บันทึกครั้งที่ ๑๑ สรุปใจความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พรบ.ล้มละลาย ๒๔๘๓


มีกฎหมายที่ออกมาและเกี่ยวข้องกับ พรบ. นี้ที่สำคัญจำนวน 5 ฉบับ

สัปดาห์นี้ ผมขออนุญาตสรุปใจความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พรบ.ล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ ครับ

โดยขอเริ่มจากว่า ได้ค้นหาข้อมูลจากเวปไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว มีกฎหมายที่ออกมาและเกี่ยวข้องกับ พรบ. นี้ที่สำคัญจำนวน 5 ฉบับ คือ

1.กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ.๒๕๔๕

เนื่องจากการฟื้นฟูกิจการในปัจจุบันมีความจําเป็นจะต้องมีระบบการควบคุม กํากับ ดูแลที่ดีมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย สมควรออกกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนและคุณสมบัติของผู้ทําแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ  แบ่งเป็น 4 หมวด คือ

          หมวด 1 บททั่วไป  เป็นการให้คำนิยามต่างๆ เช่น

ลูกหนี้ หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลที่ฟื้นฟูกิจการ 

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ                     เป็นต้น

          หมวด 2 คณะกรรมการ จะกล่าวถึงองค์ประกอบ คุณลักษณะ  วาระการดำรงตำแหน่ง การประชุม

          หมวด 3 การจดทะเบียนผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน  ซึ่งข้อ ๑๔ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญข้อหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้

๑๔ นิติบุคคลซึ่งจะเป็นผู้ทําแผนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางบัญชีหรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย
(๒) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับจัดกิจการและทรัพย์สินของผู้อื่น
(๓) มีสายงานที่รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ทําแผนและจะต้องมีผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลาไม่น้อยกว่าสามคนซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และผู้ปฏิบัติงานดังกล่าวทั้งหมดจะต้องมีความรู้อย่างน้อยระดับปริญญาตรี โดยมีประสบการณ์ในการทํางานตาม (๑) ไม่น้อยกว่าสามปี และอย่างน้อยหนึ่งคนจะต้องมีความรู้ทางการเงินหรือการบัญชี
(๔) ผู้บริหารของนิติบุคคลนั้นมีจริยธรรมและมีความสามารถหรือมีประสบการณ์ในธุรกิจที่จะดําเนินการ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติเคยถูกไล่ออก ปลดออก ให้ออกต้องคดี เนื่องจากกระทําทุจริต ทํางานอันส่อไปในทางไม่สุจริต หรือบริหารงานหรือกระทําการอื่นใดอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทําความผิดตามกฎหมายหรือที่เป็นความผิดร้ายแรงอันแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบหรือขาดความรอบคอบในการบริหารงาน
(๕) มีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้

นอกจากนี้ยังมีข้ออื่นที่มีความสำคัญเช่นกัน

          หมวด 4 การสิ้นสุดทางทะเบียนของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน

2.ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของสถาบันการเงิน

สรุปความโดยรวม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๑ หมวดที่ ๓/๑ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา ๙๐/๔ ได้กําหนดให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกันและมีจํานวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท มีสิทธิยื่นคําร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ได้ให้คำนิยามไว้ว่า

"สถาบันการเงิน" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี

"เจ้าหนี้" หมายความว่า เจ้าหนี้ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน

3.ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๔๘

สรุปความโดยรวม เป็นการเพิ่มความข้อ ๔๙/๑  ๔๙/๒ และ ๔๙/๓ ดังนี้

ข้อ ๔๙/๑ ในกรณีที่บุคคลล้มละลายได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อพ้นระยะเวลาตามกฎหมายให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ออกประกาศตามแบบล. ๒๕/๑ และโฆษณาการปลดจากล้มละลายตามข้อ ๑ หากปรากฏว่ายังมีทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดําเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จและจัดแบ่งให้แก่เจ้าหนี้หรือในกรณีไม่ปรากฏทรัพย์สินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาล

ข้อ ๔๙/๒ ถ้าปรากฏว่าบุคคลล้มละลายคนใดมิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันควรก่อนพ้นระยะเวลาสามปีนับแต่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคําขอต่อศาลให้หยุดนับระยะเวลาปลดจากล้มละลาย

ข้อ ๔๙/๓ เมื่อศาลมีคําสั่งให้หยุดนับระยะเวลาไว้แล้วต่อมาบุคคลล้มละลายได้ยื่นคําขอต่อศาลให้ยกเลิกเปลี่ยนแปลงคําสั่งดังกล่าวเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับหมายกําหนดวันนัดไต่สวนของศาลแล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งกําหนดนัดดังกล่าวให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

4.ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๓

สรุปความโดยรวม เป็นยกเลิกและปรับปรุงความในบางข้อแห่งระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี พ.ศ.๒๕๒๐ เช่น ยกเลิกความในข้อ ๔๓ แล้วใช้ข้อความนี้แทน  คือ ข้อ ๔๓ บุคคลล้มละลายผู้ใดประสงค์จะขอให้ศาลมีคําสั่งปลดจากล้มละลายต้องวางเงินเพื่อเป็นประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เกินห้าพันบาท  เป็นต้น

5.ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ พ.ศ.๒๕๔๑ แบ่งเป็น6 หมวด คือ

หมวดที่ 1  การประกาศโฆษณา

หมวดที่ 2 การประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งประกอบด้วย 2 บท คือ

                 บทที่ 1 การประชุมเจ้าหนี้

                 บทที่ 2 การประชุมพิจารณาแผน

หมวดที่ 3 การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ 

หมวดที่ 4 การจัดกิจการและการกำกับดูแล ซึ่งประกอบด้วย 2 บท คือ

                 บทที่ 1 การจัดกิจการ

                 บทที่ 2 การกำกับดูแล

หมวดที่ 5 การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

หมวดที่ 6 เบ็ดเตล็ด

สรุปความโดยรวม เป็นข้อบัญญัติให้อํานาจหน้าที่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหลายส่วนที่จะต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแต่ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการนี้โดยเฉพาะ  ทำหน้าที่คล้ายผู้ประสานระหว่างลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้ทำแผนหรือผู้บริหาร

ที่น่าสนใจ คือข้อที่ 33 - 35

ข้อ ๓๓ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กํากับดูแลการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารชั่วคราว รวมทั้งกําหนดอํานาจหน้าที่และสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวทําคําชี้แจงในเรื่องบัญชี การเงินและเรื่องใดๆ เกี่ยวกับการจัดการกิจการและทรัพย์สิน หรือจะสั่งให้กระทําหรือมิให้กระทําการใดๆ ตามที่เห็นสมควรจนกว่าจะมีการตั้งผู้ทําแผน 

ข้อ ๓๔ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ผู้บริหารแผนจัดทํารายงานการปฏิบัติงานตามแผนยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกรอบสามเดือนนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วย  แผนเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้บริหารแผน

 ข้อ ๓๕ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาล เพื่อขอให้มีคําสั่งให้ผู้บริหารพ้นจากตําแหน่งหรือมีคําสั่งตามที่เห็นสมควร ในกรณีดังต่อไปนี้

              (๑) ผู้บริหารแผนไม่ดําเนินการตามแผน

              (๒) ผู้บริหารแผนปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

              (๓) ผู้บริหารแผนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้

              (๔) ผู้บริหารแผนขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามที่กําหนดไว้ในกฎ กระทรวง

              (๕) มีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้เป็นผู้บริหารแผนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 71216เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เข้าใจว่าเพื่อนๆ จะแปลความใน พรบ. ล้มละลาย ๒๔๘๓ ตัวหลัก จึงขอสรุปกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท