อาสาสมัครในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์


         สังคมยอดปรารถนาคือสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน   ช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่หวังผลตอบแทน   ได้รับผลตอบแทนทางใจ  มีความสุข  อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น

         ที่ รพ.สงขลานครินทร์มีกิจกรรมอาสาสมัครมาตั้งแต่ปี 2542   มีอาสาสมัครรวมประมาณ 200 คนจากทุกสาขาอาชีพ   ช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรัง  ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยบ้านไกล


         ผู้สนใจอ่านได้จาก http://medinfo.psu.ac.th/mednews2/file/11novemer_2006.pdf

         อาสาสมัครในโรงพยาบาลสามารถช่วยเหลืองานได้อีกหลายเรื่อง   มีตัวอย่างที่ดีคืออาสาสมัครของโรงพยาบาลของมูลนิธิฉือจี้ ไต้หวัน

วิจารณ์  พานิช
31 ธ.ค.49

หมายเลขบันทึก: 70968เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เรียนอ.วิจารณ์ที่เคารพครับ ผมมีโอกาสได้เข้าไปช่วยอาสามัครกลุ่มนี้ถอดความรู้ จึงถือโอกาสนำมาถ่ายทอดอีกครั้งครับ เรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นอาสาสมัครอย่างไรให้ยั่งยืน นพ. เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ประสบการณ์การใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ ..เรื่องเล่าเร้าพลัง ในกลุ่มอาสาสมัคร โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งมีการสัมมนาประจำปี ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ นำโดย นพ. เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ขนิษฐา ศรีวรรณยศ พรรณนี อ่าวเจริญ ทัศนียา สุมาลี กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ และสุณี นิยมเดชา ในหัวข้อ..เป็นอาสาสมัครอย่างไรให้ยั่งยืน ความเป็นมา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีอาสาสมัครปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปี อาสาสมัครแต่ละคนได้สะสมความรู้จากการปฏิบัติ ซึ่งยังไม่เคยถูกรวบรวมและถ่ายทอด เพื่อประโยชน์ในวงกว้าง ขณะเดียวกันระบบการทำงานที่ต้องมีการประเมิน ต้องมีตัวชี้วัด ก็มีผลต่อความรู้สึกของอาสาสมัครที่มีพื้นฐานมาจากการปฏิบัติด้วยใจมากพอสมควร จึงเป็นที่มาของหัวข้อหลักในการสัมมนาประจำปีครั้งนี้ ที่ว่า..เป็นอาสาสมัครอย่างไรให้ยั่งยืน ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ มันแปลกดีนะครับ เอาคนที่มีประสบการณ์เป็นอาสาสมัครน้อยมาก มาสอนอาสาสมัครตัวจริง..ทำจริง ผมจึงเสนอความคิดการใช้เครื่องมือจัดการความรู้ด้วยวิธี..เรื่องเล่าเร้าพลัง ที่ผมเพิ่งมีโอกาสได้เข้าอบรมจากอาจารย์วิจารณ์ พานิช และคุณธวัช หมัดเต๊ะ จากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารสถาบันผลิตแพทย์แห่งประเทศไทยรุ่นที่ ๖ ที่ผมเข้าอบรมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ให้ผู้รับผิดชอบการจัดสัมมนาอาสาสมัครได้ฟัง ซึ่งก็เห็นดีเห็นงามกับผมด้วยว่า น่าจะได้ประโยชน์กว่าการบรรยาย นอกจากนั้นผมก็เชื่อในคำของครูที่ว่า ..การจัดการความรู้ ไม่ทำไม่รู้ ครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะได้นำความรู้ที่ได้เรียนมา ลองปฏิบัติจริง เป้าหมาย ในฐานะมือใหม่ ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะนำกลุ่มได้ตามกระบวนการหรือเปล่า จึงตั้งเป้าหมายเอาไว้ไม่สูงเกินไป เรียกว่าเป็น บันได ๓ ขั้น หมายความว่า ถ้าได้ขั้นที่ ๑ ก็ชื่นใจแล้ว ถ้ากระบวนการเป็นไปตามที่คิดน่าจะได้ถึงขั้นที่ ๒ และถ้ามันได้ผลและมีเวลาจริงๆ ก็อาจจะถึงขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๑: อาสาสมัครแต่ละคนได้แสดงออก ได้การยอมรับ ขั้นที่ ๒: อาสาสมัครได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความประทับใจ ขั้นที่ ๓: ได้รวบรวมความรู้จากการปฏิบัติ เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดได้ เครื่องมือ เลือกใข้วิธี เรื่องเล่าเร้าพลัง เพราะน่าจะเหมาะกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีความหลากหลาย แตกต่างทั้งวัย ความรู้และพื้นฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของการสัมมนา คือ ต้องการให้อาสาสมัครได้แสดงออก และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน กระบวนการ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยลงมือทำ มีแต่คนรู้ทฤษฎี จึงต้องเตรียมแกนนำกันก่อนการสัมมนา ซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากระบวนการระหว่างการสัมมนา ๑. ก่อนการสัมมนา - เสนอแนวคิดการจัดการความรู้ในกลุ่มทำงานที่เป็นแกนนำ - เตรียมผู้ประสานงานกลุ่มย่อย เพราะช่วงเวลาสำหรับการจัดการความรู้ในการสัมมนา มีจำกัด กลัวว่าถ้าชี้แจงกติกากันไม่เข้าใจ แล้วให้กลุ่มย่อยตั้งประธานกับเลขานุการกันเอง จะดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ต้องการ - การให้อาสาสมัครแต่ละคนเขียนเรื่องสั้นความประทับใจส่งให้แกนนำรวบรวมก่อน อันนี้ก็เป็นกลเม็ดที่ทำให้บรรลุเป้าหมายขั้นที่ ๑ ได้ตั้งแต่ยังไม่ต้องไปสัมมนา และยังพบว่ามีประโยชน์มาก เป็นตัวช่วยให้ผู้ที่ไม่ถนัดในการพูดหรือเล่าเรื่อง ได้อ่านสิ่งที่ตนเองเขียนมาก่อนนี้ให้ผู้อื่นฟังแทน ๒. การสัมมนา ช่วงเวลาเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ประกอบด้วย - กลุ่มใหญ่ บรรยายหัวข้อ.มารู้จักขุมความรู้กันเถอะ เพื่อบอกหลักการและกติกา - กลุ่มย่อย เรื่องเล่าเร้าพลัง เล่าความประทับใจของอาสาสมัครแต่ละคน - กลุ่มใหญ่ นำเสนอสรุปความประทับใจอาสาสมัครของแต่ละกลุ่มย่อย - กลุ่มแกนนำ กำหนดแก่นความรู้ ประเด็นหลัก - กลุ่มย่อย สร้างตารางอิสรภาพในแต่ละประเด็นหลัก - กลุ่มใหญ่ นำเสนอตารางอิสรภาพแต่ละประเด็นหลัก ตัวอย่าง เรื่องเล่าประทับใจ “เพื่อนบ้านคนนี้ถามว่า แก่แล้ว ทำไมยังมาทำงานแบบนี้อีก ทำไมลูกหลานปล่อยให้มาทำงานแบบนี้ ต่อว่าสารพัด เล่าให้ฟังว่า มาทำงานเป็นอาสาสมัคร ตอนแรกลูกหลานก็ห้ามเหมือนกัน แต่ตัวเองรู้สึกภูมิใจ มีคนบอกว่า เป็นผู้สูงอายุก็จริง แต่เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ” “วันหนึ่งไปอาคารเย็นศิระ เพื่อตัดผมให้ผู้ป่วย เห็นลุงคนหนึ่งมีท่อเจาะคอ นั่งไออยู่ในมุมมืด ผมยาวรุงรัง จึงพูดชักชวนให้ตัดผม ครั้งแรกลุงก้มหน้า ส่ายศีรษะปฏิเสธ คุยไปสักพัก ลุงก็เดินมาให้ตัดผม พอตัดผมเสร็จ คนข้างๆ ชมว่า..หล่อแล้ว.. ลุงหันมามองหน้าผู้ตัดผม แล้วยิ้มน้อยๆ ให้” ตัวอย่าง แก่นความรู้ ..เป็นอาสาสมัครอย่างไรให้ยั่งยืน ประกอบด้วยประเด็นหลักสำคัญ ๔ ด้าน คือ - บุคลิกและประสบการณ์ของอาสาสมัคร - การเตรียมความพร้อมของอาสาสมัคร - การตอบสนองของผู้ป่วยและญาติ - การสนับสนุนของหน่วยงานและสังคม ตัวอย่าง ตารางอิสรภาพ ในประเด็น การตอบสนองของผู้ป่วยและญาติ แบ่งเป็น ระดับต้น มีผลกระทบไม่มาก (*) ถึง ระดับสุดยอด มีผลมากที่สุด (*****) * การมอบสิ่งตอบแทน ** คำพูดให้กำลังใจ คำอวยพร *** การให้ความร่วมมือในกิจกรรม **** การเห็นคุณค่า ความสำคัญของสิ่งที่ให้ ***** การเป็นกัลยาณมิตรที่ยั่งยืน การนำไปใช้ ความรู้ที่ได้ สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบอาสาสมัครให้ยั่งยืน ประกอบด้วย - การคัดเลือกอาสาสมัครที่มีบุคลิกเฉพาะ ตามหัวข้อ บุคลิกและประสบการณ์ของอาสาสมัคร - การจัดอบรมอาสาสมัครตาม competency เทียบเท่ากับหัวข้อ การเตรียมความพร้อมของอาสาสมัคร - การจัดระบบสนับสนุน ตามหัวข้อ การสนับสนุนของหน่วยงานและสังคม สรุป การใช้เครื่องมือ..เรื่องเล่าเร้าพลัง ในการจัดการความรู้กลุ่มอาสาสมัคร ประเด็น.. เป็นอาสาสมัครอย่างไรให้ยั่งยืน เป็นการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้เล่าเรื่องประทับใจ ความรู้สึกที่ดีของตนเอง ได้รับการยอมรับ..ฟัง (บันไดขั้นที่ ๑) อาสาสมัครคนอื่นเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะนำเรื่องประทับใจไปปฏิบัติเองบ้าง จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตร (บันไดขั้นที่ ๒) และยังสามารถรวบรวมความรู้จากประสบการณ์ที่ฝังลึก ให้กลายเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดได้ เพื่อประโยชน์ในวงกว้าง (บันไดขั้นที่ ๓) นอกจากนี้แกนนำที่ประทับใจกระบวนการนี้ ยังเกิดความมั่นใจ ได้นำไปใช้ในหน่วยงานของตนเองต่อ นี่คือ พลังของการจัดการความรู้ที่แท้จริง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท