ฟื้นภูมิปัญญาพื้นบ้าน: การฟื้นฟูคนเจ็บไข้ได้ป่วย


ผู้เล่าเรื่อง: เครื่องหมาย ? คำถามเดียว

     คนเจ็บป่วยที่ป่วยอยู่นานๆ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “นอนเท่” นั้นกินอะไรไม่ได้ ถึงแม้ความเจ็บป่วยทุเลาลงแล้วด้วยยาหม้อตามชนิดของโรค เช่น โรคมาลาเรีย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไข้พิษหนี” เมื่อเชื้อไข้ลดน้อยลงหรือหมดไป แต่คนไข้ยังนอนซม หรือนอนที เดินเหินไม่ได้ เป็นระยะฟื้นฟูทำอย่างไรให้กินข้าวได้ อาหารอะไรก็กินไม่ได้ มันขมปากขมคอไปหมด ถ้าฝืนกินเข้าไปก็อาเจียนออกหมด หรือที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า “อะไรตกถึงท้องก็อ้วกหมด” แถมเอาของเก่าออกมาด้วย อาเจียนแต่ละครั้งเสียพลังมาก เมื่อพ่อ (ผู้เขียน) ยังเด็ก ๆ จำได้ บางคนผอมโซ คนพื้นบ้านแถวนั้น ถ้าเป็นคนในบ้านพ่อก็เป็นหน้าที่ของปู่ (พ่อผู้เขียน) จะจัดหาของมาแก้มาฟื้นฟู ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง เช่น

     อันดับแรกก็หาลูกยอบ้าน (ยอมีสองชนิด ยอบ้านกับยอเถื่อน ยอบ้านใบใหญ่ ลูกก็ใหญ่ ส่วนยอเถื่อนตรงกันข้าม) แก่จัดๆ เกือบสุก (สุกนิ่มแล้วก็ได้) เอามาย่างไฟให้สุกกรอบหอมแล้วเอาไปต้มกับน้ำ ใช้น้ำมาก ๆ หน่อย เพราะใช้ดื่มแทนน้ำดื่มตลอดเวลาที่กระหาย งดน้ำอย่างอื่นไปเลย ต้องใช้เวลาระหว่างนี้ มีอะไรดีๆ ก็เอามากินเสริมแทรกได้ น้ำลูกยอใช้ดื่มแทนน้ำ แก้อาเจียน ช่วยให้เจริญอาหาร คือกินข้าวได้ น้ำลูกยอสีสวยน่ากินเหลืองอ่อนๆ แต่รสของมันเอียนปะแล่มๆ ภาษาชาวบ้านว่า “เอื้อนเคลื่อนอก” คลื่นไส้นั่นเอง

     อันดับที่สอง น้ำกล้วย อันนี้สำคัญ ให้พลังงาน อร่อยด้วย ชุ่มคอชื่นใจ กระปี้กระเปร่า คนไม่ป่วยก็อยากกิน ต้องใช้กล้วยน้ำสุกแต่ไม่งอมมากนัก เนื้อไม่เละคั้นเอาน้ำง่ายกว่าที่สุกงอม ต้องพิถีพิถันในการทำ พ่อเคยถูกปู่ดุในเรื่องคั้นน้ำกล้วยมาแล้ว ขั้นตอนคือ เอากล้วยน้ำ (กล้วยอื่นไม่ใช้) สุกมาหนึ่งหวีตัดออกจากหวีแล้วล้างให้สะอาด ลอกเปลือกที่ผิวบางๆ ออก เปลือกชั้นในคงไว้เพื่อช่วยในการสกัดน้ำออกจากเนื้อกล้วย (1 หวีจะได้ 1 แก้วโดยประมาณ) และหารกมะพร้าว (ส่วนที่บางๆ คลายผ้าตาข่ายที่หุ้มยอดออกมา) หรือไยพด (เส้นใยของเปลือกลูกมะพร้าวทุบเอาผงฝุ่นออก) ทำความสะอาดใช้อย่างหนึ่งอย่างใด เอากล้วยทั้งหมด (1 หวี) ที่ลอกผิวเปลือกออกแล้วใส่ในกะละมัง ขยำด้วยรกมะพร้าวหรือไยพดจนเละ ขยำต่อจนเหนียวหนืด (ถึงขั้นตอนนี้เมื่อยเต็มทนแล้ว) ขยำต่อจนแห้งคือเนื้อกล้วยเริ่มจับเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายขี้มัน เริ่มเห็นน้ำกล้วยซึมออกมานิดๆ ต้องขยำต่ออีก พ่อถูกปู่ดุก็ตอนนี้มันเต็มแล้วเมื่อยจนทนไม่ไหวแล้วปู่จึงเอาไปขยำต่อ ขยำจนน้ำเยิ้มออกมาจึงปั้นเหมือนปั้นกะทิ ต่างกันแต่ว่า กะทิใช้น้ำช่วยปั้นหรือคั้นกล้วยใช้น้ำไม่ได้ ต้องน้ำกล้วยบริสุทธิ์จริงๆ เมื่อค้นเอากากออกแล้วจะได้น้ำกล้วยสีเหลืองขุ่น เพราะยังปะปนอยู่ด้วยฝุ่นรกมะพร้าวหรือไยพดและเศษเนื้อกล้วย ขั้นตอนสุดท้ายก็เอาผ้าขาวที่สะอาดมากรอง จะได้น้ำใสแจ๋วสีเหลืองน่ากิน อร่อยจริงๆ แก้วหนึ่งทำให้มีพลัง คนป่วยดีขึ้นเยอะ พอเพียงสำหรับหนึ่งวัน (ต้องเน้นความสะอาดทุกขั้นตอนในการทำ จึงจะได้น้ำกล้วยที่บริสุทธิ์สะอาดจริงๆ) ส่วนน้ำลูกยอนั้นกินเรื่อยๆ ต่างน้ำดื่ม

     อันดับที่สามก็มะพร้าวหวาน ซึ่งมะพร้าวหวานเป็นอาหารคนป่วยที่พักฟื้น ถ้าดูเผินๆ เหมือนมะพร้าวทั่วไป แต่เป็นที่สังเกตได้เฉพาะคนที่เชี่ยวชาญเท่านั้น พ่อเองก็สังเกตไม่รู้เคยรู้เคยเห็นเคยกินก็ที่เขาเอามาให้เท่านั้น ก็ลูกสีเขียวเหมือนมะพร้าวทั่วไป ให้คนป่วยหรือให้เด็กกินเล่นก็ลูกอ่อนๆ ที่ยังไม่มีเนื้อในกะลาอ่อนกรอบเคี้ยวกินอร่อยเรียกว่า “เหมงพร้าว” ที่เปลือกข้างในส่วนขั้วเรียกว่า “หัวพร้าว” ก็กรอบอร่อยเช่นกันเจือด้วยรสหวาน ที่เปลือกรอบๆ กะลาซึ่งฉ่ำน้ำเคี้ยวดูดนั้นแหละ ส่วนหวานของมัน รสหวานอ่อนกลิ่นหอมด้วย คนป่วยกินแล้วชื่นใจ ส่วนที่กรอบเคี้ยวกินสบาย ส่วนที่เหนียวหน่อยเคี้ยวดูดน้ำหวาน คนไม่ป่วยก็ชอบ เด็กก็ชอบ แต่เป็นของหายาก เขาจึงยกประโยชน์ให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะตอนพ่อเด็กๆ เห็นมีที่บ้านลุงเฉิมพี่ของแม่ต้นหนึ่ง เวลาพ่อไปบ้านลุงทีไรต้องอ้อนให้ลุงเก็บให้เสมอ



ความเห็น (5)
สวัสดีปีใหม่นะค่ะพี่ชายขอบ มีความสุข สมหวังทุกประการตลอดปี 2550

คุณน้อง kamom

     ขอบพระคุณมาก ๆ นะครับ เช่นกันนะพรใดที่ส่งมาให้ ขอจงส่งผลกลับด้วยพลังและแรงอีกหลายเท่าทวีครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ ท่านอาจารย์ ชายขอบ ขอให้มีความสุขนะครับ

พี่ชาญวิทย์ ครับ

     ขอบพระคุณนะครับ สำหรับพรปีใหม่ ยังไงก็ขอให้สะท้อนไปยังคนดีเช่นพี่ชาญวิทย์สักหมื่นเท่านะ

สวัสดีปีใหม่ด้วยคนนะครับ  ถึงจะช้าสักหน่อย  คงไม่ว่ากันนะครับ  กลับมาแล้วครับ  หลังจากหายไปนาน  ยอมรับว่า  ยังระลึกถึงชาว gotoknow เสมอครับ  ขอให้สุขภาพแข็งแรงตลอดไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท