การพัฒนาที่แท้แปลว่าอะไร?????


เราพัฒนากันแต่ค่าใช้จ่าย ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมด แต่ไม่มีที่มาของแหล่งเงินที่จะมาจ่าย

ผมเป็นเด็กยุคชาติพัฒนา ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ มาแล้วครับ

ผมจึงมีความภาคภูมิใจกับความเป็นเด็กยุคชาติพัฒนา ค่อนข้างมาก แต่ยิ่งพัฒนาครับ ผมเห็นแต่ความเสื่อมสลาย ความเสื่อมโทรม ทางสังคม ทรัพยากร และเศรษฐกิจ

ผมจำได้ว่า เมื่อปี ๒๕๐๕  เป็นปีที่ผมรู้สึกสะเทือนใจและฝังใจมากที่สุด

จำได้ว่าหนุ่มสาวในหมู่บ้านได้อพยพแรงงานเข้าเมืองไปทำงานโรงงานทอกระสอบ ในเมืองโคราช  ทำให้พวกผมและเพื่อนๆ ที่ยังเป็นเด็ก อายุยังไม่ถึงวัยอันควรที่จะมาเล่นสงกรานต์แบบผู้ใหญ่ ต้องมานั่งตีโทนตามประเพณีพื้นบ้านอย่างเหงาหงอย โดยทำหน้าที่แทนคนรุ่นหนุ่มสาวที่เขาไม่อยู่ในหมู่บ้านแล้ว

นี่คือประสบการณ์แรกในชีวิต ที่ผมรู้สึก ฝังใจ และเจ็บปวดมาก กับคำว่า พัฒนา

ผมเคยหัดขี่เกวียนด้วยความภาคภูมิใจสมัยเด็ก ๆ ว่า เมื่อโตขึ้น ผมจะเป็นคนที่ขี่เกวียนขนของไปไหนมาไหนได้เก่งคนหนึ่ง 

 และแล้ว ผมก็ไม่เคยมีโอกาสที่จะขี่เกวียนอีกเลย

นี่คือ ผลของการพัฒนาที่ผมรู้จักอีกประการหนึ่งครับ

ต่อมา ไม่นาน ญาติพี่น้องผม เขาก็เห่อไปซื้อเครื่องสูบน้ำ กัน แทนการใช้เครื่องมือพื้นบ้านในการวิดน้ำเข้านา (ซึ่งทำได้เองแทบไม่ต้องลงทุนเลย) ที่ต้องลงทุนแพงมาก แต่ก็ทำงานได้เร็วครับ ทำให้เครื่องมือเก่า ๆ หายไปหมดเลยครับ เพราะถือว่าไม่ทันสมัย 

ต่อมา ญาติพี่น้องผม เขาก็ไปซื้อรถไถนาเดินตาม เพื่อมาไถนาแทนควาย ทุกคนก็แข่งกันใช้รถไถแทนควาย แล้วบอกว่า ทำงานได้เร็ว มีโอกาสได้พักผ่อนมาก ผมก็ไม่ทราบว่าจะพักไปไหนครับ  เพราะปกติก็ไม่มีอะไรจะทำอยู่แล้ว  หลังจากนั้น วัว ควาย ก็เริ่มหายไปจากหมู่บ้าน พร้อมกับการงอกงามของหญ้าในทุ่งนา จนในที่สุด คนที่พยายามจะไถนาด้วยควายก็ไถไม่ได้ เพราะหญ้าหนามาก ก็เลยต้องใช้รถไถกันทั้งหมด ไม่มีก็ต้องเช่าคนอื่น 

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมรู้จักคำว่า พัฒนา

ต่อมา ถนนก็ตัดเข้ามาถึงบ้านผม ทุกคนที่เคยเดินไปตลาด ก็เดินไม่เป็นแล้วครับ อย่างน้อยต้องนั่งรถสองแถว หรือถ้ารวยขึ้นมาหน่อย ก็ซื้อจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์ ระยะทางที่เคยเดินไปหาเพื่อนบ้าน ๓๐๐-๔๐๐ เมตร เดี๋ยวนี้ก็เดินไม่ได้แล้วครับ เพราะว่ามีมอเตอร์ไซด์ให้ใช้  หลังจากมอเตอร์ไซด์ ก็เริ่มมีรถยนต์ เดี๋ยวนี้ใต้ถุนบ้านพ่อผม และบ้านอื่นๆ มีรถจอดอยู่ หลายคัน เก่าบ้าง ใหม่บ้าง

อันนี้ ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่ผมรู้จักคำว่า พัฒนา

แต่ก่อน เวลามีงานหรือมีข่าวคราวจะติดต่อ เราก็จะใช้วิธีเดินไปบอกกัน หรือเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อบอกข่าวคราวว่าใครจะทำอะไร เมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ ก็แล้วแต่ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับ

มีแต่โทรศัพท์คุยกันครับ มีมือถือกันทุกครัวเรือน อย่างน้อย ๒-๓ เครื่องต่อครัวเรือน  เขาเรียกว่า พัฒนาแล้วครับ

แต่ก่อนบ้านผม จะทำนาโดยวิธีการ ไถ ตกกล้า ปักดำ และก็เกี่ยว โดยการลงแรงช่วยกัน ที่เราเรียกว่า ลงแขก น่ะครับ  ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วครับ เพราะทุกคน จ้างรถไถขนาดใหญ่หว่านข้าวแห้ง (หว่านสำรวย) พอตอนเกี่ยวก็จ้างรถเกี่ยว ไม่มีใครเป็นชาวนาแล้วครับ  มีแต่ผู้จัดการนาครับ  แต่บังเอิญผู้จัดการไม่มีเงินเดือน มีแต่หนี้ทบต้นทุกปีครับ

แต่ก่อนบ้านผมจะใช้วิธีผลิตและถนอมอาหารต่างๆเก็บไว้ทานนานๆ ในฤดูที่ขาดแคลน ด้วยวิธีต่างๆ หลากหลายวิธี ดองบ้าง ตากแห้ง ทำเค็ม ฯลฯ

ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วครับ อาหารก็ไม่ผลิต ไม่ปลูก ไม่ทำแล้วครับ แต่ไปซื้อจากร้านค้ามารับประทานเป็นรายมื้อ แต่ทุกคนก็ซื้อตู้เย็นมาไว้ใส่น้ำเย็นโชว์กันแล้วครับ เขาเรียกว่า พัฒนาครับ

แต่ก่อนบ้านผมใช้ตะเกียง  จะไปไหนทีก็ใช้ถือตะเกียงส่องทาง และจะใช้เฉพาะตอนจำเป็นเท่านั้น เพราะน้ำมันแพง ขวดละตั้ง ๑ บาท ตอนนี้น้ำมันลิตรละ ๓๐ บาท แต่ทุกคนก็ดูเหมือนจะมีเงินที่จะไปซื้อน้ำมันมาขี่รถเล่น เขาเรียกว่า พัฒนา ครับ

แล้วก็ ใช้ไฟฟ้าในสารพัดเรื่อง เดือนหนึ่งๆ เสียค่าไฟเป็นร้อยบาท ไม่ทราบว่าเขาไปเอาเงินมาจากที่ไหนกันครับ แต่เขาเรียกว่า พัฒนา แล้วครับ

ผมมานั่งดูกระบวนการพัฒนาทั้งหลาย ทั้งปวง ผมก็ชื่นชอบไปกับผลของการพัฒนาต่างๆ 

แต่พอไปนั่งดูจริงๆ ปรากฏว่า

เราพัฒนากันแต่ค่าใช้จ่าย ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมด

แต่ไม่มีที่มาของแหล่งเงินที่จะมาจ่าย

ราคาผลิตผลต่างๆ ก็ไม่เห็นสูงเท่าไหร่ รายได้เข้ามาส่วนใหญ่เป็นรายปี แต่รายจ่ายเป็นรายวัน

ญาติพี่น้องผมจึง  อยู่ในภาวะที่ชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั้งนั้น 

คนที่พอจะเอาตัวรอดได้ก็ได้แก่คนที่ส่งลูกไปเป็นมนุษย์เงินเดือนได้สำเร็จ และสามารถผลิตเงินส่งกลับมาบ้านได้ทันกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

สำหรับชาวนาทั่วๆ ไป ที่ทำไม่ได้ หรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจแบบสาหัสครับ เพราะค่าใช้จ่ายรายวัน ไม่สามารถจะปิดด้วยรายได้รายปี

ผมจึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้คนที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่มีแนวคิด และโอกาสกลับไปฟื้นฟูฐานชีวิตของตนเอง ไม่พึ่งพาภายนอกจนมากเกินไป เพราะถ้ายังพึ่งพาภายนอกในรูปแบบที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น ยากมากที่จะทำให้เกิดความพอเพียงได้ 

แต่การทำเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องเน้นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำรงชีวิต การลดกิเลศ และความต้องการปลอม ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด มีการพอประมาณในการดำรงชีวิต และสร้างภูมิคุ้มกันด้านต่างๆ ที่จะไม่ทำให้ชีวิตกลายเป็นเหยื่อของปลาใหญ่ในระบบสังคมมนุษย์อีกต่อไป

แล้วเราจึงอาจจะสามารถชะลอการวิ่งตามกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมที่เชี่ยวกราก (แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก และไม่เคยเป็นมิตรกับเกษตรกรผู้ด้อยโอกาส) แล้วหันกลับมาสู่ระบบแห่งการพัฒนาที่แท้จริงได้

ผมมีความเห็นอย่างนี้นะครับ ท่านว่าอย่างไรครับ
หมายเลขบันทึก: 71378เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 02:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • เห็นด้วยครับกับการชะลอวิ่งตามกระแสเศรษฐกิจทุนนิยม หันมาสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง โครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครฯก็ใช้หลักการนี้ มุ่งให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการลงมือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ออม ด้วยยตนเอง รอการพึ่งพาและใครจะบันดาลให้น้อยลง
  • คำว่า กิเลศ อาจารย์เขียนผิดนะครับ
การพัฒนาที่ให้ชนบทล่มสลาย ทำให้คนไทยทิ้งแผ่นดินมาเป็นแรงงานราคาถูกในโรงงานของพวกนายทุนขี้โกง  ภาพมายาของอสรพิษร้ายคือเงิน บดบังข้าวปลาอาหารที่เป็นของจริง ความพอเพียงคือของจริงเป็นความจริงที่นายทุนไม่อยากให้เกิด  ขอบคุณครับอาจารย์ที่นำสิ่งดีๆมาฝากอยู่เสมอ

เรียน อาจารย์ดร.แสวง   รวยสูงเนิน

  • เห็นด้วยกับอาจารย์อีกเช่นเคยนั่นหละครับ เพราะผมก็เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนและหมู่บ้านของผมครับ ว่าเป็นเช่นนั้นจริง
  • หากเรามองในมุมของคำว่า "การพัฒนา" คืออะไรนั้น ผมก็ยังมองว่า เป็นการที่ทำให้ดีขึ้น แต่ในการพัฒนาของสังไทยที่ผ่านมานั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะยิ่งพัฒนาไป วัฒนธรรมยิ่งเสื่อมสลาย สังคมแตกแยก ครอบครัวแตกกระจาย ผมจึงสรุปว่าเป็นการพัฒนาที่ล้มเหลวครับ
  • จากแนวทางการพัฒนาตามภาวะความทันสมัย (Modernization) ที่ผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ ทำให้คนในสังคมต้องเป็นหนี้เป็นสินมากมาย เพื่อจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนทันสมัย โดยไม่ได้มีการกลั่นกรอง ว่าเทคโนโลยีนั้นเหมาะสม และจำเป็นกับตนเองหรือไม่ หรือที่เราเรียกว่าทันสมัย แต่ไม่พัฒนา  ผมจงเห็นว่าการพัฒนาที่ล้มเหลวเช่นกันครับ
  • แล้วเราจะปลูกสร้างจิตสำนึกอย่างไรครับให้คนในสังคม ได้ตระหนักในเรื่องของการคัดสรรในการเลือกใช้เทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อลดปัญหาต่างๆทางสังคมที่จะตามมาครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย 

ครูนงครับ

ก่อนจะเหลียวหน้า ต้องแลหลังให้ชัดก่อนครับ ไม่งั้นพลาดง่ายมาก

นี่คือสิ่งที่ผมพยายามสะกิดอยู่ทุกวันนี่แหละครับ

คุณอนุกูล คุณอุทัย

ผมอยากสะท้อนให้นักวางแผนได้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตบ้าง

เพราะส่วนใหญ่จะเดินหน้าลูกเดียว ไม่เคยสรุปบทเรียนที่ผ่านมา แล้วก็พลาดมาตลอด

  • ทำให้ผมนึกถึงเพลงฝรั่ง
  • "Blowing in the wind" ที่ถามว่า
  • "ผู้บริหารจะต้องมีสักกี่หูจึงจะได้ยินเสียงเสียงร่ำให้ของผู้ทุกข์ยาก"
  • เพลงนี้ไม่เคยล้าสมัยเลย
  • ร้องทีไรถูกสถานการณ์ทุกครั้ง
  • ใครตอบได้ไหมว่าทำไม
  • การพัฒนา  ขึ้นอยู่ กับความเข้าใจของชาวบ้าน  ว่าตัวเขาเองมีความเข้าใจว่าอย่างไร  ผมคิดว่าความเข้าใจในความหมาย  จะนำไปสู่พฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา
  • ที่น่าสนใจมากกว่าคือ  เส้นทางที่มาของความเข้าใจ ในความหมายของการพัฒนา และตัวเขาเองยอมรับว่า ใช่เลย นี่แหละคือการพัฒนา
  • โจทย์ คือ  ใครเป็นปัจจัย ที่มีอิทธิพล   มาจากภายในตัวเขาเอง  หรือมาจากคน กลุ่มคน องค์กร  สังคม หรือนโยบายของรัฐ   สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้นำ ความเชื่อของเขาทั้งนั้น

อาจารย์ศิริพงษ์

แล้วถ้าเด็กประถมบอกว่าท็อฟฟี่หวานๆเป็นอาหารกับร้านเล่นเกมส์ที่เขาต้องการมากที่สุดในชีวิตเขา

อาจารย์จะทำให้เขาอย่างที่เด็กร้องขอมาหรือไม่ครับ

 

ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงมันผิดตรงไหน?

มันผิดที่..ไปซื้อเข้ามา ซื้อของคนอื่น

ถ้ามันผลิตเครื่องสูบน้ำได้เองในนี้

ผลิตรถไถ มอร์เตอร์ไซด์ มือถือในนี้

ไทยทำไทยใช้  ไทยเจริญ

การศึกษาไม่ดี ทำให้คนไทยความรู้ไม่พอใช้ ไม่พอพัฒนา ไม่พอที่จะดูแลสังคม

ถ้าซื้อหมุนเวียนกันภายในประเทศมันจะเป็นอะไรไปละ นี่มันซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่ไม้จิมฟันยันเรือรบ กระดาษเช็ดก้นยังพึ่งเทคโนโลยีเขาเลย มันก็ไอ้แค่นั้นแหละ ถ้ายังดูถูกการเรียนรู้

การศึกษาไม่ดี จริ๊งจริงๆๆ ไม่ใช่โทษปี่โทษกลอง

ทำให้คนไทยความรู้ไม่พอใช้ รู้แค่หางอึ่ง รู้แค่ใช้เครื่องมือของคนอื่น  ทำให้ความรู้ไม่พอพัฒนาประเทศ ไม่พอดูแลสังคม เป็นสังคมที่ไม่พอเพียงทางสติปัญญา

ทำอย่างไรรู้ไหมครับ

เราต้องทะลายคุกการศึกษา แหกคุกออกมา

ทะลายแบบไหน โปรดติดตามตอนต่อไปในวันพร่งนี้

อย่าบอกพัสดีก่อนละ 

เรื่องหนึ่งที่น่าจะสรุปกันก็คือ

ยุบทิ้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หรือไม่ก็ค่อยๆลดหน่วยงาน และบุคลากรลงปีละ 20% คณะเกษตรของอาจารย์ก็ควรอยู่ในเงื่อนไขนี้ด้วย ภายใน5 ปี เราก็จะยุบหน่วยงานของภาครัฐได้

เพราะไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร

จะอยู่เพื่อไปส่งเสริมใคร

ในเมื่อชาวบ้านหนีไปอยู่กระทรวงแรงงานและพัฒนาสังคมหมดแล้ว

คิดดีๆนะกระถางทั้งหลาย 

 

    เราควรพัฒนาสติและปัญญาไปพร้อมกันให้รู้เท่าทันวัตถุนิยม 

    ความพอเพียง ความไม่ประมาท การรู้จักเลือก  เราก็จะพัฒนาอย่างสวยงาม

เรียนอาจารย์แสวงที่เคารพ

  • ประเด็นของคุณ กังหัน ผมว่าน่าสนใจ กำลังจะโยงเข้าไป ถึงเด็กที่อาจารย์ ยกตัวอย่าง เขาเห็นว่า ขนมหวานเป็นอาหาร และชอบร้านเกมมากที่สุด
  • เด็กคนนี้เป็นตัวแทนของเด็กส่วนใหญ่ของประเทศไทยใด้อย่างสมน้ำสมเนื้อ  เลยครับ เพราะใด้แสดง ให้เห็น ความพร่อง ของการ ศึกษาของไทยทั้งระบบ   ใด้เห็นผลของการ รับรู้(อย่างขาดสติ) แต่ไม่มีการเรียนรู้
  • ถามว่า จะให้เด็กตามที่เขาต้องการหรือไม่  ไม่แน่ ขึ้นอยู่กับ การให้เหตุผล ของสิ่งที่เขาต้องการ ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร เชื่อมโยงกับอะไรบ้าง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไครบ้างทั้งปัจจุบันและอนาคต
  • เห็นด้วยครับที่ต้องเริ่มที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำรงชีวิต และลงมือปฏิบัติตามแนว ศก.พอเพียง
  • การปฏิบัติก็ต้องลงมือปฏิบัติกันทุกคน ทั้งคนจน-มั่งมี  ทุกอาชีพ เพราะทุกส่วนล้วนเชื่อมสัมพันธ์กัน
  • ลปรร.ครับ

ขอบคุณครับในความเห็น เรื่องพัฒนาสติปัญญา

ผมเห็นด้วย ๑๐๐% ครับ

  • แต่ครูเราพร้อมหรือยังครับ
  • เราจะหาจุดเริ่มได้ตรงไหนได้บ้าง
  • เดินทีละก้าวอย่างไร
  • กิบข้าวทีละคำอย่างไร คำไหนก่อน
  • แล้ว "อะไร" ที่เราต้องทำทีละอย่างบ้าง

เราช่วยกันคิดได้ไหมครับ

จึงจะบรรลุเป้าหมาย

  •  เมื่อวานผมลงพื้นที่ไป ลปรร.กับชาวบ้านครับ (ลิงค์) เขาไม่ยอมเป็นหนี้ใคร อยู่อย่างเรียบง่ายที่บ้านเราเรียนว่า "ยากจน" แต่ผมว่าเขารวยนะครับ "รวยความสุข" หรือจะเรียกว่า "อยู่เย็นเป็นสุข" ก็ว่าได้ 
  • ลุงเขาเริ่มที่วิถีการปฏิบัติของตนเองก่อนครับ  ซึ่งเกษตรกรบ้านเรามักจะไม่ยอม จะวิ่งตามกระแสอย่างเดียว
  • ลปรร.ครับ

 

ท่านสิงห์ป่าสักครับ

คนที่ต้านกระแสได้มีไม่กี่คนครับ

คนส่วนใหญ่จะวิ่งตามกระแส "ทันสม้ย" ครับ

กาลเวลาเปลี่ยนสังคมก็เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ไม่แปลกแต่ลำบาก เราเกิดมาคนละยุคกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท