โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย 2


         

          โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะดังแผนภูมิข้างล่างนี้

          ปีก 2 ข้าง ที่โยงจากท่านอธิการบดี คือ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัย    ความจริงต่างกันเพียงชื่อ  แต่องค์ประกอบเหมือนกันทุกประการ กล่าวคือมี

  1. อธิการบดี เป็นประธาน
  2. รองอธิการบดี  คณบดี ผอ.วิทยาลัย/สถาบัน/สำนัก ทุกคน เป็นกรรมการ
  3. ประธานสภาอาจารย์ เป็นกรรมการ

          การมี และ หน้าที่  ของคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว ไม่ได้กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.มน. (ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เลย

          ส่วนในทางปฏิบัติ การประชุมของคณะกรรมการทั้งสองชุด กระทำทุกเดือน และประชุมต่อเนื่องกัน เรื่องพิจารณาของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบริหารจัดการทั่วไปและการบริหารวิชาการ สำหรับเรื่องพิจารณาของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัย ก็เป็นไปตามชื่อคณะกรรมการ  ซึ่งรวมทั้ง 2 ชุด ก็มีเรื่องที่ต้องคุยกันค่อนข้างมาก

          ดิฉันดีใจที่ว่า  ร่าง พ.ร.บ.มน.ฉบับ ม.ในกำกับ ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 21 ว่า ให้มี คณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัย ด้วย

          ชื่อกรรมการชุดนี้ ฟังดูแล้วคุ้นๆ เพราะเหมือนล้อกับการบริหารงานระดับคณะวิชา ซึ่งกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ว่าจะต้องมีคณะกรรมการประจำคณะ

          ในมาตรา 21 ของ ร่าง พ.ร.บ.มน.ฉบับ ม.ในกำกับ ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัยประกอบด้วย

  1. ประธานกรรมการ ได้แก่ อธิการบดี
  2. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รองอธิการบดี ผู้ดำรงตำแหน่งที่เทียบเท่ารองอธิการบดี และประธานสภาพนักงาน
  3. กรรมการซึ่งสรรหาจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไปจากต่างสถาบันจำนวนไม่เกินสามคน

          ให้อธิการบดีแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัย

          สิ่งที่น่าสังเกต ก็คือ องค์ประกอบข้อ 1 และข้อ 2 ไม่ต่างไปจากองค์ประกอบของ กรรมการบริหาร และ กบม. เดิม  ยกเว้น

          องค์ประกอบในข้อ 3 ของคณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัย มีองค์ประกอบพิเศษ เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ คณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไปจากต่างสถาบันจำนวนไม่เกินสามคน

          ข้อสัณนิษฐานของดิฉันเองถึงที่มาของคณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัย และสาเหตุที่ต้องเพิ่มองค์ประกอบพิเศษ ข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น คือ

  1. ไหนๆ คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย  และคณะกรรมการบริหารงานบุคคลประจำมหาวิทยาลัย ก็เป็นชุดเดียวกันอยู่แล้ว ก็จับรวมกันเป็นชื่อเดียวเสียเลย คือ คณะกรรมการประจำมหาวิทยาลัย  จะได้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
  2. เพิ่มกรรมการที่มี ตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไป เข้ามาอีก เพราะต้องการให้ความสำคัญกับการบริหารวิชาการให้มากขึ้น
  3. ที่ต้องระบุว่าเป็น รองศาสตราจารย์ เพราะต้องการให้เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ด้านวิชาการ จะได้ช่วยให้ความเห็นในการบริหารวิชาการได้
  4. ที่คัดเอาเฉพาะ ตั้งแต่รองศาสตราจารย์ ขึ้นไป  เพื่อจะได้มีตัวเลือกได้มากหน่อย
  5. ที่ต้องคัดมาจากต่างสถาบัน เพื่อจะได้มีความหลากหลายในมุมมอง ทัศนะ และข้อคิดเห็นที่กว้างขวางขึ้น
  6. ที่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 3 คน เพราะ มน. มีกลุ่มสาขาวิชาใหญ่ๆ อยู่ 3 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

          อย่างไรก็ตาม  โดยความคิดเห็นส่วนตัวอีกเช่นกัน ดิฉันเห็นว่า

  1. ถ้าข้อสัณนิษฐานของดิฉันถูกต้องว่าการให้มี คณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไปจากต่างสถาบันจำนวนไม่เกินสามคน  เข้ามาเป็นกรรมการประจำมหาวิทยาลัย เป็นไปเพื่อเพิ่มความเข้มข้น และเข้มแข็งในการบริหารวิชาการ ละก็  ดิฉันก็เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเจตนาดังกล่าว
  2. แต่....อย่างที่ดิฉันเรียนมาแต่ต้นว่า  การประชุมของกรรมการประจำมหาวิทยาลัย จะกระทำเป็นประจำทุกเดือน และอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กรรมการจากภายนอกสถาบันดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ทุกครั้ง ซึ่งต้องได้รับการคัดเลือกและรับปากรับคำกันมาอย่างดีว่าจะทำตามหน้าที่ที่ระบุ
  3. ถ้าเป็นไปได้ ดิฉันอยากจะให้เป็นระดับศาสตราจารย์เสียเลย เพราะการคัดเลือกจากต่างสถาบัน ทำให้มีตัวเลือกได้มากอยู่แล้ว
  4. อีกทางเลือกหนึ่ง...... ในกรณีของสถาบันเกิดใหม่อย่าง มน. ที่แม้จะยังมีศาสตราจารย์อยู่จำนวนไม่มากพอให้เป็นตัวเลือก  แต่ถ้าระดับ รศ. น่าจะพอมีให้เลือกได้ แม้ว่า ความจัดเจนในด้านบริหารวิชาการอาจไม่สูงนัก  แต่ข้อดี คือ
    1. มีความเข้าใจในบริบทของ มน.
    2. มีเวลา (เพราะอยู่ที่เดียวกัน)  และ
    3. เป็นวิธีการหนึ่งของการทำให้บุคลากรภายในของ มน. เอง ได้มีโอกาสสั่งสมประสบการณ์ด้านการเป็นผู้บริหาร  จากการเป็นกรรมการประจำมหาวิทยาลัย
  5. ดิฉันอยากให้ระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า กรรมการจำนวนไม่เกิน 3 คน ในข้อ 3 ของ ร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น ต้องมาจาก สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างละ 1 คน ให้ชัดเจนไปเลย 

เรียนย้ำอีกครั้งนะคะว่า ทั้งหมดที่เรียนเสนอ อาจผิดก็ได้ เพราะดิฉันสัณนิษฐานเอาเอง เสนอแนะจากข้อสัณนิษฐานของตนเอง  เรียกว่า คิดเอง เออเอง ทั้งน้านน...

  

         

หมายเลขบันทึก: 71276เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท