรณาการศึกษาจริงๆครับ

.คณิต วิทย์ ไทย อังกฤษ สังคม สุขศึกษา คหกรรมได้หมดครับ

.เอาเห็ดเป็นโจทย์

.ครูทุกรายวิชา  แนะนำ

.นักเรียน ร่วมกันทำ

มีแต่ได้กับได้ครับ เพราะเป็นการเรียนที่เห็นจริง ได้ทำจริง

ปีนี้โจทย์เป็น เห็ด ปีหน้าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

.การประเมิน คือการแปลค่าจากการวัดผลการศึกษา จากการสอนของครู และจากการเรียนของนักเรียน

.ครูร่วมกันสอนทุกอย่าง เพื่อสิ่งหนึ่ง

.นักเรียนร่วมกันทำ และเรียนทุกอย่าง เพื่อสิ่งหนึ่ง

.เพราะชีวิตจริงที่ทุกคนต้องเจอ เมื่อออกไปทำงาน

คนๆหนึ่งจะประกอบอาชีพสิ่งหนึ่ง เค้าจะรู้กระบวนการความรู้ เพื่อสิ่งนั้นได้

เป็นทั้งแรงกาย แรงใจให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท