ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ เป็นหัวใจของการพัฒนา


ตอนนี้เลยไม่รู้ว่าสมองของระบบการทำงานตามโมเดล ควรจะอยู่ที่ไหนบ้าง อยู่ที่หาง ที่ตัว อยู่ที่หัว หรือจะกระจายอยู่ทั้งตัว และสมองแต่ละส่วนจะประสานกันอย่างไร

 ในปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าการพัฒนาของสังคมไทย มีความพยายามที่จะเน้นเอารูปแบบ ใหม่จากระบบภายนอกต่างๆ เข้ามาพัฒนา โดยยังอาจไม่ได้พิจารณาว่า ในสังคมไทยในปัจจุบันมีรูปแบบการจัดการ เก่า อะไรอยู่บ้างแล้ว  

และดูว่าระบบใดที่พอจะนำมาพัฒนาต่อยอดได้ หรือระบบอะไรมีจุดเด่นหรือด้อยตรงไหน เพื่อจะให้เราเข้าใจว่าเรามีอะไรอยู่ในระบบสังคมไทย เพื่อเราจะต้องไม่ไปเมาของใหม่ ให้รู้ว่าเรามีของเก่าบางส่วนที่มีข้อดีอยู่แล้ว 

จึงจะทำให้เราไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่  

เช่น ประเด็นสำคัญของระบบการจัดการความรู้ โดยธรรมชาติ หรือ KM ธรรมชาติของคนไทยนั้น จะเป็นรูปแบบของทุกคนจะทำหน้าที่เกือบทุกอย่าง และแทนกันได้เกือบทั้งหมด

แบบเดียวกับการเล่นกีฬา วอลเล่ย์บอล หรือบางทีก็แบบตะกร้อที่รับเอง ชงเอง กินเอง ส่งเองก็ยังมี หรืออย่างน้อยก็แบบทีมฟุตบอลที่ทำหน้าที่แทนกันได้เกือบทุกตำแหน่ง ยกเว้นผู้รักษาประตู อย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้ในโมเดล น้ำพริกปลาทูอีสาน 

เมื่อเราทำงานจนสำเร็จระดับหนึ่งแล้วค่อยมาคิดเรื่อง กัปตันทีม ผู้จัดการทีม ผู้ฝึก ผู้มีอุปการคุณ และกองเชียร์ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

จะทำให้เราเห็นโมเดลในการทำงานเพื่อแข่งชิงเหรียญทองที่เหมาะสมอย่างหลากหลาย ว่าจะเน้น ยกน้ำหนัก มวย ตะกร้อ หรือ ฟุตบอล ที่แม้จะเป็นกีฬาเช่นเดียวกัน ก็มีฐานความสามารถที่ต่างกัน 

ถ้ามาคิดตั้งแต่แรกก็ดีอยู่หรอก จะได้มีฐานคิดที่มั่นคง แต่เรายังไม่มีทีมเล่นที่ชัดๆเลย ว่าจะเล่นแบบไหนดี จะเล่นฟุตบอล หรือเล่นตะกร้อ หรือ มวยสากลดี จะเข้าข่าย ไม่เห็นกระรอก แต่โก่งหน้าไม้รอ จนเมื่อย หรือเปล่าครับ  

แต่เมื่อเราจะนำหลักการทำงานแบบแยกส่วน เป็นส่วนหัวที่ทำงานจริง ส่วนตัวติดตามดูแล และส่วนหางที่ควบคุมทิศทาง มาใช้ในการทำงานในระบบของสังคมไทย 

ก็อาจเป็นไปได้บ้าง ในระบบการทำงานที่มีโครงสร้างของการทำงานอยู่บ้างแล้ว ซึ่งมีการทำงาน บังคับบัญชากันเป็นลำดับ ซึ่งจะเหมาะกับการทำให้เกิดระบบการจัดการความรู้ที่มีคนทำหน้าที่เฉพาะด้านเกิดขึ้น  อย่างสอดคล้องกับโครงสร้าง 

แต่เท่าที่ทราบนะครับ ระบบตรงนี้ก็ไม่ค่อย work ในกระบวนทำงานที่เป็น KM ในเนื้องาน อย่างเอาจริงเอาจังสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะทำงานตามหน้าที่หรือตามคำสั่ง เสียเป็นส่วนใหญ่

และสังเกตว่าคนที่ทำ KM หลายๆท่าน จะแยกส่วน อาชีพ วิชาชีพ หน้าที่ ความรับผิดชอบการทำงาน KM และชีวิตจริง ออกจากกัน ด้วยความยังไม่ชินกับการทำงานและการใช้ชีวิตแบบบูรณาการ  

และ ในกระบวนการทำงานจริงๆก็คอยแต่หันมามองพี่เลี้ยงว่าจะสั่งว่าอย่างไร ให้ทำอะไร ตอนไหน  

แม้แต่คำที่ใช้อธิบายประเภทความรู้ และแนวทางการดำเนินงานก็ยังติดกรอบจนก้าวขาแทบไม่ออก  

ซึ่งถ้าเปรียบเป็นนักมวยนั้นไม่มีทางต่อยชนะได้เลย มีแต่จะถูกน็อค 

 เพราะฉะนั้น จึงน่าจะเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ว่า เราจะทำให้ระบบที่แข็งทื่อนี้ เป็นระบบที่อ่อนพลิ้ว ว่ายน้ำอย่างคล่องแคล่วเหมือนปลาที่มีชีวิตได้อย่างไร  

ผมเกรงว่า จะ

  • เป็นปลาแห้งๆ ลอยตามน้ำ หรือ
  • ปลาหุ่นยนต์ใส่ถ่านไฟฉาย (กระดิกหางอย่างเดียว) หรือ
  • เป็นปลาที่ขยับตัว ขยับครีบไม่ได้ แข็งทื่อจมอยู่ในน้ำ

 เนื่องด้วยกฎ ระเบียบ ทรัพยากร และงบประมาณที่เป็นอุปสรรคต่อความอ่อนตัวของระบบการทำงาน KM ที่ต้องมีความคล่องตัวสูง 

ในกรณีของบริษัทเอกชน เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย เท่าที่ผมดูนะครับ ผมยังรู้สีกว่าหลายๆ คนทำมากกว่า ๑ หน้าที่ ซึ่งเข้าลักษณะของโมเดลน้ำพริกปลาทูอีสาน ไม่ใช่ คนหนึ่งคนใด ทำหน้าที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว  

ลักษณะที่จะทำงานได้จริง ๆ ของโมเดลนั้น จะต้องไม่แข็งทื่อ หรือแยกส่วน เป็น หัว ตัว และ หาง แบบขาดหลัก Logic ในการทำงานที่เป็นจริง อย่างที่เราพยายามทำขึ้นมาในระบบปัจจุบัน  

ตอนนี้เลยไม่รู้ว่าสมองของระบบการทำงานตามโมเดล ควรจะอยู่ที่ไหนบ้าง อยู่ที่หาง ที่ตัว อยู่ที่หัว หรือจะกระจายอยู่ทั้งตัว และสมองแต่ละส่วนจะประสานกันอย่างไร  

ด้วยความที่ยังไม่ชัดเจนของการจัดระบบการทำ KM แบบใหม่  

แต่ผมก็ไม่ได้หมายความ โมเดลน้ำพริกปลาทูอีสาน นี้สมบูรณ์แบบ มีหลาย ๆ อย่างที่ควรปรับปรุงให้ชัดเจนในกระบวนการทำงาน เพื่อส่งถ่ายข้อมูลและเก็บรวบรวมได้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เช่น โมเดลท่อแหย่ไข่มดแดง

โดยเอาหลักการการรวบรวมความรู้ (ท่อพีวีซีหนา แทนลำไม่ไผ่) จากโลกตะวันตกมาใช้อย่างผสมผสานกันกับอุปกรณ์การแหย่ไข่มดแดง ที่มีอยู่เดิม  

ให้ได้ไข่มดแดงที่สะอาด ไม่ถูกมดกัดมากนัก เก็บได้สะดวก เก็บไว้ได้นาน ไม่บูดง่าย นำไปขาย หรือ ทำกับข้าวได้ทันที มีประสิทธิภาพดีกว่าไม้แหย่ไข่มดแดงที่เป็นไม้ไผ่ 

ผมจึงถือว่า ถ้าเรานำโมเดลน้ำพริกปลาทูอีสาน ไปผสมผสานกับโมเดลการทำงานแบบมีโครงสร้างในการทำงาน ก็จะทำให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบและเป็นจริงได้มากกว่า

ภายใต้หลักการของ ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ เป็นหัวใจของการพัฒนา  

ผมจึงขอความกรุณาให้เรามาพิจารณากันให้ชัดหน่อยได้ไหมครับ เผื่อเราจะมีทางเลือกในการทำ KM ที่ดีกว่าเดิม  

หรือถ้าจะถือว่าเป็นเสียงนกเสียงกา ผมก็ยอมรับความเป็นนก เป็นกาของผมต่อไปครับ  

ขอบคุณมากครับ

หมายเลขบันทึก: 70722เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2007 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หลักการ

     ไม่หลงของเก่า    ไม่เมาของใหม่

เป็นแนวคิดที่คมและตรงประเด็น

การพัฒนาหลายเรื่อง  เปรียบได้กับนับหนึ่งถึงหนึ่ง      หัวใจของการพัฒนาน่าจะอยู่ที่การทำงานเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 

       5  มกราคม  2550

  ยินดีต้อนรับท่านอาจารย์ด้วยความยินดียิ่ง

              ครับผม

 คนมักเข้าใจผิดว่า เก่าๆเป็นสนิม ใหม่หน้าตาจุมจิ๋ม

แสดงว่ามุมเดี่ยวกันแต่มองเห็นต่างกัน

km.เป็นอะไรก็ได้ มันน่าจะเป็นแมว เหมือนท่านเติ้งเสี่ยวผิงว่าไว้.. แมวสีไหนก็ได้ ขอแต่มันจับหนูได้ KMยังไง ก็ได้ ขอแต่ให้เกิดความตระหนักในการค้นพบความรู้ และตระหนกในการจัดการอะไรยังไม่ถูกต้อง ถ้าคนถ้ำไม่มีKMในหัวใจ ป่านนี้เรามิแบกตะบองนุ่งผ้าเตี่ยวกันรึ  

เอาอย่างนี้ไหม ของเก่าก็หลง ของใหม่ก็หลง หลงในป่าความรู้ ดีกว่าหลงในป่าคอนกรีต

 Dscf2386

คงต้องให้ความสำคัญของKMในขั้น หลักการ ส่วนวิธการเชิญแสดงตามอัธยาสัย ทำไปทำมาเดี๋ยวมันพริ่วเหมือนท่านเล่าฮูว่า เรามาทำต้มจับฉ่ายKM.กันเถอะ

สุดยอดกระบวนท่า คือไร้กระบวนท่าครับท่านไท้อ๋องฯ

ถ้ายังเห็นหัวปลา หางปลา แสดงว่ายังไม่สูงเท่าไหร่หรอกครับ

ถ้าเห็นในทุกส่วนยิ่งดีคะ จะได้รู้แบบทะลุทะลวงไปเลยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท