การแจ้งการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย : ขั้นตอนที่ 2 และ 3


การรู้เขา จะทำให้การบอกสิ่งที่เรารู้ทำได้ตรงจุด

ขั้นที่ 2 ประเมินว่าผู้ป่วยทราบมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตน

            เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยรับรู้หรือเข้าใจว่าตนเป็นอะไร และการเจ็บป่วยนี้มีผลต่ออนาคตอย่างไร 

 

คุณคิดว่าอะไรเป็นทำให้คุณมีอาการ ...”

หมอคนก่อนที่เคยดูแลคุณ บอกว่าคุณเป็นอย่างไรบ้าง   แล้วคุณคิดอย่างไร

 

            ระหว่างนี้ควรสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยไปพร้อมกันด้วย โดยผู้ป่วยอาจจะแสดงออกได้ทั้งคำพูดและกิริยาท่าทาง

 

ขั้นที่ 3 ประเมินว่าผู้ป่วยต้องการทราบอะไรบ้าง

            ช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการแจ้งการวินิจฉัย ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลหรือไม่ ต้องการทราบมากน้อยเท่าไร  เพื่อแพทย์จะได้ทราบว่าควรให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยมากน้อยเพียงไร

            การไม่ให้ข้อมูลอะไรเลยยิ่งทำให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์มาก   พบว่ามีเพียงร้อยละ 1 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่ไม่ต้องการทราบว่าตนป่วยเป็นอะไร ผู้ป่วยอื่นนอกเหนือจากนี้พยายามใช้วิธีต่างๆ เพื่อหาข้อมูล เช่น ถามแพทย์เองโดยตรง ถามจากเจ้าหน้าที่อื่นที่ให้การดูแล ญาติ หรือคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นการถามผู้ป่วยตรงๆ ว่าผู้ป่วยต้องการทราบอะไรบ้าง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่พร้อมก็อาจจะมีการใช้กลไกทางจิตแบบ denial (ไม่รับว่าตนเองป่วยหนัก)

            ตัวอย่าง  คำพูดที่จะใช้ในการประเมินผู้ป่วย

 

                        คุณอยากให้หมอบอกรายละเอียดของโรคที่คุณเป็นไหม

                        คนไข้บางคนก็อยากให้หมอบอกหมดทุกอย่างที่รู้เกี่ยวกับโรคของเขา บางคนก็ไม่ได้อยากรู้อะไรเท่าไร แค่หมอดูแลก็พอใจแล้ว คุณคิดว่าตัวเองเป็นแบบไหน

                        ถ้าโรคของคุณเกิดร้ายแรงขึ้นมา คุณอยากให้หมอบอกคุณไหม

 

            ถ้าผู้ป่วยยังไม่ต้องการทราบ ควรพูดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสถามได้เสมอ เช่น  ถ้าคุณเปลี่ยนใจภายหลัง ก็สามารถถามหมอได้ทุกเวลา

            ผู้ป่วยบางรายไม่ต้องการทราบการวินิจฉัยโรค แต่ต้องการทราบเพียงแค่แพทย์จะทำอะไรกับตัวเขา หรือจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้างในระหว่างนี้  ซึ่งเท่านั้นก็เพียงพอสำหรับแพทย์ที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและดูแลรักษากันต่อ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยทราบการวินิจฉัยเสมอไป

หมายเลขบันทึก: 71147เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอมาโนช
  • ดิฉันใช้เวลาอ่านบล็อกของอาจารย์เกือบเดือนจึงจะอ่านครบ  ตั้งใจว่าเมื่อครบ ก็จะมาโพสต์เรียนอาจารย์เงียบๆในบันทึกใดบันทึกหนึ่ง 
  • ดิฉันสนใจการสื่อสารกับจิตใจคนตั้งแต่เด็ก    เพราะได้เห็นแล้วว่าการสื่อสาร สร้างสุขก็ได้  สร้างทุกข์ก็ได้ 
  • ดิฉันสอนในสายการสื่อสาร และได้เห็นว่าการสื่อสารกระแสหลัก  ในศาสตร์บางชุดนั้น เน้นที่การเอาประโยชน์จากการไม่รู้เท่าทันการสื่อสารของคน  แล้วก็สร้างสื่อมาครอบงำให้คนเชื่อ  เน้นที่การเอา มิใช่การให้
  • ดิฉันอยากสอนให้เด็กรักเพื่อนมนุษย์  รู้จักเข้าใจจิตใจคนอื่น    แต่หาข้อเขียนในสายเดียวกันในที่นี้ได้ยาก  และข้อเขียนที่ระบุการสื่อสารเป็นขั้นเป็นตอนยิ่งหายากเข้าไปใหญ่  
  • โชคดีได้ตามมาอ่านข้อเขียนของอาจารย์ในบันทึก  เกี่ยวกับการสื่อสารที่นึกถึงจิตใจของผู้อื่น  ดิฉันจึงดีใจมาก
  • อาจารย์เขียนเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยได้เป็นขั้นตอนและมีตัวอย่างชัดเจนดีมากเลยค่ะ  และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
  •  ผู้ที่มีบุคคลอันเป็นที่รักต้องเจ็บป่วยเช่นนี้   หากเขาได้อ่านบันทึกของคุณหมอ ดิฉันคิดว่าเขาคงสบายใจขึ้นมาก  และน่าจะมีวิธีรับมือที่ดีมากขึ้นด้วย
  • จึงเข้ามาขอบพระคุณ อาจารย์หมอมาโนช อย่างเงียบๆอีกครั้งในบันทึกนี้ค่ะ  : ) 

ขอบคุณมากๆ ครับที่กรุณาแจ้งให้ทราบ ในฐานะผู้เขียนย่อมต้องดีใจยิ่ง ที่เรื่องของตนเองมีผู้เห็นคนค่า

"การสื่อสารกระแสหลัก  ในศาสตร์บางชุดนั้น เน้นที่การเอาประโยชน์จากการไม่รู้เท่าทันการสื่อสารของคน  แล้วก็สร้างสื่อมาครอบงำให้คนเชื่อ  เน้นที่การเอา มิใช่การให้"

ใช่ครับ มันเป็นแนวโน้มของการศึกษายุคใหม่ที่น่ากลัว กลายเป็นว่าเราเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมทั้งศาสตร์แห่งการสื่อสาร เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นความสำเร็จผ่านทางการแข่งขันฟาดฟัน โดยปรัชญาเช่นนี้คำว่าคุณธรรมจะมีน้ำหนักน้อยกว่าความสำเร็จ  อาจารย์ได้อ่าน  ประเด็นข่าว: คณบดีฝ่ายคัดเลือกนักศึกษาของ MIT ลาออกเพราะปลอมวุฒิการศึกษา หรือยังครับ อ่านแล้วสะท้อนใจนะครับ  ผมเห็นด้วยกับ Bluebonnet  ที่ว่า The curriculum didn't  lend itself to build social conscious, but more on "survival of the fittest" which tends to focus on ends rather than means.  พอถึงตอนนี้ไพล่ไปคิดถึงเรื่อง Rajhabhat Plian Pai  ของอาจารย์ ผมชอบมากๆ เลย อ่านไปยิ้มไป นี่ขนาดอ่านหลายครั้งแล้วยังสนุกเลยนะครับเนี่ย

  • ดิฉันเข้ามาเรียนอาจารย์หมอมาโนชว่า การนำเสนอความรู้และกรณีการสื่อสารกับผู้ป่วยแบบตรงกับสภาพจริง อย่างที่อาจารย์หมอเขียนนี้หาอ่านยากมาก  
  •  (หรืออาจเป็นได้ว่าดิฉันขาดความสามารถในการสืบค้นข้อมูลนะคะ   แต่เท่าที่พยายามค้น  ก็พบว่าไม่มากนัก) 
  • ทักษะการสื่อสาร   และการเข้าใจวิธีการสื่อสารชุดนี้ จำเป็นมากสำหรับญาติของผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเอง  ที่จะพัฒนาวุฒิภาวะในการรับมือกับภาวะการมีผู้เจ็บป่วยในครอบครัว  ซึ่งทุกครอบครัวต้องเจอเข้าสักวันหนึ่ง
  •  พลังของการสื่อสารนั้นน่ากลัวนัก  เพราะทำให้คนมีกำลังใจอยากมีชีวิตอยู่ต่อก็ได้  อยากจบชีวิตลงเดี๋ยวนั้นก็ได้
  • อาชีพที่ใช้การสื่อสารกำกับจิตใจคน   หากใช้ในทางที่เป็นโทษ   ก็น่ากลัวนักเช่นกัน  
  • สำหรับครูที่ต้องสัมพันธ์กับเด็กๆ    ก็น่าจะ (ต้อง) พยายามเข้าใจคนที่เราดูแล ให้ครบมิติความเป็นมนุษย์ของเขา  บางครั้งการที่เด็กไม่มี "ใจ" จะเรียน  ก็อาจมีสาเหตุมาจากการที่บุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวตน เจ็บป่วยอยู่ 
  • หากได้มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้บ้างพอเป็นหลักคิด  ก็น่าจะช่วยให้ครูมีวิธี "พูด"  (สื่อสาร) ให้เด็กเกิดมีกำลังใจ   เรียนรู้ที่จะกลับไปสื่อสารกับบุคคลในครอบครัว   ช่วยให้ทุกคนสามารถรับมือกับสภาพเช่นนี้ได้อย่างมีวุฒิภาวะ  
  • ทั้งครูและเด็กจะได้ไม่แยกกระบวนการศึกษา ออกจากกระบวนการคิดเรื่องการใช้ชีวิต 
  • (ถ้าครูสอนเขาอย่างมนุษย์สอนมนุษย์  และมองเห็นหัวใจเขาด้วย )
  • ถ้าอาจารย์มีเวลา  โปรดเขียนเรื่องตามที่อาจารย์ประสงค์จะเขียนต่อเถิดนะคะ  ขอยืนยันว่ามีค่ามาก     และดิฉันก็จะตามอ่านอย่างมีความสุขต่อไป 
  •  ขอบพระคุณอาจารย์เช่นกันนะคะ ที่ได้แวะไปอ่านบันทึก  ดิฉันจะตามไปอ่านประเด็นที่อาจารย์แนะนำด้วย  น่าสนใจมาก 
  •  สุดท้ายนี้ ขอให้อาจารย์หมอมาโนชทำงานอย่างมีความสุขมากๆนะคะ  ขอบพระคุณมากอีกครั้งค่ะ  : )
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท