หมั่นไส้วิทยา กับ ชื่นชมวิทยา


มิติด้านจิตวิญญาณ และอารมณ์ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพราะเป็นพื้นฐานของชีวิตที่มีความสุข และเป็นพื้นฐานของคนดี

หมั่นไส้วิทยา กับ ชื่นชมวิทยา

         ท่านที่มีลูก อยากให้ลูกเรียนจบสาขาไหน     ระหว่างหมั่นไส้วิทยา กับ ชื่นชมวิทยา

        ผมได้รับรู้จาก Gotoknow ว่า มน. กับ มอ. (และ มทษ.) ช่วยกันเพาะหน่ออ่อนวิชาชื่นชมวิทยา ขึ้นในหมู่นักศึกษาแล้วชื่นใจ      ใครยังไม่ทราบเรื่องอ่านได้จาก     http://gotoknow.org/blog/immunoglobulin/70208http://gotoknow.org/blog/immunoglobulin/70281, http://gotoknow.org/blog/student-affair-psu/69216, http://gotoknow.org/blog/beever/66587, เป็นต้น

        การนำเอาเรื่องราวดีๆ ในกิจกรรมนักศึกษา  การอยู่ร่วมกันในหอพักนักศึกษา    เรื่องราวการร่วมกันทำดีแก่ผู้อื่น แก่สังคม    มา ลปรร. กัน     ชื่นชมยินดีต่อกัน     ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนรู้จากกิจกรรม และการเรียนรู้จากการอยู่ร่วมกันเท่านั้น     แต่ยังมีมิติที่ลึกกว่านั้น    คือมิติด้านจิตวิญญาณ และอารมณ์

        มิติด้านจิตวิญญาณ และอารมณ์ เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้    และเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้     เพราะเป็นพื้นฐานของชีวิตที่มีความสุข     และเป็นพื้นฐานของคนดี     แต่มหาวิทยาลัยมักไม่เอาใจใส่     หรือเข้าใจผิดว่าสอนไม่ได้    ทำได้อย่างเดียวคือทำตัวอย่างให้เห็น     สร้างแบบอย่างที่ดี (role model) ให้เลียนแบบหรือเอาอย่าง      แล้วพวกอาจารย์ก็จะท้อ ว่าในสังคมนี้ตัวอย่างที่เลว มันมีมากกว่าตัวอย่างที่ดี 

         วิธีคิดแบบ role model มีสมมติฐานว่านักศึกษาอยู่ในสังคมที่ทำให้บริสุทธิ์ได้โดยการควบคุม     ซึ่งไม่มีวันเป็นจริง     พวกเราทุกคนอยู่ในสังคมที่มีทั้งความดี และความชั่วร้าย อยู่ในที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน (และบางที่ก็อยู่ในเรื่องเดียวกัน)    แต่พวกเราที่อยู่มาจนแก่ และมีชีวิตที่ดี พอจะรู้ว่าเพราะเราโชคดีที่เรียนรู้ "วิชากรองสถานการณ์" ด้วยตนเอง      เรารู้จักซึมซับเฉพาะด้านดีของเรื่องนั้นๆ     มีชีวิตเกี่ยวข้องกับมิติด้านดี     ไม่เอาใจใส่ หรือหลีกเลี่ยงมิติด้านชั่ว     นี่คือการเรียนรู้ด้านอารมณ์ และด้านจิตวิญญาณ ที่พวกเราได้เรียนรู้ โดยไม่รู้ตัว      ผมเรียกว่าเป็นการเรียนรู้โดยเลือกซึมซับ     เรียนรู้เอาเอง

         มหาวิทยาลัยช่วยส่งเสริม "การเรียนรู้โดยเลือกซึมซับ" ได้ไหม     ทำอย่างไร

         คำตอบของผมคือ ได้    ทำโดยใช้กระบวนการ KM เป็นเครื่องมือ     ทำอย่างไร คำตอบอยู่ในบันทึกที่แนะนำข้างต้น

        ผมตีความว่า การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังความเป็นคนดี สอนกันไม่ได้     แต่เรียนรู้ได้  ส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ได้     เป็นเรื่องที่ต้องเรียนจากชีวิตจริง จากของจริง เรื่องจริง      และเรื่องจริงที่มีพลังที่สุดต่อการเรียนรู้ คือเรื่องจริงของตนเอง หรือมีตนเองร่วมเป็นตัวแสดงอยู่ด้วย   

        ดังนั้น การจัดเวที ลปรร. เรื่องราวดีๆ จากการมีชีวิตร่วมกันของนักศึกษา     นำมาชื่นชมยินดีต่อกัน    จึงเป็นแรงกระตุ้น "หน่ออ่อนของอารมณ์ชื่นชมผู้อื่น" ให้งอกงาม     ซึ่งจะไปเบียดให้ "หน่ออ่อนของอารมณ์หมั่นไส้ผู้อื่น" ให้ลีบเล็กลง     เท่ากับเป็นการปลูกฝังพื้นฐานทางอารมณ์ของนักศึกษา     และเป็นการสร้างทักษะในการสร้างสุขทางจิตวิญญาณ นั่นเอง

        ขอเชิญชวนท่านที่มีประสบการณ์ตรง ในการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาบ่มเพาะ "ชื่นชมวิทยา" ขึ้นในตนเอง     เล่าประสบการณ์ครับ

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 70470เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ  ที่ช่วยโปรโมท
ขอโปรโมทต่อเลยนะคะ     จะเขียนเรื่องเล่าดีๆ ในวงสนทนาที่นักศึกษาเล่าถึงเรื่องดีๆ  เรื่องที่ภูมิใจ  ของหอพักของตัวเอง    อีกประมาณ 8 เรื่อง (เป็นอย่างน้อย)  
ติดตามอ่านได้ที่
.
เรื่องเล่าพวกนี้  ถ้ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก   ก็จริงค่ะ    แต่เป็นเรื่องเล็กที่มีประเด็นซ่อนอยู่     มีนักศึกษาหญิงอยู่ 2 คน  มาจาก ม.อ. ปัตตานี    หลังจากเล่าถึงกิจกรรมของหอพักแล้ว    เขาเล่าเลยไปถึงเรื่องทำบุญหอพัก    เพื่อนๆ ถามกันใหญ่เลยว่า   แล้วมีปัญหาเรื่องศาสนามั๊ย   ที่ต้องมีพิธีกรรมทางศาสนาแบบนี้   เจ้าตัวตอบว่า  ไม่เห็นมี   เรื่องพิธีกรรมทำทุกศาสนาอยู่แล้ว (แยกกันทำ)    ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นบริจาค   ทำได้ทุกศาสนา   และ.....
.
ขอเก็บไว้เล่าต่อในบล็อก เรื่องเล่าชาว Igs  นะคะ

  ทุกศาสตร์มีจุดดีจุดด้อย ขึ้นอยู่กับคนใช้ด้วย ว่าก่อนใช้กรองสถานการณ์แล้วหรือยัง ใช้ถูกจังหวะ ทุกเวลา ถูกอารมณ์รึเปล่า แต่เท่าที่ติดตามหลักธรรมทางศาสนา ดูเหมือนจะไม่มีเรื่องหมั่นไส้ศาสตร์ มีแต่เมตตากรุณา

หรือว่าวิชาหมั่นไส้ศาสตร์ จะเป็นวิชาฝ่ายอธรรม

เราก็ไม่ทราบว่าสังคมมนุษย์เมื่อ 2,500 ปี เป็นยังไง

แต่เมื่อเชื่อในบารมีของพระพุทธองค์ ก็เชื่อว่าการเลือกใช้ศาสตร์คงเหมาะสมที่สุดแล้ว แม้แต่ในกรณีขององค์คุลีมาร

สังคมทุกวันนี้เปราะบาง มิติทางสังคมอ่อนเปลี่ย การให้กำลังใจถือเป็นโอสถขนาดแรกที่จำเป็นต้องใช้สำหรับคนไข้ที่ชื่อว่าคุณสังคมที่กำลังเป็นลมชักหน้าไม่ถึงหลัง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท