งานวิจัยด้าน ICT


การวิจัยเพื่อคำตอบในการพัฒนางาน

    มีเรื่องที่เกิดจากการสนทนา แลกเปลี่ยนความคิด แบบพยายามไม่ให้เข้าสู่วิชาการ เพราะยังอยู่ในบรรยากาศฉลองปีใหม่ แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวิถีชีวิตมันวนเวียนอยู่ที่วิชาการ และงานด้าน ICT เพราะมีคำถามขึ้นมาว่า จะทำผลงานทางด้านวิชาการ จะทำวิจัยเรื่องอะไรดี จากคำถามเดียวนี้ มีเรื่องให้คุยกันยาว ทั้งตามหลักการ ตามความคิดเห็น และสารพัดที่จะนำมาเป็นเหตุผล แต่สุดท้ายมันก็มาสะดุดอยู่ที่ว่า สรุปว่า จะทำงานวิจัยเพื่อทำผลงานวิชาการ หรือจะทำวิจัยเพื่อนำไปพัฒนางานการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะ 2 ประเด็นนี้มันต่างกัน ประเด็นแรก เป็นผลประโยชน์สำหรับตนเอง แต่ประเด็นหลังประโยชน์อยู่ที่ประชาชน ถ้าดูให้ดี ทั้งสองอย่างนี้มีกระบวนการเหมือนกัน คือกระบวนการวิจัย แต่ผลที่ได้รับต่างกัน
    แต่สิ่งที่เป็นผลดีจากประเด็นนี้คือ ทำให้ได้เกิดคำถามขึ้นมาหลายคำถามที่เรายังไม่มีคำตอบเพื่อนำไปเป็นคำตอบเพื่อการพัฒนางานด้าน ICT สำหรับการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีประเด็นที่คำถามดังนี้
    1 ประชาชนคนไทยมีความพร้อมที่จะใช้ Internet เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เพียงใด ผู้ที่ไม่พร้อมเพราะอะไร และผู้ที่พร้อมนั้น พร้อมเพียงใด เพียงพอที่จะจัดการศึกษาด้วยระบบ e-Learning หรือไม่
    2 ถ้าจะใช้ Internet เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ควรจะเริ่มต้นอย่างไร และมีรูปแบบหรือวิธีการอย่างไร
     3 บุคลากรของ กศน. ที่ปฏิบัติงานอยู่ในแต่ละสถานศึกษา มีความสามารถในการใช้ Internet เพื่อจัดการศึกษานอกโรงเรียน หรือเพื่อการเรียนรู้เพียงใด
   4 ถ้าจะพัฒนาบุคลากร กศน. ให้มีความสามารถในการใช้ Internet เป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ และเพื่อให้บริการการศึกษานอกโรงเรียนควรดำเนินการอย่างไร
  คำถามต่างๆ เหล่านี้อีกมากมายเกิดขึ้นระหว่างที่พูดคุยกัน เป็นคำถามที่เหมือนกับพูดกันเล่นๆ แต่เป็นคำถามที่แทงใจดำสำหรับผู้ปฏิบัติงานในด้านนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพบกับคำถามสุดท้ายที่ถามว่า คุณรู้หรือไม่ว่า ตั้งแต่ที่คุณเข้ามารับผิดชอบงาน ICT และเห็นว่ามีการพัฒนางานไปได้เยอะแยะ ประชาชนได้อะไรบ้าง ที่ว่าเป็นคำถามแทงใจดำก็เพราะ อย่าว่าแต่คำถามนี้เลย คำถามว่าประชาชนเคยได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราพัฒนาไปหรือไม่ เราก็ตอบไม่ได้แล้ว เพราะมีแต่พัฒนาโดยไม่ค่อยได้มองว่า พัฒนาไปเพื่อใคร และเขาได้รับผลที่เกิดจากการพัฒนางานของเราหรือไม่ เพราะเราพัฒนาเพื่อตัวเราเอง เพื่อสนองความต้องการของเราเอง เพื่อศาสตร์ที่เรารับผิดชอบ โดยลืมมองเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 70613เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2007 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

  • ครูอ้อยมัวแต่ไปอ่านบันทึกสนุกสนาน
  • กลับมาเห็นบันทึกวิชาการที่น่าอ่านน่าติดตาม
  • ครูอ้อยขอสมัครเป็นมิตรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีปีใหม่ ครับ ครูอ้อย ยินดีมากครับและเต็มใจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครับ ผมติดตามผลงานของครูอ้อยมานานแล้ว ดังนั้น จึงยินดีอย่างมากครับ ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

เห็นด้วยกับแนวความคิดว่า การทำงานจะต้องอาศัยการวิจัยเข้ามาช่วย เพื่อพัฒนางานให้บรรลุผลได้อยางมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าไม่อาศัยการวิจัยเข้ามาช่วย ก็เหมือนกับการทำแบบลองผิด ลองถูก

เพราะถ้าไม่อาศัยการวิจัยเข้ามาช่วย ก็เหมือนกับการทำแบบลองผิด ลองถูก

การลองผิดลองถูกก็น่าจะถือเป็นการ "ศึกษาและวิจัย" รูปแบบนึง ถ้าจะทำให้กระบวนการ ศึกษา นี้เข้าใกล้การวิจัย ที่เป็นรูปแบบวิชาการมากขึ้น ก็อาจจะเริ่มจากการ บันทึก และ เผยแพร่ อย่างเช่น เขียนลงใน gotoknow ว่า ลองผิดลองถูกอย่างไร ได้ผลเป็นอย่างไร หลังจากกนั้น ก็อาจจะย้อนกลับไปหาว่า มีใครอีกบ้าง ที่เคยทำอย่างนี้ หรือใกล้เคียงกันนี้ มาก่อนบ้างแล้ว แล้วได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง

 

กระบวนการของการวิจัย มันก็ประมาณนี้แหละ เพียงแต่รูปแบบ และ ความเข้มข้น และการตรวจสอบผล อาจจะมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง เท่านั้นเอง

 

บางครั้ง การมองไม่เห็นความสำคัญของการลองผิดลองถูก และมองว่า ในการ ศึกษาหาความรู้  นั้นจะต้องใช้ กระบวนการวิจัย เชิงวิชาการ มันก็ทำให้ สิ่งที่เราควรจะได้รู้บางอย่าง มันอยู่ไกลเกินไป

ขอบคุณมากครับ ที่ให้ข้อเสนอแนะที่ดีๆ อย่างน้อยก็ทำให้ได้คิดว่า ที่ทำผ่านมาก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ถึงแม้จะเสียเวลาไปบ้างเพราะลองแล้วผิดมากกว่าถูก แต่เป็นการทดลองกับเครื่องไม้เครื่องมือนะครับ กับผู้เรียน หรือประชาชน ไม่กล้าเสี่ยงแบบนั้น ต่อไปจะได้ทดลองด้วยความรอบคอบมากขึ้น จะได้เข้าใกล้ความเป็นวิชาการเข้าไปอีกนิดหนึ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท