ผักปลอดสาร...ขาย "คุณภาพ" ไม่ใช่ "ความงาม" ตอนที่ 2


"...มีคำพูด ความคิด การทำ อาชีพ อาหาร พยายาม มีสติ จะต้องมั่นคงด้วยฐานปัญญา เป็นความจริงที่ไม่มีข้อโต้แย้ง..."

ต่อจากบันทึกตอนที่แล้ว ผักปลอดสาร...ขาย "คุณภาพ" ไม่ใช่ "ความงาม" ตอนที่ 1   ตอนแรกผมกะบันทึกยาวเยียดที่สุดจนจบแต่พอทำการบันทึกมันออกมาสุดๆได้แค่บรรทัดสุดท้ายในตอนที่ 1 นั่นแหล่ะครับ ตอนแรกทำเอาผมตกใจหมด แหมถ้าไม่เซฟไว้ผมคงหมดอารมณ์แน่เลย ก็อุตส่าห์บันทึกเล่าจนจบกระบวนการแล้ว ดันไม่บันทึกให้อีก เอ้า!!! ว่ากันต่อเลยแล้วกันครับ  

หลังจากทานอาหารเที่ยวเสร็จก็ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยกันต่อ

คุณหมอสุรเดช  "...กระบวนการกลุ่ม 14 กลุ่มในตำบลหนองโสน จะทำยังไง?ให้มีการร่วมกันในรูปกลุ่มมากขึ้น ใครมีข้อเสนอแนะอะไรจะแลกเปลี่ยนกันบ้าง? ...."

ลุงอิน  "...เรื่องอาหารการกินไม่มีปัญหาอะไรนะ ถ้ามีคนเข้ามาเรียนรู้ก็ยินดีต้อนรับ และผมอยากให้ทางมูลนิธิฯเป็นตัวเชื่อมประสานเหมือนเดิม ติดต่อให้ทางกลุ่มป้ามุ้ย อ.วชิรบารมี มาร่วมด้วย..."

คุณวิสันต์  "...ตอนที่ผมได้ไปประชุมกับทางเจ้าหน้าที่เกษตร ผมได้บอกกับเค้าแล้วว่า เรายังขาดตลาดรองรับ คือผลิตแล้วตัน ถ้าไม่มีเครือข่ายมาช่วยกันคงแย่แน่เลย ยกตัวอย่างกรณีผักลุงอิน ถ้าไม่มี คุณเทอม คุณเจ็น ป้าสมจิตร คุณประวัติ มาช่วยกระจายการขายให้คงขาดทุนแย่เลย ฉะนั้นผมคิดว่าเราน่าจะมีศูนย์กลางรองรับ ประสานงาน และถ้ามีผลประโยชน์มาด้วยเครือข่ายที่ต้องการปลูกผักก็จะมีมากขึ้น อันนี้ผมมองอีกมุม เมื่อก่อนเราจะชักชวนด้วยการให้แนวคิด ซึ่งผมคิดว่ามันยากมากกว่าเค้าจะสนใจ แต่ถ้ามีผลประโยชน์เข้ามาบ้าง อันนี้จะทำให้ไปได้เร็วขึ้น ทำแบบของเราไม่ใช่แบบนักธุรกิจที่มุ่งจะเอาแต่เงินอย่างเดียว..."

คุณเจ็น  "...การกระจายผัก ถ้าเรามีจุดที่รองรับหลายๆแห่งทั่วจังหวัด จะช่วยประหยัดการเดินทาง ไม่อยากให้โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง..."

คุณวิสันต์  "...ประสิทธิภาพความแน่นอนของการใช้สารเคมีเฉียบพลันกว่าใช้ชีวภาพอยู่มาก ถ้าไม่มีจิตวิญญาณทำแล้วก็มองไม่เห็น ถ้ามีตลาดเฉพาะรองรับเป็นไปได้แน่นอน..."

ลุงอิน  "....บางคนอยากกินผักปลอดสารพิษแต่ไม่รู้จะไปซื้อได้ที่ตรงไหน ..."

 

 คุณเจ็น "....ตอนแรกๆผู้ทำจะต้องทำใจยอมรับ จะเจ๊ง จะเจ๊า เพราะแลกกับการเรียนรู้ ทำแล้วถึงจะรู้ช่องทางวิธีการ...."

ลุงจวน  "...อย่างแมลงมากินใบมันอิ่มแล้วก็ไป เราต้องเข้าใจธรรมชาติ จะไปห้ามมันให้เกิดก็ไม่ได้ ฝืนไม่ได้..."

ลุงอิน  "...มีคำพูด ความคิด การทำ อาชีพ อาหาร พยายาม มีสติ จะต้องมั่นคงด้วยฐานปัญญา เป็นความจริงที่ไม่มีข้อโต้แย้ง..."

หมอสุรเดช   "...ที่เราพูดเนี้ยะเป็นเรื่องภายในทั้งนั้นเลย เป็นทรัพย์ภายใน ลึกเข้าไปในแก่นของใจ ซึ่งตรงนี้ทางผู้หลักผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ..."ลุงจวน  "...ความเชื่อเนี้ยะถ้าเราตั้งใจจริงๆมันสามารถทำได้ ถ้าเราไม่ตั้งใจทำ ทำอะไรก็ไม่เกิด เหมือนคนเราตอนนี้นี่แหล่ะครับ มองอะไรไว้บนฟ้านู้นแหล่ะ ไม่มองมาบนพื้นดิน..." 

ลุงอิน   "...ถ้าคิดถึงรายได้ กำไร แปลงผักที่เห็นกันอยู่นี้ก็คงไม่เกิด เมื่อก่อนเริ่มทำคิดแต่เพียงว่าจะทำยังไงดี แต่ไม่ได้ปฏิเสธเงินหรอกนะมันเป็นผลพลอยได้ ที่ทำตรงนี้ก็เพื่อให้เป็นแบบอย่างให้ลูกหลาน ว่าผักสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้จริง เราไม่ได้เรียนวิชาการสูงๆ แต่เราทำจริงทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้เค้าเห็น..."

ลุงจวน  "...มันต้องทำให้หลากหลาย และต้องให้ความคิด ความรู้ด้วย..."

ในการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ในการเปิดตัวประธาน คณะทำงานเครือข่ายอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ชุดใหม่ ซึ่งคุณวิสันต์เป็นคนนำพาทีมมา ก็มี ลุงเส็ง เป็นประธาน  คุณกฤษณะ เป็นเลขานุการ   ซึ่งคุณหมอสุรเดช ได้ให้ทั้งสองท่านได้แสดงความรู้สึกถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรธรรมชาติว่าทำแล้วจะเกิดผลอย่างไรบ้าง ทั้งตนเองและหมู่บ้าน  เครือข่าย

จากซ้ายไปขวา :  คุณกฤษณะ, ลุงเส็ง, คุณวิสันต์

ลุงเส็ง   "...ผมเป็นนักเรียนวปอ.รุ่นที่ 11 ได้รู้จัก ลุงจวน ลุงสุนทร ลุงณรงค์ ลุงพงษ์ ฯลฯ ให้คำแนะนำความรู้  ผมกลับมาทำปุ๋ยชีวภาพใช้ในนาข้าว ตอนแรกคนแถวบ้าน หมู่ 12 ต.เนินสว่าง อ.โพธิ์ประทับช้าง หาว่าผมเป็นคนบ้า ถ้าเค้าว่าผมบ้าผมก็ยอมทำ ตอนนี้ผมทำนาปลอดสาร ปลูกสบู่ดำ ซื้อโรงสีขนาดเล็ก 1 หลัง เครื่องอัดน้ำมัน สมาชิกมี 15 คน เห็นว่าผมมีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันไปใช้ เค้าก็ลองกลับไปทำกันเอง ผมเป็นคนติดตามไปแนะนำการใช้การหว่านปุ๋ย สมาชิกที่ไม่เคยทำผมก็แจกให้ลองไปใช้ดู ทุกวันนี้ทำสำเร็จแล้ว  ผมทำนา 12 ไร่ เคยได้ข้าว 13 เกวียน  มีสระน้ำ 2 ลูก  ตอนนี้หลายคนเริ่มแปลกใจว่าทำได้ยังไง? ขณะนี้ผมได้ขยายการเรียนรู้ไปในโรงเรียนเนินพลวงแล้ว ไปแนะนำเด็กนักเรียนปลูกผัก เตรียนดิน ทำปุ๋ย ทำแล้วรู้สึกว่าพอใจที่เด็กๆได้มีความรู้และทำได้จริง..."

คุณกฤษณะ  "...ผมเป็นเลขาฯเครือข่ายอ.โพธิ์ประทับช้าง ผมทำเกษตรผสมผสาน ปลูกข้าวหอมมะลิอยู่ ลุงเส็งไปถ่ายทอดความรู้ที่ไหนผมก็จะไปช่วยแนะนำด้วย..."

ลุงอิน  "...ส่วนใหญ่ผู้ที่จบปริญญามีเยอะ แต่จะทำให้เป็นคนดีมีน้อย บางครั้งไม่มีปริญญาก็ทำได้ ถ้ามีพรรคพวกเครือข่ายก็จะช่วยเหลือกันได้..."

คุณกฤษณะ  "...เรื่องเห็ดน้นก็มีป้าสมจิตรช่วยสอนให้ได้ด้วย รับซื้อตอซังข้าวปลอดสารพิษจากสมาชิกเครือข่าย เป็นการเชื่อมโยงช่วยเหลือกัน เรื่องโรงเรียนที่ช่วยเข้าไปแนะนำผมมองว่า อ.สาธิต ทุ่มเทให้กับนักเรียนมากๆ ถ้าใครมีอะไรดีดีก็เอามาคุยกัน เครือข่ายอ.โพธิ์ประทับช้างของเราประชุมกันทุกเดือน ทุกวันที่ 26 ของเดือน ซึ่งครั้งต่อไปเครือข่ายฯ จะไปประชุมกันที่บ้านหนองไม้แดง..."

ลุงอิน   "...คือคนเหล่านี้มีทุนเดิม(ความรู้)อยู่ถ้าไม่มีคงมาร่วมไม่ได้..."

หมอสุรเดช  "...ฝากลุงเส็ง และคุณกฤษณะ ช่วยกลับลองไปเช็คดูสิว่าจำนวนนักเรียน วปอ. ทั้ง 15 รุ่นของอ.โพธิ์ประทับช้าง ที่มีอยู่และทำจริงมีอยู่กี่คนนะครับ..."

สุดท้ายคุณหมอสุรเดช ได้สรุปเกี่ยวกับการพูดคุยสนทนาครั้งนี้ว่า ...ตอนนี้เราทำเป็นโดดๆกันอยู่ ทำอย่างไรถึงจะรวมกลุ่มให้ชัดเจนมากขึ้น อยากให้ประธานแต่กลุ่ม แต่ละเครือข่ายลองไปเช็คดูว่าสมาชิกที่หลงเหลือ และทำจริงมีอยู่เท่าไร แล้วผมจะนำทีมลงไปพูดคุยรับฟังสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร? แล้วจะเดินต่อไปยังไง? นะครับ    ....เลยเวลากว่า 15.00 น. แล้ว ลุงเฮงที่ใจจดใจจ่ออยากจะรีบกลับไปงานเผาศพญาติให้ทัน หมอสุรเดชเห็นสีหน้าท่าทางแล้วจึงสรุปและขอบคุณผู้เข้ามาร่วมพูดคุย  ไม่ทันไรเสียงรถกระบะสีแดง ก็เลี้ยงเข้ามายังวงสนทนา เอ๊ะ!!!ใครกัน???? อ๋อๆๆๆ คุณประวัติ พาสมาชิกจาก อ.วชิบารมี ที่มีทั้ง ป้ามุ้ย ป้าวรรณา และแฟนคุณประวัติ มารับผักลุงอินไปขายยังสี่แยกปลวกสูง อ.สามง่าม นั่นเอง เหมือนมีอะไรดลใจจริงๆเลย ทำให้ วงสนทนาคึกคักขึ้นมาอีก ก็แหมตอนประสานงานไป พี่ตั้วบอกติดต่อคุณประวัติยากมาก นึกว่าจะไม่ได้มาเสียแล้ว บังเอิญจริงๆ ไหนๆ มาแล้วหมอสุรเดช เลยสรุปใจความสำคัญที่พูดคุยกันไปให้ป้ามุ้ย ซึ่งเป็นประธานกลุ่มเครือข่าย อ.วชิรบารมี ฟังรวบรัด  ก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าเกษตรกรกันต่อไป  แถมหิ้วผักปลอดสารของอินกลับไปคนละถุง 2 ถุง  ตอนนี้จะขึ้นรถแต่ละคนก็ยังอ้อยอิ่งกันอยู่ไม่ยอมขึ้นรถกันเสียที จนหมอสรุเดชบอกให้ผมสตาร์ทรถรอเลย แต่ละคนจึงรีบขึ้นรถ รีบมากจนลุงเฮงลืมเสื้อกันหนาว รบกวนหมอสุรเดชต้องวิ่งกลับไปเอามาให้อีก  ที่รีบมากเพราะกลัวลุงเฮงจะร่วมงานฌาปณกิจศพญาติไม่ทัน ผมเองก็ซิ่งเต็มที่ ระยะทางจากแปลงผักลุงอิน ถึงตัวอำเภอเมืองก็เกือบ 60 กิโลเมตร ทยอยส่งแต่ละคนเสร็จถึงมูลนิธิฯ เวลา 16.30 น. ผลปรากฎว่า ลุงเฮง พลาดไปร่วมงานเสียแล้วเย็นมากแล้ว แต่ลุงเฮง ก็บอกด้วยอารมณ์ดีเช่นเคย ว่าไม่เป็นไร พร้อมกับควบมอ'ไซด์คู่ใจกลับอำเภอวังทรายเพียงลำพัง (น่าจ๋งจ๋านจังเลยนะครับ ลุงเฮง)

รอยยิ้มน้องลูกหมี ปลื้มใจที่ได้มาดูแปลงผักลุงอิน 

ปล.นี่อาจเป็นบันทึกที่ยาวเหยียดจนน่าเบื่อ แต่ผมคิดว่าถ้าอ่านจากที่ผมเล่าสู่กันฟังจะเห็นกระบวนการลื่นไหลของการประชุมสนทนาพูดคุย ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อ่านบันทึก ได้ติดตามตั้งแต่ตอนที่แล้ว มาจวบจนบรรทัดนี้ ขอบคุณครับผม  

หมายเลขบันทึก: 71296เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ติดตามต่อครับ...เป็นคุณลิขิตได้เป็นอย่างดีครับ

 

Cheer!!!

แนวคิดน่าสนใจครับ

ดีมาก ๆ เลย ...เราก็กำลังเริ่มทำอยู่เหมือนกัน เห็นแล้วก็ภูมิใจ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท