ทักษะในการสื่อสาร: ท่าที


สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแต่แรกว่าผู้รักษาสามารถช่วยเขาได้นั้นคือบุคลิกของผู้รักษา

ลักษณะของผู้ตรวจที่พบว่ามีส่วนเสริมสัมพันธภาพในการรักษานั้นได้มีผู้ให้ความเห็นไว้มากมาย พอสรุปลักษณะที่สำคัญได้ดังนี้    

1. สนใจและรับรู้ความรู้สึก เป็นลักษณะที่จัดได้ว่าสำคัญและมีผลต่อการเกิดสัมพันธภาพในการสัมภาษณ์มาก    
2. ให้เกียรติผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจมีความคิดความเชื่ออยู่เดิมซึ่งผู้รักษาอาจมองว่าเป็นความเชื่องมงาย
    
3. จริงใจต่อผู้ป่วย  ได้แก่การมีท่าทีที่เปิดเผย  จริงใจ  เป็นธรรมชาติไม่เสแสร้ง  และไม่พยายามที่จะปกป้องตัวเอง  อย่างไรก็ตามสิ่งที่แสดงออกนี้ควรเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์  และคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นหลัก   นอกจากนี้ควรตอบคำถามของผู้ป่วยด้วยความจริงใจ ไม่หลอกลวง หรือเพียงพูดให้ผ่านการตรวจครั้งนี้ไป
    
4. ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไว้วางใจว่าผู้รักษาสามารถช่วยเขาได้  ยิ่งผู้ป่วยแน่ใจว่าผู้รักษาเป็นผู้ที่ช่วยเหลือเขาได้มากเท่าไร  เขาก็รู้สึกอุ่นใจเกิดความหวังมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกตั้งแต่แรกว่าผู้รักษาสามารถช่วยเขาได้นั้นมิใช่การรักษา
  หากแต่เป็นบุคลิกของผู้รักษา  การเข้าใจปัญหาได้ตรงจุด    และความสามารถในสื่อกับผู้ป่วยถึงแผนการรักษาที่เหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 71058เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะอ.หมอมาโนช...

  • ดิฉันสนใจเรื่องการลดภาวะเครียดของ"ผู้ป่วยทางวิสัญญี"อยู่พอดี...ขอบคุณที่ได้ให้ความรู้ค่ะ....
  • บันทึกอีกนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์

  • ดีใจที่อ่านเจอบันทึกของอาจารย์
  • ผมดูแลคนไข้มะเร็งในเรื่องความปวด ซึ่งได้รับปรึกษามาจากแผนกต่างๆ
  • บันทึกของอาจารย์มีประโยชน์มากครับ
  • จะติดตามอ่านครับ

ขอบคุณอ.สมบูรณ์และคุณกฤษณาครับที่แวะชม ที่ผมลงมานี้เป็นเรื่องที่ผมเคยเตรียมให้อ.สฤกพรรณ ภาควิชาสูติ ที่รามาครับ อ.เขียนตำราเรื่องมะเร็งรังไข่และให้ผมช่วยเขียนเรื่องนี้  ผมนำมาลงที่นี่เผื่อจะมีประโยชน์กับผู้สนใจบ้างครับ

่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เนื้อหาจะถูกกับกาละเทศะหรือเปล่า เพราะดูเหมือนผมจะคุยคนละเรื่องกับที่สมาชิกที่นี่คุยกันนะครับ  แต่ไม่เป็นไรครับ ผมถือว่าความรู้มีไว้แบ่งปันครับ ถ้าไม่ลงที่นี่ก็เก็บไว้ในตำราขึ้นหิ้งไปอีกจะน่าเสียดายยิ่งกว่านะสิครับ

  • ค่อยๆ ปรับประเด็นไป แล้วจะพบว่ามีคนที่สนใจที่จะอ่านหรือแลกเปลี่ยนพอสมควรครับ เพียงแต่เขาอาจจะยังไม่กล้าเข้ามาแลกเปลี่ยนก็ได้
  • อย่าเพิ่งหมดกำลังใจเท่านั้นก็พอ ครับ
  • ดิฉันเข้ามาในGotoKnow ก่อนอาจารย์ไม่นานค่ะ...
  • ก็พบว่าบางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าเราอยากแบ่งให้เพื่อนด้านวิชาการที่เราถนัด..ไม่เห็นมีใครมาเอาไป(เพราะหาคนที่ชอบแลกเปลี่ยนวิชาการตรงกัน..ยากค่ะ..)..แต่จะมีบางประเด็นที่ต่างวิชาชีพก็แลกเปลี่ยนได้ค่ะ...เราคุยกันได้เกือบจะทุกเรื่อง....
  • ยิ่งอาจารย์เก่งทางจิตวิทยา..ได้ทัวร์ไปบันทึกต่างๆ...อาจารย์สามารถใช้ความรู้ทางจิตวิทยาได้เลย..ยิ่งเกิดประโยชน์และเป็นบุญของพวกเราและเพื่อนๆซะอีกค่ะ
  • "ผมถือว่าความรู้มีไว้แบ่งปันครับ ถ้าไม่ลงที่นี่ก็เก็บไว้ในตำราขึ้นหิ้งไปอีกจะน่าเสียดายยิ่งกว่านะสิครับ"  ฉันชอบมากๆค่ะ...ทำให้มีกำลังใจบันทึก...แม้ไม่มีใครอ่าน...จริงๆด้วย...
  • แวะไปวิเคราะห์ทางจิตดิฉันที่Blogก็ได้ค่ะ..ยินดีค่ะ...จะยอมเป็นอาสาสมัคร
  • คุณกฤษณา ครับ
  • ผมไม่อยากเป็นเพื่อนกับคนไข้โรคจิตนะครับ ยังไงก็ให้คุณหมอวินิจฉัยให้เป็นอย่างอื่นด้วยนะ

 

อ.สมบูรณ์คะ...

  • คนเราหนีความจริงไม่พ้นหรอกค่ะ...ถ้าเป็นโรคจิต..ยังไงๆก็ต้องรู้จนได้...วาย...ดูน่ากลัว
  • ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ว่าความรู้มีไว้แบ่งปัน เพราะประสบการณ์ที่เราหามาได้ เป็นการลงทุนของประเทศชาติครับ การบันทึกเผยแพร่ความรู้ของเราจึงเป็นอีกทางหนึ่งในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิดครับ
  • บันทึกไปเถิดครับอาจารย์ วันนี้อาจมีคนสนใจไม่มากนัก แต่สักวันความรู้เหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ มากกว่าที่เราคิดไปถึง
  • สงสัยผมจะมีเพื่อนเป็นโรคจิตเสียแล้วล่ะครับ...เฮ้อ...
คุณไมโต....ถ้าอ.หมอมาโนชวินิจฉัยว่าฉันเป็นโรคจิต...อย่าลืมของเยี่ยมเพื่อนคุณนะคะ..."ข้าวยำปักษ์ใต้"(เขียนอย่างนี้หรือเปล่าคะ)....
ครับ ขอให้เป็นจริงนะครับ ผมจะส่งไปให้ถึงที่เลยคุณกฤษณา

มาเจอบล็อกชุดนี้ ทีหลัง แต่มีประโยชน์มาก ทุกบล็อก ที่ต่อเนื่องกันของ อาจารย์นำไปใช้ได้หมดเลย

2 วันก่อน เพิ่งคุยกับคุณแม่เด็กมาฟังผลเลือดให้ลูกที่มาตรวจด้วยเรื่อง ท้องโต

แพทย์ท่านอื่นส่ง labไว้ บ่ายรวิวรรณ ออกตรวจผู้ช่วยคนไข้ก็ส่งบัตร และผลแลปคนแรกให้

ไม่ทันตั้งตัวค่ะ

มีสัญญานนิดหน่อย เพราะคุณแม่หัวเราะเมื่อเห็นหน้าเรา และบอกว่า หมอพูด และบอกข้าเจ้าดีๆนะ ไม่งั้นข้าเจ้าจะวิ่ง ถามว่าวิ่งไปไหน เธอก็ว่า วิ่งออกไปจากห้องนะซี วิ่งกลับบ้านเลย เราก็หัวเราะตอบ บอกว่า อย่าเพิ่ง ซี

พลิกดูผลแลปก็ปกติหมด ยกเว้นแผ่นสุดท้าย ผล HIV  reactive ต้องบังคับสีหน้าตัวเองไม่ให้เปลี่ยน

เธอก็รู้ ชี้มาที่แผ่นสุดท้าย และบอกว่า แผ่นเนี่ยะ หนา หมอบอกดีๆ

งงๆ ต้องตั้งสติ และใช้คำถามเปิดให้เธออธิบาย เพื่อเรามีเวลาตั้งตัว

ที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์ ไม่มา แบบ emergencyแบบนี้

พอจะเตรียมใจเตรียมตัวทัน

คุยอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ค่อยๆบอก นั่งฟัง เธอ อย่างตั้งใจ เธอร้องไห้ ส่งกระดาษให้ซับน้ำตา ในที่สุดส่งเธอต่อให้พยาบาล counselor มารับ แนะนำให้รู้จักกัน แล้วให้พาจากห้องตรวจไปอีกห้อง (พราะคนไข้อื่นๆ รอ จำนวน มั่กมาก) 

หลังตรวจคนไข้ที่รอหมด ยังไม่สบายใจ ถามน้องพยาบาล ก็ทราบว่าเธอกลับไป ท่าทางเข้าใจพอควร จะมาตรวจเลือดตัวเองอีกที

รู้สึกว่า ถ้าได้อ่านบล็อกอาจารย์ก่อน น่าจะทำได้ดีกว่านี้ค่ะ

 

 

ยินดีมากครับที่อาจารย์รวิวรรณกรุณาอ่าน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและน่าสะเทือนใจสำหรับผู้ที่เห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น  ผมอยากเรียกมันว่าเป็นภาวะ Acute Mental Suffering Syndrome (AMS)  เพราะรู้สึกว่าวงการแพทย์เราโดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์จะชอบคำย่อหรืออะไรที่เป็น syndrome กัน เช่น Polycystic Ovarian Syndrome (PCOS)  หรือ  Irritable Bowel Syndrome (IBS)  แล้วผมจะลองเขียนเรื่อง AMS ดูนะครับ จะดูสิว่ามี triad อะไรดี เสร็จแล้วจะแจ้งอาจารย์ทราบเพื่อจะได้แวะมาเพิ่มเติมให้ผมครับ

ผมสังเกตว่า จะด้วยสัญชาติญาณหรือเปล่าไม่ทราบ คนเราส่วนใหญ่เมื่อเจอสิ่งที่ตนเองไม่รู้จะจัดการยังไง ก็มักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญกับสิ่งนั้น มีน้อยคนที่ถือว่าท้าทาย เรื่องการแจ้งข่าวร้ายนี่ก็เหมือนกันครับ แพทย์เราทั้งๆ ที่ต้องเจอกับข่าวร้ายของคนไข้แทบทุกวัน แต่ไม่ค่อยมีการสอนเรื่องนี้ (เหมือนกับที่ไม่มีการสอนนศ.แพทย์เรื่องการจัดการกับชีวิตตนเอง ในด้านต่างๆ ทำให้เมื่อจบไปแล้วเป็นเสมือนลูกแกะที่มีความเชี่ยวชาญแต่เรื่องวิชาการ)  นี่ถ้านศพ.ได้ฝึกฝนเรียนรู้เรื่องนี้ ผมเชื่อว่าเขาก็จะกล้าที่จะจัดการกับมันครับ

เลยเกิดความคิดว่า ถ้าอาจารย์ได้แนะนำ blog ทักษะการสื่อสารนี้ ให้ extern หรือแพทย์ใช้ทุนก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเขาบ้างครับ 

ขอบคุณมากครับสำหรับความเห็นของอาจารย์

คิดไว้แล้ว ตรงกับที่อาจารย์แนะนำเลย

ว่าจะคุยกันกับ intern  Extern รุ่นนี้ วันพุธที่จะถึงนี้แหละค่ะ

และ จะ print บทความอาจารย์ ใช้ประกอบการคุยกันเลย

ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท