เพื่อนเรียนรู้ ในบทบาท ICT


แต่ละคน มีความรับผิดชอบ และบทบาทต่างกัน ในฐานะที่รับผิดชอบงาน ICT จะสนับสนุน การเรียนรู้นอกโรงเรียนอย่างไร
    เมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน 2549 ได้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับ ICT ที่จังหวัดลำปาง ได้รับประสบการณ์อย่างมาก จากกรณีศึกษาบ้านสามขา ทำให้นัก ICT มานั่งคุยกันว่า ทิศทาง ICT จะทำอย่างไร โดยมีผู้เข้าร่วสัมมนาถามขึ้นมาว่า งาน ICT ที่แต่ละภาคพัฒนากันขึ้นมานั้น ทราบหรือไม่ว่าไปถึงชาวบ้าน หรือไม่ และชาวบ้านได้รับอะไรบ้าง จาก ICT ที่เราพัฒนา คำถามนี้ ทำให้แต่ละคนต้องหันกลับมาทบทวนกันว่า ที่ผ่านมาเราทำอะไรกันไปบ้าง และสิ่งที่ได้ทำนั้นตอบสนองใคร คำตอบที่ได้มาตอนนั้นก็คือ เรามีเป้าหมายตรงกันว่า ทำเพื่อตอบสนองประชาชน แต่ตอบสนองแบบไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นใคร สรุปก็คือ ทำแล้วก็โปรยหว่านไป เช่น ผลิตสื่อแล้วเผยแพร่ผ่านทาง Internet เมื่อเผยแพร่ไปทาง Internet แล้วก็จบ ส่วนผู้ใช้ก็ แล้วแต่ว่าใครจะมีความสามารถ หรือเข้ามาพบแล้วเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ บางคนอาจจะเข้ามาพบ แต่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย
    จากประเด็นนี้เอง จึงเริ่มทบทวนแผนการทำงานในปี 2550 ว่า จะดำเนินการอย่างไร และสิ่งที่คิดตรงกันคือ ต่อไปนี้ จะพัฒนาอะไร จะต้องมองไปที่กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนเสียก่อน ว่า ทำเพื่อใคร ไม่ใช่ทำแบบโปรยหว่านเหมือนเดิม และภายหลังจากการสัมมนา ก็ได้มีโอกาสไปเข้าร่วม Workshop ที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ ICT กับประเทศต่างๆ ยิ่งตอกย้ำแนวความคิดจากการสัมมนาที่ลำปางชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ถ้าทำแบบไม่มีทิศทางเหมือนเดิม อาจจะไม่เหมาะสม และเกิดการสูญเปล่าในบางเรื่อง เพราะผู้รับยังไม่พร้อมในบางเรื่อง
    กลับมานั่งทบทวนกับทีมงานอีกครั้งว่า ปี 50 นี้จะต้องปรับแผนเดิมหรือไม่ สรุปก็คือต้องปรับ ในหลายๆเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องปรับอย่างมากคือ เรื่องการจัดการความรู้ เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับการพัฒนา ICT ของ กศน. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะแนวความคิดเดิมเพียงแต่คิดว่า เราจะผลิตสิ่งที่เป็นความรู้ แล้วเอาขึ้นไปแขวนไว้บน Internet แต่พอได้อ่านข้อคิดจาก ผอ.ดิสกุล ที่ว่า  Knowledge is not power,but knowledge sharing is power. ยิ่งทำให้แน่ใจว่า ต้องปรับทิศทางที่วางไว้ค่อนข้างมาก เพราะ
     1 แนวความคิดเดิม คือ สร้างสื่อความรู้ แล้วเผยแพร่ไว้บน Internet  ลองมาคิดดูแล้ว ปีหนึ่งจะทำได้เท่าไร และเป็นความรู้ที่เป็นของเราคิด หรือคัดเลือกมานำเสนอตามความคิดของเรา บางเรื่องอาจจะไม่มีใครอยากรู้เลย มีเราอยากรู้เพียงคนเดียว จึงทำให้ได้เนื้อหาน้อย และอาจจะไม่ตรงตามความต้องการ
     2 ทำอยู่คนเดียว กลุ่มเดียว คนอื่นไม่รู้เรื่องด้วย จึงไม่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นสื่อที่ไม่มีชีวิต ที่แขวนลอยอยู่บน Internet รอให้มีผู้ผ่านเข้ามาพบ ความรู้จึงไม่พัฒนา ต่อยอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม ไม่เป็นการพัฒนาความรู้ให้กว้างขวางและเกิดประโยชน์ตามความต้องการอย่างแท้จริง
    จากเหตุผล 2 ประการดังกล่าว จึงคิดว่า ในบทบาทและหน้าที่ ในการพัฒนางานด้าน ICT น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
     1 พิจารณากลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนว่าคือใครบ้าง มีเพียงกลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่ม ในกลุ่มเป้าหมายนั้นมีสภาพ และความต้องการด้านการเรียนรู้อย่างไร
     2 ถ้าจะนำเอา ICT เข้าไปช่วยเพื่อศักยภาพ ในการเรียนรู้จะทำได้ไหม ด้วยวิธีการอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
     3 สร้างความคุ้นเคยกับ ICT ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความพร้อม หรือต้องการที่จะนำเอา ICT เข้าไปเป็นเครื่องมือช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
     4 หาเวที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยอาจจะใช้เวทีที่มีอยู่แล้ว เช่น GotoKnow หรืออาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ เช่น บางพื้นที่ไม่สามารถใช้ Internet ได้ ก็ต้องใช้วิธีการอื่นๆ โดยอย่าลืมว่า ICT ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือหัวใจที่สำคัญ
     5 เริ่มสร้างความคุ้นเคยในการใช้ ICT กับบุคลากรของเราก่อน เช่นผู้ร่วมงานในฝ่ายเดียวกัน ในหน่วยงานเดียวกัน ก่อนที่จะนำเอาไปใช้กับผู้อื่น ตัวเราเองต้องใช้ก่อน
     6 เริ่มจากทีมงานเป็นพี่เลี้ยงที่แข็งขัน ช่วยอำนวยความสะดวกในระยะแรก จนกว่ากลุ่มเป้าหมายตัวจริงจะคุ้นเคย และใช้จนเป็นปกติวิสัย และได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
หมายเลขบันทึก: 71160เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • แวะมาทักทายครับพี่
  • ดีจังเลยครับ กศน มีคนเก่งมากมาย
  • ตาม อ.ดร.น้องขจิต มาติดๆเลย
  • อ.ศรีเชาว์ครับ ชอบบทความนี้มากครับ ทำอย่างไรให้บทความนี้เผยแพร่ในวงกว้างโดยเฉพาะในมวลหมู่ชาว กศน. จะพึ่งเว็ป กศน.ตอนนี้ก็พึ่งยาก เพราะดูว่าไม่ทันสมัยเอามากๆเลย
  • เห็นด้วยในวิธีคิดและแนวทางการดำเนินงานในทุกประการ ชอบมากที่ว่า "...กลับมานั่งทบทวนกับทีมงานอีกครั้งว่า ปี 50 นี้จะต้องปรับแผนเดิมหรือไม่ สรุปก็คือต้องปรับ ในหลายๆเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องปรับอย่างมากคือ เรื่องการจัดการความรู้ เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับการพัฒนา ICT ของ กศน. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ..." ผมขอเติมว่าเป็นอย่างนี้ทุกภาคครับ ทั่วประเทศ.......ยิ่งคำกล่าวที่ว่า " Knowledge is not power,but knowledge sharing is power. " ยิ่งชัดเลยว่าการจัดการความรู้มีความสำคัญกับเรา
  • ทำอย่างไรให้เรื่องนี้สำคัญนี้เป็นมรรคผลโดยไว ว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นวาระของ กศน.ด้วยซ้ำ มิใช่หรือครับ....หากเราเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนได้อย่างนี้จะทำให้เราพลิกโฉม กศน.เลยนะครับ...ผมเริ่มจากจุดเล็กๆ ชักชวนเพื่อนฝูงคอเดียวกันมาร่วมทำกันด้วยใจครับ ได้ผลในระดับที่พอใจได้ระดับหนึ่งครับ....แต่อยากเห็นบทบาทของภาคทั้ง 5 ภาค บวกกับสำนักฯขับเคลื่อนวาระนี้ให้จริงจังครับ
  • หากจะระดมความเห็นแนวทางในการทำ ICT for education ผมว่าจัดสักประชุมหนึ่งเชิญ บุคคล หน่วยงาน สถาบันฯที่มีประสบการณ์ดีๆไปเล่าให้ฟัง ผมว่าขณะนี้มีมากทีเดียว เปิดพื้นที่ให้ผู้มีประสบการณ์เหล่านี้เข้าไปร่วมวาดฝัน และแบ่งปันประสบการณ์ให้ อาจจะพบรสชาติการทำงาน กศน.ใหม่ก็ได้นะครับ
  • ขอบคุณมากเลยคครับที่อาจารย์เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา
ณราวัลย์ นันต๊ะภูมิ

สวัสดีปีใหม่อ.ศรีเชาวน์ค่ะ

  • เยิ่ยมมากค่ะ แผนพัฒนา ICT ปี 2550  โดยเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญค่ะ การจัดการความรู้ในกศน.จะได้เกิดในวงกว้างต่อไปค่ะ
  • ขอเป็นกำลังใจค่ะ

ณราวัลย์ นันต๊ะภูมิ

อาจารย์เขียนได้ clear มากครับ เห็นด้วยกับ ครูนงเมืองคอน
  • สวัสดีครับ น้องขจิต ที่แวะเข้ามาทักทาย ผมได้อ่านเรื่องราวดีๆ ของท่านเป็นประจำครับ แต่ไม่เคยเข้าไปทักทายเลย
  • ขอบคุณ อาจารย์จำนงมากครับ สำหรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อ กศน. ผมเห็นด้วยอย่างมากในวิธีการที่อาจารย์ใช้ มาแล้ว และแนวทางที่กำลังจะทำต่อไป ผมใช้เวทีนี้มาช่วงเวลาหนึ่งแล้วคิดว่า มีประโยชน์ต่อ กศน. มาก และถ้าหากเราช่วยกันหาวิธีการให้มีการใช้อย่างกว่างขวางขึ้น และมองไปที่ชาวบ้านเป็นหลักก็จะเกิดประโยชน์มาก อาจารย์มีประสบการณ์ตรงมากมาย ถ้าจะเริ่มต้นอย่างไร ผมพร้อมที่จะเดินไปด้วยเต็มที่เลยครับ
  • ขอสวัสดี ผอ.ณราวัลย์ ครับ ไปลำปางครั้งที่แล้ว ได้แต่ผ่านอำเภอเกาะคา แต่ไม่ได้แวะไปคารวะครับ เพราะอาศัยไปกับรถท่านอื่น แต่ก็ได้พบกับท่านทางเวที Gotoknow บ่อย ผมตามผลงานของท่านและอยากได้ทำงานแบบที่ท่านทำอยู่แล้ว เพียงแต่คนละบทบาท โดยเฉพาะเรื่อง ICT ถ้าสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ และผมพอจะทำได้ ผมยินดีอย่างมากครับ อาจจะผ่านทาง Server ของ ศนจ.ลำปางนะครับเพราะตอนนี้ก็ช่วยเรื่อง web ของ ศนจ.อยู่แล้ว
  • สำหรับท่านอาจารย์บุรินทร์ ต้องขอขอบคุณท่านอย่างมากครับสำหรับสิ่งดีๆ ที่ให้บริการทาง website ของท่าน ผมเอามาใช้ประโยชน์สำหรับ กศน. มากมายเลยครับ

ได้ตามไปอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนี้ ของครูนงเมืองคอน (ไปอ่านรายละเอียด) ผมคิดว่าน่าสนใจครับ เพราะเราสามารถที่จะใช้เวทีนี้ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวทางของการศึกษานอกโรงเรียนอยู่แล้ว

สวัสดีปีใหม่ครับ... อาจารย์ศรีเชาว์  วิหคโต

        ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์ เพราะ อย่างน้อยคนของ กศน. ได้มาแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ เรียนรู้วิธีการทำงาน โดยเฉพาะ ครูอาสาสมัครฯ คนตัวเล็ก ตัวน้อย อย่างผม ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ มีความรู้หน้างาน  ที่ทำแล้ว ประสบความสำเร็จมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเป็น  ความรู้ จากการปฏิบัติจริง ๆ และอาจจะนำไปเป็น แนวทาง ในการทำงานของคนอื่น ๆ ได้ด้วย

        ที่สำคัญคนที่มีหมวกใบใหญ่ ๆ ใน กศน. ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะติดตามงานของคนตัวเล็ก ตัวน้อยผ่านทางบล็อกได้และถ้าให้ดียิ่งขึ้นก็ต้อง ถอดหมวกใบโตๆลงมาแลกเปลี่ยนกับคนหน้างาน ทั้งระดับกลาง และระดับล่างๆๆ.... จนถึงผู้เรียน (คุณกิจ)ได้ก็ยิ่งดี  ผมเห็นตัวอย่างคนใหญ่  คนโตระดับรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ที่ถอดหมวกใบโตของท่านลงมาเขียนบล็อก เพื่อแลกเปลี่ยนกับบรรดาชาวบล็อกทุกระดับ  ผมคิดว่าปีใหม่น้ีเป็นนิมิตหมายอันดีที่มีบรรดาคน กศน. หลายท่านได้เริ่มหันมาใช่  ICT เพื่อการพัฒนางาน  กศน. ให้สมกับยุคน้ีที่ กศน.มีแบรนด์ใหม่ที่ว่า  กศน. เพื่อเรียนรู้  ก็ใช้บล็อก Gotoknow  เป็นช่องทางในการเรียนรู้ร่วมกัน        

        ดังนั้นผมหวังว่าคน กศน.ที่รู้แล้วตอนน้ี น่าจะรีบ  ททท  (ทำ ทัน ที ) เพราะ  KM  หากไม่ลงมือทำ ก็ไม่รู้ไม่ว่าจะเป็นระดับใหนก็ตาม เพื่อที่งาน กศน. จะได้เดินหน้าตาม  ยุทธศาสตร์ที่จะไปให้ถึง สมกับคำ กศน. เพื่อเรียนรู้  อย่างเป็นจริงเสียที

         จะติดตามบันทึกต่อไปของอาจารย์ครับ

                             ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ

             
 

สวัสดีครับ ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ  ดีใจที่ให้ข้อคิดดีๆ  โดยเฉพาะเรื่องหมวก ผมคิดว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ในเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมมีประสบการณ์ประการหนึ่งมาเล่าครับ
    เริ่มจากเรื่องคุยกันในที่ทำงาน แต่ละคนก็มีลูกหลาน โดยเฉพาะตอนนี้เป็นช่วงการสอบเข้ามาหาวิทยาลัย ลูกหลานใครสอบได้ก็มักจะเอามาคุยกัน และเหมือนจะคุยทับกันด้วย ลูกฉันสอบได้แพทย์ ได้วิศวะ ลูกใครสอบไม่ได้ หรือได้ที่ไม่ดี ก็จะเหมือนกับเป็นปมด้อย ผมก็ได้แต่คิดว่า แต่ละคน มีบทบาท หน้าที่ ที่แตกต่างกัน แต่ถ้าทุกคน ทำตามหน้าที่อย่างบริบูรณ์ สังคม จึงจะอยู่ได้ ถ้าเขาให้ทุกคนไปเรียนแพทย์ และเป็นแพทย์กันหมด แล้วใครจะทำนา มีข้าวให้แพทย์กิน โดยเฉพาะคนที่ชอบมองว่าถ้าสอบที่ไหนไม่ได้ ก็ไปเรียนครู ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นชาวนา ชาวสวน คนรับใช้ ทุกคนต่างก็ช่วยให้สังคมอยู่ได้ทั้งนั้น ขาดไม่ได้
   เหมือนกับเวที KM นี่แหละครับ ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนต่างกัน เพราะทำงานกันคนละอย่าง จะให้ทุกคนมีความรู้และประสบการณ์เหมือนคนที่ปฏิบัติงานตรงก็คงไม่ได้ ดังนั้น เวทีนี้ จึงเป็นเวทีแหงการถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนกัน คนเข้ามาในเวทีนี้ ต้องถอดหมวกออก แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน

   ขอบคุณมากครับ และมีเรื่องอะไรก็มาแลกเปลี่ยนกันอีก ผมได้เข้าไปอ่านข้อเขียนของท่านเกือบทุกเรื่องครับ เป็นประโยชน์มากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ทุกๆ ท่าน ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่รับผิดชอบงาน ICT ภายในหน่วยงาน ผมเป็นครู ศรช. ที่ ศบอ. พิบูลมังสาหารทำงาน กศน. มาแล้วแค่ 2 ปีกับ 1 เดือนกว่า ๆ ผมเห็นด้วยกับหลายๆ ความคิดว่า กศน. พัฒนาความรู้ สื่อ ICT เพื่อใคร สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการอนุเคราะห์ให้ทำงานจากผู้บังคับบัญชา หรือจาก กศน. คือ กลุ่มเป้าหมายของเรายังใช้ ICT ไม่เท่าไร ข้อแรกที่เราน่าจะทำคือ จัดกระบวนการเรียนรู้เรื่อง ICT ให้มากขึ้นกว่าเดิมมากกว่าที่จะไปเน้นผลิดสื่อ ICT แล้วไม่มีใครใช้งาน ที่ ศบอ. ที่ผมทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ปีแรกจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งกลุ่มนศ. ครู และประชาชนทั่วๆ ไป ปีที่ 2 เรามีเว็บไซต์ไว้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนเหล่านี้เห็นได้ว่ามีคนใช้จริงหากกลุ่มเป้าหมายเรามีความรู้ ครูที่นี่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นกว่าเดิม นศ. มีอีเมลล์ และส่งรับเป็นใช้งาน Board ประชาชนทั่วไปใช้เน็ต สนใจเรียนคอมพิวเตอร์มากขึ้น เห็นได้จากยอดผู้ใช้งานห้องคอมพิวเตอร์ ใช้อินเตอร์เน็ต และผู้สมัครเรียนคอมพิวตอร์ ตามความคิดของผมผมคิดว่าเราจะยังต้องจัดกระบวนเรียนรู้มากกว่านี่จัดสื่อที่ ICT เป็นข้อรอง จากนั้นให้มันมีอยู่จริงๆ และใช้ได้ตลอด ผมเข้าใจว่า อบต. จะต้องจัดคอมพิวเตอร์ให้ประชาชนในพื้นที่มีอินเตอร์เน็ตใช้งาน ตามคำพูดที่ว่าอินเตอร์เน็ตตำบล แต่ที่สอบถามดูทุกๆ ที่เคยมีแต่เดียวนี้ไม่มีแล้วหรือมีแต่ไม่เปิดบริการ นั้นคือความจริงเพราะทุกครั้งที่ผมจัดกระบวนการเรียนรู้ผมจะถามถูกคนว่าเราจะไปใช้เน็ตได้ที่ไหน ไม่มีคำตอบ นั่นเองแสดงว่าเราทำสื่อ ICT ไป ก็คงไม่มีผู้ใช้งาน ดูงานกิจกรรมต่างๆ ของ ศบอ. พิบูลมังสาหารได้ที่ www.nfephiboon.com

     สวัสดี น้อง นิรัญ ไม่แน่ใจว่าเคยพบกันหรือเปล่า เพราะผมไปอบรมที่ ศนจ.อุบลบ่อย และเห็นฝีมือจาก web ของ ศบอ พิบูลแล้ว และได้ยิน ผอ. นิคม ชมเชยอยู่ ยินดีที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และดีใจ ที่ได้เข้ามาพบกันทางเวที gotoknow ทั้งๆ ที่อยู่จังหวัดเดียวกัน และหน่วยงานเดียวกัน จึงเป็นการยืนยันได้อย่างดีว่า เวทีแห่งนี้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ คนที่ไม่เคยพบกัน ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้

   ถ้าเป็นไปได้ เรามาช่วยกันพัฒนาแนวความคิดที่เสนอมาให้เป็นจริง เพราะเราก็ต่างเป็นนักฝันด้วยกัน ทำอย่างไร ที่เรา น่าจะกระบวนการเรียนรู้เรื่อง ICT ให้มากขึ้นกว่าเดิม และอยากทราบข้อเสนอแนะต่อเนื่อง ในฐานะที่มีประสบการณ์ในพื้นที่ ว่า ควรทำอย่างไร ผมคิดว่า ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ความฝันคงอยู่ไม่ไกลเท่าไร และที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้เวทีนี้เป็นเวที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของชาว กศน.อุบล เพื่อช่วยกันจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่อง ICT

ยอมเยี่ยมมากๆ ครับสำหรับวิสัยทัศน์ด้าน ICT ของชาวกศน. ผมอยู่สพฐ. ขอเอาใจช่วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ศรีเชาวน์ ติดต่อผมได้ที่เว็บ กศน. พิบูลมังสาหาร หรือทางเมลล์ก็ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท