ริมสายธาร ลานกระทงสาย


ประเพณีต่างๆในปัจจุบันจึงเป็นเสมือนการจ้างให้มาแสดงกิจกรรมประเพณีให้คนได้ดู คนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนแสดง คนอื่นๆกลายเป็นคนดู เหมือนเป็นคนละพวก
ในช่วงนี้เป็นบรรยากาศของการลอยกระทง แม้จะยังไม่ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ก็ตาม แต่ทุกจังหวัดต่างก็เริ่มจัดกิจกรรมวันลอยกระทงกันแล้ว ที่จังหวัดตากแม้น้ำปิงอันกว้างใหญ่ กับสายน้ำที่ไหลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนยันฮี เก็บกักน้ำไว้และปล่อยออกมาเป็นระยะๆ  ริมฝั่งแม่น้ำปิงจึงเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจได้อย่างดี กับทิวทัศน์ที่สวยงาม  ลมที่พัดเย็นอยู่เป็นระยะๆ  ในตัวเมืองตาก ทางเทศบาลได้จัดทำเป็นที่นั่งพักผ่อนริมน้ำที่สร้างความสะดวกสบายแต่ก็ได้สูญเสียธรรมชาติริมฝั่งน้ำไปบ้าง มีการจัดเวทีกลางน้ำขนาดใหญ่เพื่อจัดกิจกรรมลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง ซึ่งสวยสดงดงามตระการตาจากการลอยกระทงกะลาที่มีแสงไฟในค่ำคืนที่ปล่อยลอยเป็นสายติดกัน ในช่วง 2-3 ปีนี้ ประเพณีการลอยกระทงสายของจังหวัดตากจึงมีนักทองเที่ยวหลั่งไหลกันมาชมมากจนที่พักไม่เพียงพอ แออัดอย่างมาก ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยได้ไปชมเท่าไหร่นักเพราะจะรอดูในทีวีมากกว่าเนื่องจากขี้เกียจเบียดเสียดผู้คน หรือแม้แต่ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟของสุโขทัยจนป่านนี้ก็ยังไม่เคยไปชมทั้งที่เป็นคนสุโขทัย ผมจะรอชมในทีวีเป็นส่วนใหญ่  ส่วนใหญ่ในแต่ละปีก็พาลูกๆไปชมสักพักหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน มาลอยกระทงที่ลำน้ำปิงที่ท่าน้ำบ้านตากกันทั้งครอบครัว
                กิจกรรมวันลอยกระทงของจังหวัดตากเริ่มแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วยการมีขบวนแห่งนางนพมาศและขบวนการแสดงต่างๆที่น่าดู สวยงาม มีการนำกิจกรรมแบบสมัยก่อนมาจำลองให้ดู ผมก็พาภรรยาและลูกๆ 3 คน ไปร่วมดูขบวนแห่ด้วย เด็กๆสนใจอยู่พักเดียว ก็ไปเดินซื้อของแล้วก็กลับบ้าน ผมคำนวณดูแล้วแต่ละขบวนไม่น่าใช้เงินต่ำกว่า 1 แสนบาท ในการจัดทำและจัดเตรียม หรือน่าจะเกินกว่านั้นด้วยซ้ำ คิดในใจแบบขวางโลกหน่อยก็คือถ้าเงิน 1 แสนบาทนี้ส่งไปให้โรงเรียนในสังกัดน่าจะสามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้มาก

                 ผมเชื่อว่าในทุกจังหวัด อำเภอ ตำบลของประเทศไทยต่างก็จัดงานลอยกระทงกันทุกพื้นที่ มีขบวนแห่นางนพมาศ มีการประกวดเหมือนๆกัน ดังนั้นงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีลอยกระทงหรือประเพณีอื่นๆที่มีอยู่ทั้งปี น่าจะเป็นร้อยล้านบาท คนไทยชอบสนุกสนาน จึงได้มีการจัดประเพณีต่างๆตามวิถีชีวิตขึ้นมา แล้วนำสิ่งที่หาได้ในท้องถิ่นช่วงนั้นๆมาประกอบการจัดกิจกรรมรื่นเริง ไม่ว่าจะเป็นลอยกระทง สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ดังนั้นงานประเพณีต่างๆจึงเป็นสิ่งสะท้อนวิถีชีวิตและความเป็นชุมชนของคนไทย

                สมัยผมเป็นเด็ก กิจกรรมต่างๆในงานประเพณีเหล่านี้ ชาวบ้านจะร่วมกันจัดขึ้นโดยไม่มีงบประมาณมาให้ เป็นการลงขัน ลงแรง ร่วมแรงร่วมใจกันของแต่ละหมู่บ้าน เอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนออกมาประดิษฐ์ประดอย ประกับประดา ตามแต่จะหาได้ ไม่เน้นที่การประกวดเพื่อแย่งชิงรางวัล แต่เป็นการบูชา เป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียมไทยที่เป้าหมายอยู่ที่การบูชาแม่พระคงคาหรือบูชาพุทธศาสนามากกว่า ทุกสิ่งที่ทำ ทุกอย่างที่เห็นจึงได้สะท้อนวิถีชีวิตแห่งความเป็นไทยอย่างชัดเจน ลึกซึ้ง ตรึงในความรู้สึก สร้างสำนึกผูกพันได้อย่างดี ในหมู่บ้านผู้ชายออกไปเตรียมของหมู่บ้าน ผู้หญิงจัดเตรียมในบ้านของตนเอง เด็กๆได้เรียนรู้จากพ่อแม่  ปู่ยาตายาย พอถึงเวลาค่ำๆก็นำชะลอมผ้าป่าไปถวายพระก่อน เสร็จแล้วกลับมาชุมนุมกันที่ริมฝั่งน้ำ ร้องเพลงรำวงกันอย่างสนุกสนานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แล้วจึงลอยกระทงร่วมกันทั้งคนในครอบครัวและในหมู่บ้าน

                สมัยนี้ มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีงบประมาณมาให้เพื่อธำรงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันดี แต่เมื่อเงินมาวิถีประชาก็หายไป เอาเงินมาซื้อวัสดุเพื่อจัดทำ จ้างทำ เอาการเลียนแบบที่อื่นมาใช้ ปล่อยให้ความเป็นไทยเฉพาะที่สูญเสียไป บางทีแม้แต่นางนพมาศบางตำบลยังต้องไปขอยืมตัวมาจากที่อื่น ทำเหมือนสาวงามในหมู่บ้านตนเองไม่มีแล้ว เมื่อมีเงินมาให้ แกนนำเป็นพนักงานท้องถิ่นมีเงินเดือน เมื่อจะมาทำเรื่องเหล่านี้ก็กลายเป็นว่าเป็นงานคุณ ไม่ใช่งานเรา คุณมีเงินเดือนคุณก็ทำไป ยิ่งหากมีการแตกแยกมาจากการเลือกตั้งด้วยแล้ว ความร่วมมือจะเกิดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ความช่วยเหลือโดยรวมจะลดลงเพราะเกิดการได้หน้าได้ตา ดังนั้นสิ่งที่เห็นในประเพณีต่างๆในปัจจุบันจึงเป็นเสมือนการจ้างให้มาแสดงกิจกรรมประเพณีให้คนได้ดู คนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นคนแสดง คนอื่นๆกลายเป็นคนดู เหมือนเป็นคนละพวก เหมือนไปดูมหรสพที่มีคนเล่นกับคนดู แปลกแยกแตกกลุ่มกัน กลายเป็นตอนนี้ต้องใช้เงินจ้างให้มาแสดงตามประเพณีวัฒนธรรมเดิมๆ หากไม่มีเงินก็ไม่ร่วม ทั้งที่แต่เดิมทุกบ้านต่างก็ต้องทำกิจกรรมตามประเพณีนี้อยู่แล้ว

                ทำอย่างไรจึงจะทำให้การแสดงที่ดีๆเหล่านี้ กลับเข้ามาเป็นวิถีชีวิตจริงของคนไทย ไม่มีคนแสดง ไม่มีคนดู เพราะทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้เพราะมันเป็นวิถีชีวิต เป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรมที่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในตัวที่ต้องการให้คนไทยเราได้ใช้โอกาสสำคัญในการกตัญญูเวทิตาต่อแม่น้ำ ได้พักผ่อนรื่นเริง ได้รวมกลุ่มสมาคมกันเมื่อพักจากงาน ได้สร้างสามัคคีกัน เป็นระยะๆ ตามกิจกรรมของประเพณีที่เกิดขึ้น  เลิกดึงคนของหมู่บ้านให้เข้าไปรวมตัวกันเพื่อเป็นผู้ชมในตัวเมืองนานๆ หลายวันหลายคืน ทำให้เวลาที่จะมาคิดมาร่วมกิจกรรมประเพณีเล็กๆในหมู่บ้านถูกตัดทอนลง คุณค่าของการลงขันทางปัญญา ลงแรงลงใจของคนในชุมชนจะได้กลับมา สร้างความเข้มแข็งความสามัคคีให้ชุมชนไทยต่อไป คงไม่ใช่แค่ลอยกระทงอย่างเดียว น่าจะเป็นทุกเทศกาล ทุกประเพณีของไทยที่มีอยู่ เพราะไม่อย่างนั้นอีกหน่อยเราต้องไปดูวิถีไทยกันตามโรงละคร ดูตามโรงแรมที่มีการแสดงเกี่ยวข้าว ไถนา ให้นักท่องเที่ยวดู ซึ่งแบบนี้จะไม่ยั่งยืนเพราะเมื่อไม่มีคนดู การแสดงนั้นต้องเลิกไป แต่ถ้าเป็นวิถีชีวิตก็จะไม่ใส่ใจว่าใครจะดูหรือไม่ก็ตาม แต่ก็จะทำเพราะมันคือชีวิตปะจำวัน
หมายเลขบันทึก: 7054เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2005 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท