โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒๐)_๑


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒๐)

           โรงเรียนชาวนาของ มขข. โด่งดังมากนะครับ    ที่ประมวลมานี้จริงๆ แล้วเป็นเพียงส่วนเดียว    ยิ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้โรงเรียนชาวนาของ มขข. ดังมาก

ประมวลข่าวจากหนังสือพิมพ์  (อินเทอร์เน็ต)

ฉบับที่  1  หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก  วันพฤหัสบดีที่  24  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2548

ตั้ง  ร.ร.ชาวนาเปิด  3  หลักสูตร
ติวคนสุพรรณปลูกข้าวชีวภาพ

 คงไม่มีใครคิดว่าชาวนากลุ่มหนึ่งใน  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ที่มีอาชีพปลูก “ข้าว”  เลี้ยงชีพมาทั้งชีวิต  วันนี้พวกเขาจะกลายมาเป็นนักเรียนของ  “โรงเรียนชาวนา”  ภายใต้   การสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)
 สถานศึกษาแห่งนี้เน้นสอนภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี  โดยยึด  3  หลักสูตรหลัก  แนะแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร  เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเหล่านั้นหันมาปลูกข้าวโดยใส่ใจในความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญในการผลิต  ซึ่งผลการเข้าเรียนมาแล้ว  1  ฤดูการผลิต  วันนี้ชาวนาบางคนสามารถปลูกข้าวได้เกือบ  100  ถังต่อไร่  และช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้กว่า  2  เท่า
 ที่มาของ  “โรงเรียนชาวนา”  เดชา  ศิริภัทร  ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ  ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ผลักให้เกิดโรงเรียนชาวนา  บอกว่า  หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเชิงพาณิชย์เมื่อ  20  ปีก่อน  ส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ  เข้ามาใช้มากขึ้น  อาทิ  รถไถนา  ปุ๋ยเคมี  และ  ยาฆ่าแมลง  เป็นต้น  จริงอยู่การใช้ปุ๋ยเคมีช่วยให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น  แต่ในทางกลับกัน  ชาวนาต้องมีทุนมากขึ้นทุกปี  ซ้ำร้ายผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับแข็งและขาดแร่ธาตุ  ส่วนร่างกายก็เริ่ม    ทรุดโทรม
 “ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวนาใน  จ.สุพรรณบุรี  เปลี่ยนไปมาก  หลายครอบครัวต้องกู้เงิน  เราจึงต้องเร่งฟื้นฟูผืนดิน  และปรับวิธีคิดให้หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น”  เดชา  กล่าว
 ทางรอดในสภาวะดังกล่าว  เดชา  ชี้ว่า  เกษตรกรต้องปรับตัว  หันมาพึ่งพาตัวเอง  ลดต้นทุน และงดใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีปราบศัตรูพืชนั่นเอง เพราะการกลับมาสู่ระบบชีวภาพน่าเป็นทางออกที่ดี  จึงคิดตั้งการสอนในรูปแบบของโรงเรียนชานา  นับว่าโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจาก  สคส.  ทั้งเรื่องทุนและเรื่องวิชาการ  ทุกอย่างจึงง่ายขึ้น
 สำหรับ  “โรงเรียนชาวนา”  เริ่มก่อตั้งราวต้นปี  2547  โดยเดชาชักชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมจำนวน  50  คน  นำร่องที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  กำหนดสอน  3  หลักสูตร  ประกอบด้วย           1.  หลักสูตรประถมศึกษา  สอนเรื่องการควบคุมแมลงศัตรูพืช  โดยใช้แมลงศัตรู  เช่น  ตัวห้ำ  แตนเบียน  เป็นต้น     2.  หลักสูตรมัธยมศึกษา  แนะนำการบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ  พร้อมทั้งสอนให้ทำปุ๋ยหมัก  และฮอร์โมนใช้เอง  และ  3.  หลักสูตรอุดมศึกษา  การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูก  ตรงนี้นับว่าเป็นหลักสูตรที่ยาก  และต้องใช้ความชำนาญมากเป็นพิเศษ
 “การสอนแต่ละหลักสูตร  เราจะมีวิทยากรสอนสัปดาห์ละ  1  วัน  วันละ  3  ชั่วโมง  จากนั้นจะปล่อยให้ชาวนาทดลองที่แปลงนาตัวเอง  แล้วนำปัญหามาปรึกษากันอีกครั้งในการเรียนครั้งต่อไป  ทำอย่างนี้ติดต่อกันจนครบ  1  ฤดูการผลิต  จากนั้นจะมีการประเมินว่าใครผ่านหลักสูตรหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา  ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี  เพราะนักเรียนโรงเรียนชาวนาประสบผลสำเร็จเกินครึ่ง  ก้าวต่อไปเราเตรียมขยายอีก  3  สาขา  ที่  อ.เมือง  อ.อู่ทอง  และ  อ.ดอนเจดีย์”  เดชา  กล่าว
 ด้าน  บังอร  สุวรรณสูร  นักเรียนชาวนาวัยเกือบ  60  ปี  บอกว่า  ครอบครัวของเธอทำนา  25 ไร่  ที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  และใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต  และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง  แต่เธอโชคร้ายเมื่อสารเคมีเหล่านั้นส่งผลข้างเคียง  ทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมลงเรื่อยๆ  ต่อมามี      ผู้แนะให้ลองใช้น้ำสกัดจากสะเดาฉีดไล่แมลง  ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็อยู่ในขั้นที่น่าพอใจ
 “ฉันหยุดใช้สารเคมีมาหลายปีแล้ว  ทำให้ทุกวันนี้สภาพร่างกายกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ประกอบกับเมื่อปีที่แล้ว  ทางมูลนิธิข้าวขวัญตั้งโรงเรียนชาวนา ฉันจึงรีบสมัครเข้าเรียนทันที  เพราะรู้ซึ้งแล้วว่าการใช้สารชีวภาพนั้น  ส่งผลดีทั้งต่อข้าวและตัวเราเองอย่างไร  ส่วนผลผลิตล่าสุดได้ไร่ละ  90  ถัง”  บังอร  กล่าว
 ยอมรับว่าหลักสูตรที่เปิดสอนใน  “โรงเรียนชาวนา”  นับเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งที่จะช่วยผลักดันเมืองสุพรรณบุรีให้กลายแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ของไทยในอนาคต

ที่มา  :  http://www.komchadluek.net/news/2005/02-24/farm1-16499704.html


ฉบับที่  2  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันศุกร์ที่ 4  มีนาคม  พ.ศ.2548

เปิดโรงเรียนสอนชาวนา ยุทธศาสตร์แก้ความจน
เกรียงศักดิ์ เผ่าอินทร์

 หลังจากที่มูลนิธิข้าวขวัญ  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  และเกษตรกรที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  พร้อมใจกันตั้ง  “โรงเรียนชาวนา”  นั้น  ปรากฏว่า  มีนักเรียนรุ่นแรกเข้าร่วมประมาณ  50  คน  ซึ่งเป้าหมายของสถานศึกษาด้านการเกษตรแห่งนี้ ไม่เพียงแต่เน้นการเพาะปลูกข้าวอย่างปลอดภัย  เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นครัวโลกเท่านั้น
 แต่ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนชาวนาแห่งเมืองสุพรรณ  เน้นผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถครอบคลุมในทุกๆ  รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ในวงการเกษตรมาใช้ในบ้านเรา  ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ชาวนาไทยต้องรับรู้  อาทิ  การทำปุ๋ยชีวภาพ  การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว  กลไก        การตลาด  สถานการณ์ทางสังคม  นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับชาวนา เป็นต้น  เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งฤดูการผลิต  คำตอบที่ได้จากนักเรียนชาวนารุ่นแรก  ระบุตรงกันว่า  เมื่อหันมาทำนาโดยยึด  การสอนตามหลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้  พวกเขาสามารถลดต้นการผลิตได้ในระดับหนึ่ง
 ที่ผ่านมาแม้ว่า  ชาวนาจะได้รับการกล่าวขานกันว่า  เป็นผู้อาชีพที่มีพระคุณต่อคนในประเทศ จนได้รับการกล่าวขานว่า  “กระดูกสันหลังของชาติ”  แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีฐานยากจนมาโดยตลอด  ถึงกระนั้นก็ยังมีชาวนาที่ประกาศเจตนารมอย่างแน่วแน่ว่า  จะยืนหยัดยึดอาชีพทำนาต่อไป จำนวนนี้รวมถึง  เพชรรัตน์  สระโจมทอง  ชาวนาแห่ง  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ที่ไม่คิดเปลี่ยนอาชีพ
 เพชรรัตน์  บอกว่า  เดิมครอบครัวของเธอทำนาปรัง  จำนวน  26  ไร่  ปลูกข้าวเจ้า  2  สายพันธุ์  คือ  พันธุ์สุพรรณ  35  และพันธุ์ชัยนาท  1  และต้องสั่งซื้อพันธุ์ข้าวราคาถังละ  40 – 50  บาท นอกจากนี้ยังใช้ปุ๋ยสูตร  16 – 20 – 0  เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและกระตุ้นให้ข้าวสร้างเมล็ดที่สมบูรณ์ เหมือนกับชาวนาคนอื่นๆ  ในพื้นที่  ทำให้ต้นทุนผลิตตกเพิ่มขึ้นทุกปี  ซึ่งเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีอย่างเดียวตก  1,800  บาทต่อไร่
 นอกจากปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว  อีกประเด็นหนึ่ง  ที่ทำให้ชาวนาสุพรรณต้องกลัดกลุ้มก็คือ  ปัญหาการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์  เพราะเมื่อเกษตรกรไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูกนั้น  บางครั้งจะมีข้าวพันธุ์อื่นปลอมปนมาด้วย  เมื่อนำไปปลูกข้าวที่ชาวนาไม่ต้องการก็จะโตตามด้วย  และเมื่อเก็บเกี่ยวมันก็จะปะปนกับผลผลิตเช่นกัน  พอนำไปขายหากพ่อค้าสุ่มเจอ  ก็โดนตัดเงินทันที  อย่างปีที่แล้วข้าวราคาเกวียนละ  5,200  บาท  หากพ่อค้าตรวจพบข้าวพันธุ์อื่นปนมาก็จะตัดราคาราวๆ  200 – 300  บาท”  เพชรรัตน์  กล่าว
 กระทั่งเมื่อต้นปี  2547  ที่ผ่านมา  ทางมูลนิธิข้าวขวัญพาเธอและเพื่อนชาวนาอีกหลายชีวิต  ไปดูกระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่  ต.ท่าเสด็จ  จ.สุพรรณบุรี  และได้เรียนรู้จากโรงเรียนชาวนา เธอจึงสามารถคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เอง  โดยใช้วิธีแกะเปลือกข้าวออก  ให้กลายเป็นข้าวกล้อง  แต่ระวังอย่าให้จมูกข้าวหลุดออกจากเมล็ด  จากนั้นก็นำไปเพาะในแปลงขี้เถ้า  รอกระทั่งข้าวออกรวงและให้ผลิต จึงเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป  ทั้งนี้ข้าวในแปลงทดลอง  จำนวน  1  ไร่  เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว  สามารถทำเมล็ดพันธุ์ได้ถึง  30  ไร่
 “การเพาะพันธุ์ข้าวด้วยวิธีการดังกล่าว  ช่วยให้เราสามารถคัดเมล็ดข้าวพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้น  เมื่อนำไปหว่านก็จะให้ผลผลิตสูงตามมาด้วย”  เธอ  กล่าว
 นอกจากนี้  เพชรรัตน์และนักเรียนโรงเรียนชาวนาคนอื่นๆ  ยังไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี  เพราะสามารถทำปุ๋ยชีวภาพใช้เองได้แล้ว ตัวอย่างสูตรง่ายๆ  คือ  ใช้พืชสมุนไพรอย่าง  บอระเพ็ด  สะเดา  หางไหล  ฟ้าทะลายโจร  ขมิ้นชัน  และไพล  อย่างละ  2  กก.  สับรวมกันจนละเอียด  ในไปแช่น้ำจำนวน  20  ลิตร  แล้วเติมเหล้าขาว  1  ขวด  และน้ำส้มสายชู  150  ซีซี.  จากนั้นหมักทิ้งไว้  7 – 10  วัน  ก็จะได้หัวเชื้อ  ส่วนวิธีใช้ให้กรองน้ำหัวเชื้อประมาณ  100  ซีซี.   ผสมกับน้ำราว  20  ลิตร  นำไปฉีดพ่นต้นข้าวช่วยให้ต้นเจริญเติบโตดี
 “ฉันได้ผลิตเป็นที่น่าพอใจมากตกไร่ละ  110  ถัง  ส่วนต้นทุนการผลิตลดลงเหลือไร่ละ  1,300  บาท  นี่เป็นผลพวงจากการเรียนรู้และนำสิ่งใหม่ๆ  มาประยุกต์ใช้ในการทำนา  เพราะอย่าลืมว่า    การทำเกษตรกรรมในยุคปัจจุบัน  หากชาวนาไม่พัฒนา  เชื่อว่าไปไม่รอดแน่”  เพชรรัตน์ให้เหตุผล
 แม้แต่ชาวนาผู้ย่างเข้าสู่วัยชราอย่าง  ปิ่นทอง  ศรีสังข์  เกษตรกรวัย  70  ปี  ก็ยังประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า  พร้อมที่จะยึดอาชีพทำนาปลูกข้าวต่อไป  พร้อมทั้งขวยขวายหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ ทั้งจากตำราวิชาการ  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้รู้  และเข้าฝึกอบรมจากหน่วยงานต่างๆ  รวมถึงการสมัครเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนชาวนานั่นเอง
 การทำเกษตรชีวภาพนั้น  คุณยายปิ่นทองบอกว่า  หัวใจสำคัญอยู่ที่การหยุดใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี  แล้วทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง  ส่วนการปราบแมลงศัตรูพืช  ก็ใช้สารสกัดจากธรรมชาติอย่าง  สะเดา หางไหล  ฟ้าทะลายโจร  เป็นต้น  ขณะที่การการบำรุงต้นข้าวทำน้ำหมักชีวภาพ  โดยใช้ผลไม้จำพวกกล้วย  ฟักทอง  และมะละกอ  ทั้งนี้เป้าหมายหลักของการปลูกข้าวแบบชีวภาพ  เพื่อลดต้นทุน     การผลิต  และลดปัญหาสารพิษตกค้างในร่างกาย
 “ยายจำได้ว่า  ช่วยพ่อแม่ทำนามาตั้งแต่อายุ  10  ปี  และทำมาจนถึงทุกวันนี้รวมแล้ว  60  ปี  ซึ่งปัจจุบันยายทำนาจำนวน  40  ไร่  โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีเลย  ส่วนผลผลิตนั้นตกเกือบ  100  ถังต่อไร่  แม้ไม่มากนัก  แต่ก็ถือว่าพออยู่พอกิน”  คุณยายวัย  70  ปี  กล่าวอย่างภูมิใจ
 ด้าน  บังอร  สุวรรณสูร  นักเรียนชาวนาวัยเกือบ  60  ปี  บอกว่า  ครอบครัวของเธอทำนา  25 ไร่  ที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  และใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต  และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง  แต่เธอโชคร้ายเมื่อสารเคมีเหล่านั้น  ส่งผลข้างเคียงทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมลงเรื่อยๆ  ต่อมามี      ผู้แนะให้ลองใช้น้ำสกัดจากสะเดาฉีดไล่แมลง  ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็อยู่ในขั้นที่น่าพอใจ
 “ฉันหยุดใช้สารเคมีมาหลายปีแล้ว  ทำให้ทุกวันนี้สภาพร่างกายกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ประกอบกับเมื่อปีที่แล้ว  ทางมูลนิธิข้าวขวัญตั้งโรงเรียนชาวนา ฉันจึงรีบสมัครเข้าเรียนทันที  เพราะรู้ซึ้งแล้วว่า การใช้สารชีวภาพนั้น  ส่งผลดีทั้งต่อข้าวและตัวเราเองอย่างไร  ส่วนผลผลิตล่าสุดได้ไร่ละ  90  ถัง”  บังอร  กล่าว
 นี่นับเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของมูลนิธิข้าวขวัญ  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ที่พยายามที่จะยกระดับของชาวนาให้พ้นจากความจนซ้ำซาก  เพราะผลจากการที่เกษตรกรงดใช้  สารเคมีในนาข้าวแล้ว  นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว  ยังการันตีความปลอดจากสารพิษตกค้างให้แก่ผู้บริโภคด้วย

ระเบียบ  5  ข้อต้องปฏิบัติ
 สำหรับจุดเริ่มต้นของ  “โรงเรียนชาวนา”  เดชา  ศิริภัทร  ผอ.มูลนิธิข้าวขวัญ  บอกว่า  หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรปลูกข้าวเชิงพาณิชย์เมื่อ  20  ปีก่อน  ส่งผลให้มีการนำเทคโนโลยี   การผลิตใหม่ๆ  เข้ามาใช้มาขึ้น  อาทิ  รถไถนา  ปุ๋ยเคมี  และยาฆ่าแมลง  เป็นต้น  จริงอยู่การใช้     ปุ๋ยเคมีช่วยให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น  แต่ในทางกลับกันชาวนาต้องมีทุนมากขึ้นทุกปี ซ้ำร้ายผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กับแข็งและขาดแร่ธาตุ ส่วนร่างกายก็เริ่มทรุดโทรม
 ทางรอดในสภาวะดังกล่าว  เดชาชี้ว่า  เกษตรกรต้องปรับตัว  หันมาพึ่งพาตัวเอง  ลดต้นทุน และงดใช้ปุ๋ยเคมี  และสารเคมีปราบศัตรูพืชนั่นเอง  เพราะการกลับมาสู่ระบบชีวภาพน่าเป็นทางออกที่ดี  จึงคิดตั้งการสอนในรูปแบบของโรงเรียนชาวนา นับว่าโชคดีที่เราได้รับการสนับสนุนจาก สคส.  ทั้งเรื่องทุนและเรื่องวิชาการ ทุกอย่างจึงง่ายขึ้น
 พร้อมทั้งตั้ง  “โรงเรียนชาวนา”  เมื่อต้นปี  2547  นำร่องที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  สำหรับหลักสูตรที่โรงเรียนชาวนาเปิดสอนมีระยะเวลา  18  สัปดาห์  เริ่มจากสัปดาห์ที่  1  การเตรียมแปลงนา  เช่น  หมักฟาง  ล้มตอซัง  ไถนาน้ำตม  ส่วนสัปดาห์ที่  2  การจัดการเมล็ดพันธุ์  และจุลินทรีย์สำหรับเร่งแตกกอ
 เมื่อย่างสู่สัปดาห์ที่  3  สอนการทำจุลินทรีย์  ปุ๋ยชีวภาพ  และสุมนไพร  จากนั้นสัปดาห์ที่       4 – 18  กิจกรรมสำรวจระบบนิเวศในแปลงนา  เช่น  แมลง  การเจริญเติบโตของข้าว  การพัฒนาเปรียบเทียบระหว่างนาเคมีกับนาอินทรีย์  การแลกเปลี่ยนความรู้  เติมข้อมูลสถานการณ์ทางสังคม นโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวนา
 สำหรับเงื่อนไขในการเข้าร่วมของ  “นักเรียนชาวนา”  1.  ตรงต่อเวลา  2.  หากไม่สามารถมาเรียนได้ ต้องส่งตัวแทนมาร่วม  หรือแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า  3.  ต้องมีแปลงนาสำหรับปลูกข้าว  4.  ห้ามขาดเรียนติดต่อกัน  2  สัปดาห์  ไม่ห้ามขาดเรียนเกิน  3  สัปดาห์  และ  5.  เรียนร่วมกันทุกวันจันทร์ตั้งแต่เวลา  09.00 – 12.00  น.
 ก้าวต่อไป  เดชาบอกว่า  เตรียมขยายโรงเรียนชาวนาอีก  3  สาขา  คือ  ที่  อ.เมือง  อ.อู่ทอง และ  อ.ดอนเจดีย์


ที่มา  :  http://www.bangkokbizweek.com/20050301/localbiz/index.php?news=
            column_16574592.html


ฉบับที่  3  หนังสือพิมพ์มติชน  วันพฤหัสบดีที่  10  มีนาคม  พ.ศ.2548

โรงเรียนชาวนา  หลักสูตรธรรมชาติ  “คนทำนา”

โดย ณรงค์ อ่วมรัมย์

                                          
           
 เมื่อมูลนิธิข้าวขวัญ  ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกับชาวนาพัฒนาปรับปรุงและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยมาอย่างยาวนาน  ได้ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.)  จัดโครงการ       “ส่งเสริมการจัดการความรู้ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  จ.สุพรรณบุรี”  ทำให้เจ้าหน้าที่ของสองสถาบันต้องทำงานอย่างหนักในการกระตุ้นให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเกิดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ถูกเรียกว่า  “โรงเรียนชาวนา”
 ข้อนี้เองที่ทำให้มูลนิธิข้าวขวัญและ  สคส.  ร่วมมือกันในการใช้  “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้”  เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูองค์ความรู้ที่อยู่แล้วดั้งเดิม  แต่หล่นหายไปหลังจากการส่งเสริมการใช้  สารเคมีในการทำนา  กระทั่งพันธุ์ข้าว  และวิธีการผลิตที่เอื้ออาทรต่อธรรมชาติหายไป
 “โรงเรียนชาวนา”  เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว  เพื่อรวบรวมกลุ่มชาวนา  ใน 5  พื้นที่รอบๆ  จังหวัดสุพรรณบุรี  ในการศึกษาเรียนรู้ถึงระบบของธรรมชาติในแปลงนา  และใช้วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันภายในกลุ่มเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาการทำนาของตน  โดยหวังให้หลุดพ้นจากการที่ถูกครอบงำทางความคิด  ของการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องของ  การใช้สารเคมีที่สร้างผลกระทบต่อระบบสุขภาวะของคนและระบบนิเวศ
 จุดเริ่มต้นของ  “โรงเรียนชาวนา”  เกิดขึ้นภายใต้การทบทวนอดีตที่เจ็บปวดของชาวนาหลังจากตกเป็นหนี้สิน  จากการหลงเป็นธาตุสารเคมีอย่างไม่มีทางเลือก  เมื่อมีคนในเครื่องแบบ           น่าเลื่อมใสมาส่งเสริมให้พวกเขาใช้สารเคมีและพันธุ์ข้าวที่อ้างว่าได้คัดมาดีแล้วเหมาะสมกับชาวนาไทย
 แต่ผลก็คือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสารเคมีที่มีจำนวนสูงขึ้นทุกที  เพื่อตอบสนองความต้องการของต้นข้าวพันธุ์ส่งเสริม  ทำให้เกิดปัญหา  เพราะยิ่งทำมากก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมาก ดินแข็งมากขึ้น  ซึ่งทำให้ต้องยิ่งใส่ปุ๋ยเคมีมากขึ้น  มิหนำซ้ำยิ่งใช้ยาฆ่าแมลงมาก  สิ่งมีชีวิตในนาก็ตายหมด  การควบคุมกันเองในระบบนิเวศขาดวงจร

                                         

 สิ่งที่ตามมา  คือ  หนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้น  ซึ่งหากไม่มีการทบทวนหาสาเหตุชาวนาไทยต้องประสบภาวะล้มละลาย แล้วล้มหายตายจากสังคมไทยไปในที่สุด
 ดังนั้น บทเรียนที่สำคัญของนักเรียนชาวนา  คือ  การลด  ละ  และเลิกใช้สารเคมีในระบบเกษตรทั้งหมด
 “เมื่อทบทวนอดีตแล้วกลุ่มชาวนาได้บทสรุปร่วมกันว่า  หัวใจสำคัญของการทำนา  คือ  เรื่องเมล็ดพันธุ์  การเตรียมดิน  ปุ๋ย  และจุลินทรีย์  จึงตัดสินใจหันหลังให้กับการทำนาแบบพึ่งสารเคมี แล้วมาเข้าโรงเรียนชาวนา”  เจ้าหน้าที่มูลนิธิขวัญข้าวบอกเล่า
 โรงเรียนชาวนาจะทำการเรียนการสอน  โดยแบ่งกลุ่มกันเองตามสภาพพื้นที่การทำนา  ซึ่งแบ่งเป็น  5  พื้นที่  คือ  ต.บ้านโพธิ์  บ้านลุ่มบัว  อ.เมือง    บ้านหนองแจง  อ.ดอนเจดีย์     บ้านสังโฆ  วัดดาว  อ.บางปลาม้า  และพื้นที่บ้านดอน  ยางลาว  อ.อู่ทอง  จ.สุพรรณบุรี  และนัดแนะพบปะกันใต้ร่มไม้ปลายนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้จากการปฏิบัติจริงทุกๆ สัปดาห์”
 “แต่ละกลุ่มหมุนเวียนไปตามแปลงนาของสมาชิก  2  ฤดูกาลทำนาที่ผ่านพ้นมา  พวกเขาได้เรียนรู้กันถึง  2  หลักสูตร  หลักสูตรแรกคือ  “การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี”  และที่กำลังเรียนรู้กันอยู่ในฤดูกาลนี้  คือ  “การปรับปรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี”  ก่อนที่จะไปเรียนรู้หลักสูตรสำคัญที่ยากยิ่งขึ้น  คือ  การคัดพันธุ์ข้าวด้วยตนเอง”
 จากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงควบคู่กันไปทำให้ชาวนาที่แม้ไม่ได้ร่ำเรียนผ่านระบบ   การศึกษาใดๆ  ได้สั่งสมองค์ความรู้ไว้มากมาย  กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทำให้องค์ความรู้เหล่านี้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทจากชาวนาคนหนึ่ง  ไปยังชาวนาอีกคนหนึ่ง  รวมถึงความรู้ที่มูลนิธิข้าวขวัญไปเสาะหามาร่วมกันเรียนรู้

                                       

 “ยายปิ่นทอง”  หญิงชาวนาชรา  คือหนึ่งในชาวนาที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วหลายครั้ง กระทั่งพบว่าหนทางรอดของชาวนามิใช่การพึ่งพายาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี  หากแต่เป็นการทำนาที่เอื้ออาทรต่อธรรมชาติ  และวัฒนธรรมการเคารพบูชาแม่ธรณี  แม่โพสพ  ที่ตนดำเนินมาโดยตลอด มิใช่เรื่องงมงาย  แต่เป็นความเชื่อที่เชื่อมโยงวิถีการทำนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างแยบยล
 ไม่เฉพาะการเรียนรู้เรื่องลดเลิกใช้สารเคมีจากโรงเรียนชาวนาเท่านั้น  ยายปิ่นทองยังเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปหลังจากการผลิตแบบเร่งด่วนให้กลับเข้ามาเป็นวิถีชีวิตของชุมชนเหมือนเดิม
 ยายปิ่นทองเล่าว่า  การเกี่ยวข้าวในสมัยก่อนจะมีความสัมพันธ์กับระบบการเพาะปลูก  มี   การลงแขกเกี่ยวข้าวเป็นการช่วยกันเอาแรงกัน  หรือหากคิดเป็นค่าจ้าง  เมื่อก่อนจะจ่ายเป็นข้าว  เช่น แปดระดับชักสอง  (คำว่าระดับในที่นี้หมายถึงการเกี่ยวข้าวที่เต็มกำมือผู้ใหญ่ให้ได้ห้ากำมือจะเท่ากับหนึ่งระดับ  ถ้าเกี่ยวได้แปดระดับก็จะได้ค่าจ้างสองระดับ)  มีการพูดคุยกระเซ้าเย้าแหย่จนเกิดเป็นการละเล่นเป็นบทเพลงในท้องทุ่งสร้างความสนุกสนานช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจาก      การทำงานหนัก  ตกเย็นก็จะมีการนำฟ่อนข้าวมาที่ลาน โดยบรรทุกมาทางเกวียนหรือทางเรือ  หากเป็นที่นาลึก
 กลางคืนชาวบ้านจะจุดตะเกียงจ้าวพายุให้แสงสว่างนวดข้าวในลานโดยใช้แรงงานวัวควาย  ทำอย่างนี้จนกว่าข้าวจะหมด  ข้าวที่ได้ก็จะตักใส่ไว้ในยุ้ง  หากจะขายก็มีพ่อค้า  มาซื้อจากยุ้ง  หากชาวบ้านไม่พอใจในเรื่องราคา  ชาวบ้านก็จะเกี่ยวข้าวเอาไว้ก่อน  ผักหญ้าก็เก็บเอาจากหนอง คลอง บึง  อาหารสดก็มาจากแม่น้ำที่เมื่อก่อนยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก
 “วิถีชีวิตชาวนาแบบนี้ห่างหายไปนาน  แต่ปัจจุบันวิถีดั้งเดิมแบบนี้ได้เริ่มกลับมาแล้ว”
 ไม่เฉพาะยายปิ่นทองเท่านั้นยังมีอีกหลายคนหลายกลุ่มที่กลับมาตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งใกล้ตัว  เลิกหลงเชื่อกับคำโฆษณาใดๆ จากคนในเครื่องแบบและอาเจ๊กร้านขายสารเคมี
 ชาวนาหญิง – ชายเหล่านี้  เปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่ไม่เคยลงไปตรวจตราในแปลงนาของตนเลยว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่บ้าง  ตัวใดเป็นมิตร  ตัวใดเป็นศัตรูข้าว  ในอดีตถึงเวลาฉีดยาก็จ้างคน ถึงเวลาใส่ปุ๋ยก็จ้างคน  ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จ้างคน
 สิ่งสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้กลับลำหันมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ปลดแอกตัวเองจาก       การเป็นทาสสารเคมี  เคารพและความศรัทธาต่อจิตวิญญาณทางการเกษตร  ไม่ว่าจะเป็นแม่โพสพ  แม่ธรณี  แม่คงคา  รวมทั้งประเพณีที่ดีงามต่างๆ  ที่เคยมีอยู่ในชุมชนให้กลับมาสร้างความหมายและพลังขึ้นใหม่ในปัจจุบัน  คือ  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มกัลยาณมิตรกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า
 การแลกเปลี่ยนพูดคุยล้วนสร้างความมั่นใจให้ชาวนา  และการลงมือปฏิบัติการจริงในทุ่งนา ทำให้เกษตรกรรับความคิดใหม่ได้ง่ายและเคลื่อนขยายกลุ่มได้เป็นอย่างดี
 การศึกษาระบบเกษตรกรรมที่เป็นรากฐานสำคัญของชุมชนที่จะใช้เป็นแนวทางพัฒนาชุมชนนั้นควรเป็นการศึกษาที่เกิดจาก  “กระบวนการอย่างมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นนั้นๆ”  ที่มี      ความเข้าใจชุมชนตนเองอย่างดี
 ที่สุดชุดภูมิความรู้ที่เกิดจากชุมชน  ซึ่งเป็นแนวทางการพึ่งตนเอง  กลับเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่เป็นฐานทรัพยากรหลักของชุมชน  ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่หลอกลวง
 “ดังเช่นระบบการผลิตที่ชาวนา  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ประสบมาแล้วหลายชั่วอายุคน  ที่สุดได้หันกลับมาหาธรรมชาติ  ซึ่งเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่นั่นเอง”


ที่มา  :     http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01pra03100348&show
                =1§ionid=0131&day=2005/03/10


ฉบับที่  4  หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันพฤหัสบดีที่ 10  มีนาคม  พ.ศ.2548

เยี่ยมเยือน  ร.ร.ชาวนาเรียนรู้วิธีปรับปรุงดินโดยชีววิธี

 ฤดูกาลที่ผ่านมา  การทำนาข้าวในพื้นที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ของนักเรียนชาวนาที่ได้ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีเสร็จสิ้น  ภาพชาวนารุ่นปู่ย่าลงจับแมลงในแปลงนาของตนมาสำรวจแบ่งชนิดที่เป็นมิตรและศัตรู  ยังผลไปสู่การใช้สมุนไพรทดแทนสารเคมี  และเลิกใช้ยาฆ่าแมลงในที่สุดยังไม่ลบเลือน  เฉกเช่นเดียวกับความรู้ที่ได้ระหว่างการเรียนครั้งนี้ที่จะยังคงไม่เลือนหาย  อย่างไรก็ตาม  แม้การเรียนรู้ในขั้นประถมดังกล่าวจะเสร็จสิ้น  แต่   การเรียนรู้ยังไม่สิ้นสุด สำหรับในฤดูกาลนี้ นักเรียนโรงเรียนชาวนากลุ่มเดิม ยังคงขะมักเขม่นกับการเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงดินโดยไม่ใช้สารเคมี  ภาพของชาวนารุ่นปู่ย่าออกหาเก็บจุลินทรีย์มาทำน้ำหมักก็จุดประกายการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นอีกครั้ง
 เราจึงถือโอกาสนี้ไปเยี่ยมเยือนกิจกรรมโรงเรียนชาวนาพื้นที่  ต.วัดดาว  อ.บางปลาม้า  จ.สุพรรณบุรี  ซึ่งพื้นที่โรงเรียนชาวนา  ต.วัดดาวนี้  เป็นเพียง  1  ใน  4  พื้นที่การเรียนรู้ในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  จ.สุพรรณบุรี  ภายใต้     การดำเนินงานของมูลนิธิข้าวขวัญ  และการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของผู้มีความรู้เรื่องการทำนาข้าว  และให้เกิด  การสร้างและใช้ความรู้ขึ้นเองภายใต้บริบทของชาวนาในการพัฒนางาน 
 สิ่งแรกที่เราได้เห็นก็คือ  แปลงนาสาธิตที่บ้านป้าบังอร  สุวรรณสร  ที่เขียวชอุ่มเต็มท้องทุ่ง  ป้าบังอรเล่าว่า  ก่อนหน้านี้ตนและสามีก็ดำเนินวิถีการทำนาแบบพึ่งพาสารเคมีมาโดยตลอด  กระทั่งระยะหลังเริ่มล้มป่วยจนต้องผลัดกันไปนอนโรงพยาบาลด้วยพิษยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีหลายครั้ง  จนทนไม่ไหวต่อมาได้เข้าอบรมเรื่องการใช้สมุนไพรกับเกษตรอำเภอ  จึงเริ่มทดลองทำมาใช้เองบ้าง ในระยะแรกตนต้องแอบเก็บสะเดามาทำเนื่องจากเกรงว่าจะถูกเพื่อนบ้านนินทาว่าตนบ้า  เพราะ   พื้นที่ใกล้เคียงกับตนล้วนแต่นิยมและเชี่ยวชาญเรื่องสารเคมีในการทำนามาก  แต่หลังจากเริ่มทำไม่นาน  สุขภาพของตนและสามีก็เริ่มดีขึ้น  ระยะเวลาในการเข้าโรงพยาบาลห่างขึ้น  กระทั่งทุกวันนี้ไม่ต้องไปหาหมออีกเลย
 ยิ่งเมื่อปีที่แล้วได้พบกับมูลนิธิข้าวขวัญ  มาเสนอให้มาร่วมเรียนรู้กันในโรงเรียนชาวนา  ยิ่งมั่นใจในแนวทางที่ฉันทำมาว่ามันถูกต้องแล้ว  เดี๋ยวนี้ฉันไม่แสบไม่คันตามง่ามมือง่ามเท้า  ไม่สนใจว่าเพื่อนบ้านจะหาว่าฉันบ้า  เพราะหลายคนก็เริ่มเห็นว่านาของฉันแม้ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง  และลด    การใช้ปุ๋ยเคมีจาก  50  กก.ต่อไร่  เหลือเพียง  10  กก.ต่อไร่แล้ว  ฉันยังได้ข้าวไม่แพ้เขา  ป้าบังอร กล่าว
 การเข้าโรงเรียนชาวนา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างชาวนาด้วยกันทำให้ป้าบังอรได้  องค์ความรู้ใหม่ว่า  นอกเหนือจากสะเดาแล้ว  พืชผักหลายๆ  อย่างรอบๆ  บ้านยังเป็นยาไล่แมลงได้ โดยได้ความรู้จากลุงสนั่น  เวียงขำ  ที่สังเกตเห็นว่าพืชผักบางชนิดแมลงจะไม่มารบกวนจึงทดลองนำมาใช้แบบเดียวกับสะเดา  ผลปรากฏว่า  พืชผักรสฝาดจะช่วยแก้ปัญหาเชื้อรา  ส่วนพืชรสเผ็ดหรือขมจะช่วยไล่แมลงได้
 ขณะที่เข้าเยี่ยมเยือนบ้านลุงสนั่น  เวียงขำ  ผู้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์   ไซเบอร์  เพื่อใช้ในการช่วยย่อยสลายซังข้าวในนา  เราก็ได้พบกับผู้รู้เรื่องการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์หลายรายที่ผลัดกันมาสาธิตให้เราดู  ลุงสนั่นเล่าว่า  มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่หลายชนิด  แต่ที่เป็นประโยชน์ต่อแปลงนาเราคือไซเบอร์  จุลินทรีย์ที่พบมากในป่า  ซึ่งพันธุ์ที่ตนและนักเรียนโรงเรียนชาวนาไปเก็บมานี้อยู่ที่ป่าห้วยขาแข้ง  สังเกตได้จากบริเวณนั้นจะมีซากผุพังของใบไม้จำนวนมากเราจึงทดลองไปเก็บมาทำเชื้อโดยนำเชื้อนี้ไปเพาะกับใบไผ่แห้งๆ  สัก  10  วันก็จะพบว่าเชื้อได้สร้างสปอร์ขาวๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก แล้วจึงนำใบไผ่เหล่านั้น  ผสมกับน้ำ  20  ลิตร  นำไปใส่ในนาข้าวที่ทำ     การล้มตอซังเรียบร้อยแล้วก่อนการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป  ลุงสนั่นเล่าว่า เชื้อเหล่านี้จะช่วยทำให้ซังข้าวในนาเน่าเปื่อยเป็นอินทรีย์สารซึ่งเป็นอาหารของต้นข้าวทำให้ไม่ต้องใส่ปุ๋ย 
 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7086เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2005 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท