เรือดำน้ำ.....เกยตื้นที่สมุทรปราการ


               

                 กองทัพเรือได้มีแนวความคิดที่จะปรับปรุง  และสร้างกำลังรบทางเรือให้เข้มแข็ง มีความทันสมัยเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางทะเลกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งการเดินเรือพาณิชย์ การคุ้มครองเรือประมง และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่นแหล่งก๊าซ ตลอดจนแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลไทย สิ่งที่กองทัพเรือร้องขอมาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลใดเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์อันจะพึงได้รับนั่นก็คือ เรือดำน้ำ แต่ก็ใช่ว่าประเทศไทยเราจะไม่เคยมีเรือดำน้ำมาก่อนเลยก็หาไม่ แท้จริงแล้วประเทศเราเคยมีเรือดำน้ำมาก่อนซึ่งได้สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมา

                ในระยะแรกนั้น เรือดำน้ำเป็นกำลังรบที่ใหม่ ทรงอานุภาพทางทะเลมากที่สุด เพราะสามารถกำบังตัว หรือหลบหนีด้วยการดำน้ำ สามารถเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ซึ่งเรือผิวน้ำไม่สามารถเข้าไปได้ และมีอาวุธตอร์ปิโดอันเป็นอาวุธสำคัญที่เป็นอันตรายแก่เรือผิวน้ำมากที่สุด ไม่มีเครื่องมือค้นหา และอาวุธปราบเรือดำน้ำที่จะทำอันตรายแก่เรือดำน้ำได้ ดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงนับได้ว่าเรือดำน้ำ เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง 
                 เรือดำน้ำได้อยู่ในแนวความคิดของกองทัพเรือไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2453 แล้ว จะเห็นได้จากโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453ซึ่งมีคณะกรรมการอันประกอบด้วย นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ต่อมาเป็น นายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) นายพลเรือตรี พระยาราชวังสวรรค์ (ฉ่าง แสง-ชูโต ต่อมาเป็นนายพลเรือเอก พระยามหาโยธา) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต่อมาได้เป็นนายพลเรือเอก กรมหลวงฯ) ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ต่อมาเป็น จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระฯ) เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และเสนาบดีฯ ทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.129 (พ.ศ. 2453)
                โครงการนี้ได้กำหนดให้มี “เรือ ส.(1) จำนวน 6 ลำ” ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้อธิบายไว้ว่า “เรือ ส. คือเรือดำน้ำสำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ข้าศึก….. แต่ยังกล่าวให้ชัดไม่ได้เพราะยังไม่เคยลงแลลอง แต่ที่พูดถึงด้วยนี้โดยเห็นว่าต่อไปภายหน้าการศึกษาสงครามจะต้องใช้เป็นมั่นคง แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้” เวลานั้นเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่นาวีของมหาอำนาจในยุโรปกำลังพัฒนาและทดลองใช้อยู่
                 ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ออกจากประจำการ และต้องจ้าง นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ (J.Schneidler) นายทหารเรือชาติสวีเดนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทหารเรือ ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 นายนาวาเอก ชไนด์เลอร์ ได้เสนอโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือสำหรับป้องกันประเทศ และได้กล่าวถึง “เรือดำน้ำ” ว่า “เป็นเรือที่ดีมากสำหรับป้องกันกรุงเทพฯ แต่จะผ่านเข้าออกสันดอนลำบาก ถ้าเก็บไว้ในแม่น้ำก็ไม่คุ้มค้า” และได้เสนอไว้ในโครงการให้มีเรือดำน้ำ 8 ลำ สำหรับประจำอยู่กับกองทัพเรือที่จันทบุรี
                 ทหารเรือไทยและคนไทยได้มีโอกาสเห็นเรือดำน้ำจริงๆ เป็นครั้งแรกที่ไซ่ง่อน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2454 ในโอกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสอินโดจีนฝรั่งเศส ได้จัดเรือดำน้ำมาแล่น และดำถวายให้ทอดพระเนตรในบริเวณที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีเทียบท่าอยู่
                 เรือดำน้ำในกองทัพเรือไทย (มี 4 ลำ)
                       1. ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่สอง (ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่หนึ่ง เป็นเรือใน                        รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) 
                       2. ร.ล.วิรุณ
                       3. ร.ล.สินสมุทร
                       4. ร.ล.พลายชุมพล
                  เรือเหล่านี้ขึ้นระวางประจำการและ ได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญคือ เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจากที่ ร.ล.ธนบุรี และเรือตอร์ปิโดถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือดำน้ำ 4 ลำได้ลาดตระเวนเป็นแถว อยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมงขึ้นไป นับเป็นการดำน้ำที่นานที่สุดตั้งแต่เริ่มมี หมวดเรือดำน้ำเป็นต้นมา
                 ในปัจจุบันเรือหลวงมัจฉานุ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำรุ่นแรกของกองทัพเรือไทยได้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี และ วีรกรรมของวีรชนทหารเรือผู้กล้าจากสมรภูมิและยุทธนาวีที่สำคัญของกองทัพเรือในอดีตนำมาจัดแสดงในรูปแบบของอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น เรือดำน้ำขนาดเท่าลำจริง เครื่องบินทะเล ปืนกลแกตเตอริ่ง และปืนเที่ยง ในสมัยรัชกาลที่ ๕
                  นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือยังได้จัดแสดงในลักษณะนิทรรศการและเทิดพระเกียรติ เช่น กระบวนเรือพระราชพิธีจำลอง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๖ ประภาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างขึ้นที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวสมุทรปราการ และห้องจัดแสดงเทิดพระเกียรติ องค์บิดาของทหารเรือไทย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
                  พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนนายเรือ ถนนสุขุมวิท จากแยกบางนาไปสำโรงประมาณ 10 กิโลเมตร ขอเชิญผู้ที่สนใจเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ได้ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยไม่เสียค่าผ่านประตู กรณีเข้า ชมเป็นหมู่คณะสามารถเข้าชมได้ตามวัน-เวลา ที่กำหนดเช่นกัน และทางพิพิธภัณฑ์จะจัดวิทยากรในการบรรยาย (แบบฟอร์มขอเข้าชม) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๓๙๔ ๑๙๙๗ และ ๐ ๒๔๗๕ ๓๘๐๘
                    วันเด็กที่จะมาถึงในวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐ นี้ นำเด็กๆไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ทหารเรือกันดูบ้าง เสร็จแล้วก็พาเด็กข้ามฝากไปร่วมงานวันเด็กของกองทัพเรือซึ่งจัดในบริเวณโรงเรียนนายเรือ มีกิจกรรมต่างๆมากมาย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ พ่อ-แม่ และหนูๆขึ้นไปเยี่ยมชมเรือรบของจริงที่จอดเทียบท่าหน้าโรงเรียนนายเรือ เรียกว่าได้ทั้งความรู้ ความประทับใจ และความภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนไทยค่ะ

                                                            โดย  คนบ้านเดียวกัน
         

           ชมกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ได้ตาม Link นี้ค่ะ
           http://www.navy.mi.th/navalmuseum/

หมายเลขบันทึก: 71314เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท