คุณครูสอน เรื่องการตีความ


เราต้องเข้าใจวิธีการตีความน่ะครับ วิธีการตีความนี้ เราเอาข้อมูลส่วนนึงที่เรารับมาจากภายนอก จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา แล้วเราก็ไปนำเอาข้อมูลจากอดีต memory ของเราเหมือนกับในเครื่องคอมพิวเตอร์เลยนะ จะใส่อะไรเข้าไปมันก็จะไปดึงเอาข้อมูลจาก memory ของมัน มาเปรียบเทียบกันถ้าเผื่อมีมันก็บอกเข้าใจแล้ว ถ้าเผื่อไม่มีมันก็บอกใส่ข้อมูลใหม่ มันไม่เข้าใจ อันนี้ใช้ไม่ได้ มันก็จะบอกเรา

          เรื่องเล่าของดิฉันไม่ทราบนะคะว่าจะเข้าข่ายครูในดวงใจของท่านอาจารย์วิจารณ์หรือไม่  เพราะดิฉันประสบกับครูดีท่านนี้เพียง 3 ชั่วโมง ในวันมหกรรม KM แห่งชาติ 

          ดิฉันในฐานะผู้เข้าร่วมประชุม  และท่านเป็นวิทยากร ท่านผู้นั้นก็คือ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ด้วยความที่ดิฉันประทับใจการบรรยาย (สอน) ของท่านมาก ดิฉันตั้งใจอยู่แล้วว่า ยังงัยเสีย ก็ต้องเอามาเล่า เอามาบอกต่อ ให้กัลยาณมิตรของดิฉันให้ได้รับทราบด้วย (เพราะดิฉันอยู่ในวงการศึกษา) เมื่อวาน ดิฉันเล่าไปเรื่องหนึ่งแล้ว  วันนี้อยากเล่าอีกเรื่องค่ะ  ให้ชื่อเรื่องว่า  การตีความ

          ท่านอาจารย์ ดร.อาจอง  ชุมสาย  มีวิธีการสอนที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ และอย่างมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านจะอธิบายเรื่อง  โกรธทำไม  ทำไมต้องโกรธ ท่านอธิบายอย่างนี้ค่ะว่า


          เราใช้ประสาทสัมผัสของเราในการรับข้อมูลเข้ามา ทำไมเราเห็นอะไรเข้ามาแล้วบอกว่า ไอ้นั่นมันเลว ไอ้นั่นมันชั่ว เด็กบางคนพอเห็นอะไรบางอย่างก้าวร้าวขึ้นมาทันที เพราะอะไร?

          เรามาดูว่าอะไรเข้ามาในตาของเรา  แสงใช่มั้ยครับ?  แสง คืออะไร?

            

          แสงคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มันจะประกอบด้วยสนามไฟฟ้าตัว E  และสนามแม่เหล็กตัว H ที่กำลังสั่นสะเทือนด้วยความถี่สูง

          ถามนักวิทยาศาสตร์ซิว่า ที่เราบอกว่าเห็นความเลว  ความเลวอยู่ตรงไหนในแสง เพราะว่าถ้าไม่มีอะไรเข้ามาในตาแล้ว เราจะเห็นความเลวได้อย่างไรใช่ไหมครับ มันต้องมีอะไรอยู่ในแสง มันอยู่ที่สนามแม่เหล็กหรือเปล่า อยู่ที่สนามไฟฟ้าหรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์ก็บอกไม่ใช่มันเป็นแค่การสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กสนามไฟฟ้า ไม่มีอะไรเลว ไม่มีจริงๆ ครับ แล้วเราเห็นความเลวได้ยังงัย วิทยาศาสตร์ก็บอกว่าในเมื่อความเลวไม่ได้เข้ามา ...แต่เราเห็นความเลว แสดงว่าเราตีความของเราเอง เราคิดเอาเอง ความเลวอยู่ในใจของเราตั้งแต่แรก เราก็เลยใช้ตัวนั้นตีความเอาเอง  ต้องเข้าใจตัวเราเอง

          หรือย่างเสียงนี่ เวลาคนด่าเรา มันเป็นแค่การสั่นสะเทือนของอากาศ

          ขยายใหญ่จะเห็นโมเลกุลของไนโตรเจน โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์นะครับ แรงสั่นสะเทือนมันเข้ามาในหู

 

          ตัวไหนทำให้เราโกรธ ออกซิเจนหรือเปล่า พวกเราก็หัวเราะใช่ไหมครับ เพราะออกซิเจนมันเป็นของดีจะตายไป  ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ ถ้างั้นไนโตรเจนหรือเปล่า ไนโตรเจนนี่มันไม่ค่อยมีปฏิกิริยากับใคร มันเป็นแค่ตัวที่ช่วยให้ออกซิเจนมันเจือจางลงไปหน่อยเท่านั้นเอง เพราะเราหายใจออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% นี้ไม่ได้ เราเป็นบ้าไปเลยน่ะงั้น เราเจือจางลงไปหน่อย  งั้นไนโตรเจนดีมาก งั้นคาร์บอนไดออกไซด์หรือ ไม่ใช่  ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เราโกรธได้เพราะว่าไอ้ตัวคาร์บอนไดออกไซด์มันช่วยสร้างอาหารให้กับเราน่ะครับ พวกต้นไม้มันจะดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ผลิตคาร์โบไฮเดรตให้กับเราแล้วก็เป็นอาหารให้กับเรามีประโยชน์มาก อ้าว..แล้วเราโกรธได้อย่างไรล่ะ  ถ้างั้น นักวิทยาศาสตร์ก็บอกมันอยู่ในใจเรา เราตีความเอาเอง คิดเอาเอง


          ยกตัวอย่าง ตอนผมเป็นเด็กอายุ 9  ขวบ ไปกรุงปารีสเป็นครั้งแรก ในชีวิตไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน ก็ไปที่กรุงปารีส ยกเว้นลาวนะ ลาวเคยไปตอนเด็กๆ แต่ตอนนั้นไปต่างประเทศจริงๆ ก็อายุ 9 ขวบ ไปถึงที่นั่นเด็กเขาสนใจกันใหญ่เพราะหน้าผมไม่เหมือนชาวบ้านใช่มั้ยครับ เขาก็อยากทำความรู้จักก็เลยมาคุยใหญ่เลยครับ คุยไปคุยมาผมก็ได้แต่ยิ้มของผมน่ะครับ เพราะหูมันไม่กระดิกเลย ภาษาผรั่งเศส เขาก็เลยโกรธขึ้นมา เพราะเขาถือว่าเป็นการผิดมารยาทอย่างร้ายแรง เขาคุยกับเราแต่เราไม่คุยกลับเขาก็เลยโกรธ เลยด่าผมแหลกเลยครับ ใช้ภาษาที่เลวที่สุดในภาษาฝรั่งเศส เขาด่าผมด้วยภาษาที่เลวที่สุดเนี่ยน่ะครับ แต่ผมเฉย ยิ้มตลอด เพราะอะไร  มันเป็นแค่การสั่นสะเทือนของอากาศ  เขาด่าผม ผมไม่โกรธอะไรเลย เพราะผมไม่ได้ตีความ นี่ถ้าเผื่อเราไปตีความเราก็ต้องเอาอะไรในใจออกมาตีความสิ แต่นี่เราไม่เอาอะไรออกมาเลยครับ เราไม่โกรธ  เราไม่ไปโมโหใคร เพราะนั่น คำด่าอย่าไปสนใจมันเป็นแค่การสั่นสะเทือนของอากาศ เราไม่ต้องไปเดือนร้อนอะไรครับ
 
          เนี่ยครับหลักวิทยาศาสตร์มันเป็นอย่างนี้ เราต้องเข้าใจวิธีการตีความน่ะครับ วิธีการตีความนี้  เราเอาข้อมูลส่วนนึงที่เรารับมาจากภายนอก จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา แล้วเราก็ไปนำเอาข้อมูลจากอดีต memory  ของเราเหมือนกับในเครื่องคอมพิวเตอร์เลยนะ จะใส่อะไรเข้าไปมันก็จะไปดึงเอาข้อมูลจาก memory ของมัน มาเปรียบเทียบกันถ้าเผื่อมีมันก็บอกเข้าใจแล้ว ถ้าเผื่อไม่มีมันก็บอกใส่ข้อมูลใหม่ มันไม่เข้าใจ อันนี้ใช้ไม่ได้ มันก็จะบอกเรา เช่นเดียวกันกับจิตใจของเราน่ะครับ ข้อมูลเข้ามา เราดึงออกมาจากจิตใต้สำนึกของเราแล้วก็มาเปรียบเทียบ เสร็จแล้วเมื่อเปรียบเทียบได้แล้วก็ส่งไปที่จิตใต้สำนึกการรับรู้ก็เกิดขึ้นน่ะครับ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าการรับรู้ของเรา ของเด็ก ของทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ใส่ข้อมูลอะไรเข้าไป

          เด็กก้าวร้าวเพราะอะไร เกิดขึ้นมาคุณพ่อ-คุณแม่ทะเลาะกัน ตีกัน หย่าร้าง ปัญหาในครอบครัวรอบด้านมีแต่เรื่องวุ่นวาย โทรทัศน์ก็มีแต่เรื่องวุ่นวายให้เราได้ดูได้ชม เด็กก็จ้องดูเขาฆ่ากันเป็นว่าเล่น อิจฉากัน อะไรต่ออะไรในละคร เพราะฉะนั้นโทรทัศน์ทั้งหลายเนี่ยน่ะครับ เด็กก็จดจำสิ่งเหล่านี้ บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ ถึงเวลาก็เอาสิ่งเหล่านี้ออกมาตีความ

          เพราะฉะนั้นเราต้องระมัดระวังมาก แล้วเราต้องช่วยกันในระบบการศึกษาเนี่ยน่ะครับ ที่จะต้องช่วยเด็ก เด็กของเราเป็นเหยื่อสังคมจริงๆ ครับ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นทำลายเด็กทั้งนั้น มีปัญหาเยอะมาก ก็..ไม่ยุติธรรมที่จะบอกว่าทำลายเด็กน่ะครับ ..ของดีก็เยอะ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เรากำลังสร้างปัญหาให้กับลูกหลานของเรา

          เพราะฉะนั้นโรงเรียนน่ะครับ เริ่มตั้งแต่ตรงนี้เริ่มเลยครับ สอนให้เด็กมีวิจารณญาณ น่ะง่ายๆ เด็กทุกโรงเรียนเลยนะครับ ทุกคนและรวมถึงตัวเราด้วย วิธีการใช้วิจารณญาณง่ายนิดเดียว สอนให้คิดทันทีเมื่อมีอะไรเข้ามาในจิตใจของเรา ดีสำหรับเรามั้ย?  ตั้งคำถามแรก ถ้าเผื่อดีสำหรับเรา..ผ่านไปคำถามที่สอง ดีสำหรับทุกคนมั้ย? ถ้าเผื่อผ่านตัวนี้เอาไปใช้ได้เลยครับ มีปฏิกิริยาได้เลยน่ะ นำเอาไปใช้ประโยชน์ได้เลยเพราะมันดีสำหรับทุกคน แต่ถ้าเผื่อไม่ดีสำหรับทุกคน..ปฏิเสธ!  อย่าไปใช้มันถึงมันจะดีสำหรับเรา แต่ไม่ดีสำหรับทุกคน..อย่าไปใช้ อย่าเอาความคิดอันนี้ไปพิจารณาเลย ใช้วิจารณญาณแบบนี้ล่ะครับ

          เด็กที่โรงเรียนผมคิดอย่างนี้เป็นทั้งนั้น พอมีอะไรเข้ามาปุ๊บ ดีสำหรับเรามั้ย ดีสำหรับทุกคนมั้ย สอนอย่างนี้ล่ะครับ ให้ทุกคนคิดอย่างนี้น่ะง่ายๆ เสร็จแล้วเขาคิดอย่างไรเขาก็จะส่งข้อมูลอันนั้นเข้าไปบันทึกไว้ในจิตใต้สำนึกเป็นแรงเสริมที่จะเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์

          ในขณะเดียวกันเราบูรณาการคุณธรรมเข้าไปในทุกวิชา พอบูรณาการเข้าไปในคณิตศาสตร์ในอะไรต่ออะไร เราสอนเด็กมันก็เข้าใจในจิตสำนึก คุณธรรมมันก็ฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกอีกทีครับ แล้วต่อไปเราก็จะตีความทุกอย่างโดยอาศัยคุณธรรม ..แทรกเข้าไปๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นน่ะครับ เด็กอยู่ในโรงเรียนของเรา เด็กอยู่ที่บ้านของเรา ลูกของเรา หลานของเรา แทรกคุณธรรมตลอด

          แล้วก็เราช่วยกันน่ะครับ หา video ที่ดีๆ ที่มีคุณธรรมให้เด็กดู อย่าให้เขาไปดูละครโทรทัศน์ของไทยเลยครับ มันไม่มีอะไรครับ มันมีพระเอก มันมีนางเอกอาภัพ เสร็จแล้วก็ไปเจอพระเอกฐานะดีร่ำรวย เสร็จแล้วก็มีตัวอิจฉาแทรกเข้ามา...ไปดูทำไม เพราะมีอยู่แค่นี้ ไม่มีอะไรมาก เดี๋ยวเขาก็ทะเลาะกัน ตีกัน ด่ากัน ก็เสียใจร้องห่มร้องไห้ เสร็จแล้วก็ตอนหลังก็โชคดีน่ะครับ ในที่สุดพระเอก-นางเอกก็เข้าหากันได้น่ะครับ เราก็รู้อยู่แล้ว อย่าไปดูเลย ถ้าเผื่อเราดูน่ะครับเด็กก็จะเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา เต็มไปด้วยความโกรธแค้น เริ่มตบตีคนอื่นน่ะครับ อะไรแบบนี้ น่ะ ซึ่งเราต้องหาอะไรดีๆ ให้เด็กดูครับ แล้วก็สิ่งเหล่านี้ก็จะฝังลงไปในจิตใต้สำนึกนำมาใช้ในการตีความในครั้งต่อๆ ไป

          เพราะฉะนั้นเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ง่ายน่ะครับ แค่เดือนเดียวเราเปลี่ยนได้แล้ว ถ้าเผื่อครูทำกันอย่างจริงจังในโรงเรียน ยกตัวอย่าง เด็กขี้ขลาด เด็กขาดความมั่นใจ เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก อันนี้สำคัญ ความสำเร็จในอนาคตของเขาขึ้นอยู่กับการที่เขามีความความมั่นใจในตัวเอง ...ตอนเช้าเด็กมาเข้าแถวหน้าเสาธงน่ะครับ คุณครูช่วยนำใส่ความคิดเข้าไปในจิตสำนึกของเขาครับ โดยบอกเด็กนักเรียน..เอาล่ะให้เขาสวดมนต์อะไรต่ออะไรกันตามรูปแบบที่เราใช้หน้าเสาธงน่ะครับ ..เสร็จแล้วคุณครูลองทำบ้าง

          อ้าว..นักเรียนทุกคนขอให้พูดตามคุณครู

          ต่อไปนี้ (เด็กทุกคนก็พูด) ต่อไปนี้...

          เราจะเป็นเด็กกล้าหาญ เราจะเดินก้าวหน้าไปด้วยความมั่นใจ เราจะข้ามอุปสรรคทั้งหลายด้วยความมั่นใจ ด้วยความกล้าหาญ เราจะต้องประสบความสำเร็จในชีวิตของเรา นี้หละครับใส่ความคิดเข้าไป

          เมื่อเด็กพูด ความคิดเหล่านั้นก็ฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก

          เรากำลังใส่โปรแกรมใหม่ให้กับเด็กครับ  เสร็จแล้วพอเด็กเข้าไปในโรงเรียน ตกลงกันทั้งโรงเรียนบูรณาการความกล้าหาญ ความมั่นใจ เข้าไปในคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม วิชาทุกวิชาก่อนจะทำกิจกรรมอะไรก็บูรณาการเข้าไปน่ะครับ.....

หมายเลขบันทึก: 71387เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 07:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 

       หากเราให้โทรทัศน์ทุกช่องเสนอแต่รายการที่ดี  ที่มีประโยชน์  มีความคิดสร้างสรรค์  ดูซิว่ารายการโฆษณาที่สนับสนุนหนังน้ำเน่าจะทำอย่างไร

       น่าจะดูแลอนาคตของชาติมากกว่ารายได้ของคนถือหุ้นสถานีโทรทัศน์

เคยได้รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนการสอนของโรงเรียนสัตยาสัยมาบ้าง แต่เมื่อได้อ่านบล็อกนี้ก็ได้รับความกระจ่างมากขึ้น ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ

สอนให้เด็กมีวิจารณญาณ

ชอบมากเลยค่ะอาจารย์

อาจารย์ พรุ่งนี้ จะเข้ามารบกวนอาจารย์ต่อนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท