โลกและชีวิต (7) : เรียนรู้ที่จะเป็น...


แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมีเหตุผล มิใช่เปลี่ยนแปลงเพื่อเป็น "จุดเด่น" ที่จะ "แตกต่าง" จากคนรอบข้างโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง

หมื่น แสน ล้านคนที่พานพบ

เธออาจจะรักและศรัทธาใครต่อใครหลาย ๆ คน

หลายสิ่งอย่างที่สั่งสมและเติบโตอยู่ในตัวเธอ

ย่อมมีส่วนที่ได้รับอิทธิพล

จากคนที่เธอรักและศรัทธา

แต่นั่น - ก็ไม่ได้หมายความว่า

ทุกสิ่งอย่างที่เธอได้กระทำ

ต้องเกิดจากการหล่อหลอม

และถอดแบบมาจากคนที่เธอรักและศรัทธา - เสมอไป

 

การปรับเปลี่ยนตนเอง

ด้วยวิธีการเลียนแบบอย่างงมงาย ไร้สติ

และปราศจากการตรึกตรอง

ย่อมนำไปสู่การสูญเสีย

"ความเป็นตัวของตัวเอง"  อย่างสิ้นเชิง

และหากแม้นเป็นเช่นนั้นจริง

ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการเติบโต

และงอกงามของชีวิต

เพราะมันเป็นแต่เพียงการ "เลียนแบบ"

หาใช่ "การเรียนรู้"  เลยแม้แต่น้อย

.....

นี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นในเวทีเสวนาเมื่อเร็ววันที่ผ่านมา ซึ่งผมได้รับเชิญเป็นวิทยากร  ...  ผมบอกเล่ากับนิสิตว่า  เราต่างก็มีวีรบุรุษที่เรารักและศรัทธากันทั้งนั้น  ....

วีรบุรษดังกล่าว  คือต้นแบบ  หรือแรงบันดาลใจในการก้าวเดินไปในเส้นทางของชีวิต  แต่เราก็ต้องฉลาดที่จะเรียนรู้และสังเคราะห์เอาบางสิ่งบางอย่างมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับตัวเรา  แต่ต้องมิใช่การเลียบแบบ หรือถอดแบบออกมาอย่างไม่มีการหยั่งคิดว่าสิ่งใดเหมาะสมกับตัวเรา  หรือสอดรับกับกาละใด ๆ มากน้อยแค่ไหน

การค้นหาตัวตนของตนเอง คือ สาระสำคัญที่ต้องกระทำ  ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ในการใช้ชีวิตและเรียนรู้ชีวิตโดยตรงของเราเอง  หรือแม้แต่การเรียนรู้ ซึมซับและศึกษาจากคนรอบข้าง

แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมีเหตุผล มิใช่เปลี่ยนแปลงเพื่อเป็น "จุดเด่น" ที่จะ "แตกต่าง" จากคนรอบข้างโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง โดยเฉพาะความเป็นจริงที่อยู่ในตัวเรา  !! 

ก่อนจบการเสวนา,  ผมโยนคำถามข้ามฟากไปยังนิสิตชายท่านหนึ่ง เพราะทรงผมของเขาสะดุดตาสะกิดใจผมมาก  และผมก็ถามเขาด้วยน้ำเสียงระคนขันว่า "ทรงผมนั้นท่านได้ แต่ใดมา..?"

นิสิตท่านนั้นตอบด้วยความซื่อและเชื่อมั่นว่า "เป็นทรงผมของดาราดังท่านหนึ่ง"

ทุกคนในเวทีเสวนาหัวเราะ ขบขันกันดังลั่น  บ้างก็ปรบมือให้กับความมั่นอกมั่นใจของนิสิตท่านนั้นที่กล้าหาญชาญชัยแต่งผมทรงนี้อย่างไม่สะทกสะท้าน !!

(ทั้ง ๆ ที่เราต่างก็ช่วยกันดูและลงมติตรงกันว่า  มันไม่เหมาะสมกับเขาเอาซะเลย)

มันช่างเป็นการเรียนรู้ "ที่จะเป็น" โดยปราศจากการ "เบิ่งมอง"ตนเองอย่างชัดเจน

หรือเพราะเขาเองก็มีความสุข "ที่จะเป็น"  เช่นนั้น,  ....  ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ?

หมายเลขบันทึก: 70533เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีปีใหม่อีกครั้งค่ะคุณ  แผ่นดิน

  • ครูอ้อยเห็นด้วยกับความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง  รักและศรัทธา เลียนแบบกันได้ในส่วนทีดี
  • ครูอ้อยเคยไม่เอาถ่าน..แต่พัฒนากันได้
  • เรียนรู้แต่ไม่ใช่เลียนแบบ...น่านับถือค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่มีบันทึกที่ดีให้ได้อ่าน

บันทึก  ที่ดีดี  มีถมถืด

ขอให้ยืด  การเขียน  เพียรพร่ำสอน

ขอให้ยืด  การเขียน  ให้ถาวร

ครูอ้อยวอน  การสอนอ่าน จากแผ่นดิน

  • โชคดีปีใหม่ค่ะ
  • สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน
  • นู๋ทิมว่านะคะ การที่ถูกหล่อหลอม ซึมซับพฤติกรรมต่างๆมานั้นบางครั้งอาจใช้เวลาที่นานมาก หรือบางครั้งแค่เห็นก็พึงใจเกิดการเลียนแบบทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ  วุฒิภาวะ สภาพแดล้อม พื้นฐานชีวิต และอื่นๆอีกมากมายในแต่ละบริบทของบุคคล...ที่จะหยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในส่วนที่ดีที่เหมาะสมก็ถือเป็นแบบอย่างได้ หรือจะนำมาประยุกต์ บูรณาการ ให้เหมาะสมกับตนเองก็ได้ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ได้เรียนรู้ มากกว่าเลียนแบบ...ถ้าใจเปิดกว้างที่จะมีมุมมองใหม่ๆและมองหาต้นแบบดีๆ...ผู้เป็นต้นแบบ หรือผู้แบ่งปันย่อมเกิดความภาคภูมิใจค่ะ
  • ดีใจค่ะที่ได้มีบันทึกดีๆได้อ่าน

เด็กๆรุ่นใหม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง 

สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการเลียนแบบ

เลียนแบบด้วยหลงในรูป  รส  กลิ่น  เสียง 

เป็นกำลังใจ ในภารกิจที่คุณแผ่นดินทำ 

และยินดีในการเรียนรู้ร่วมกัน    ครับ

ครูอ้อย ที่เคารพ

  • ชอบคุณมากครับกับกำลังใจและถ้อยคำเรียบง่ายแต่งดงามของครูอ้อย
  • ผมต่างหากครับที่กำลังเรียนรู้และซึมซับจากคำแนะนำของครูอ้อย เพราะก่อนเขียน blog คนค้นเคยใน มมส ก็แนะนำให้อ่านที่ครูอ้อยเขียน เพราะจะละมุนละไมอันเป็นลักษณะที่ผมชอบอ่าน  (แต่ยังเขียนไม่ได้)
  • ว่าไป.... ยังอยากเป็นเด็กนักเรียนในห้องครูอ้อยเลยด้วยซ้ำไป

เพราะเขาคงอยากมี  "จุดเด่น" ที่จะ "แตกต่าง"
ยิ่งเพื่อนปรบมือ โห่ร้อง หัวเราะชอบใจ นั่นคือสิ่งที่เขาพึงปรารถนา

ชอบจังค่ะคำนี้...

เพราะมันเป็นแต่เพียงการ "เลียนแบบ"
หาใช่ "การเรียนรู้"  เลยแม้แต่น้อย

"เรียนแบบ แต่ไม่รู้จักที่จะเรียนรู้" เราจึงควรเรียนรู้โดยการถอดแบบเพื่อให้ได้ตัวแบบที่ดี...ดีกว่าที่จะมาเรียนแบบแล้วค่อยเรียนรู้ งง...ใหม? (ยิ้มๆ)

คุณ nutim

  • ก่อนอื่นของคุณครับที่แวะมา ลปรร. และนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ  ซึ่งเห็นด้วยทุกประการ
  • อีกอย่าง,  แท้ที่จริงเราต่างก็ต้องการ "แบบแผน" หรือ "ต้นแบบ" กันทั้งนั้น  เพียงแต่ปัญหาคือขาดการสังเคราะห์ ส่วนที่ดีที่เหมาะสม หรือขาดการประยุกต์ บูรณาการ เท่านั้นเอง  และในช่วงหนึ่งรู้สึกว่าคำว่า "บูรณาการ" นี่แหละฮิตติดชาร์ดกันในสังคมวิชาการเอามาก ๆ เลย
  • และนักเขียนหลายท่านก่อนมีชื่อเสียงเมื่อเริ่มลงมือเขียนก็มาจากการ "เลียนแบบ" กันทั้งนั้น แต่เมื่อทุกอย่าง "ตกผลึกทางความติด" ก็สามารถฉายภาพตัวตนของตนเองได้อย่างน่าชื่นชม  และไม่ลืมที่จะหันกลับไปขอบคุณ "ต้นแบบ"  ที่เคยเป็นแบบแผนและแรงบันดาลใจของนักเขียนเอง

อาจารย์ เม็กดำ 1

  • ผมไม่ปฏิเสธการเลียนแบบหรอกนะครับ แต่ห่วงว่าเลียนแบบจนปราศจากการเรียนรู้เท่านั้นเอง และดูเหมือนนิสิตนักศึกษาอยู่ในวังวนเช่นนี้มากนัก ไม่สามารถแยกแยะ สังเคราะห์ได้

อาจารย์ Vij

  • ขอบคุณในแง่มุมที่ดีมาก ๆ เลยครับ
  • อ่านแล้วก็ยิ้มและก็ยิ้มครับ เพราะยังไงซะเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะ "เลียนแบบ" และ "เรียนแบบ" อย่างชาญฉลาด 
  • ขอบคุณครับ  (ผมก็ยังยิ้ม หรือยิ้มเพราะงงก็ไม่รู้ได้)

 

สวัสดีครับพี่พนัส ผมฉัตร ครับ ผ่านไปประมาณ 6-7 ปี แล้วสินะครับที่เราไม่ได้พูดคุยกัน  ปีใหม่แล้วคงสะบายดีนะครับ 

ป-ระเด็นอยู ่ที่ว่า  การเรียนรู้ หรือการเรียนแบบ เราไม่อาจจะสรุปได้หรอกว่าน้อง ๆเค้าตั้งใจที่จะเรียนแบบหรือจะเรียนรู้ หรือเรียนแบบเพื่อเรียนรู้  แต่เด็กเขารู้โดยตัวของเขาเองว่าจะเขาจะเป็น จะทำ อะไร เพื่ออะไร เหตุผลเท่ากับวุฒิทางอารมณ์ จิตใจ สังคม ที่เด็กพึงจะมี เราเอาตัวและประสบการณืเราเข้าวัดคงวัดยาก เราอยากจะบอกแทบเป็นแทบตายว่าสิ่งใหนควรมิควร แต่ขึ้นอยู่กับเขาว่าจะเลือกทางเดินอย่างไร บางสังคมต้นแบบมีมากมาย แต่แล้วเด็กที่โตขึ้นมาก็แวกแตกหน่อผิดแปลกไปก็มี  อะไรที่ผู้ใหญ่ว่าเหมาะ อาจไม่เหมาะกับเขาครับ เหมือนกับกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเวลาเสนอโครงการขององค์กรนิสิต ผู้ใหญ่มักมีเหตุผลมีคัดค้านต่อความคิดของเด็ำกทั้ง ๆที่โครงการนั้นเด็กเขาร่วมมือร่วมใจกันทำ แต่ผู้ใหญ่มักมองว่า จะมีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลคุ้มค่าหรือไม่ แต่หากไม่สนใจในกระบวนการแก้ไขปัญหาของเด็ก ไม่สนใจว่าเด็กจะเลือกกระบวนการบริหารจัดการอย่างไร ให้เขาเรียนรู้ผมว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าสนองเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ เราต้องการสร้างเด็กมิใช่หรือครับ ถึงแม้วิธีนี้จะมีช่องว่างแต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียอะไรมิใช่หรือครับเพราะ-เรามีองค์กรที่คอยดูแลให้คำปรึกษา  ซึ่งเรามิได้ปล่อยให้เขาเดินเพียงลำพัง

รักและเคารพ

    ฉัตร 

  • ด้วยความระลึกถึงเช่นกัน...และนานแล้วครับที่เราไม่ได้พบเจอและพูดคุยกันเลย
  • ฉัตร ก็ยังข้นและเข้มไม่เปลี่ยน
  • นิสิตจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะโดยวิธีเรียนรู้โดยตรง หรือมีต้นแบบก็แล้วแต่ มันเป็นวิธีการของเขาเอง  ซึ่งเขาต้องลองผิด ลองถูก ด้วยวิธีของเขาเอง นั่นคือสิ่งที่พี่ให้ความสำคัญ
  • พี่จึงย้ำว่า  เขามีสิทธิ์ที่จะรัก หรือศรัทธาใครก็ได้ ปรารถนาที่จะเป็นเหมือนใครก็ได้  แต่อย่าลืมที่จะเรียนรู้อย่างมีจุดยืน รู้จักสังเคราะห์นำมาใช้ให้เหมาะกับตัวเอง เหมาะกับวันและวัยของเขาเองเป็นสำคัญ
  • ประเด็นนี้มาจากที่นิสิตหลายคนเข้ามาคุยกับพี่และชื่นชมตัวเรา อยากเป็นเหมือนเรา...พี่จึงจำเป็นต้องเปรยเป็นกระบวนความดังกล่าวไปแล้ว
  • ขณะนี้  มีกลุ่มแหวกขนบในทางกิจกรรมเยอะแยะไป  พี่ก็ส่งเสริมและให้กำลังใจพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่อยากให้เขาเดินอย่างเดียวดาย กิจกรรมบางอย่างดีมาก แต่ไม่นำเข้าระบบ เราก็เอื้อให้เขาได้ทำ ได้เรียนรู้..ดูอย่างมหกรรมคนอาสาฯ พี่ก็ปล่อยเวทีให้เขาอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเผชิญปัญหาที่เขาจวนเจียนจะไม่ไหว  เราก็เข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน  แต่ไม่ใช่ไปสัมประทานแก้ปัญหาให้ทั้งหมด...
  • ขอบคุณอีกครั้งนะฉัตร  ...ระลึกถึงเสมอ

ได้แวะเวียนเข้ามาอ่าน...ก็พบว่าบันทึกนี้น่าชื่นชมยิ่งนัก...มีผู้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลากหลายมุมมอง ต่อเติมเป็นพลังในการทำงานให้คุณแผ่นดินได้ดีขอแสดงความยินดีและนับถือ 

คุณ  จ๊ะจ๋า

  • ขอบคุณครับที่กรุณาแวะเวียนมาทักทายและให้กำลังใจ
  • ผมมีความสุขกับการได้เที่ยวท่องในเวที ลปรร. นี้มาก  ถึงแม้บางครั้งจะจำกัดด้วยเวลาที่ต้องเขียน bloq
  • แต่ถ้าไม่เขียนสักวันก็เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง ที่สุดก็ลงลืมบางเรื่องราวในวันนั้น ๆ ไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท