การพัฒนาองค์การ (Organization Development - OD)


หลายท่านก็ตอบว่าเยี่ยมมาก บางท่านก็เฉย ๆ ที่รู้สึกแย่ ๆ มี 2 คน แต่นั่นเป็นเพียงการละลายพฤติกรรมแล้วกลับมาทำงานต่อ โดยไม่ได้ทำอย่างเต็มรูปแบบของคำว่า “OD” เลย

     ผมเคยได้ทบทวนวรรณกรรม เพื่อเตรียมการดำเนินการพัฒนาองค์การ (Organization Development - OD) ของ คปสอ.บางแก้ว (คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ) ต่อในทันที หลังจากที่ได้ร่วมกันยกร่างแผนยุทธศาสต์สุขภาพอำเภอบางแก้ว (ระยะ 3 ปี) และ คปสอ.บางแก้ว ก็ได้ผ่านความเห็นชอบประกาศใช้ ในช่วงปี 2547 – 2549 แต่ผมก็ไม่ได้อยู่ร่วมกิจกรรมการดำเนินงานนี้ต่อ เนื่องจากย้ายมาอยู่เสียที่ สสจ. ได้แต่สอบถามข่าวคราว หลายท่านก็ตอบว่าเยี่ยมมาก บางท่านก็เฉย ๆ ที่รู้สึกแย่ ๆ มี 2 คน แต่นั่นเป็นเพียงการละลายพฤติกรรมแล้วกลับมาทำงานต่อ โดยไม่ได้ทำอย่างเต็มรูปแบบของคำว่า “OD” เลย มาวันนี้จำเป็นต้องนำมาใช้อีกครั้ง ใน 3 สาเหตุ คือ

          1) การที่ผมต้องเป็นวิทยากรนำเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสต์สุขภาพอำเภอเขาชัยสน จึงจำเป็นต้องทบทวนซ้ำ และจะต้องนำไปใช้ในวันที่ 29 พ.ย. 2548 นี้ (ตามที่ได้เคยบันทึกไว้ที่ เส้นทางการยกร่างยุทธศาสตร์สุขภาพอำเภอเขาชัยสน)
          2) เพิ่งจะได้พูดคุยทางโทรศัพท์และอธิบายทำความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่อง “การทำ OD” กับคุณหลานตาแขกไป เมื่อสัก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็น "OD กับเครือข่าย อสม."
          3) ขอต่อยอด แผ่ขยายกิ่งก้านความรู้จากที่ นพ.พิเชษฐ์ฯ รพ.บ้านตาก ได้กล่าวไว้ที่ กิจกรรมพัฒนาองค์การหรือโอดี (Organization Development) ขอเชิญคลิ้กไปดูรายละเอียดได้

     คำอธิบายต่อไปนี้ จะยกมาจากสันทัด และคณะ ที่ได้กล่าวไว้เมื่อ ปี พ.ศ. 2536 ก่อนที่ผมจะได้สรุปในตอนท้ายอีกครั้ง ดังนี้

     ความหมายของการพัฒนาองค์การ กล่าวคือ จะเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย โครงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแผนซึ่งบังเกิดต่อระบบงานทั้งหมด เป็นการบริหารงานจากเบื้องบนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเจริญก้าวหน้าขององค์การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยการใช้ความรู้ทางพฤติกรรมศาสตร์ ตามคำกล่าวของ Richard beckhard ซึ่งในกระบวนการพัฒนาองค์การจะต้องตอบคำถามว่า องค์การมีสภาพเป็นอยู่อย่างไร ต้องการให้องค์การเป็นอย่างไร และจะสามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการให้เป็นไปได้อย่างไร สำหรับขั้นตอนการพัฒนาองค์การ จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้น คือ

          1. ขั้นการรวบรวมข้อมูล เป็นการรวบรวมสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในองค์การเพื่อตรวจวินิจฉัยและกำหนดแนวยุทธศาสตร์ใส่สิ่งสอดแทรกที่เหมาะสม ตัวแปรที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมขององค์การตามแนวพฤติกรรมศาสตร์ ได้แก่ ภาวะผู้นำ แรงจูงใจ การสื่อสาร การติดต่อประสานงาน การตัดสินใจ การกำหนดเป้าหมายในองค์การ การควบคุมงาน และการปฏิบัติงาน วิธีการรวบรวมข้อมูลอาจจะใช้การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม วิธีใดวิธีหนึ่งหรือร่วมกัน

          2. ขั้นการตรวจวินิจฉัยปัญหา ประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เครื่องมือทางสถิติแล้วนำมาสรุปว่า พฤติกรรมขององค์การในแต่ละด้านที่ศึกษาเป็นอย่างไร นำสภาพที่เป็นปัญหานั้นมาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา กำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างๆ วิเคราะห์แรงดัน-แรงดึงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง

          3. ขั้นกำหนดยุทธวิธีหรือการกำหนดสิ่งสอดแทรก ตัวอย่างของสิ่งสอดแทรก ได้แก่ การฝึกอบรม (education training), ตาข่ายการบริหาร (management grid), การให้คำปรึกษาหารือในเชิงกระบวนการ (process consultation), การยุติข้อพิพาทโดยใช้ที่ปรึกษา (third-party peacement), การสำรวจหาข้อวิพากษ์ (survey feedback), การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์และผลงาน (management by objective and results), การประชุมเพื่อพัฒนาการสร้างทีมระหว่างกลุ่ม (intergroup building), การพัฒนาการสร้างทีม (team building), การสำรวจองค์การโดยให้งานอื่นเป็นกระจกเงา, การประชุมแบบเผชิญหน้า (confrontation building), การประชุมเพื่อกำหนดเป้าหมายขององค์การ (goal setting meeting), การปรับปรุงงานและโครงสร้างองค์การ (techno-structural approach), การวางแผนชีวิตและอาชีพ (lift/career planning), การวิเคราะห์บทบาท (role analysis planning), การสอนแนะและให้คำปรึกษา (coaching and counseling) การฝึกอบรมโดยให้ห้องปฏิบัติการ (laboratory training)

          4. ขั้นการประเมินผล มีเป้าหมายเพื่อให้รู้ว่าการใส่สิ่งสอดแทรกชนิดใดได้ผลที่สุด ปรับปรุงทักษะการแนะนำ ปรึกษาของบุคคลในองค์การ ทราบความคืบหน้าของการพัฒนาองค์การ และเสริมสร้างระเบียบวินัยที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้น

     ฉะนั้นโดยสรุปจากการที่ผมได้ลงไปช่วยดำเนินการที่อำเภอเขาชัยสน ตอนนี้เราเดินมาถึงขั้นที่ 2 แล้ว และกำลังจะถึงขั้นที่ 3 ในวันที่ 29 พ.ย. 2549 นี้ ส่วนขั้นที่ 4 นั้นเป็นขั้นตอนที่จะได้กำหนดในลำดับต่อไปว่าจะเอากันอย่างไร เมื่อผมได้ยินมาจากทีมนำว่า “วันที่ 29 พ.ย. 2548 นี้ คปสอ.เขาชัยสน จะไปทำ OD ที่ทะเลน้อย” ก็อยากบอกว่า ในขณะนี้เราก็กำลังทำ OD กันอยู่แล้ว เพียงแต่วันที่ 29 พ.ย. 2548 ที่จะถึงนั้น เราไปทำ OD ขั้นตอนการกำหนดยุทธวิธีครับ! ก็ไม่ได้บอกในตอนที่ได้ยินในทันที เพราะเข้าใจว่าบางเรื่องถ้าเรารีบอัดลงไปมาก ๆ เร็ว ๆ จะสำลักได้ครับ อาศัยช่องทาง GotoKnow.org ช่วยสื่อไปบ้างอย่างช้า ๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 7124เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นการสรุปประเด็นเกี่ยวกับโอดีที่ชัดมากครับ ถ้าจะให้เกิดผลดีต้องทำให้ครบทั้ง 4 ขั้นตอน ที่เห็นส่วนใหญ่จะเน้นแต่ขั้นตอนที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ และสิ่งสอดแทรก(Intervention)ก็ซ้ำๆกันเป็นส่วนใหญ่  ในขั้นตอนที่ 3 นี้จะมีขั้นตอนย่อยสำคัญ 3 ขั้นตอนคือการละลายพฤติกรรม (Unfreezing) การใส่พฤติกรรมใหม่ (Refreezing)และการบันทึกพฤติกรรมเพื่อนำไปปฏิบัติจริง(Freezing)

ผมอยากจะลิงค์บันทึกนี้เข้ากับบันทึกเรื่องโอดีของผม แบบที่คุณชายขอบทำไว้นี้ แต่ทำไม่เป็น ทำยังไงครับ รบกวนคุณชายขอบด้วย

    ก่อนอื่นให้เปิด http://gotoknow.org/archive/2005/11/14/21/26/26/e7124 ตั้งไว้ก่อน หรือจะ copy จากตรงนี้ไปก็ได้ครับ (ปกติจะอยู่ที่ Adress ของ หน้าต่าง IE)

   หมอก็พิมพ์ส่วนข้อความธรรมดาก่อน ที่บันทึกของหมอ หรือจะ copy ไปก็ได้ครับ จากนั้น ก็ระบายหรือการกดเม้าปุ่มซ้ายค้างไว้ลากตัวอักษรที่จะเลือก แล้วไปคลิ้กที่ รูปโซ่ (เมนู insert/edit link) แล้ววาง (past) ลงในช่อง link URL: แล้วไปคลิ้ก ที่ _Blank เพื่อให้เปิดเป็นหน้าต่างใหม่ จากนั้น คลิ้กปุ่ม insert ด้านล่างมุมซ้ายสุด ก็เรียบร้อยครับ แต่อย่าลืมตีพิมพ์ด้วยนะครับ (ฮา...) ไม่งั้นก็ต้องเริ่มใหม่อีก

เนื่องจากผมต้องทำรายงานเรื่อง สิ่งสอดแทรกเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาองค์การ เพื่อนำไปอธิบายเพิ่มเติมจากในหนังสือเรียนแก่เพื่อนๆในห้อง ผมจึงอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวครับ  ผมขอขอบคุณคุณชายขอบไว้ ณ ที่นี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท