ถ้าอยากให้นักศึกษาเป็นอย่างไร อาจารย์ต้องเป็นอย่างนั้นก่อน


อาจารย์ การศึกษา นักศึกษา

บ่อยครั้งที่เรามักจะพบได้ยินคำบ่นว่า นักเรียน นักศึกษา ไม่ได้เป็นดังที่เราคิดว่าควรจะเป็น  อย่างเ่ช่น ควรจะมีความสามารถมากกว่านี้  ควรจะขยัน มีระเบียบวินัยมากกว่านี้ ควรจะหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ  รวมทั้ง ไม่ควรจะลอกการบ้าน ควรจะมีความซื่อสัตย์สุจริต 

จริง ๆ แล้ว ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า ตัวอาจารย์เองนั้นแหละที่จะต้องฝึกให้ตนเองเป็นอย่างนั้นก่อน  เริ่มจาก การสอนหนังสือในปัจจุบัน อาจารย์ไม่ควรจะสอนสิ่งเดิม ๆ  อาจารย์ควรจะเอาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่มีการนำไปใช้จริงในโลกภายนอกในขณะนั้น มาศึกษา  ซึ่งหมายความว่า อาจารย์ก็ต้องแสดงบทบาทเป็นนักศึกษาเช่นกัน  เพียงแต่บทบาทนักศึกษาที่อาจารย์แสดงนี้  ไม่มีอาจารย์มาคอยชี้แนะ ไม่มีอาจารย์มาแนะนำ  ไม่มีอาจารย์มาคอยแก้ปัญหาหรือตอบคำถาม  อาจารย์ในบทบาทของนักศึกษาจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง  สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง อาจจะมาจากการคิดเอง หรือค้นหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต  ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีความยากลำบากกว่าการเข้ารับการอบรม หรือการเข้าเรียนทำหน้าที่เป็นนักศึกษาที่มีอาจารย์คอยชี้แนะ  แต่ถ้าอาจารย์ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สิ่งใหม่  ๆ   เทคโนโลยีและเศรษฐกิจก็คงจะพัฒนาไปได้ช้า

ถ้าสังคมเราไม่มีอาจารย์ที่ดี  ก็ยากที่สังคมจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและเจริญ  มีหลายคนถามว่า ทำไมประเทศเรา สังคมเราจึงหาผู้นำที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่งได้ยากนัก  ส่วนหนึ่ง คิดว่า เป็นเพราะว่า ประเทศเรามีครูบาอาจารย์ที่เ็ป็นทั้งคนดีและคนเก่งน้อย  คนที่เรียนดีส่วนใหญ่ ก็เป็นแพทย์ วิศวกร กัน  เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ น่าจะอยู่ที่การพัฒนาการศึกษา ซึ่งน่าจะเริ่มต้นจากการผลิตและพัฒนาคุณภาพของครูบาอาจารย์

อะไรเป็นสิ่งที่บ่งชี้ที่สำคัญที่สุดของคุณภาพของครูอาจารย์ หลายคนอาจจะตอบว่า ความรู้ แต่บางทีเราอาจจะมองข้ามสิ่ง ๆ หนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่า ความรู้ คือ จิตวิญญาณของความเป็นครู ซึ่งในทีนี้ หมายถึง ความปรารถนาดี  ความตั้งใจ ความพยายาม ความมานะอุตสาหะที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อจะให้ลูกศิษย์มีความรู้มากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ใช้ความรู้ของตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และมีความสุขมากขึ้น  หากเรามีจิตวิญญาณเช่นนั้นแล้ว สิ่งอื่นย่อมพัฒนาตามมาเองได้โดยง่าย  

 

 

หมายเลขบันทึก: 71448เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ dr.กานดา
  • ปีใหม่ มีโจทย์ใหม่ๆ ให้เราได้ฝึกสมอง ประลองพลังนะคะ

ชอบเนื้อหานี้จัง เรื่องของการเลือและการพัฒนาบุคคลที่จะมาเป็นครู ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่แต่ลงสู่การกำหนดเ็ป็นนโยบายไม่ได้สักที

อาจารย์มีแนวทางดี ๆ ก็เสนอแนะหน่อยครับ 

ขอบคุณคุณ Bright Lily และ คุณ prachit ที่เข้ามาอ่านและเสนอความคิดเห็นค่ะ

ต่อข้อซักถามของคุณ prachit พอดีวันนี้ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการวิชาการของคณะ ในส่วนของการพิจารณารางวัลนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี   ในขณะที่พิจารณาเรื่องนี้อยู่  ก็มีความรู้สึกลึำก ๆ ในใจว่ารางวัลนี้เน้นแต่เรื่องผลการเรียน จริง ๆ น่าจะมีตัวชี้วัดตัวอื่นด้วย แต่ก็ไม่ได้ในใส่ใจในความรู้สึกนี้มากจนกระทั่งเจอคำถามของคุณ prachit จึงมีแนวคิดว่า

การที่จะพัฒนาบุคคลที่จะมาเป็นครูที่ดีและเก่งนั้น

1) ต้องพัฒนาตัวเองก่อน ซึ่งพัฒนาได้เรื่อย ๆ อย่างตัวเองก็พยายามที่จะพัฒนาให้เป็นคนดี เก่ง และมีความสุขอยู่ทุกวัน  เชื่อว่าตนเองมีส่วนที่ต้องปรับปรุง แก้ไข และพัฒนา

2) ในส่วนของการเตรียมเยาวชนรุ่นปัจจุบันเพื่อจะเป็นครูที่ดีในอนาคตนั้น  คิดว่าควรจะส่งเสริมให้เยาวชนมีความคิดที่เห็นแก่ผู้อื่นด้วย  อย่างเ่ช่น ควรจะมีรางวัลส่งเสริมนักศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้อื่นเรียนดี  ถ้าเป็นผู้บริหารและมีเงินอยู่ 4000 บาท แทนที่จะให้กับนักศึกษาที่ไ้ด้เกรดเฉลี่ย 3.9 ก็เลือกที่จะให้กับนักศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ย 3.8 แต่มีการติวและช่วยเหลือแนะนำเพื่อนในการเรียนสม่ำเสมอ   แน่นอนว่าการทำความดีนั้นวัดออกมาเป็นรูปธรรมยาก  เพราะฉะนั้นรางวัลอาจจะอยู่ในรูปแบบของการให้รางวัลกับกลุ่มนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีขึ้นด้วย  รางวัลนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานกันเป็นกลุ่ม เก่งกันเป็นกลุ่มมากขึ้น สามัคคีกันมากขึ้น  และน่าจะทำให้วัฒนธรรมของนักศึกษาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยเห็นว่า  การช่วยคนอื่นนั้นมีผลทำให้กลุ่มหรือสังคมของตนได้รับผลดีไปด้วย

ได้ศึกษาblogเมื่อสองสามวันก่อน พยายามอ่านลักษณะที่ดีของการสร้างบล็อค

ได้แนวคิดว่าคงต้องมีเครือข่ายเรื่องที่สนใจเหมือน ๆ กัน เลยสมัครแล้วพานักศึกษาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันและให้นักศึกษาสมัครเป็นสมาชิก ขอขอบคุณ ที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากบทความ-ข้อคิดเห็นของอาจารย์ และ้คำแนะนำครับ

คิดเอาเองว่าแต่ก่อนเรามีปมด้อยว่าเกิดมาเป็นคนบ้านนอก มาตอนนี้ภูมิใจนิด ๆที่เกิดอยู่บ้านนอกเพราะมีความสุขจังเมื่อนึกถึงตอนเป็นเด็ก เห็นบรรยากาศ การเรียนการสอนสมัยนั้นติดตา ชอบครูคนไหนก็เอาอย่างจริง ๆ พอได้อ่านประวัติอาจารย์ก็เลยนึกถึงตัวเอง ที่พยายามใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง

และคิดว่าน่าจะคุยเป็นเครือข่ายได้ก็เลยลองเมล์คุยครับ

คิดว่าอาจารย์คงช่วยพัฒนาประเทศด้านนี้ได้เยอะขอให้กำลังใจครับ 

เจริญพร อาจารย์

เข้ามาอ่านสองครั้งแล้ว ก็อยากเสนอความเห็นบ้างตามมุมมองเชิงจริยศาสตร์...

แนวคิดจริยศาสตร์คุณธรรม มีประเด็น "ตัวแทนทางศีลธรรม" นั่นคือบุคลที่เป็นแบบอย่างให้มีผู้เลียนแบบ ..ตามบันทึกของอาจารย์ก็สงเคราะห์ในเรื่องนี้ได้...

ปัญหาเรื่อง ตัวแทนทางศีลธรรม ก็คือ ขาดมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือขาดการบ่งชี้ว่า ตัวแทนทางศีลธรรมควรจะเป็นอย่างไร ?

เจริญพร

ที่จริงการเรียนรู้ของเรา...มักอ้างอิงมาตรฐานอ่ะครับ....

ซึ่งคำว่าดีมีคุณธรรม...ตามตัวหนังสือนั้น...กินความหมายแค่ไม่ถึง 1 % ของความหมายทั้งหมดเท่านั้น... ความหมายที่ซ่อนอยู่หลังตัวหนังสือ...จึงหามาตรฐานอะไรมาเรียนรู้แล้ววัดผลให้ได้มาตรฐาน(เชิงประจักษ์)ได้...

 แต่สามารถซึมซับได้...

ครูทั้งหลาย...ที่ผ่านการเรียนรู้ทั้งในระบบการศึกษาและประสบการณ์ การเกิด การเลี้ยงดู จากครอบครัวสังคมวัฒนธรรม ที่แวดล้อมอยู่  ก็ได้อาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้...สร้างให้เขาเป็นครูคนหนึ่ง...ที่ต้องสอนหนังสือไปตามตำราพร้อม ๆ กับสิ่งที่ถ่ายทอดคุณธรรมความดี(และเลวร้าย)ซึ่งพกพาอยู่เบื้องหลัง(Backpack)ของเขา...

อย่างไรก็ตาม...นักเรียนนักศึกษา... ก็ไม่ได้รับสิ่งที่ครูถ่ายทอดให้ทั้งหมดหรอกครับ... เพราะเขาก็มีเบื้องหลัง(Backpack)อยู่ไม่น้อย... เพียงแต่เราคาดหวังว่า...จะมีครูจำนวนมาก ที่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามให้กับศิษย์ได้...แม้ไม่ทั้งหมดก็ตาม....

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดิฉันตามมาอ่านบล็อกอาจารย์ เพราะได้ทราบความสนใจของอาจารย์เรื่องธรรมะ  ดิฉันกำลังพยายามสอนเด็กๆเรื่องนี้  แต่พูดเป็นภาษาพระไม่เป็น

มาเจอบล็อกนี้ของอาจารย์เข้าเลยได้ข้อคิดดีๆไปปรับปรุงตัว  จะได้สอนเด็กๆอย่างมีความสุขค่ะ

ดิฉันเชื่อว่าอาจารย์เป็นครูสายวิทย์ที่เข้าใจจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นโชคดีของนักศึกษาที่ได้เรียนกับอาจารย์ค่ะ 

ขอให้อาจารย์สอนและทำงานอย่างมีความสุขนะคะ

 

อ.ต้อม

เห็นด้วยอย่างมากเลยค่ะว่าเราเองก็ต้องทำตัวให้เป็นอาจารย์ที่ดีด้วย คิดอยู่เสมอว่าเราเป็นด่านสุดท้ายก่อนที่เขาจะออกไปฝ่าฟันกับโลกภายนอก ฝึกเขาได้มากเท่าไหร่ ก็จะดีเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องการเรียนอย่างเดียว แต่ก็ต้องด้านอื่นด้วย ถึงแม้เราจะได้รับเขามาตอนที่เขาอาจจะเริ่มเป็นไม้แข็งเล็กน้อยแล้ว แต่อย่างน้อยก็ยังพอทำอะไรได้บ้าง

เราว่าเราคิดถูกมากๆที่เลือกอาชีพนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท