วิธีฝึกการทำงานและฝึกนิสัยเด็ก


ไม่มีวิธีการสำเร็จรูป แต่สิ่งสำคัญคือตัวตนของครู ที่จะต้องเป็นมนุษย์ ที่ยืนสอนหรือนั่งสอนเด็กอย่างมีจิตสำนึกตระหนักจริงๆ เด็กๆจะเห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้าเป็นความถี่ซ้ำๆ จนเกิดความมั่นใจ และจะเริ่มทำสิ่งใดๆอย่างมีจิตสำนึกตระหนักไปเอง

 (5)

วิธีฝึกการทำงานและฝึกนิสัยเด็ก

แบบที่ 1 ทำโดยหน้าที่


ดิฉันจัดทีมปฏิบัติงานประจำสัปดาห์ ทุกสัปดาห์ไม่มีเว้น ถึงจะอยู่มหาวิทยาลัย ก็ไม่อนุญาตให้มีนักศึกษาหลีกหนีงานเล็กๆที่ต้องทำด้วยน้ำใจ   

ก่อนถึงชั่วโมงเรียน ทีมต้องมาขนข้าวของบรรดามีไปที่ห้องเรียน อย่างไม่มีอะไร ดิฉันก็แปะโน้ตบอกไว้ว่า วันนี้ไม่มีอะไรจ้ะ ไม่ต้องขน พูดง่ายๆว่าจะไม่มีวันใดที่เธอจะไม่ต้องรับผิดชอบหน้าที่เป็นอันขาด


แบบที่ 2 ทำโดยสถานการณ์


อันนี้เป็นแบบบังเอิญ (แล้วเธอหลบไม่ทัน)เช่นเห็นครูเดินถือถุงพุงป่องน่องทู่(ขอโทษค่ะกลอนพาไป) ถ้าเธอเห็นตำตาแล้วยังเดินเฉย และดิฉันศึกษาเธอจนแน่ใจแล้วว่าเธอมีนิสัยเช่นนั้นจริงๆ ดิฉันก็จะพูดว่า

"อาจันฮ้า หนูช่วยถือมั้ยฮ้า...!"


ถ้าเธอหัวเราะอายๆแล้วเดินมาช่วยถือ ดิฉันก็จะบอกว่า "ไม่เป็นไรจ้า ครูถือได้"


ถ้าเธอปล่อยมือ ดิฉันก็จะพูดต่อว่า "อาจันฮ้า ..ให้หนูช่วยเถอะฮ่า..!" ..และถ้าเธอทำท่าจะช่วยต่อ คราวนี้ดิฉันก็จะยอมให้เธอช่วยแต่โดยดี(เพราะที่จริงก็หนักชะมัด)

 

และบอกเธอว่า "ถ้าจะช่วยครูถือ คุณก็ช่วยเลย นิสัยครูชอบทำอะไรเอง ถ้าคุณเต็มใจจะช่วย ..ก็ขยับตัวให้ไวอีกนิดนึงนะ .....น่ารักมากลูก...."
แล้วดิฉันก็จะยิ้มให้เธอ 1 ที ด้วยความรัก
 

บางครั้ง สีหน้า สายตา ท่าทาง การสัมผัสด้วยความอ่อนโยน ด้วยความรัก ก็สื่อความหมายได้อย่างนุ่มนวล กระทบใจผู้รับสารมากกว่าการพูดปาวๆๆๆเสียอีก

(ปล.ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่าง และในสถานการณ์จริงมีปริบทมากมายที่ดิฉันไม่สามารถเล่าได้หมด เลือกมาเฉพาะประเด็นสำคัญนะคะ)

 


ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เด็กที่เห็นดิฉันถือของจำนวนหนึ่งก็จะวิ่งกรูเกรียวมาแต่ไกล ทั้งที่แต่เดิมเธอจะไม่กระตือรือร้นอะไร 
 

ส่วนอีกจำนวนหนึ่ง (ซึ่งไม่อาจคะเนปริมาณได้) ก็ไม่ได้เดือดร้อนใจที่เห็นครูเดินถือของพะรุงพะรังแต่อย่างใด ตามทฤษฎีที่ว่า ลางเนื้อชอบลางยา


แบบที่ 3 ครูทำ
 

ตามนั้นเลยค่ะ ครูต้องทำ ถ้าครูทำอะไรก็ตามอย่างมีจิตสำนึก วงเล็บ อย่างแท้จริง เด็กก็จะเห็นจริง แล้วก็อยากทำตาม เพราะศรัทธาในสิ่งที่ครูทำ

เช่นไม่อยากให้เด็กมาสาย ครูก็ต้องมาตรงเวลา (ดิฉันเคยมานั่งหาวหวอดๆรอสอนแต่เช้าเพราะไปลั่นวาจาไว้ว่า ครูจะไม่ผิดเวลา เทอมนั้นมีสอนเช้าเลยได้นั่งหาวหวอดๆทั้งเทอม)


ผลที่เกิดขึ้น เด็กจำนวนหนึ่งมานั่งรอก่อนไก่โห่ ดิฉันเลยมีเพื่อนร่วมนั่งหาวหวอดๆตลอดเทอม เวลาเช็คสาย ไม่มีใครอ้าปากหาวเอ๊ยอ้าปากเถียงแม้แต่คนเดียว

ถ้าต้องการฝึกเด็กให้มีมนุษย์สัมพันธ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ครูก็ต้องปฏิบัติตนให้มีมนุษย์สัมพันธ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้เด็กเห็นกับตาว่านี่คือสิ่งดี พึงทำ เป็นต้น

 

และ ปล.อีกครั้ง ขอเสริมว่า ไม่มีวิธีการสำเร็จรูปค่ะ แต่สิ่งสำคัญคือตัวตนของครู ที่จะต้องเป็นมนุษย์ ที่ยืนสอนหรือนั่งสอนเด็กอย่างมีจิตสำนึกตระหนักจริงๆ เด็กๆจะเห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้าเป็นความถี่ซ้ำๆ จนเกิดความมั่นใจ และจะเริ่มทำสิ่งใดๆอย่างมีจิตสำนึกตระหนักไปเอง

 

หมายเลขบันทึก: 70463เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับ อาจารย์สุขุมาล

         ผมเคยอ่านเจอในสารคดี ซึ่งคุณประดิษฐ ประสาททอง ได้พูดไว้อย่างน่าคิดว่า

"การถ่ายทอดความรู้จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง มันมีทั้งการสอนโดยตรง การฝึก การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้..."

         ผมมองว่าในแบบที่ 2 (ทำโดยสถานการณ์) นั้น อาจารย์ได้สร้างบรรยากาศโดยใช้อารมณ์ขันเป็นจุดเริ่ม นับเป็นกุศโลบายอันยอดเยี่ยมครับ :-)

         อีกจุดหนึ่งที่อาจารย์สรุปไว้โดนใจมากก็คือ "บางครั้ง สีหน้า สายตา ท่าทาง การสัมผัสด้วยความอ่อนโยน ด้วยความรัก ก็สื่อความหมายได้อย่างนุ่มนวล กระทบใจผู้รับสารมากกว่าการพูดปาวๆๆๆ เสียอีก"

         ที่ผมว่าโดนใจ เพราะมีอย่างน้อย 3 แง่มุมครับ

  • นักจิตวิทยาบอกว่า คนเรานั้นสื่อสารกันด้วย non-verbal communication > verbal communication (จริงหรือไม่ ผมก็ยังไม่แน่ใจ แต่มีแนวโน้มออกจะเอียงไปทางเชื่อซะมากกว่าครับ)

 

  • คำว่า "กระทบใจผู้รับสาร" นี่สำคัญเหลือเกิน เพราะคนเราจะจำเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึก (ไม่ว่าจะชอบ ไม่ชอบ รัก ตกใจ ฯลฯ) ได้ดีกว่าเหตุการณ์ทั่วๆ ที่ไม่ค่อยมีอารมณ์เกี่ยวข้อง

 

  • ผมมีเหตุการณ์หนึ่งที่อยากเล่าไว้ คือ ตอนเรียนที่ต่างประเทศ ผมได้เข้าไปนั่งฟังในชั้นเรียนของนักศึกษา ป. ตรี ในวิชาหนึ่งด้วย

          สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในครั้งก่อนหน้านั้น อาจารย์ได้บอกล่วงหน้าให้ทุกคนอ่านเตรียมมาก่อน

          พอถึงต้นชั่วโมงถัดไป อาจารย์เริ่มต้นโดยการถามว่า มีใครอ่านมาบ้างไหม...ปรากฏว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยกมือ

         เท่านั้นแหละครับ ท่านก็ปิดแฟ้ม แล้วพูดสั้นๆ แต่ดังมากว่า "Class over." แล้วก็เดินออกจากห้องไป แถมปิดประตูเสียงดังปัง!....ทั้งห้องเงียบกริบ

         พอถึงครั้งหลังจากนั้น ปรากฏว่าคราวนี้ทุกคนอ่านเตรียมพร้อมมาก่อน และการเรียน-การสอนก็ดำเนินไปด้วยดี

         เรื่องสุดท้ายที่เล่ามานี้ไม่ได้หมายความว่า ผมคิดว่าการใช้อารมณ์แบบรุนแรงเป็นเรื่องดีนะครับ แต่นานๆ ใช้ที โดยมีเหตุอันควร ก็ได้ผลมากทีเดียว (นั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมเห็นอย่างนั้น)

         ก็เลยเล่าให้อาจารย์ฟัง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเกี่ยวกับการสื่อสารแบบผสมผสานระหว่าง verbal + non-verbal communicaiton ครับ :-)

 

ขอบพระคุณมากค่ะ อาจารย์ ดร.บัญชา ที่เล่าเรื่องเชื่อมโยงกับทฤษฎีการสื่อสารได้อย่างเห็นภาพ  

 ดิฉันขำตัวเองอย่างหนึ่งว่าเวลาสอนเนื้อหาวิชาตามหนังสือ   เด็กก็จะหาวหวอดๆกันสุดชีวิตทุกที  เป็นเหตุการณ์ที่มีอารมณ์เบื่อมากถึงมากที่สุดเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ โดยที่ดิฉันมิได้เจตนาเลย....

เห็นทีว่าเธอจะจำกันไปนานอ่ะค่ะ.....   *_*

  

 

สวัสดีครับ อาจารย์สุขุมาล

       ผมเคยไปเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ มีอยู่วิชาหนึ่งที่อาจารย์ประจำวิชา (เป็นเพื่อนรุ่นน้อง) บอกผมว่าให้ "สอนอะไรก็ได้"

       ผมงงๆ นิด ถามกลับว่า "จริงๆ นะ?"

       เขาบอกว่า เอาเลยพี่ เป็นเด็กปี 4 ภาควิชาวัสดุศาสตร์นะ

      ลองมาคิดดูนี่ เด็กปี 4 ก็น่าจะเรียนวิชาต่างๆ มาตามระบบเยอะแยะไปหมดแล้ว แล้วผมจะสอนอะไรดีละ?

      ก็เลยเอาความต้องการของเด็กเป็นตัวตั้งครับ คือ มองว่า เด็กมหาวิทยาลัย พอถึงปี 4 ก็จะคิดอยู่ 2 เรื่องหลักๆ (ไม่นับเรื่องความรักของพวกเขานะครับ :-)) คือ หางานทำ หรือไม่ก็เรียนต่อ

      ผมก็เลยจัดกิจกรรมทำนองนี้ครับ

              - จำลองสถานการณ์การสัมภาษณ์งาน : สำหรับคนที่คิดจะไปทำงาน (เรื่องนี้มีรายละเอียด ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งแล้ว)

              - เชิญรุ่นพี่ (ของพวกเขาเอง) ที่มีประสบการณ์การทำงาน มาเล่าให้ฟัง รุ่นพี่ของพวกเขานี่อย่างน้อยจะมีอายุมากกว่าเด็กนักศึกษาราว 5-10 ปี

              - ให้เขาเขียน CV / ประวัติแนะนำตนเอง เผื่อใช้ในการเรียนต่อ / สัมภาษณ์งาน

 

ยังมีต่อครับ...เดี๋ยวส่งไปใหม่ :-)

อาจารย์ครับ

          แต่มีอยู่กิจกรรมหนึ่งครับที่ได้ผลน่าสนใจ คือ  ผมให้เขาแบ่งกลุ่มนำเสนอประเด็นที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า (เช่น พูดถึงเรื่องอะไรสักเรื่อง วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอะไรสักอย่าง ฯลฯ)

          ผมบอกเขาไปว่า เอาละ เรามีประเด็นอย่างนี้นะพวกเธอไปค้นคว้ามา แล้วลองเลือกแง่มุมที่คิดว่าน่าสนใจ หรือเป็นประโยชน์มานำเสนอ

         แต่ในการนำเสนอนี่ พวกเธอจะใช้วิธีการอะไรก็ได้ ภายใต้เวลาที่กำหนด (เช่น กลุ่มละ 10-15 นาที) เช่น

         - ออกมาพูดหน้าชั้น (แบบเรียบๆ)

         - เล่นเป็นละคร

         - โต้วาที ฯลฯ

        แล้วให้เวลาไปคิด 1 สัปดาห์

        ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ก็ออกมาพูดเล่าเรื่องแบบธรรมดาครับ มีแซวกันสนุกๆ บ้าง

         แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่ง เขาถือถุงกระดาษใบใหญ่มาด้วย...คนก็สงสัยว่า เอ๊ะ! มาทำอะไรนี่?

         พอถึงเวลา กลุ่มนี้เขาเล่น ละครหุ่นมือ ครับ มีตัวละครอยู่ 3-4 ตัว มีบทพูดคุยสนทนากัน คนพากย์นี่ก็ตีบทแตกครับ เล่นจน 'อิน' ไปกับเรื่อง ทำให้คนดูเพลิดเพลินไปด้วย เรียกเสียงฮาได้เป็นระยะ

         เมื่อวานนี้ ได้ฟังสัมมนาจากอาจารย์ คุณหมอวิจารณ์ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่อาจารย์หมอบอกว่า

         "คนเราจะเรียนรู้ได้สูงสุดหากต้องสอนคนอื่น"

         ผมยังไม่แน่ใจว่าจริงหรือเปล่า แต่เรื่องเด็กคิดกันเอง เล่นกันเอง ดูกันเอง โดยมีครูเป็นคนสร้างเงื่อนไข & บรรยากาศ ก็ได้ผลในบางกรณีเหมือนกันครับ :-) 

สวัสดีค่ะ อาจารย์บัญชา

ดิฉันมาตั้งต้นเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร อีกครั้งในบันทึกนี้  เพราะรู้สึกว่าเป็นมงคลดี  : )

อาจารย์ทิ้งท้ายไว้ด้วยประโยคของ อาจารย์ คุณหมอวิจารณ์  ที่เป็นมงคลมากนะคะ    "....คนเราจะเรียนรู้ได้สูงสุดหากต้องสอนคนอื่น....."   ได้ยินอย่างนี้แล้ว   ทำให้รู้สึกว่าการสอนมีคุณค่าลึกซึ้ง  ทำให้เราได้เรียนรู้ อย่างระลึกรู้ไปตลอดทั้งกระบวนการ

ไม่ใช่สอนเพราะลุ่มหลงลำพองในความรู้  แต่เป็นการสอนเพื่อพัฒนา  ขณะที่เราช่วยให้เขาพัฒนาความรู้  ตัวเราก็ได้พัฒนา "กระบวนการเรียนรู้" ของตัวเองไปด้วย

อยากเรียนอาจารย์บัญชาว่าดิฉันรู้สึกขอบพระคุณอาจารย์อยู่เสมอ  เมื่อได้เข้ามาในโลกการสื่อสารใบนี้   เพราะบทสนทนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการพูดคนเดียวสองครั้ง  : )

ดิฉันต้องขออภัยอย่างสูง ที่ไม่ได้ตอบความคิดเห็นของอาจารย์ในบันทึกนี้เป็นเวลานานนะคะ  ดิฉันได้ค่อยๆเรียนรู้การสื่อสารในบล็อกจากอาจารย์  และตั้งใจอยู่นานแล้วค่ะ  ว่าจะเข้ามาตอบความคิดเห็นในบันทึกนี้ให้ตรงกับใจ

               .......ทั้งนี้    โดยตอบอย่าง  "ตั้งใจ"  ที่สุดเลยค่ะ ..... : ) 

                       ขอบพระคุณอาจารย์มากๆอีกครั้งค่ะ  : )

อาจารย์ครับ

มีเทคนิคการสอนเด็กเล็กๆ ช่วยแนะนำเป็นวิทยาทานแก่ครูประถมบ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณครูเก่า

  • ยินดีที่อาจารย์แวะมานะคะ  ที่จริงอาจารย์มีประสบการณ์สูงกว่าดิฉันนะคะ  ที่ผ่านมาดิฉันยังไม่เคยสอนมดตัวน้อยตัวนิดเลย  แต่ชอบพวกเขามาก  ชอบความน่ารัก บริสุทธิ์สดใส  และไร้เดียงสา
  • เวลาสอนดิฉันคงต้องวิ่งไล่ตะครุบเขาและเธอ แบบจับกระด้งใส่ปู  พอหมดชั่วโมงดิฉันก็คงวิงเวียนกำลังดี  : )
  • ดิฉันไม่กล้าแนะนำอาจารย์ดอกค่ะ  แต่เล่าความรู้สึกได้แบบบ้านๆ  นะคะ 
  • ข้อจำกัดของดิฉัน   คือมักพูดประโยคยาว  เรื่องที่ดิฉันสนใจมักเป็นเรื่องการตัดสินใจของคนโตๆ  จึงยากมากที่จะสื่อสารกับเด็กเล็กๆให้เข้าใจได้  เพราะดิฉันไม่มีพื้นฐานการสอนหนึ่ง  และเพราะชอบพูดยาวๆอีกหนึ่ง
  • แต่จากที่เลี้ยงหลานๆทั้งที่บ้านและที่ทำงาน (คือมักตกที่นั่งเป็นพี่เลี้ยงเด็ก)   ก็พบว่าดิฉันมักจะคุย "ตาม"    และคุย "ถาม"  เรื่องที่เขาสนใจ โดยใช้ภาษา "ชุด" เดียวกับที่เขาใช้  คือมันจะเป็นไปโดยธรรมชาตินะคะ  ดิฉันสื่อสารกับหลานๆแบบนี้   
  • และพบว่าเราจะเป็น "เพื่อน" กันได้เร็ว  แล้วเราก็คุยกันได้ยาว  เด็กเล็กๆจะอยากคุยต่อ 
  • เวลาคนอื่นฟัง  ดิฉันก็อายเขาหน่อยๆเหมือนกัน  เพราะได้แปลงร่างกลายเป็นเด็กไปด้วยอีกคน  จะเล่าเป็นบทสนทนาก็อายน่าดูอะค่ะ  มันตลกๆอย่างไรไม่ทราบ  แต่เวลาคุยกับเด็กนั้นสนุกจริงๆนะคะ  เหมือนเป็นเพื่อนกันเลย 
  • ขออภัยอาจารย์ที่เล่าเรื่องวิธีสอนเด็กประถมไม่ถูกจริงๆนะคะ  กลายเป็นเล่าเรื่องวิธีเป็นเพื่อนกับเด็กไปเสียแล้ว
  • ไม่ใคร่รับกับหน้าดิฉันเท่าไหร่อะค่ะ : )

อยากทราบวิธีการสอนเด็กป.1

เมื่อไหร่จะตอบคะ

สวัสดีค่ะคุณจี๊ด 

ขออภัยที่ตอบช้านะคะ   ดิฉันมีงานต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปิดเทอมจึงไม่ได้แวะมา และดิฉันไม่เคยสอนเด็กประถมจึงเล่าสู่กันฟังไม่ถูกจริงๆค่ะ  เพราะไม่มีประสบการณ์    ดังที่ได้ตอบคุณ "ครูเก่า"  ไว้ด้านบน  ในความเห็นที่ 7 ของบันทึกนี้   ดิฉันทำได้เพียงการพูดคุยกับหลานๆและฟังเขาพูด  แล้วก็คุยกับเขา  ด้วยเรื่องที่เขาอยากคุย   บางทีก็เล่านิทานให้หลานๆฟัง แล้วก็ถามเขา(ด้วยท่าทีสบายๆ)  ว่าถ้าเขาเป็นตัวละครตัวหนึ่งแล้วตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับตัวละครนั้น  เขาจะตัดสินใจทำแบบนั้นไหม  เป็นต้น   เด็กๆน่ารักนักเมื่อได้พูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติค่ะคุณจี๊ด 

ขอบพระคุณมากค่ะที่คุณจี๊ดแวะมาเยี่ยมบันทึก  และขออภัยอย่างสูงจริงๆที่ดิฉันไม่สามารถตอบคำถามให้กระจ่างได้  หากคุณจี๊ดพอมีเวลา  อาจลองท่องไปในบันทึกต่างๆของ GotoKnow  โดยเฉพาะบันทึกของเพื่อนครูหลายท่านที่สอนเด็กๆชั้นประถม  น่าจะได้แนวการสอนที่น่าสนใจมากมายนะคะ

เอาใจช่วยให้ได้พบวิธีสอนที่คุณจี๊ดชอบนะคะ  ขอบพระคุณมากอีกครั้งค่ะ

ผมว่าที่เค้าต้องการคืออันนี้แหละ ไม่ใช่รูปแบบTM กระแสหลัก บัดดี้เขียนแบบที่พูดวันนั้นซิ จุดยืนชัดเจนดีผมฟังแล้วเข้าใจชัด แนวของเราปริบทของเราก็จริงแต่คนอื่นก็เอาไปปรับใช้ได้นะ  (comment สองหนจารย์ไม่หักคะแนนผมใช่มั้ยคับ)

บวกสองเลยอ่ะ

เราไปตอบที่ ฮาน นะ  : ) 

ผมอยากรู้กลวิธีการสอนเด็กประถมของอาจารย์นะครับ

ว่ามีกลวิธีใดบ้าง ช่วยตอบหน่อยนะครับ ขอแบบระเอียดหน่อยนะครับ

ขอบคุณมากครับ

อ่านทั้งบันทึกและการแลกเปลี่ยนกันไปมา

ได้ความรู้แยะเลยครับ

ขออนุญาติเอาไปใช้กับลูกนะครับ...

"คนเราจะเรียนรู้ได้สูงสุดหากต้องสอนคนอื่น"

ประโยคนี้โดนมากครับ

ผมมานั่งคิด ๆ

ตัวเองก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน

เมื่อคราวต้องไปจัดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด

ต้องทำความเข้าใจเนื้อหาเป็นสองเท่า เนื่องจากจะต้องย่อยเนื้อหาและออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกัน

คร้ังนึง ไปสอนเรื่อง "น้ำ" ให้กับเด็ก Giffted ระดับ ม.ต้น เขาให้เวลา สองสัปดาห์

ผมออกแบบกระบวนการเรียนรู้จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำไปโดยปริยาย

ใช่เลยครับ "คนเราจะเรียนรู้ได้สูงสุดหากต้องสอนคนอื่น"

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ

ขอบพระคุณมากค่ะที่แวะมาทักทาย  ดิฉันต้องขอโทษอย่างสูงที่ไม่ได้เข้ามาตอบความเห็นเป็นเวลานาน  เนื่องจากติดภาระงานแบบที่แทบจะไม่มีเวลาเหลือ  (หรืออีกทีก็อาจเป็นเพราะดิฉันบริหารจัดการเวลาไม่ดี  ทำให้เวลาที่เหลือมีน้อยเกินไป) ^_^  

บันทึกนี้เป็นบันทึกประทับใจของดิฉันเพราะความเห็นของอาจารย์ ดร.บัญชานี่แหละค่ะ  นอกเหนือจากวิธีสอนของอาจารย์บัญชาที่สร้างวิธีคิดผลิตวิธีทำให้กับเด็กๆได้เป็นอย่างดีแล้ว  คำกล่าวของท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ ที่กล่าวว่า   "คนเราจะเรียนรู้ได้สูงสุดหากต้องสอนคนอื่น"  นั้น  ก็ช่างจับใจจริงๆ

ดิฉันคิดว่านัยยะของท่าน  คงหมายถึงการเรียนรู้ ที่เกิดจากการเพียรพยายามของผู้นั้นจนตนรู้จริงในเรื่องนั้นๆ  เพื่อจะได้บอกผู้อื่นอย่างผู้รู้  และการจะบอกได้อย่างผู้รู้นั้น น่าจะเกิดจากการลงมือทำจริง และเห็นแจ้งประจักษ์จริงด้วยตนเอง  แล้วจึงเรียบเรียงและถ่ายทอดเรื่องนั้นๆได้เป็นอย่างดีเมื่อต้องบอกหรือแสดงความรู้นั้นแก่ผู้อื่น

และดิฉันก็เห็นจริง ดังที่คุณหนานเกียรติเล่าให้ฟัง เห็นทีว่าคุณหนานเกียรติจะต้องได้รับเชิญเป็นวิทยากรในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำอีกหลายหนแล้วกระมังคะ ^_^

เพื่อนคนหนึ่งของดิฉันที่มหาวิทยาลัยก็ใช้วิธีนี้ฝึกลูกเช่นกันค่ะ  เธอให้ลูกสาวตัวน้อยที่กำลังเรียน English Program ในชั้น ป.5 สอนภาษาอังกฤษให้น้องๆตัวน้อยๆที่อยู่ในละแวกนั้น ในช่วงปิดเทอม สัปดาห์ละสามวัน  และลูกศิษย์ตัวน้อยก็ติดใจคุณครูรุ่นเยาว์เป็นอันมาก  เนื่องจากวัยใกล้เคียงกัน และถามได้ซักได้ไม่โดนดุเหมือนตอนอยู่โรงเรียน  ข้างคุณครูรุ่นจิ๋วนี้ก็รับผิดชอบหน้าที่เป็นอย่างเลิศ เพราะเธอนำเอาคำถามน้องๆมาค้นคว้าหาคำตอบไปตอบน้องด้วยภาษาที่(เด็กๆด้วยกันจะ)เข้าใจได้อย่างหมดเปลือก เท่าที่ครูตัวเล็กๆจะตอบได้  โดยไม่หวงวิชาแต่อย่างใด 

เปิดเทอมถัดมาคุณครูรุ่นเยาว์คนนี้ก็คว้าเกรดสี่มาครองอย่างภาคภูมิใจ เพราะได้อ่านและศึกษาพร้อมเตรียมตอบคำถามไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ตอนปิดเทอม  แม่ของเธอภาคภูมิใจมากที่ลูกไม่ต้องเรียนกวดวิชาตลอดภาคเรียนนั้น และดิฉันในฐานะป้า ก็ชอบใจจริงๆที่หลานสาวทำท่าจะมีแววเป็นครูอีกคน  ^_^   

จะว่าไปแล้ว...ผู้ที่เป็นพ่อแม่นี้โชคดีจริงๆ  ที่มีโอกาสฝึกการทำงานและฝึกนิสัยเด็กพร้อมๆกันไปได้เป็นอย่างดี   ดิฉันมีโอกาสได้สอนเด็กๆที่คุณพ่อคุณแม่ได้ฝึกมาอย่างดี  เด็กๆเหล่านี้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมาแล้วจากในครอบครัว  เวลาสอนเด็กๆเหล่านี้จึงรู้สึกมีความสุขจริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท