ปฏิกิริยาทางจิตใจเมื่อทราบการวินิจฉัย


ปฏิกิริยาทางจิตใจ
เมื่อผู้ป่วยได้รับทราบว่าตนเองเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงจะมีปฏิกิริยาทางจิตใจดังต่อไปนี้ ระยะแรกเริ่ม เป็นระยะปรับตัวต่อวิกฤติ  ผู้ป่วยแทบจะทั้งหมดเมื่อทราบการวินิจฉัยจะเกิดภาวะช็อก ซึ่งได้แก่ ตกใจ ตะลึงงัน  สับสน ทำอะไรไม่ถูก เหมือนกับที่สิ่งได้รับรู้ไม่ใช่เรื่องของตน ไม่ได้เกิดขึ้นกับตนเอง  หลังจากนั้นผู้ป่วยมักปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็ง แพทย์อาจตรวจผิด พยายามหาข้อมูลต่างๆ เพื่อลบล้างผลการวินิจฉัยของแพทย์ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่รับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้รักษาต้องการให้
1. ระยะมีปฏิกิริยาตอบสนอง ผู้ป่วยจะคิดฟุ้งซ่าน มีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆผุดขึ้นมาหรือเกิดขึ้นสลับกัน เช่น ซึมเศร้า อ้างว้าง ท้อแท้ หมดหวัง โกรธ วิตกกังวล ก้าวร้าว ร้องไห้คร่ำครวญ เป็นต้น
2. ระยะขอเวลานอก ผู้ป่วยจะวางเฉย ปฏิเสธไม่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่สนใจผลที่จะติดตามมาจากการวินิจฉัย   ระยะนี้มักเกิดแทรกสลับกันกับระยะที่สอง ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป
3. ระยะยอมรับความจริง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะค่อยๆ เริ่มซึมซับข้อมูลต่างเข้าสู่การรับรู้  เริ่มหันหน้ามาเผชิญกับความจริงอย่างยอมรับว่าตนเองหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางรายอาจซักถามรายละเอียดต่างๆ ของโรคและการรักษา ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของญาติและแพทย์
หมายเลขบันทึก: 71043เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผมเคยบอกการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งคนหนึ่ง เขาเป็นทหาร มากับภรรยา

ผู้ป่วยบอกผมว่า หมอบอกมาเถอะ ผมรับได้ 

ผมจึงบอกเขาว่า เขาเป็นมะเร็งปอด

ผู้ป่วยนั่งนิ่งไปนาน ภรรยาที่มาด้วยปล่อยโฮ

ผมถึงกับอึ้งทำอะไรไม่ถูก ต้องนั่งเป็นเพื่อนกับเขาพักใหญ่

มาทบทวนตนเองดูว่า พลาดตรงไหน

  • ผมคิดเอาเองว่า  ผู้ชาย ทหาร น่าจะรับเรื่องนี้ได้ดี
  • ผมเชื่อคำพูดของเขา โดยไม่สังเกต ..มาสังเกตเห็นทีหลังว่า ทั้งคู่กังวลมากแล้วเก็บเอาไว้ บางครั้งพูดตรงข้ามกับใจตนเอง เพราะไม่อยากให้กระทบอีกคน
  • ผมเล่นบอกเรื่องสำคัญนี้ในห้องตรวจผู้ป่วยนอกที่คนไข้ยังรอคิวอยู่อีกเป็นสิบ ทำให้ตัวเองพะว้าพะวังระหว่างจะอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วยรายนี้กับ การตรวจผู้ป่วยอื่นต่อ

 

อาจารย์ตั้งข้อสังเกตได้ดีมากเลยครับ นับว่าอาจารย์ได้ประสบการณ์ตรงซึ่งตำราก็สอนได้ไม่ดีเท่า ผมพยายามคิดดูว่ามีประเด็นอะไรอีกไหม

ประเด็นสำคัญคือในชีวิตจริงบางครั้งทำตามที่แนะนำกันไม่ค่อยได้ ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าหมอจะหาเวลาบอกคนไข้ในที่ๆ เป็นส่วนตัว ให้เวลากับเขาพอสมควรได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่คนไข้รอ 20-30 คน  ผมพาแม่ผมที่เป็น CA breast ไปหาอาจารย์ onco ที่  OPD รามา  สภาพ OPD  busy มากๆๆ  คนไข้ที่รอกันนานแต่ละคนหงุดหงิดกัน แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าพยาบาลกับหมอยุ่งสุดๆ   เรียกว่าถ้าเจอคนไข้ยุ่ง 1 คนจะเสียกระบวนกันไปหมด  ผมจะคุยกับอาจารย์เขาผมยังเกรงใจเลยครับ  

 

ดีใจครับที่อาจารย์เต็มศักดิ์อ่านบทความนี้ของผม

ผมเห็นบันทึกของอาจารย์ตั้งแต่ตอน tag กันไป tag มาแล้วแหละครับ แต่บันทึกของอาจารย์จะเหมือนของสกล คือ ต้องค่อยๆละเลียดอ่านแล้วคิดตาม จึงอ่านผ่านๆก่อนแล้วตั้งใจจะเข้ามาแสดงความเห็นทีละบันทึก สงสาร สว..อย่างผมนะครับ คิดช้า พิมพ์ช้า

ต้องโทษสกลเขาด้วย คือ ตั้งแต่ผมชวนเข้ามา G2K เขาก็ขยันบันทึกชนิด OD  bid จนตามไปอ่าน แสดงความเห็นไม่ทัน เขาเขียนถึงตอนที่ ๕ ผมเพิ่งแสดงความเห็นตอนที่ ๑/๒

แต่ก็ยังชอบอ่านและคิดตามของทั้งสองคนนะครับ ขอบคุณครับ 

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอมาโนช

         เฮ้อ เพิ่งพาน้าไปตรวจ CXR และ CT CHEST

เจอ mass ที่RLL ค่ะ ดิฉันยังคิดว่า บอกน้าไปได้ไม่ดีเลย

         น้าถามว่า บอกมาเถอะว่าน้าเป็นอะไร น้ารับได้

         ดิฉันบอกไปว่า น้ามีก้อนในปอดข้างขวา อาจจะเป็นก้อนวัณโรค หรือถ้าร้ายที่สุดคือมะเร็งปอดแต่รักษษได้เพราะยังไม่ลามไปที่อื่น

         น้าดิฉันใจเสียไปพอสมควร

         อาจารย์คะ ดิฉันยังคิดว่า ใช้คำพูดได้ไม่เหมาะสมเลยค่ะ ส่วนใหญ่ดิฉันจะเลือกบอกกับญาติแทนมากกว่า

         ตอนคุณแม่ของอาจารย์เป็น CA.breast อาจารย์บอกกับคุณแม่อย่างไรคะ

ขอบคุณ อาจารย์มาโนช ที่นำเรื่องนี้ขึ้นมาเผยแพร่ครับ

 และ พี่เต็ม ก็โทษผมไม่ได้ที่เขียนเยอะ ทำยังกะไม่รู้ว่าชวนมาแล้วอะไรจะเป็น consequence เหอ เหอ เหอ (หัวเราะแบบตัวโกงในหนังไทย 16 mm)

สิ่งที่คนไข้ (หรือญาติ) กำลังรับรู้นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าหมอเข้าใจ เพราะนี่คือ meaning of the illness ของ ผป. ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน และแม้แต่ในคนๆเดียวก็มีการ shift เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามบริบท ตาม stage ตาม here and now อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ถ้าหมอสามารถ ทันเกม ก็จะมีอะไรที่จะไปช่วยคนไข้ (และญาติ) ได้ดียิ่งขึ้นครับ

 

 

คุณหมออนิศราครับ แม่ผมก็คงคล้ายๆ  กับน้าคุณหมอครับ คือแกพูดเหมือนกับว่าอืม ยังไงก็ได้ ดีว่าผมยั้งๆ ไว้ก่อน  ค่อยๆ ให้ข้อมูลครับ บอกว่าหมอเขาเจอก้อน กำลังส่งตรวจอยู่  พอเจอก็บอกว่ายังไม่แน่ใจเหมือนกัน เหมือนกับจะเป็น แล้วก็ตอนจะทำ chemo ก็บอกว่าหมอบอกว่าเป็นนิดเดียวจริง ๆ คงไม่มีอะไรแต่ทำ chemo จะได้แน่ใจไปเลย (จริงๆ ก็ยังงั้นครับ T2N0M0) ก้อน 2 cm ไม่มี LN metas เลย  คือจะให้ข้อมูลจริง + ข้อมูลที่ให้กำลังใจ  + hope

แต่ผมว่าแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน บางคนเราอาจบอกไปเลยก็ได้  แต่บางคนก็ต้องยั้งๆ ไว้พอสมควร

อาจารย์ Phoenix ครับ อันหนึ่งที่ยากคือ ญาติขอไม่ให้บอก แต่คนไข้อยากรู้มาก  ในใบสิทธิผู้ป่วยก็เขียนไว้หน้าวอร์ดโต้งๆ ว่าผู้ป่วยมีสิทธิรับรู้ความเจ็บป่วยของตน  ตรงนี้อาจารย์ทำยังไงครับ  อ้อ อ.เต็มศักดิ์ด้วยครับ  บอกหรือไม่บอกดีครับ

อาจารย์มาโนช  ครับ

เรื่องการบอกการวินิจฉัยมะเร็งกับคนไข้นี่ ผมแกว่งไปมาตามอายุการทำงานครับ

สมัยแรกๆ จบใหม่ๆ ไม่ค่อยบอก นะครับ

ทำงานสักพัก บอกเกือบทุกราย เรียกได้ว่า ว่าตามฝรั่งเรื่องสิทธิผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด

ตอนนี้ ผม บอกบ้างไม่บอกบ้าง หลังจากประเมินผู้ป่วยและครอบครัวแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะบอกครับ ไปๆมาๆ ผมจะยึดหลักคำสอนของพระพุทธองค์ครับ ที่ว่า

เปิดเผยความจริงที่เป็นประโยชน์ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม อย่างเมตตา

ผมอ้างอิงพระไตรปิฎกส่วนนี้ในงานวิจัยชิ้นนี้ของผมด้วยครับ 

อาจารย์คะ

     ผู้ป่วยบางคนอยู่ได้ด้วยความหวังนะคะ เพราะคุณพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ลามไปที่ปอด มีก้อนที่ปอดทั้ง 2 ด้าน เคยตัดมะเร็งลำไส้ที่เปาโลเมื่อปี 46 แล้วตรวจร่างกายที่เปาโลทุก 3 เดือนมา เกือบ 5 ปีไม่เจอมะเร็งกระจาย จนไอผิดปรกติเลยมาเจอที่สมิติเวช ให้ทานยาและให้เคโม คุณพ่อทานข้าวไม่ค่อยได้ เจ็บปาก ไม่กลืนอาหารที่มีกาก คุณพ่อบอกเลยว่าถ้ารักษาไม่หาย แล้วทรมานอย่างนี้ ไม่รักษา ไม่กินยาเลยดีกว่า และหากคนเรารู้วันตายตัวเองจะทำให้ตายไวขึ้น เพราะฉะนั้น กำลังใจและความหวัง สำคัญมากค่ะ แต่ก็ควรให้เขารู้ว่าเขาเป็นเยอะพอสมควร ถ้าไม่เช่นนั้น เขาก็จะไม่ค่อยดูแลตัวเอง แต่เขายอมให้เคโม ยอมทานยาเพราะมีความหวังว่าจะหายค่ะ

สวัสดีคะคุณหมอมาโนช    เราจะทำอย่างไรคะ ให้ผู้ป่วยมีความหวัง  และมีความคิดในเชิงบวกต่อโรคที่ตนเองเป็นอยู่

ขอต่ออีกนิดนะคะ  เพราะโรคมะเร็งเป็นโรคที่พอคนไข้รู้ว่าเป็นมะเร็งความคิดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็จะคิดถึงความตาย  เราจะช่วยในส่วนนี้อย่างไรคะ

ตอนนี่แม่ของดิฉันป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะที่2ลักษณะเป็นก้อนเนื้อขึ้นมาบริเวณหัวไหล่ตอนที่ไปรักษาได้รับการผ่าตัดเอาออกแล้วหมอนำชิ้นเนื้อไปตรวจพบว่าเป็นมะเร็งอยากทราบว่าจะมีโอกาศรักษหายได้ไหมค่ะหมอที่รักษาบอกกับแม่ว่าอยู่ได้อีกประมาณ5-6ปี อยากทราบว่าจะมีวิธีที่ยืดอายุของผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบนี้ได้หรือเปล่าค่ะ

สงสารแม่ค่ะ ไม่รุ้จะทำอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท