ทักษะที่สำคัญ


ทักษะเป็นสิ่งต้องอาศัยการฝึกฝนร่วมกับการมีเจตคติที่ดี

1. การเงียบ   โดยเฉพาะหลังบอกการวินิจฉัย ยังไม่ควรรีบพูดต่อลงไปในรายละเอียดเลย หากแต่ควรนิ่งเงียบ  การเงียบของผู้ป่วยเป็นมาจากเขากำลังรับรู้หรือเกิดความรู้สึกต่างๆ ต่อสิ่งที่เราบอก เมื่อผู้ป่วยนิ่งเงียบไป สิ่งที่ควรทำคือ แสดงความเข้าใจ เปิดโอกาสให้เขาซึมซับสิ่งที่เราแจ้ง หากผู้ป่วยเงียบนานอาจเปิดการสนทนาต่อโดยแสดงความเข้าใจว่า "ดูคุณเงียบไป หมอสังเกตว่าสิ่งที่หมอบอกมีผลต่อคุณมาก"

2. ท่าทีรับฟัง มีท่าทีส่งเสริมให้ผู้ป่วยพูด โดยในขณะที่ผู้ป่วยสนทนาอยู่เราจะแสดงออกถึงความสนใจ สบตา ตั้งใจฟัง พยักหน้าว่าเรากำลังรับฟังและเข้าใจเรื่องที่เขาเล่าอยู่

3. คำถามเปิด  คำถามเปิดเป็นคำถามที่ผู้ป่วยมีอิสระในการเลือกสิ่งที่จะตอบ ความมากน้อยของข้อมูลที่จะตอบ โดยผู้ป่วยจะส่วนร่วมในการสนทนา ในขณะเดียวกันเราก็ได้ทราบถึงความคิดเห็นของผู้ป่วย    หรือเจตคติของเขาด้วยนอกเหนือจากรายละเอียดของเรื่องที่เขาเล่า ต่างจากคำถามปิดที่เป็นการถามเฉพาะเจาะจงไปในบางเรื่อง ซึ่งจะได้คำตอบที่สั้น
ตัวอย่าง
คำถามปิด:         "ตอนคุณบอกเขาว่าคุณป่วยเป็นอะไร สามีคุณเสียใจมากไหม?"           
                       "ช่วงที่มีอาการครั้งก่อน คุณได้ไปหาหมอไหม?"

คำถามเปิด:        "ตอนคุณบอกเขาว่าคุณป่วยเป็นอะไร สามีคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?"
                        "ช่วงที่มีอาการครั้งก่อน คุณทำยังไงบ้าง?"
            

4. พูดทวนความ พูดซ้ำคำหรือบางวลีที่ผู้ป่วยพูด แต่เน้นเสียง  หรือทอดเสียงในลักษณะของความสงสัย หรือความต้องการให้ผู้ป่วยเล่าต่อ 
ตัวอย่าง

ผู้ป่วย : "เรื่องแบบนี้บางครั้งเราก็ไม่อยากเล่าให้ใครฟังเหมือนกัน"
ผู้ตรวจ : "ไม่อยากเล่าให้ใครฟัง?" 
ผู้ป่วย :  "ดิฉันรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่น่าอยู่เสียเลย คงเหมือนกับที่พี่สาวดิฉันเคยคิดนั่นแหละ"
ผู้ตรวจ :   "ชีวิตนี้ไม่น่าอยู่?"
           

5. สรุปความ พูดซ้ำเรื่องของผู้ป่วยแต่สรุปให้สั้นลงและคงความหมายสำคัญตามเดิมอยู่ โดยเน้นในเนื้อหาของสิ่งที่ผู้ป่วยเล่า  ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าเรายังรับฟังเขาอยู่   สนใจในสิ่งที่เขาพูด หรือเพื่อเน้นในบางเรื่องที่สำคัญ
 ตัวอย่าง
ผู้ป่วย :   " ปีนี้เศรษฐกิจที่บ้านไม่ดีเลย  ลูกหนี้ก็ทวงหนี้ไม่ค่อยได้  เลยยิ่งกลุ้มใจมากขึ้นไปอีก นี่มาป่วยเป็นอย่างนี้อีกดิฉันจะทำยังไงดี"
ผู้ตรวจ :  "คุณกังวลกับการเจ็บป่วย ส่วนหนึ่งเพราะปีนี้การเงินดูแย่"
            

6. เน้นเรื่องให้เห็นชัด  กล่าวในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อ  โดยทำให้ชัดเจนขึ้น ไม่เปลี่ยนเนื้อหาของสิ่งที่ผู้ป่วยสื่อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา  นอกจากนี้ยังเกิดความแจ่มชัดในเรื่องที่สนทนาและต้องการพูดขยายความเห็นหรือรายละเอียดเพิ่มเติม
ตัวอย่าง

ผู้ป่วย:  "พอลงจากรถแล้วมาเจอเรื่องแบบนี้ ผมเลยมึนตื้อไปหมด มือไม้สั่น คิดอะไรไม่ออก  ทำอะไรไม่ถูกเลย"
ผู้ตรวจ :  "คุณหมายความว่าเหตุการณ์นี้ทำให้คุณสับสนมากจนทำอะไรไม่ถูก ?"

หมายเลขบันทึก: 71143เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ..อ.หมอมาโนช..

  • ดิฉันสงสัยว่า...การจะเลือกเอาเทคนิคใดมาใช้ในสถานการณ์นั้นๆ...จะเลือกอย่างไรคะ.. (ควรจะเงียบ..หรือควรจะทวนความ..หรือ.......)

เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ [จริงๆ นะครับ ไม่ใช่คำพูดที่ใช้ทุกครั้งเวลามีคนถาม :-)]    ไม่มีสูตรสำเร็จครับ แนวทางคร่าวๆ คือ เราจะลองเงียบก่อน ถ้าเงียบแล้วสักพักเขายังไม่พูด ก็จะเริ่มการสนทนา อาจโดยการทวนประโยค หรือสิ่งที่เขาพูดครั้งสุดท้าย หรือสิ่งที่เขาพูดมาแล้วและเราคิดว่าสำคัญ

การสรุปความจะใช้ในกรณีที่เขาพูดเรื่องยาวและเราต้องการเน้นให้เขาเห็นประเด็น หรือเราไม่แน่ใจก็อาจสรุปความ ถ้าเขาเห็นว่าไม่ถูกก็แก้ให้เรา หรืออาจเป็นการสรุปความก่อนที่เราจะ shift การสนทนาไปเรื่องอื่น

กาเน้นเรื่องเรามักทำในกรณีที่ดูเขาสับสน พูดจาวกวน การเน้นจะทำให้เขาเห็นชัดขึ้น

ปกติแล้วในการฝึกระยะแรกจะฝืนๆ หน่อย อาจรู้สึกเหมือนเราไม่จริงใจ แต่พอทำสักพักก็จะคล่องไปเอง เร่มฝึกไปทีละ 1-2 ทักษะครับ พอคล่องแล้วที่นี้เขาก็ออกมาเองโดยอัตนโนมัติ เหมือนกับตอนหัดถีบจักรยานน่ะครับ ใหม่ๆ ก็ถีบไม่คอยคล่องจะฝืนๆ หน่อย แต่สักพักพอถีบคล่องก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ แบบว่าใครจอดจักรยานผิดที่ผิดทางเราถีบได้ทีหนึ่งเป็น 6-7 คันเลยล่ะครับ (ฮา)

  • โอ้โฮ....ฮาค่ะ....ฮา....ขอฮาก่อนค่ะ....ขากรรไกรค้างแล้ว....อ.หมอสมบูรณ์อยู่ที่ไหนคะ...มาดมยาตบขากรรไกรดิฉันลงหน่อยค่ะ....
  • ดิฉันชอบเป้าหมายมากเลยค่ะ "ใครจอดจักรยานผิดที่ผิดทางเราถีบได้ทีหนึ่งเป็น 6-7 คันเลยล่ะครับ "...ชอบมากๆ..ค่ะ
  • ขอบคุณ อ.หมอมาโนชค่ะ...จะเอาไปหัดทำ..ใช้กับคนข้างๆตัวก่อนก็แล้วกันนะคะ...เงียบไว้ก่อน...เงียบไว้ก่อน....แล้วค่อยถีบทีหลัง.....ใช่ไหมคะ...อิ อิ.....
  • อ้อ...อาจารย์ขา...อาจารย์เขียนหลายบันทึกดีค่ะ...แต่อ่านแล้วแชร์ด้วยไม่ทัน(พยายามอ่านทุกบันทึกค่ะ....เพราะมีประโยชน์)
  • ดิฉันเป็นคนอ่านหนังสือช้า..getช้า...แถมเขียนหนังสือตอบช้าด้วย..กลัวเขียนหวัดแล้วอาจารย์อ่านลายมือไม่ออกน่ะค่ะ...เลยบรรจงเขียน...
  • ขออภัยที่รูปในblog..ของดิฉันยังเอาตัวจริงลงไม่ได้ค่ะ...ดูตัวสำรองไปก่อนนะคะ
  • อาจารย์กำลังมีไฟ ก็เลยใส่บันทึกมาแบบไม่อั้น นะคุณกฤษณา
  • การบอกข่าว ที่เรียกว่าข่าวร้าย ขออนุญาต share นิดเดียวว่า ข้อแรกเลย ควรจะเลือกสถานที่ (Space : ตัวย่อ อันแรก ของ  S P I K E S) จะต้องไม่เปิดเผยมากเกินไป เป็นห้องได้ก็ดี ไม่ใช่ข้างเตียง ผู้ป่วยจะได้แสดงความเห็น หรือความรู้สึกออกมาได้ ครับ
เรียน อาจารย์หมอมาโนช ครับ
  • การสื่อสารข่าวร้าย เป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะเหมือนเป็นการทำร้ายจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การแจ้งเพียงข่าวสารโดยไม่สนใจด้านการให้กำลังใจผู้ป่วย บางครั้งผู้แจ้งข่าวก็อาจไม่ต่างจากฆาตกร เพราะสามารถฆ่าชีวิตคนๆหนึ่งให้หายไปโดยที่ตัวเขายังอยู่ได้
  • เรื่องนี้จึงเป็นศิลปะ ที่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถบอกข่าว บอกเรื่องนี้ให้กับผู้ป่วยฟังได้ แต่คนที่สนใจก็สามารถพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถในการแจ้งข่าวร้ายได้ แต่ต้องฝึกฝนครับ และต้องเป็นคนที่มีความรู้สึกแบบ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เช่นนั้นถือเป็นเรื่องน่าสยองครับ.....ผมเคยเห็นบุคลากรทางการแพทย์ บอกผลผู้ป่วยโรคเอดส์ เพียงแค่ว่า คุณป่วยเป็นเอดส์นะ....แล้วก็จบ จบทุกอย่างเพียงแค่นั้นปล่อยให้คนไข้นั่งอยู่ตรงนั้น แล้วตัวเองก็ลุกขึ้นไปทำงานต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้
  • ผมเคยแสดงละครเวที เป็นพ่อบ้านคนหนึ่งที่ติดโรคเอดส์จากการเผลอใจไปเที่ยวเพียงครั้งเดียว การแสดงนั้นเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของคนที่กำลังจะตาย หรืออย่างน้อยก็รู้ว่ากำลังจะตายในอนาคตอันใกล้ ครอบครัวกำลังล่มสลาย ชีวิตไร้ซึ่งหลักยึดเหนี่ยว เพียงเพราะคำพูดเดียวของคน ที่บอกว่า คุณเป็นโรคเอดส์นะ
  • การแสดงละครเวทีนั้น ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์นั้นครับ ดังนั้นเทคนิคต่างๆที่ผู้เกี่ยวข้องควรใช้ในการแจ้งข่าว ควรยึดที่ผู้ป่วยหรือผู้รับข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก สนใจความรู้สึกของผู้รับข่าวสารเป็นหลัก และอธิบายความรู้ที่เขาควรได้รับรู้ เพื่อให้เขารู้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร หรือมีทางเลือก ทางออกใดบ้างกับชีวิตของเขา
  • ดังนั้นเรื่องนี้ จึงควรกระทำโดยไม่ถูกจำกัดในเรื่องของเวลา เพื่อให้ผู้รับข่าวร้ายได้ข้อมูลครบถ้วน และเพียงพอ โดยผู้ให้ข้อมูลต้องแน่ใจว่าผู้รับข่าวนั้นมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องมากเพียงพอ เพราะหลายครั้งเมื่อบอกข่าวร้าย คนไข้ก็มักจะปิดประตูใจ ไม่ได้ยินอะไรอีก สิ่งที่ผ่านเข้ามาจึงเป็นเพียงแค่ลมปากที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปโดยไม่เข้าถึงผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้แจ้งข่าวควรให้ความสำคัญด้วย 

คุณไม่โต.. เอ๊ย ไมโต ครับ (อย่าเคืองนะครับโตไม่โตเนี่ยผมสับสนหมดแล้ว หุหุ)   ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งอีกแล้วครับ และอย่างที่อาจารย์สมบูรณ์ท่านพูด สถานที่สำคัญมาก ควรมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร  บ้านเราทำเรื่องนี้ได้ไม่ค่อยเต็มที่เพราะปัญหาหลักคือ คนไข้เยอะมั่กๆๆๆๆๆๆ ครับ

เอยะจนหมอหมดแรง และครั้นจะเตรียมตัวเตรียมใจให้คนขไ้และญาติดีๆ คนไข้คนอื่นก็รออีกเป็นกระตั๊กๆๆ หน้าที่หลักเลยตกอยู่กับญาติซะเป็นส่วนใหญ่ และญาติก็ไม่อยากให้คนไข้รู้อีก

พูดถึงเรื่องนี้มีเรื่องเล่าเยอะครับ 

จบ (อ้าว) 

  • ปัญหาโลกแตก ก็คือญาติไม่ยอมให้คนไข้รู้
  • แล้วจะให้มีคุณภาพชีวิตตอนสุดท้ายอีกด้วย
  • ผมก็สับสนกับคนไข้แบบนี้บ่อยๆ ครับ
  • ครับ (จบแล้วเหมือนกันครับ) อ้าว...

ขอบคุณมากค่ะ บันทึกน่าอ่านมากๆ

ชอบบันทึกเหล่านี้เพราะว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้

บ่อยครั้งเวลาตามราวน์แพทย์ พอแพทย์ออกจากห้องไปแล้ว คนไข้หรือญาติมักหันมาถามรายละเอียดกับพยาบาล  ทั้งๆที่ตอนอยู่ต่อหน้าหมอพยักหน้าเหมือนเข้าใจ

จะว่าไปไม่ใช่หมออธิบายไม่เข้าใจนะคะ แต่คิดว่า คงเป็นเพราะ พอประโยคแรกเขาฟังแล้วอึ้ง หรืองง ประโยคถัดไป เขาก็จะไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ เหมือนกับโดนบล็อกไปเลย คิดว่าคงจะอย่างนั้น ^__^

คือมีรุ่นพี่เค้าบอกว่าการเป็นนักจิตวิทยามันเป็นดาป2คม

เพราะมันทำให้เรารู้มากจนเกินไป

จริงรึเปล่าค่ะ

ช่วยตอบด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท