ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

การจัดการความรู้ในระบบเกษตรประณีต : หมูขึ้นเขียง


เกษตรประณีตเป็นบททดสอบเบื้องต้นในการทำการเกษตรครบวงจรให้สามารถเลี้ยงตนเอง ครอบครัว อีกทั้งสร้างความสุขให้กับคนในชุมชนได้ แต่ทำไมการขยายตัวสู่วงกว้างได้ไม่มากนัก

หมูขึ้นเขียง จากความตั้งใจของผมเอง และทั้งถูกเขี้ยวเข็น ขู่เข็น หรือแม้กระทั่งการหว่านล้อมมาอันยาวนานของอาจารย์ที่ปรึกษาก็ตาม จนแล้วจนรอดความคิดก็ยังไม่ตกผลึกเสียที ทั้งนี้ด้วยความไม่พร้อมด้านกระบวนคิด กลัวผิดอันเนื่องจากความแหลมคมของสติปัญญา และอีกนานัปการ จึงทำให้เนื้อหาสาระที่เป็นวิชาการเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในระบบเกษตรประณีต ยังไม่ขึ้นสู่จอสักที และเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ 2550 แห่งปีหมูนำโชค ซึ่งหมูตัวน้อยๆ ตัวนี้ก็พร้อมที่จะโดนสับเป็นชิ้นๆ แล้วครับ เพื่อจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ถึงอย่างไรตามด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดอาจจะยังถ่ายทอดได้ไม่ดีนัก คงขอพึ่งใบบุญของผู้รู้ทั้งหลายจาก GotoKnow ได้กรุณามาเป็นพลังเสริม และเติมเต็มให้ด้วยนะครับ

พี่น้องครับ....จากที่ผมได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับเกษตรประณีตไปบ้างแล้วนั้น ก็มีเพียงส่วนน้อยที่เข้าใจ และคงมีส่วนมากที่ไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่าการทำเกษตรประณีตคืออะไร เพราะจากข้อมูลที่ปรากฏก็คือว่า เวลาผมไปพูดคุยกับใครถึงเรื่องนี้ทุกคนก็จะถามเพิ่มเติมครับว่าจริงๆ แล้วเกษตรประณีตนี้ต้องทำอย่างไร และนอกจากนั้นยังมีโทรศัพท์มาสอบถามเช่นกันครับว่าคืออะไร และมีวิธีการดำเนินการอย่างไร จึงทำให้ผมได้ตระหนักเพิ่มขึ้นครับว่าเราต้องทำให้ผู้อ่านทุกท่าน และพี่น้องเกษตรกรทั่วไปได้มีความเข้าใจสามารถนำไปปฏิบัติได้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงใคร่ขออนุญาตในการนำเสนอเพิ่มเติมดังนี้ครับ

เบื้องหลังความเป็นมา เกษตรประณีต 1 ไร่ เป็นจุดเริ่มต้นจากแนวความคิดที่มาจากปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพ ของพี่น้องชาวอีสานกันเองที่ต้องเดินทางกลับบ้านโดยไม่มีอะไรติดไม้ติดมือกลับมา จากการไปทำงานต่างถิ่นหลังจากประเทศพบกับภาวะความล้มเหลวทางเศรษฐกิจเมื่อปี พ.. 2540 นอกจากนั้นยังไม่พอแถมมีหนี้สินกลับมาด้วยอีกต่างหาก

บุญยังหนุน หากภายใต้วิกฤติดังกล่าว ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ทุกคนยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ได้ร่วมกลุ่ม และจัดตั้งขึ้นเป็น เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน โดยได้พยายามศึกษารูปแบบการทำเกษตรกรรมโดยไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้งในระบบการผลิต หากยกเอา "ความสุข" ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานพึ่งตนเอง ด้วยการออมน้ำ ออมความอุดมสมบูรณ์ของดิน ออมสัตว์ และออมต้นไม้อย่างยั่งยืน        
เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ได้รวมตัวกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 โดยเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาความรู้จนสามารถพึ่งพาตนเอง และพึ่งพากันเองอย่างสมดุล และมีความสุข กระทั่งทำให้ผู้ที่เข้าร่วมอยู่ในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลายเป็นผู้ที่รวยความสุข และมีอยู่มีกิน

       แต่อย่างไรก็ตาม แม้องค์ความรู้อันเกิดจากการทำเกษตรแบบผสมผสานของปราชญ์ชาวบ้านแต่ละท่านที่สั่งสมกันมาเนิ่นนานนั้น จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานพออยู่ พอกิน มีสุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดีก็ตาม หากทว่ากลุ่มเกษตรกรที่เจริญรอยตามปราชญ์เหล่านั้นมักติดกรอบที่ว่าต้องลงทุนมาก ต้องมีแรงงานมาก จึงจะทำได้สำเร็จ
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว จึงเกิดโครงการวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมอย่างประณีต 1 ไร่ สู่การมีอยู่ มีกิน ลดหนี้ปลดสิน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีทีมปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานเป็นแกนนำในการดำเนินการวิจัย  โครงการดังกล่าวเน้นการนำเอาองค์ความรู้ในการทำเกษตรผสมผสานของปราชญ์ชาวบ้านและให้ผู้นำแต่ละท่านที่ประสบความสำเร็จมาออกแบบการทำเกษตรกรรมอย่างประณีตในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาทั้งปริมาณและชนิดของพืชผักที่ใช้ปลูก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าให้ใช้ประโยชน์ได้จริงในที่ดิน 1 ไร่ นอกจากนั้นยังเกิดองค์ความรู้ในครอบครัว ในชุมชน ตลอดจนในเครือข่ายที่สังกัด พร้อมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้ขยายผลสู่บุคคล และชุมชนอื่น

ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย ปราชญ์ชาวบ้านจากจังหวัดสุรินทร์ พ่อผาย สร้อยสระกลาง จาก จ.บุรีรัมย์ พ่อสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ พ่อคำเดื่อง ภาษี , พ่อทัศน์ กระยอม และปราชญ์ชาวบ้านในภาคอีสานกว่า 20 ท่าน และแต่ละท่านที่ได้เข้าร่วมในกระบวนการวิจัยล้วนกล่าวตรงกันว่า งานวิจัยเกษตรประณีต 1 ไร่ ทำให้คึกคักกระชุ่มกระชวย และเป็นการท้าทายประสบการณ์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกันระดมมันสมอง เอาองค์ความรู้ทั้งหมดย่อลงไปในที่ดิน 1 ไร่ ย่นเวลาทั้งชีวิตเพื่อเป็นวิทยาทานแก่เกษตรกรรุ่นหลัง ๆ และอยากให้เกษตรรุ่นใหม่ลองนำไปปฏิบัติต่อไป ครั้นได้ผลและมีความเชี่ยวชาญในการผลิตก็สามารถขยายกำลังการผลิตต่อไปได้

ในแนวทางการศึกษาดังกล่าวเป็นโจทย์ใหญ่ที่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ต้องร่วมกันขบคิดในการดำเนินการครั้งนี้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด การจัดการเรื่องดิน เรื่องระบบน้ำ และระบบการปลูกพืชที่เอื้อประโยชน์ต่อกันอันจะรวมถึงเรื่องของการจัดการแสงที่ต้องเพียงพอในระบบการผลิตด้วย

ก้าวต่อไป อย่างไรก็ตามจากแนวทางการวิจัยเรื่องการทำเกษตรกรรมอย่างประณีตในพื้นที่ 1 ไร่ ในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปี ของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานที่ผ่านมา ก็นับว่ามีความคืบหน้าและประสบความสำเร็จไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบการจัดการน้ำ ระบบการปลูกพืชที่มีความสอดคล้องกับแสง อีกทั้งยังไม่สามารถขยายผลได้อย่างกว้างขวางมากนัก จากข้อข้องใจเหล่านี้จึงมีคำถามอยู่ว่า แล้วเราจะช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำเกษตรกรรมอย่างประณีตในพื้นที่ 1 ไร่ ให้มีรูปแบบที่เหมาะสม และสามารถขยายไปสู่วงกว้างได้อย่างไร

โปรดติดตามตอนต่อไป….

ขอบคุณมากครับ

อุทัย อันพิมพ์

1 มกราคม 2549

หมายเลขบันทึก: 70487เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วทราบหรือยังว่า

  • บ้านอยู่ตรงไหน
  • ทางเข้า ทางออก
  • ห้องน้ำ ห้องนอน
  • ห้องอาหาร ห้องพักผ่อน
  • หน้าบ้าน หลังบ้าน
  • ประตูบ้าน รั้วบ้าน
  • เพื่อนบ้าน กฎ กติกา มารยาท ในการอยู่บ้าน
  • คนอื่นมองบ้านเราอย่างไร

มีเรื่องเยอะเลย ต้องคุยกัน "ในบ้าน"

แต่ ต้อง "กลับบ้าน" ก่อนครับ

มาช่วนกันสร้าง ทำให้ดี น่าอยู่

ไปแต่ที่อื่น ไม่มองบ้าน

แล้วบ้านจะดี จะสวย จะน่าอยู่ได้อย่างไร

  • หรือ จะไปเช่าเขาอยู่
  • หรือ จะอยู่โรงแรม
  • หรือ จะซื้อเต้นท์กางเอา
  • หรือ จะนอนข้างถนน ตามคบไม้ กิ่งไม้ (อย่างที่เป็นอยู่)
  • หรือ จะไม่นอนเลย เดินอย่างเดียว

จะได้ไม่ต้องถามบ่อยๆ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

กำลังหาทางกลับบ้านครับ แต่กลับไม่ถูก

ด้วยความเคารพ

อุทัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท