แคน : เครื่องดนตรีพื้นเมืองสัญลักษณ์ของงาน


เสียงแคน เสียงแห่งความรู้สึก

 ประเพณีเสียงแคนดอกคูณ เป็นงานประเพณีสนุกสนานของคนขอนแก่นและเป็นที่รู้จักของคนไทยและต่างชาติ ในฐานะคนขอนแก่นเราควรมาทำความรู้จักกับแคนซึ่งนำมาเป็นสัญลักษณ์ของงานเสียงแคนดอกคูณให้มากขึ้น “แคน” เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคอีสานที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ ใช้ปากเป่าให้เป็นเพลง ทำด้วยไม้อ้อ หรือไม้เหี้ยน้อย ทำเป็นลูกแคนยาวลดหลั่นกันตามลำดับ 7 คู่ หรือ 8 คู่ ประกอบเข้ากันกับเต้า ติดสูด (ขี้สูด) ข้างบนและข้างล่างเต้า เพื่อไม่ให้ลมเป่าเข้าสูบออกรั่ว แล้วยังมีลิ้นแคน รูแพว และรูนับเสียงเป็นสิ่งสำคัญด้วย ข้างในของแต่ละลำไม้ลูกแคนประกอบด้วยลิ้นแคนหนึ่งอันที่มีหนึ่งเสียง และจะต้องเจาะรูแพวให้ถูกตามเสียงเสมอ

วิธีเป่าแคนจะต้องใช้อุ้งมือทั้งสองข้าง อุ้มเต้าแคนไว้แล้วเป่าหรือดูดสูบลมที่รูเต้า ส่วนนิ้วมือก็นับไล่ตามเสียงไปด้วย แคน มี 2 ชนิด คือ แคนน้อย และแคนใหญ่ แคนสองขนาดนี้แบ่งเป็นสองอย่าง คือ แคนเจ็ดซึ่งมีลูกเจ็ดคู่ และแคนแปด ซึ่งมีลูกแปดคู่

เสียงแคนหรือทำนองการเป่าแคนให้อารมณ์แตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับลายแคน ซึ่งมีลักษณะดังนี้

1. ลายสุดสะแนน เป็นลายครูของแคน มีความไพเราะเป็นพิเศษ จังหวะกระชับและมีลีลาท่วงทำนองตื่นเต้นเร้าใจตลอดเวลา หมอแคนทราบดีว่าจะต้องเป่าลายสุดสะแนนให้เป็นก่อน จึงจะก้าวไปสู่ลายแคนอื่นๆ ได้

2. ลายอ่านหนังสือใหญ่ เป็นลายแคนที่นิ่มนวล เสียงโหยหวล ทำนองลำยาว แสดงถึงความอบอุ่นมีเมตตา มักใช้ในการพรรณาชีวิตของคนอีสาน ที่มีทั้งความรักและความผูกพัน ความห่วงใยหวนหา ความอดทนต่อสู้อย่างมีความหวังและความเพลิดเพลิน

 3. ลายอ่านหนังสือน้อย คล้ายคลึงกับลายอ่านหนังสือใหญ่ แต่มีจังหวะที่เร็วกว่า เสียงไม่ทุ้ม ให้ความไพเราะ ท่วงทำนองไม่สลับซับซ้อนเท่าลายอ่านหนังสือใหญ่ ใช้ในการพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่จะมีเนื้อหาน้อยกว่าลายใหญ่ เนื่องจากมีเสียงจำกัด ไม่สามารถดำเนินทำนองได้เต็มรูปแบบเหมือนลายใหญ่

4. ลายเซ เป็นลายที่สามารถเป่า นอกเหนือจากทางใหญ่ ทางน้อยได้ เป็นทางแยกออกมาและบรรเลงได้เช่นกัน ใช้เป่าประกอบลำยาว ใช้ในการการพรรณาชีวิตของคนอีสานเช่นกัน แต่ไม่สามารถเก็บราย ละเอียดได้เท่าลายน้อยและลายใหญ่ เนื่องจากมีขีดจำกัดของเสียงมากขึ้นอีก

 5. ลายแมงภู่ตอมดอก เป็นลายที่ลอกเลียนธรรมชาติได้ดีเป็นพิเศษ คำว่า แมงภู่ ก็คือ แมลงภู่ตัวใหญ่ๆ สีน้ำเงินแก่มองดูจนเขียว เวลาบินตอมดอกไม้มีเสียงดังหึ่งๆ ลักษณะเสียงของแมงภู่จะมีทำนองลีลาช้าๆ ก่อนแล้วเร็วกะชั้นเข้าตามลำดับ

6. ลายโปงลางขึ้นภู ลายแคนนี้ก็เป็นลายดัดแปลงจากธรรมชาติเช่นกัน โปงลางนิยมทำไว้แขนคอวัวต่างๆ จะมีเสียงขึ้นๆ ลงๆ เป็นทำนอง เพราะวัวแต่ละตัวแขวนโปงลางขนาดที่แตกต่างกัน ประสานกับเสียงกีบเท้าวัวกระทบก้อนกรวด ก้อนหิน รวมทั้งเสียงออดแอดของล้อเกวียน ฟังแล้วชวนให้คิดถึงบ้านที่จากมาเป็นที่สุด หมอแคนจะดัดแปลงเลียนเสียงเหล่านี้ขึ้นเป็นลายแคน

7. ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายแคนนี้เป็นเสียงพิลาปรำพันของหญิงหม้ายที่ว้าเหว่เดียวดายที่สะท้อนออกมาในการกล่อมลูก ซึ่งรำพันถึงความหลังและประชดประชันในชีวิตที่ถูกสามีทอดทิ้ง

8. ลายลมพัดไผ่ เป็นลายแคนที่เลียนแบบเสียงธรรมชาติ เกิดจากจินตนาการเอาลักษณะของใบไผ่ร่วงผสมกับเสียงเสียดสีของกิ่งไผ่ยามลู่ลมมาเป็นลายแคนที่ไพเราะ หวีดหวิวน่าฟัง

9. ลายลมพัดพร้าว เป็นลายแคนที่จำลองแบบของใบมะพร้าวเมื่อต้องลมซึ่งผิดกันกับใบไผ่ ท่วงทำนองจะช้ากว่าลายลมพัดไผ่

10. ลายล่องของ ล่องของ หรือ ล่องโขง หมายถึงท่วงทำนองลำยาว เอื่อยๆ เรื่อยๆ แต่รัญจวนใจทำนองล่องของนี้จะเป่าแคนเดี่ยวๆ ก็มีความไพเราะน่าฟัง

11. ลายเต้ย มีจังหวะกระชับ เร็ว เพื่อให้ผู้ลำได้ออกท่าฟ้อน ฉะนั้นเวลาเต้ยหมอลำจะต้องฟ้อนตลอด เวลาเป่าลายเต้ย หมอแคนจะเป่าเป็นตอนๆ ตามคนเต้ยแล้วมีที่ลง แต่ละตอนไม่ยาวนัก เพื่อให้เกิดความสนุกสนานน่าฟัง

12. ลายเซิ้ง เป็นลายง่ายๆ เป่าให้คนฟ้อนในลักษณะเซิ้ง เช่น เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง เซิ้งกระติบข้าว แต่ทำนองก็คล้ายคลึงกัน

แหล่งที่มา : “แคนท่วงทำนองของคนอีสาน” http://www.isangate.com/entertain/kan.htm

หมายเลขบันทึก: 71003เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภูเด็กแนว ศิลปินเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตสไตล์แนวแนว

ศิลปินเพลงนอกกระแส ที่กำลังมาแรงในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน

และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากกับบทเพลง สาวมัธยม

www.poodeknaew.com

หรือเข้า Google พิมพ์คำว่า ภูเด็กแนว แล้วค้นหาครับ

ขอให้ทีมงานมีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรง

ทุกๆคนนะครับ ( จากภูเด็กแนว )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท