เก็บตกการชี้แจง ISO ให้ผู้บริหารเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มค


ดังที่อาจารย์ปลื้มจิตเล่าให้ฟังในบันทึกนี้  สำหรับการประกาศใช้ ระบบบริหารคุณภาพ ตามมาตรฐาน ISO 15189  ที่จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 มกราคมนี้ โดยมีท่านคณบดี และ ผอ.รพ มาเป็นผู้ทำพิธี
 
โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา อ.ปลื้มจิต ผู้จัดการด้านเทคนิควิชาการ และผู้คุมกฏ –คุณรุ่งเรือง รวมทั้งกองเชียร์คือตนเอง และอ.เสาวรัตน์ ก็ได้ไปนำเสนอต่อผู้บริหารภาควิชา คือ ท่านคณบดี  ท่าน ผอ.รพ. และ รองบริหารฯ อาจารย์พุฒิศักดิ์

จุดมุ่งหมายในการขอเข้าไปชี้แจงครั้งนี้มีหลายประการ เพื่อให้ท่านทราบว่า….  เรากำลังทำอะไรอยู่   ISO15189 คืออะไร  สำคัญอย่างไร  ทำแล้วได้อะไร   ระบบคุณภาพที่เราทำขึ้น มีรายละเอียดอย่างไร  มีการดำเนินส่วนใด ที่เราต้องขอความอนุเคราะห์จากผู้บริหารในการสั่งการหรือประสานกับหน่วยงาน และ ขั้นตอนการขอรับรอง และ ค่าใช้จ่าย
 
การนำเสนอก็ถือว่าผ่านไปด้วยดี มีคำถามระหว่างการนำเสนอประปราย ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่มีคำถามเด็ดอยู่ 2 ครั้ง ที่ทำเอาคนนั่งเชียร์คนนี้ เกือบตกเก้าอี้ไปเหมือนกัน

ใน slide หนึ่ง คุณรุ่งเรืองบอกว่า  การทดสอบต้อง ถูกต้อง แม่นยำ  ทันการณ์ และ เหมาะสม

ท่านคณบดีสงสัย ว่า  ถูกต้อง กับ แม่นยำ มันเป็นยังไง ไม่ใช่เรื่องเดียวกันหรือ  แต่คุณรุ่งเรืองก็ตอบอย่างฉับพลันว่า ถูกต้อง คือ accuracy  หมายถึงค่าใกล้เคียงกับค่าจริงมากที่สุด  ส่วน แม่นยำ หมายถึง precision ความแกว่งของการวัด  ท่านก็เข้าใจ 

แต่การทดสอบที่เหมาะสม นี่สิ มันเป็นยังไง ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน  ผู้เชี่ยวชาญในห้องแล็บท่านใด ช่วยอธิบายที !!

อีกคำถามหนึ่งจากท่าน ผอ.รพ อาจารย์สุเมธ   “ที่คุณนำเสนอมาทั้งหมด ผมยังไม่เห็นเลยว่า คุณทำอะไรกันบ้าง  ผลเป็นอย่างไร”

ตนเองก็ชี้แจงไปว่า  ที่ทำมาก็คือการเตรียมการทั้งหมด โดยเฉพาะ การเขียนและตกลงเกณฑ์หรือมาตรฐานปฏิบัติงานร่วมกัน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ ISO15189  ผู้ตรวจรับรองก็จะมาดูว่าเรามีระบบ หรือ กระบวนการอย่างไร  และ ทำตามที่เขียนไว้หรือไม่  ส่วนผลหรือตัวชี้วัดทางห้องปฏิบัติการ ก็มีไม่กี่ตัว ไม่ว่าจะเป็น ผล EQA, IQC, error rate, TAT เท่านั้น

ท่านรองคณบดี อ.พุฒิศักดิ์  ท่านคงจะเข้าใจถึงที่มาของคำถาม ท่านพูดว่า “การทำ TQA กับ series ของ ISO ต่างกัน   TQA เน้นผล ส่วน ISO เน้นกระบวนการ  ให้มีกระบวนการ และ ทำตามกระบวนการ”  ท่านผอ. ท่านก็เลยถึงบางอ้อ (เห็นจากที่ท่านพยักหน้า หึกๆ) 

และเมื่อท่าน ผอ. ทราบว่า เราวางแผนว่าหลังจากคณบดีเซ็นต์อนุมัติคู่มือแล้ว ประมาณสัปดาห์ที่สองของมกราคม จะจัดให้มีพิธีประกาศใช้อย่างเป็นทางการ  ท่านผอ.ก็เลยบอกให้รีบกำหนดวัน และหากได้ก่อนการมาตรวจประเมินของ พรพ. (11-12 มค นี้) ก็จะดีมาก  และ เวลาสะดวกของท่านผอ.ก็คือ เวลาเช้าก่อนคนทำงาน

ก็เลยเป็นที่มาว่า เราจะมีพิธี (เล็กๆ) ประกาศใช้ ระบบคุณภาพ ตามมาตรฐาน ISO 15189  รวมทั้งเราจะขอให้ท่านคณบดีมอบราววัลให้กับทีม Patho OTOP2  ด้วยในวันอังคารที่ 9 มกราคมนี้ เวลา 8.30-9.00 ณ ห้องประชุม 2 ภาควิชา ขอเชิญทุกท่านค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 71254เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2007 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนอาจารย์ครับ วันนั้นท่านคณบดีพูดว่า การทดสอบนั้น"มันต้องถูกคัดเลือกให้เหมาะสมที่สุดตั้งแต่ก่อนที่ทำการทดสอบอยู่แล้วนี่" ซึ่งผมเองก็ยอมรับในประเด็นนี้ครับ และขอขยายความดังนี้ ห้องแล็ปต้องมีการคัดเลือกการตรวจวิเคราะห์ต่างๆโดยพิจารณาจากหลักการทดสอบ วิธีการและน้ำยาที่ใช้ตรวจทดสอบ ให้เหมาะสมกับบริบทของห้องปฏิบัติการนั้นๆเอง ตัวอย่างเช่น

 ห้องแล็ปที่มีบริบทต่างกัน อาจจะเลือกวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของห้องแล็ปนั้นเอง เช่นการตรวจวิเคราะห์ Anti-HIV หน่วยภูมิคุ้มกันฯตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี MEIA  ในขณะที่หน่วยคลังเลือดใช้วิธี ELISA และห้องแล็ปER ใช้วิธี Immunochomatography assay (rapid test) ซึ่งเป็นการคัดเลือกวิธีตามความเหมาะสม ของบริบทห้องแล็ปนั้นๆ

 

ขอบคุณค่ะ ที่มาช่วยขยายความ  ทำให้เข้าใจมากขึ้น 

ดังนั้น คำว่า "เหมาะสม"  คงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ให้ดีต้องต่อด้วยว่า เหมาะสมกับ.....  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท