ปีใหม่ : เหตุการณ์สะท้อนความรักความศรัทธาที่นักเรียนมีต่อครู


ที่จริงไม่อยากเอาเรื่องของขวัญปีใหม่มาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของครู แต่ทำไมวันนี้ดูมันเชื่อมโยงกันได้อย่างเหมาะเจาะ
     วันที่ 29 ธ.ค. 49  ผมไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมสตรีแห่งหนึ่ง  พอก้าวเข้าไปในห้องพักครูกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ (ซึ่งมีครูในกลุ่มประมาณ 20 คน)  ก็เห็นภาพนักเรียนกลุ่มใหญ่เดินถือกล่องของขวัญไปที่โต๊ะครูสุภาพสตรีคนหนึ่งวัยประมาณ 40 เศษ แล้วพากันกล่าวสวัสดีปีใหม่คุณครู  ด้วยกิริยาที่แสดงถึงความรัก ความเคารพ และมีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี 
     ผมอยากดูเหตุการณ์ต่อไป  จึงนั่งคุยกับคุณครูอีกท่านหนึ่งที่พอรู้จักกัน พยายามถามทุกข์สุขในเรื่องทั่วๆไป โดยทำทีไม่สนใจเหตุการณ์ในห้อง  จน 20 นาทีผ่านไป  ปรากฎว่ามีของขวัญกองเต็มโต๊ะครูคนนั้น เต็มไปหมด  แต่โต๊ะอื่นๆกลับว่างไม่มีเด็กเอาของขวัญไปสวัสดีปีใหม่  ผมสังเกตท่าทีของครูคนนั้นก็พบว่า  ท่านมีกิริยาที่สุขุม เยือกเย็นพยายามปฏิเสธที่จะรับของขวัญ  และกล่าวตักเตือนนักเรียนให้รู้จักประหยัด 
     "แค่มาสวัสดีกัน  ตั้งใจเรียน และทำตัวเป็นคนดี ครูก็ชื่นใจแล้ว" แต่นักเรียนก็พากันตอบว่า   
      "หนูตั้งใจทำเพื่อคุณครูค่ะ" 
        มีนักเรียนบางคนเข้าไปกอดคุณครู  ครูก็กอดนักเรียนด้วยท่าทีแสดงถึงความรักอย่างจริงใจ ดูช่างเป็นภาพที่ประทับใจยิ่งนัก
      ก่อนออกจากห้องผมแกล้งถามคุณครูที่คุยด้วยกัน(เบาๆ)ว่า 
     "ทำไม่คุณครูท่านนั้นจึงมีของขวัญเยอะจัง"  คุณครูท่านนั้นก็ตอบเบาๆเช่นกัน(คงไม่อยากให้ใครได้ยิน) โดยไม่มีแววความอิจฉาริษยาใดๆว่า 
      "เพื่อนหนูเองค่ะ  เธอสอนดี  ดูแลเด็กดี  เด็กจะรัก  พ่อแม่เด็กก็รัก  เป็นอย่างนี้ทุกปีค่ะ  เด็กๆจะจองตัวอยากให้เธอไปสอนในห้องของตัวเอง  เธอเป็นคนสมถะ ไม่ยอมไปสอนพิเศษหาเงินเหมือนกับครูคนอื่น จบปริญญาโทจุฬาด้วยนะ  แต่รู้ไหมว่า อายุจะ 50 แล้ว ยังเป็นซี 7 (ชำนาญการ)อยู่เลย  เธอไม่ยอมทำผลงานส่งเหมือนหลายคนที่ได้ 8(ชำนาญการพิเศษ) ไปแล้ว  แต่เธอก็เป็นหลักให้แก่โรงเรียนทุกอย่าง"
       พอผมออกมาจากห้องก็เดินสวนกับนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายคน คาดว่าคงเป็นศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว  ต่างถือของขวัญเดินเข้าไปในห้อง
       ...ระหว่างขับรถกลับผมคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาไปตลอดทาง และมีคำถามในใจหลายอย่าง 
       "ที่จริงไม่อยากเอาเรื่องของขวัญปีใหม่มาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของครู  แต่ทำไมวันนี้ดูมันเชื่อมโยงกันได้อย่างเหมาะเจาะ"
      "การประเมินเลื่อนวิทยฐานะ  กับการปฎิบัติจริงทำไมไม่สอดคล้องกันเท่าไร  ทำไมเราจึงไม่พยายามสรรหาให้วิทยฐานะแก่คนที่"ควรจะได้"อย่างนี้  มากกว่าให้คนที่ "อยากจะได้" อย่างเดียว"
       "เวลาประเมินวิทยฐานะ ทำไมเขาจึงอ่านแต่เอกสารเป็นหลัก ทำไมไม่ถามเด็ก  ถามคุณครูคนอื่นๆ  ถามพ่อแม่ผู้ปกครอง ฯลฯ น่าจะได้ความจริงมากกว่าที่เป็นอยู่ไหม"
       "ทำไมผู้บริหารโรงเรียนจึงไม่พยายามดูแลคุณครูที่อยู่ในหัวใจเด็กอย่างจริงจัง" 
                             ฯลฯ
หมายเลขบันทึก: 70676เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2007 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท