แนวคิดพื้นฐานในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว


แนวคิดในการพัฒนาให้เกิดการสร้างสรรค์สื่อที่เอื้อต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น มีเนื้อหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับ มีช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ที่มากขึ้น นับเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีคุณภาพที่ดีอันเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศต่อไป

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร : ข้อเสนอแนะเชิงเนื้อหาและเชิงวิธีการในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์  

(๑)      ที่มาและความจำเป็นของกองทุนสื่อสร้างสรรค์

          เป็นที่ตระหนักกันดีอยู่แล้วว่า สื่อเป็นเครื่องมือที่มีพลังต่อการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับมนุษย์ในสังคม สื่อสามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างและขยายสุขภาวะให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันสื่อก็สามารถเครื่องมือในการสร้าง ขยายและทำซ้ำทุกขภาวะ ให้กับสังคม ได้เช่นเดียวกัน และในปัจจุบันนี้ พบว่าสื่อที่มีเนื้อหาของความรุนแรง สื่อที่มีเนื้อหาเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม สื่อที่ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม มีจำนวนมากขึ้น และอิทธิพลของสื่อเหล่านั้นได้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในเรื่องของค่านิยม บริโภคนิยม การใช้ความรุนแรง รวมไปถึง การแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม สื่อที่มีเนื้อหาเพื่อการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว กลับมีจำนวนลดลง

สาเหตุหลักที่สำคัญที่ทำให้สื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีจำนวนและคุณภาพลดลง ก็คือ ปัจจัยความอยู่รอดของรายการที่ขึ้นอยู่กับการระดับความนิยมเชิงปริมาณของผู้ชมเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ผลิตที่จะสามารถอยู่รอดได้ จึงต้องผลิตรายการที่ตอบสนองต่อความนิยมของผู้ชมเป็นหลัก โดยไม่เน้นความสำคัญของคุณภาพของเนื้อหาในมิติของการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้

แนวคิดในการพัฒนาให้เกิดการสร้างสรรค์สื่อที่เอื้อต่อการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น มีเนื้อหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับ มีช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ที่มากขึ้น นับเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างและพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้มีคุณภาพที่ดีอันเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศต่อไป

แนวคิดในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ข้างต้น นอกจากจะปรับแนวคิดในการวัดระดับคุณภาพของเนื้อหาจากระดับความนิยมเชิงปริมาณไปสู่การวัดระดับคุณภาพของเนื้อหาในเชิงการเรียนรู้แล้ว การสร้างแรงจูงใจที่เอื้อต่อการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในรูปแบบต่างๆนับเป็นกลไกที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างแท้จริง

การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อฯ ที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ ก็คือ การสนับสนุนในรูปแบบของเงินทุน หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่ง กองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ใน ๔ มิติที่สำคัญ กล่าวคือ การสนับสนุนให้เกิดช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ การสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ การสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในเรื่องของการผลิตสื่อ และการเฝ้าระวังสื่อ

(๒)     กองทุนสื่อสร้างสรรค์กับการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์

แนวคิดพื้นฐานของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ก็คือ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อที่เอื้อต่อการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัวอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ การสร้างช่องทางของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ เช่น สถานีโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ของการนำเสนอสื่อสร้างสรรค์ที่มากขึ้น และสามารถจัดสรรช่วงเวลาของการออกอากาศได้อย่างเหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย

การสนับสนุนให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้มีจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนให้เกิดพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในรูปของงานวิจัย อันจะทำให้สื่อที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมีคุณภาพที่ดีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเรียนรู้และการตลาดในเวลาเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ความปรารถนาที่สำคัญของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ก็คือ การได้มีโอกาสและพื้นที่ในการแสดงความสามารถและศักยภาพในการสร้างสรรค์สื่อเพื่อตอบสนองต่อความรู้และความต้องการของชุมชน กองทุนสื่อสร้างสรรค์จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวได้มีพื้นที่ของการแสดงศักยภาพของตน นอกเหนือไปจากนั้น สื่อที่ถูกผลิตโดยชุมชนเพื่อชุมชนจะสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี

ในที่สุดแล้ว กองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว จึงมิใช่กองทุนเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ในระดับจุลภาคเท่านั้น การสร้างสื่อที่เป็นเครื่องมือในการสร้าง ขยายสุขภาวะที่ดีให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ประกอบกับการเพิ่มพื้นที่ของการแสดงศักยภาพของเด็ก เยาวชนและครอบครัว จะทำให้สังคมไทยมีพลเมืองที่เข้มแข็งอันส่งผลให้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน 

(๓)     แนวทางการจัดตั้งกองทุน

จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือ TV4Kids  ซึ่งเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ภายใต้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

    

    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ สามารถจัดทำได้ใน ๒ ระยะกล่าวคือ ระยะเริ่มต้น เป็นการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ในรูปขององค์การมหาชนอิสระ ภายใต้ พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.๒๕๔๒ โดยการจัดตั้งภายใต้กฎหมายในระดับพระราชกฤษฎีกาซึ่งหากพิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นไปเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการวิจัย อันเป็นกิจการบริการเพื่อสาธารณะประโยชน์ ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ในรูปขององค์การมหาชนอิสระได้

    

    ในระยะที่ ๒ เป็นการพัฒนากองทุนสื่อสร้างสรรค์จากองค์การมหาชนอิสระไปสู่สำนักงานกองทุนสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ภายใต้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงและมีเสถียรภาพทางด้านงบประมาณและในส่วนของการดำเนินงานซึ่งจะทำให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ 
 

(๔)     ความพร้อมของการดำเนินงาน

           ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา การเตรียมงานในส่วนของการพัฒนากองทุนสื่อสร้างสรรค์ ถูกจัดทำขึ้นใน ๒ ลักษณะกล่าวคือ ลักษณะที่ ๑ การแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางและความเป็นไปได้ในการสร้างแรงจูงใจในรูปของเงินทุน[1] ซึ่งเป็นการทำงานในส่วนของการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ โดยเน้นการถอดประสบการณ์ของกองทุนสื่อที่มีอยู่ทั้งในสังคมไทยและในต่างประเทศ ประกอบกับ การจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลต่างที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ แนวทาง ความเหมาะสมในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์

ประกอบกับ ลักษณะที่ ๒ การทำงานในการขับเคลื่อนสังคมของเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ซึ่งประกอบด้วยองค์กรหลักกว่า ๗๖ องค์กร ทั้งจากภาคนักวิชาการ ภาคประชาชน (องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เครือข่ายผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเด็ก เครือข่ายครอบครัว) ภาคนโยบาย ภาคธุรกิจสื่อ และภาคสื่อมวลชน

การทำงานในการขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นกระบวนการทำงานเพื่อร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนากองทุนสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เน้นการทำงานในเชิงการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากองทุนฯ ร่วมกับสังคมหลายครั้ง

    

    นอกจากนั้นแล้วเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานครได้ร่วมจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากเครือข่ายเด็ก และเยาวชน ใน ๗ ภูมิภาค จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ชุด เพื่อสำรวจความคิดเห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ โดย ผลจากการสำรวจพบว่า เครือข่ายเด็ก เยาวชน จำนวนร้อยละ ๙๖ เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ในจำนวนนี้ เครือข่ายเด็ก เยาวชน ร้อยละ ๘๕เห็นว่า รัฐควรเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนงบประมาณ 

ในขณะเดียวกัน เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก และ สภาเด็กและเยาวชน ได้ร่วมดำเนินการระดมเงินทุนประเดิมเข้ากองทุนสื่อสร้างสรรค์ จากเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัวทั่วประเทศ โดยการรับบริจาคเงินเข้ากองทุนเริ่มต้นคนละ ๑ บาท

    

    จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา กว่า ๓ ปีที่ผ่านมา องค์ความรู้ที่ชัดเจนและเป็นระบบของการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ได้รับการศึกษาวิจัยและพัฒนาขึ้นอย่างละเอียดและรอบด้าน ในขณะเดียวกัน กิจกรรมต่างที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมของเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่เข้าเป็นแนวร่วมในการพัฒนากองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่มีจำนวนมากขึ้น และแสดงเจตจำนงของความต้องการในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่ชัดเจน ดังนั้น ความพร้อมในเชิงวิชาการประกอบกับความพร้อมของกลไกการสนับสนุนจากเครือข่ายจึงเป็นเครื่องชี้วัดถึงความพร้อมและความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อ่านต่อฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นี่ คลิ้ก

[1] จัดทำโดยคณะนักวิจัยและพัฒนาในชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว หรือ TV4Kids  ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายต่างๆจำนวนกว่า ๗๖ องค์กร ทั้งจาก ๑) ภาคนักวิชาการในสาขาต่างๆ ทั้ง ในภาคนิเทศศาสตร์ นิติศาสตร์ พัฒนาการมนุษย์ สังคมศาสตร์ จิตวิทยา ๒) เครือข่ายภาคประชาชน ๓) เครือข่ายภาคนโยบาย ๔)เครือข่ายภาคธุรกิจสื่อ และ ๕) เครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 71330เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการนะครับ

แต่อยากให้เร่งสร้างฐานการรวมกลุ่ม หรือภาคประชาสังคมของเด็กชนบท ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ของประเทศให้มากครับ อย่างที่แม่ฮ่องสอน การรวมกลุ่มเด็กยังปวกเปียก สภาเด็กเองก็ไม่ค่อยขยับอะไรเลย เพราะอิงภาครัฐอยู่มาก

วิชาการเราเดินหน้าแล้วก็ดีใจครับ แต่อดเป็นห่วงในระดับปฏิบัติการไม่ได้ เพราะยังขาดความพร้อมมากๆ จะทำอย่างไรดี?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท