คั้งคำถามให้กับตัวเองหรืยัง?


โปรแกรมอัตโมติ

ในชีวิตของคนทุกคนย่อมหนีไม่พ้น “คำถาม” และ “คำตอบ” ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชีวิต คนส่วนมากมักจะมีคำตอบมากกว่าคำถาม คนบางคนมีคำถามมากกว่าคำตอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในขณะที่คนบางคน “มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบ” อันนี้ถือว่าชีวิตเริ่มผิดปกติจากคนทั่วไป แต่...ที่น่ากลัวมากที่สุดคือคนที่ “มีแต่คำตอบ แต่ไม่มีคำถาม”

          คนที่มีแต่คำถาม แต่ไม่มีคำตอบ เป็นที่คน “พยายามคิด แต่ไม่พยายามทำ” ส่วนคนที่มีแต่คำตอบ แต่ไม่มีคำถาม คือคนที่ “พยามยามทำ แต่ไม่พยายามคิด” ซึ่งคนประเภทหลังนี้คงจะไม่แตกต่างอะไรไปจากสิ่งของที่ใครจะหยิบยก เคลื่อนย้ายไปวางที่ไหนก็ได้ จะเป็นคนที่ถูกสภาพแวดล้อมกำหนดชะตาชีวิตตลอดไป

          การดำเนินชีวิตของเราในแต่ละขณะ จะถูกชักนำชี้ชวนด้วยคำถามอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าตื่นนอนแล้วเราควรจะทำอะไรต่อ? ถ้าหิวข้าวแล้วเราจะทำอย่างไร? ทำไมต้องแต่งตัวก่อนออกไปข้างนอก? ทำไมต้องนั่งรถเมล์? ทำไมต้องทักทายคนที่เรารู้จัก? ทำไมเราต้องทำงาน? และอีกหลายแสนหลายล้านคำถามที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา

          คนส่วนมากไม่ได้สังเกตว่าการดำเนินชีวิตถูกลิขิตด้วยคำถาม ทั้งนี้เพราะว่า การตั้งคำถามในกิจกรรมต่างๆ ของชีวิต ถูกบันทึกเป็นโปรแกรมอัตโนมัติของชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นว่าตอนเป็นเด็กเรามักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น? ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่ทำแบบนี้? คำถามเหล่านี้ได้ถูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า และได้รับคำตอบเหมือนๆ กันทุกครั้ง สมองของเราก็จะบันทึกลงเป็นโปรแกรมอัตโนมัติ ที่สามารถตอบคำถามได้ทันที ซึ่งโปรแกรมอัตโนมัตินี้ทำงานเร็วมาก จนเราไม่รู้สึกว่าเป็นกระบวนการของการ “ถาม-ตอบ”

          ถ้าเราขับรถไปบนถนนเส้นหนึ่งที่เราขับอยู่ทุกวี่ทุกวัน พอไปถึงสี่แยกไฟแดง เราไม่เคยหยุดถามตัวเองเลยว่า เราควรจะตรงไป เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แต่...ถ้าเราไม่เคยขับรถมาถนนเส้นนี้เลย เมื่อถึงสี่แยกไฟแดง ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราจะต้องชะลอความคิดนิดนึง เพื่อเจียดเวลาให้กับการตั้งคำถามและการหาคำตอบ ตรงจุดนี้เราสามารถรับรู้กระบวนการ “ถาม-ตอบ” ของโปรแกรมในสมองของเราได้อย่างชัดเจน เพราะภาพของกระบวนการคิด เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตอน และเป็นภาพแบบ Slow Motion เมื่อมีคำถามแล้ว วิธีการหาคำตอบของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจจะคิดตัดสินใจเอาเอง บางคนอาจจะเปิดแผนที่ บางคนอาจจะสอบถามคนที่ผ่านไปมา

          การปล่อยให้ชีวิตมีแต่โปรแกรมอัตโนมัติเกิดขึ้นมากๆ นั้นดีหรือไม่ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ประหยัดเวลาในการคิดตัดสินใจ เพราะมันมีรูปแบบที่แน่นอนอยู่แล้ว เราจะเห็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่สามารถรับรู้และตัดสินสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง นั่นเป็นเพราะเขามีประสบการณ์การถาม-ตอบมามาก และมีครบถ้วนทุกแง่มุมของเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว แต่มันก็มีข้อเสียตรงที่ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป แต่เรายังใช้โปรแกรมอัตโนมัติตอบคำถามในชีวิตอยู่ โอกาสเสี่ยงก็มีมากขึ้น เช่น ทุกครั้งที่เราดับไฟเราจะใช้น้ำมาโดยตลอด วันหนึ่งถ้าเราเห็นไฟไหม้ในสำนักงาน ซึ่งเราหารู้ไม่ว่า ไฟนั้นเป็นไฟที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และยังมีกระแสไฟไหลอยู่ ถ้าเราเอาน้ำไปดับไฟ ตามโปรแกรมถามตอบอัตโนมัติเหมือนกับชีวิตในอดีตที่เคยผ่านมาแล้ว เราอาจจะไม่มีโอกาสดับไฟอะไรอีกต่อไป เพราะไฟนั้นอาจจะดับชีวิตเราเสียก่อน

          คนที่ประสบความล้มเหลวส่วนมาก มักจะเป็นพวกที่ไว้ใจโปรแกรมการถาม-ตอบอัตโนมัติของตัวเองมากเกินไป หรือที่หลายคนเรียกมันว่า อีโก้ (Ego) หรือถ้าพูดง่ายๆ คือ มีความมั่นในตัวเองสูงเกินไปนั่นเอง ความมั่นใจในตัวเองนี้ เกิดจากผลพวงของประสบการณ์ในการถาม-ตอบของชีวิตที่ผ่านมา คนที่เคยคิดและตัดสินใจถูกมาตลอดมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าคนพวกนี้จะไม่ค่อยเชื่อฟังคนอื่น เพราะประสบการณ์เดิมสอนว่าเชื่อตัวเองแหละดีที่สุด โอกาสที่จะตกหลุมพรางของโปรแกรมอัตโนมัตินั้นมีมาก เพราะ “ความประมาท” ชอบมาเยือน เหมือนกับคนที่ขี่จักรยานเก่งแล้ว ถึงแม้ว่าโอกาสล้มนั้นอาจจะมีน้อยกว่าคนที่เพิ่งขี่จักรยานเป็นก็จริง แต่ถ้าล้มแล้วอาจจะเจ็บมากกว่าคนที่เพิ่งขี่จักรยานเป็นใหม่ๆ เพราะไปไว้ใจโปรแกรมอัตโนมัติมากเกินไป เช่น ท่านเคยขี่จักรยานในขณะฝนตกถนนลื่นได้สบายมาก ไม่เคยล้มเลยตลอดชีวิตการขับขี่จักรยาน วันหนึ่งท่านอาจจะล้มด้วยน้ำมันเครื่องที่อยู่บนพื้นถนนเพียงหยดเดียวก็ได้

          สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากข้อคิดให้ท่านผู้อ่านคือ ถึงแม้เราจะดำเนินชีวิตในหลายเรื่องซ้ำๆ ซากๆ ก็ตาม แต่อย่าได้ไว้ใจประสบการณ์เดิมของเราให้มากนัก ลองฝึกคิดทบทวนกระบวนการนั้นๆ ใหม่ทุกครั้ง ก่อนที่จะใช้งาน รวมถึงการหัดตั้งคำถามใหม่ๆ ให้สมองบ้าง เช่น ในขณะที่แปรงฟัน ลองถามตัวเองนิดนึงว่าทำไมต้องแปรงฟัน วิธีการแปรงฟันที่ดีเป็นอย่างไร ทำไมวันหนึ่งเราต้องแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้ง มีฟันซี่ไหนบ้างที่เริ่มผุแล้ว ถ้าไม่ให้ฟันผุเราควรจะดูแลอย่างไร เราไปตรวจเช็คสุขภาพฟันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ยาสีฟันที่ดีที่สุดคือยี่ห้ออะไร ฟันของคนทั่วไปมีกี่ซี่ และฟันของเรามีกี่ซี่ ฯลฯ

          ตัวอย่างนี้จะช่วยให้เราเห็นว่า แม้กิจกรรมเล็กๆ ในชีวิตที่เราทำอยู่เป็นประจำ โดยใช้การสั่งงานของสมองแบบโปรแกรมอัตโนมัตินั้น ยังมีสิ่งที่เราไม่ทราบอีกเยอะมาก ถ้าเราฝึกทบทวนการถาม-ตอบ รวมถึงการตั้งคำถามใหม่ๆ ให้กับชีวิตแล้ว ผมเชื่อว่าคำถามเหล่านั้น จะมาช่วยปิดรอยรั่วของชีวิตในเรื่องนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะคำถามบางคำถามเป็นเรื่องที่ท้าทายความอยากรู้ คำถามบางคำถามเป็นเรื่องที่กระตุ้นจิตสำนึก (Awareness) ให้เราเห็นความสำคัญของมันมากยิ่งขึ้น

          หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านคงจะสามารถนำเอาแนวทางนี้ ไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้บ้างนะครับ

“วันนี้ท่านถามตัวเองบ้างหรือยัง?”

ณรงค์วิทย์ แสนทอง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 705เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2005 02:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท