ตอบคำถาม...คนชอบ (ขี้) สงสัย (2)


กลุ่มคนในชนบทมีแบบแผนชีวิตที่คล้ายคลึงกันเพราะได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษ และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนในสมัยก่อนไม่ได้สร้างความวุ่นวายสับสนไม่ก่อเกิดเป็นปัญหาให้กับสังคม

          หลังจากตอบคำถามในบันทึก ตอบคำถาม...คนชอบ (ขี้) สงสัย ไปแล้ว ปรากฏว่าคุณพี่ ชายขอบ บอกว่ายังไม่ออกเกรดให้เนื่องจากแกล้งให้ติด “ร” ไว้ก่อน บันทึกนี้เลยมาขอแก้ “ร” ด้วยการตอบคำถามที่ท่านทิ้งไว้ให้ “แบบแผนการดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด การเลี้ยงดู การจัดสภาพแวดล้อม หรือธรรมชาติของแวดล้อมเด็ก มีผลหรือไม่กับพฤติกรรมก้าวร้าว???” ทบทวนคำถามอยู่นานและครั้งนี้ต้องตอบให้เข้าเป้ามากที่สุด เหตุเพราะไม่อยากติด “ร” เป็นครั้งที่สอง...ก่อนจะให้หมอใหญ่ฟังธง เอ้ย!! หมอลักษณ์ฟันธงว่ามีผลหรือไม่อย่างไร...ขอเล่าอะไรให้ฟังก่อน

          สมัยก่อนในสังคมชนบท...จะเห็นว่าพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงประเภทต่าง ๆ ไม่ค่อยจะปรากฏมากมายนักพูดง่าย ๆ ว่ามีน้อยกว่าปัจจุบันมาก หรือแทบจะไม่มีเอาเสียเลยก็ว่าได้ เนื่องจากแบบแผนการเลี้ยงดูในสมัยก่อนผิดกับในสมัยปัจจุบันมาก วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนเป็นแบบครอบครัวที่มีปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องอยู่รวมกัน ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ อยู่ตามท้องทุ่งนา ตามเขา ตามดอย ผู้คนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และใกล้ชิดกับคนในครอบครัว กลุ่มคนในชนบทมีแบบแผนชีวิตที่คล้ายคลึงกันเพราะได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษ และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนในสมัยก่อนไม่ได้สร้างความวุ่นวายสับสนไม่ก่อเกิดเป็นปัญหาให้กับสังคม 

          ย้อนไปดู...เมื่อแม่บ้านตั้งครรภ์ก็จะทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่กับบ้าน ส่วนหน้าที่หลักและงานหนัก ๆ จะเป็นภาระของพ่อบ้านที่ต้องรับผิดชอบ มารดาที่ตั้งครรภ์ได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อบุตรในครรภ์ แวดล้อมไปด้วยความรักจากญาติมิตร ภาวะโภชนาการที่ดีเลิศจากธรรมชาติไม่เสี่ยงต่อบุตรในครรภ์ ครั้นเมื่อคลอดบุตรก็จะมีแบบแผนการดูแลมารดาหลังคลอด ส่วนทารกเมื่อคลอดมาพ่อแม่ปู่ยาตายายก็จะเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลาให้การดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เด็กได้สัมผัสกับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่และคนในครอบครัว พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ดีที่งามถูกถ่ายทอดอบรมสั่งสอนโดยพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ใช้วิธีการสอนด้วยความรักความเข้าใจเพื่อเติบใหญ่จะได้เป็นคนดี ครั้นพอโตขึ้นมาหน่อยพ่อแม่ก็ให้ช่วยงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามแต่กำลังความสามารถ ช่วยเลี้ยงน้อง และส่งให้เข้าเรียนหนังสือ จากนั้นมีการถ่ายทอดอาชีพวิชาความรู้ของครอบครัวให้บุตรเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป นี่คือวิถีชีวิตที่มองเห็นการถ่ายทอดแบบแผนการเลี้ยงดูบุตรที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

          จนกระทั่งวิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป สังคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้คนในชนบทต้องหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความยากจนเล่นงานบวกกับประชากรในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จึงต้องดิ้นรนเพื่อปากเพื่อท้อง เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลงคนหนุ่มสาวต่างหันเข้าเมืองกรุงปัญหาต่าง ๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน แบบแผนการเลี้ยงดูบุตรเก่า ๆ เริ่มเลือนหาย แม่บ้านต้องช่วยพ่อบ้านทำงานเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเร่งรัดบังคับให้ต้องทำ ทุกอย่างแปรเปลี่ยนเป็นวัตถุนิยม หากแม่บ้านอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ก็ต้องช่วยกันทำมาหากินตามปกติ สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อบุตรในครรภ์ ภาวะโภชนาการที่ไม่ถูกต้องจึงเกิดปัญหาภาวะความเสี่ยงต่อบุตรในครรภ์ บางรายพิกลพิการแต่กำเนิด ติดโรคร้ายต่าง ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ 

          ครั้นพอคลอดบุตรออกมาหน้าที่การเลี้ยงดูก็ต้องโยกย้ายไปตามสถานที่เลี้ยงดูเด็กอ่อน จ้างคนข้างบ้าน พ่อแม่มีโอกาสใกล้ชิดกับลูกน้อยมาก ไม่มีเวลาให้การอบรมสั่งสอน เด็กขาดความรักความอบอุ่น ยิ่งหากร่างกายพิการด้วยแล้วยิ่งส่งผลต่อสภาวะด้านจิตใจของเด็กตามไปด้วย พฤติกรรมก้าวร้าวต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นได้ง่าย หากยิ่งเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เป็นแหล่งแออัดยัดเหยียดเบียดเสียดด้วยผู้คน การแก่งแย่งเพื่อผลประโยชน์ของตนในแต่ละวัน เหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมซับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ของเด็กให้กลืนกลายไปตามแบบอย่างที่เด็กได้สัมผัส และอาจหลงเข้าไปอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้ายได้อย่างง่ายดาย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจึงเกิดขึ้น แต่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวเร่งหรือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัจจัยที่เอื้ออำนวยพอเหมาะพอดีกับการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในแต่ละครั้ง

          เหล่านี้คือคำตอบของคำถามที่ว่า “แบบแผนการดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด การเลี้ยงดู การจัดสภาพแวดล้อม หรือธรรมชาติของแวดล้อมเด็ก มีผลหรือไม่กับพฤติกรรมก้าวร้าว???”

หมายเลขบันทึก: 70573เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
สวัสดีปีใหม่ค่ะ อ.vij แวะมาทักทายค่ะ เดี๋ยวต้องเตรียมการสอนพรุ่งนี้อีกค่ะ
สวัสดีปีใหม่ค่ะ อ.ลูกหว้า ขอบคุณนะคะที่แวะเข้ามาทายทัก ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ

     อ่านแล้วนะครับ ก็หายสงสัย เลยได้ประเด็นเพิ่มครับ มองอย่างนี้นะ
     1) เราก็สามารถค้นหาตัวแปรเพื่อใช้ในการจัดการเชิงป้องกันได้สิครับ ว่าแต่จะรู้ได้ไหมว่าตัวแปรไหนมีอิทธิพลมากน้อยกว่ากัน อย่างไรบ้าง (ตั้งไว้เป็นประเด็นแรก)
     2) แล้วกรณีที่ปรากฎเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวแล้ว (เด็กผ่านการเลี้ยงดูมาแล้ว) เราก็ค้นหาตัวแปรในการจัดการเชิงแก้ปัญหาเพื่อลดฯ ได้สิครับ แต่ตัวแปรไหนบ้าง แบบแยกเป็นตัว ๆ หรือ แบบรวม ๆ เช่นกรณีที่ 1 คงต้องมองต่อว่า (ชุด) ตัวแปรไหนมีอิทธิพลมากน้อยกว่ากัน อย่างไรบ้าง (ตั้งไว้เป็นประเด็นต่อมา)
     ส่วนวิธีการอย่างไร คงต้องทบทวนต่อ แล้ว Action ดูใช่ไหมครับ สู้ ๆ นะครับ

 สวัสดีค่ะคุณพี่ "ชายขอบ"

หายสงสัย แสดงว่าไม่ติด "ร" แล้วซิ!!...ขอบคุณมากค่ะสำหรับประเด็นเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่ทิ้งรอยไว้ให้ได้คิดต่อไป จะนั่งทบทวนดูอีกรอบค่ะในแต่ละประเด็นแต่พอจะมองเห็นภาพแล้วค่ะ สู้ค่ะสู้...(สู้กับตัวเอง)

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

     ร.ตัวเดิม เป็นอันว่า OK นะครับ แต่ตัวใหม่ครับ ยังร.(รอ) คำอธิบายถึงความเป็นไปได้ตามที่ได้ตั้งประเด็นไว้นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท