เมื่อฉันไปร่วมถวายพระพรองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ (ตอนจบ)


ไม่นึกว่าสิ่งที่ฉันคิดมาตลอดนั้น จะเป็นสิ่งที่อยู่ใน speech องค์สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่แล้วตั้งแต่ก่อนฉันเกิดอีก...

 

Three generations of Japanese women

 ภาพสาวญี่ปุ่นสามวัยแต่ใจตรงกัน :-) สามเจเนอเรชั่นในบ้านพร้อมใจกันมาถวายพระพรในเช้าวันที่ ๒ มค. ฉันขอเดาแบบไม่มีทางพลาดว่าต้องเป็นคุณยาย คุณแม่ แล้วก็คุณลูกสาว

ในสองตอนแรก ฉันได้เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าเพราะเหตุใดฉันจึงคิดจะไปร่วมน้อมใจถวายพระพร องค์สมเด็จพระจักรพรรดิ เนื่องในโอกาสปีใหม่กับเขาด้วย และได้ต่อด้วยการเล่าบรรยากาศการเดินทางไป และกระบวนการเข้าไปในเขตพระราชฐาน ตลอดจนในส่วนของการเข้าเฝ้าจริง ๆ

 

ฉันปิดท้ายค้างไว้ว่า คนญี่ปุ่นพวกใดบ้างหนอ ทจะี่ยอมตื่นเช้าในวันหยุดประจำปีที่หาได้ยากเย็น และยังต้องฝ่าลมหนาวออกมา นั่งรถไฟ ต่อรถเมล์ และเดินเท้ามาจากบ้านช่องห้องหอของตัวเอง นับเป็นระยะทางอีกไม่ใช่น้อย ๆ เพียงเื่พื่อจะมาเปล่งเสียงถวายพระพรแล้วก็กลับบ้าน?

 

คำตอบที่ฉันได้รับ เมื่อฉันมองไปรอบ ๆ  ก็คือ คนที่มีอายุหน่อยแล้วนั่นเอง  คือ อย่างน้อยต้องสามสิบเยอะ ๆ หรือ สี่สิิบ ขึ้นไป  หรือถ้าน้อยกว่านั้นก็มักจะเป็นลักษณะที่มากับครอบครัว เหมือนรูปที่ฉันไปแอบถ่ายครอบครัวสามสาวต่างวัยมาประกอบบล็อกฉันนี่  ต้องขอขอบคุณครอบครัวนิรนามดังกล่าวด้วย อะริกาโตะ โกซัยมัส!

 

และที่เป็นวัยเกษียณไปแล้ว  ก็นับว่าไม่น้อย คนที่วัยเกษียณไปแล้ว  มีทั้งมาคนเดียว  มาเป็นคู่  มากับกลุ่มเพื่อน

 

สำหรับกลุ่มองค์กรที่มีลักษณะโดดเด่นออกมานั้น เช่น ลูกเสือชาวบ้าน (เขาท่าทางเป็นอย่างนั้นจริง ๆ) หรือ พวกเด็กโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน (เห็นมีเด็กหน้าญี่ปุ่นออกอินเตอร์ถือธงญี่ปุ่นและบราซิลคู่กันเดินต้อย  ๆ ตามผุ้นำเยาวชนมากลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง  ในอเมริกาใต้จะมีคนญี่ปุ่นอพยพไปอยู่เยอะมากหลายประเทศ)

 

กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่น้อยเลยก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นฝรั่งชาติตะวันตก

 

ต่างคน ต่างวัย ต่างรูปแบบองค์กร ต่างที่มา ต่างถิ่น  ก็ย่อมต่างวัตถุประสงค์ไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ฉันเองก็ไม่ได้เรียนจิตวิทยามา ที่จะพอวิเคราะห์ได้เป็นเรื่องเป็นราวว่า เขาเหล่านั้นมา "แสวงหา" อะไร ในการที่เขามาที่นี่ วันนี้

 

และการที่เขามาแล้ว เขาได้สิ่งนั้นกลับไปหรือไม่  ฉันก็ไม่ได้ไปยืนแจกแบบสอบถามเสียด้วย

 

แต่ดูจากสีหน้าของหลาย ๆ คน  รวมทั้งหลายครอบครัวที่จับกลุ่มกันถ่ายรูปบริเวณสระน้ำรอบวังอย่างเช่นครอบครัวนี้  ฉันรู้สึกว่าเขามีความสุข

 

องค์สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น  ทรงเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเหมือนในหลวงของเราส่วนหนึ่งเหมือนกัน  ฉันวิเคราะห์เองเล่น ๆ ว่า ที่คนไปถวายพระพรท่าน ส่วนหนึีงเพราะเขาต้องการไป "connect" กับบางสิ่งบางอย่างที่เขามีอยู่ในใจเขา

 

จะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไรก็แล้วแต่  ความเป็น "ญี่ปุ่น"  ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี ความอนุรักษ์นิยม ความมั่นคงในจิตใจ (security) หรือแม้แต่ศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ที่เขานับถือ  เพราะองค์จักรพรรดินั้น ตามหลักแล้วก็นับเป็นนักบวชลำดับสูงสุดของนิกายชินโตของประเทศด้วย  คือ ทรงทำหน้าที่ทำพิธีกรรม พิธีการต่าง ๆ ให้ประเทศด้วยนั่นเอง
ฉันรู้สึกว่า การที่พวกเขาได้ไปทำหน้าที่ตะโกนร้องบันไซ ๆ ตรงนั้นแล้วมันทำให้เขาสบายใจ  เพราะเขารู้สึกว่าเขามีบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน  สังคมเขาเป็นปึกแผ่นมั่นคง  มีสัญลักษณ์ของชาติี่ที่น่าภาคภูมิใจ เมื่อเห็นองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ เขาอาจมองเห็นประว้ติศาสตร์อันยาวนานเก่าแก่ของชาติเขาอยู่ข้างหน้า  เพราะราชวงศ์ของญี่ปุ่นราชวงศ์นี้้เก่าแก่ที่สุดในโลกถึงขั้นมีตำนานว่าจักรพรรดิองค์แรก เป็นหลานของเทพแห่งดวงอาทิตย์นู่นเลย (ฟังดูยาวนานมาก)

 

ก็นั่นแหละนะ  มนุษย์เราก็ย่อมต้องการที่พึ่งทางใจ  ไม่สิ่งใด ก็สิ่งหนึ่ง  และองค์สมเด็จพระจักรพรรดิก็ทรงเป็นที่พึ่งทางใจให้กับคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย  เพราะถึงแม้ว่าฉันจะเคยอ่านบทความจากบางที่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจ สถาบันกษัตริย์เท่าใดแล้ว  แต่จากที่ฉันเห็นคนไปวันนั้น  ฉันก็คงต้องตอบว่ายังมีคนส่วนหนึ่งที่ให้ความสนใจมากอยู่ดี  เพราะเขาก็มีรถบัส รถทัวร์เช่าเหมากันมาเป็นคันรถจากต่างจังหวัดมาจอดอยู่บริเวณรอบ ๆ พระราชวังอิมพีเรียลเหมือนกัน  บรรยากาศเหมือนมาจอดรอบสนามหลวงมาก 

 

และเนื่องจากต้องมีคนมาเยอะมากจริง ๆ ถึงต้องจัดให้เสด็จออกวันละหลายรอบ ตั้งแต่เช้าจรดบ่าย  เรียกว่าทรงงานหนักทีเดียว  ฉันแอบกระซิบกับน้องที่ไปด้วยบอกว่าท่านทรงเสด็จออกเป็นรอบ ๆ นี่เหมือนละครบรอดเวย์เลยนะนี่  ทรงเหนื่อยแย่เลย  ต้องมีพระราชดำรัสทุกรอบด้วย  แต่ก็นั่นแหละนะ  ประชาชนเขาก็มามากจริง ๆ และแออัดยัดเยียดไปหมด ลานเขาก็ไม่กว้างเท่าลานพระบรมรูปทรงม้าของเราด้วย  จึงคงจำเป็นต้องทำให้เข้าไปวันละหลายรอบ 

 

ฉันก็เห็นใจเขาเหมือนกัน  อืมม...ญี่ปุ่นเขามีปัญหาเรื่องที่ดินคับแคบ  ก็น่าเห็นใจอยู่  การจัดงานใหญ่อย่างนี้คงลำบาก  จะให้ท่านไปเสด็จออกที่อื่นก็จะไม่เหมาะ ไม่ควร  เพราะท่านไม่ใช่ทรงเป็นศิลปิน นักร้อง ที่จะให้ปีใหม่ไปเสด็จฯ ออกให้ประชาชนถวายพระพรที่บูโดกัน หรือสนามบอลที่เขาไว้แข่งบอลโลก 

 

ตอนขากลับออกมา ฉันมองไปเห็นคุณย่า คุณยายแก่ ๆ กระย่องกระแย่งตั้งใจเดินสวนเข้าไปด้วยไม้เท้าบ้าง ลูกหลานจูงบ้าง เพื่อไปเข้าคิวจะเข้าไปรอถวายพระพรตอนเสด็จฯ ออกในรอบถัดไปแล้ว ทำให้ฉันนึกถึงภาพคนเฒ่าคนแก่เมืองไทยกับลูกหลานอย่างไรอย่างนั้น  ไม่มีผิดเพี้ยนไปจากกันเลย

 

ทำให้ฉันนึกต่อไปอีกว่า  คนไทยกับคนญี่ปุ่นนั้น  จะว่าไปแล้ว ในพื้นฐานด้านจิตใจ ความเป็นอยู่ นิสัยใจคอ ครอบครัว นั้น มีอะไรที่คล้ายกันมากเหลือเกิน  และไม่ใช่เพียงแต่ฉันเท่านั้นที่คิดอย่างนี้  แต่อาจารย์ของฉันท่านก็เคยเขียนไว้ในบล็อกเมื่อท่านเล่าถึงเหตุการณ์ที่ท่านเคยไปเยือนญี่ปุ่น

 

และไม่ต้องอะไรเลย  แม้นกระทั่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ที่แล้ว  คือ จักรพรรดิฮิโรฮิโต (แต่ที่นี่เขาจะเรียกกันว่า จักรพรรดิโชวา) ท่านก็ยังเคยทรงตั้งข้อสังเกตไว้เช่นนี้ ในกระแสพระราชดำรัสต้อนรับในหลวงของเรา เมื่อครั้งในหลวงเสด็จเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อประมาณปี ๑๙๖๐ เห็นจะได้?  ฉันก็ไม่แน่ใจ  ทราบแต่ว่าองค์สมเด็จพระจักรพรรดิโชวาเสด็จเยือนไทยเมื่อปี ๑๙๖๔

 

ตอนนั้นฉันได้ดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องในหลวงเสด็จญี่ปุ่นนี่แหละ  เพิ่งได้ดูที่เมืองไทยก่อนมานี่ไม่นาน  จำได้ว่าตอนนั้นก็เพิ่งกลับจากทริปสั้น ๆ มาดูมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นและไปงานเทศกาลซามูไรมา  ตอนนั้นก็นึกอยู่เหมือนกันแล้วว่า จิตใจคนญี่ปุ่นนั้นใกล้เคียงคนไทยมาก  กำลังนอนตีพุงดูสารคดีเพลิน ๆ พอได้ยินคำแปลกระแสพระราชดำรัสเท่านั้นกระโดดผลุงลุกขึ้นนั่งเลย  เพราะตรงใจฉันจริง ๆ 

 

องค์สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ก่อนท่านทรงกล่าวต้อนรับในหลวงได้ไพเราะแต่กระชับและงดงามมาก  ท่านทรงกล่าวว่า ท่านทรงมีความยินดีเหลือเกินที่ได้ต้อนรับในหลวงและสมเด็จ เพราะประเทศญี่ปุ่นและไทยนั้นก็มีความสัมพันธ์กันมาช้านานหลายร้อยปีแล้ว  และนอกจากนั้น ก็ยังมีประวัติศาสตร์อะไรร่วมกันอีกหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือประชาชนมีจิตใจที่เหมือนกัน  ฉันสะดุ้งโหยงเลย  ไม่นึกว่าสิ่งที่ฉันคิดมาตลอดนั้น จะเป็นสิ่งที่อยู่ใน speech องค์สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่แล้วตั้งแต่ก่อนฉันเกิดอีก 

 

มาถึงวันนี้  ฉันเพิ่งกลับจากการไปมีประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนร่วมทวีปของฉันมา ในการกล่าวถวายพระพรให้กับองค์พระประมุขของเขา  ด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบพอกัน  อาจจะเป็นเพราะฉันคิดถึงในหลวงด้วย  แต่ก็นั่นแหละ  เมื่อมีการได้ไปสร้า่งกุศลคุณงามความดีที่ไหน  ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ภาษาใด  จิตก็ย่อมสัมผัสได้ด้วยความรู้ัสึกเดียวกัน 

 

ในวันนั้น  องค์สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเสด็จฯ ออกมาพระราชทานพรให้กับพสกนิกรของท่านและชาวโลกทั้งมวล  และประชาชนที่เข้าไปก็น้อมใจถวายพระพร ส่งความปรารถนาดีให้กับท่าน  การที่คนเราส่งความปรารถนาดีให้แก่กันนั้น  ย่อมเป็นสิ่งที่สัมผัสกันได้  ไม่แบ่งเชื้อชาติ และชนชั้น หรือแม้นแต่กาลเวลาอยู่แล้ว  สิ่งใดที่เคยมีใครปรารถนาดีให้แก่เรา และได้เคยทำอะไรให้กับเราไว้  หากเราได้ระลึกถึงสิ่งที่เขาทำให้เืมื่อใด  เมื่อนั้นเราก็ย่อมจะรับรู้ถึงความปรารถนาดีนั้นได้ทุกเมื่อ และเกิดความรู้สึกดี ๆ ตอบสนองขึ้นมาด้วย  ไม่ว่ากาลเวลานั้นจะผ่านเลยไปนานแล้วแค่ไหนก็ตาม....

 

หงส์สีขาวตัวสง่าที่ลำน้ำหน้าพระราชวังอิมพีเรียลผงกหัวของมันทีหนึ่ง ราวกับจะแสดงอาการรับรู้คำรำพึงในใจของฉัน ก่อนจะเบนทิศว่ายหันกลับไปยังเขตพระราชฐานชั้นในอย่างแช่มช้า...

swan 

หมายเลขบันทึก: 70753เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2007 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เอ!? อาจารย์ว่าเป็นหงส์ตัวเดียวกันที่อาจารย์เคยเห็นน่า แล้วจะเอารูปมาให้ดู

อ่านที่หนูเขียนแล้วซาบซึ้งหวนระลึกถึงตอนที่ในหลวงทรงเสด็จออกพระที่นั่งสีหบัญชร

ทั้งชาวไทยและชาวเทศต่างปลื้มปีติรู้สึกซาบซึ้งในพระบารมี คงเป็นความรู้สึกคล้ายกันกับหนูแน่ๆ

พิชัย

เหรอคะ?  หนูจะรอดูรูปหงส์ของอาจารย์นะคะ  ตัวนี้หยิ่งมากค่ะ ฮิ ๆ แต่ก็รู้งาน  เธอลอยมาฝั่งที่พสกนิกรมากระจุกกันเพื่อจะถ่ายรูปกับวิวพระราชวังอิมพีเรียลนี้

พอเธอทำหน้าที่พรีเซ้นเตอร์ ลอยไป ลอยมา สักพัก

เธอก็คงเบื่อค่ะ ผงกหัวทีหนึ่งเหมือนจะบอกว่าพอละนะ

ฉันไปล่ะ  แล้วก็ค่อย ๆ ว่ายลอยไป  แหม...ช่างเป็นห๊งส์ เป็นหงส์ดีจริง ๆ เลยค่ะ   ฮิ ๆ

 

ตอนในหลวงเสด็จฯ ออกสีหบัญชร หนูว่าซาบซึ้งกว่ามากน่ะค่ะ  คืออารมณ์คล้าย ๆ ก็คงคล้าย  แต่ scale ของเรายิ่งใหญ่กว่ามาก  ไม่ใช่ในแค่คน หรือ ในแง่เหลืองหมดนะคะ  แต่หนูว่าในหลวงท่านทรงครองราชย์๋มานานกว่าท่านทรงมีเวลาสร้าง

กุศลศีลทานภาวนาบารมีมาเต็มรอบ เต็มที่กว่าองค์พระจักรพรรดินั่นเองค่ะ หนูว่าสิ่งที่คนบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงน้ำตาคลอกันเวลาเห็น

ในหลวงทรงโบกพระหัตถ์นั้นก็ํเป็นเพราะจิตเราสัมผัสได้ถึงมหากุศลของท่านนั่นเองค่ะ

หนูว่าปิติมันเกิดจากตรงนั้น มันออกมาจากข้างในลึกมาก พอท่านโบกพระหัตถ์ให้ก็เหมือนท่านทรงแผ่พระเมตตาบารมีมาให้

แล้วด้วยกำลังมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ของในหลวงเรานี่ก็เลยทำให้คนไทยเรา

ทุกคนที่ีได้เห็นสัมผัสได้หมดเลยไงคะ  นี่หนูก็นั่งวิเคราะห์เอาเองน่ะนะคะ  เพราะหนูก็น้ำตาไหลชนิดกำหนดไม่อยู่เหมือนกันค่ะ

 

ของที่นี่เท่าที่เห็นไม่มีใครถึงขั้นน้ำตาไหล หรือ น้ำตาคลอน่ะนะคะ  แต่หนูก็ไม่ได้ไปจ้องหน้าใครเขาเท่าไหร่ แหะ ๆ  แต่ที่หนูซาบซึ้งประทับใจมากจากที่เห็นด้วยตาเปล่าก็คือ

การโค้งคำนับรับการถวายพระพรขององค์สมเด็จพระจักรพรรดินี

ที่หนูเขียนไว้ในบล็อกตอน ๒ น่ะค่ะอาจารย์   โอ้โฮ อธิบายเป็นคำพูดไม่ถูกเลยค่ะ  หนูว่าคุณธรรมความนอบน้อม (มทวะ ใช่ไหมคะ?) นี่ เป็นอะไรที่สวยงามยิ่งใหญ่มากเลยนะคะ บอกไม่ถูกเลยค่ะ สง่าเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่ออกจะโ้ค้งต่ำอย่างนอบน้อมถ่อมตนทั้ง ๆ ที่เป็นถึงองค์พระจักรพรรดินีนี่แหละค่ะ  ได้เห็นแค่นี้ก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรมากเหลือเกินค่ะอาจารย์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท