สมการที่แปรผกผันเรื่องกฎเกณฑ์ทางสังคม


การค้นหาปัญหาและเหตุของปัญหาพฤติกรรม ต้องละเอียดอ่อนในส่วนที่เป็น Norm จากแต่ละสังคมย่อย (เชิงเดี่ยว) ด้วย รวมถึงการตีความก็ต้องมีทั้ง Emic และ Etic เป็นสำคัญ

     เข้ามาสวัสดีปีใหม่ และอยากบอกว่าเช้านี้สดชื่นครับ 2-3 วันมานี้ มีบันทึกให้ติดตามและต่อยอด อย่างมีคุณค่า ซึ่งผมก็ได้ให้เป็น คห.ไว้บ้างแล้ว สืบเนื่องจากบันทึกนี้ เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา ๑ คนที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงความรู้กันคือ หลวงพี่ชัยวุธ ท่าน space อาจารย์น้อง Vij และผมร่วมแจม ต่อในบันทึกที่เกี่ยวกับปัญหาสังคม หรือพฤติกรรมก้าวร้าวต่าง ๆ

     ผมได้แสดงทัศนะไว้ว่า เวลาเราสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาในสังคม เรามุ่งหวังอะไรครับ น่าจะเป็นเพื่อให้ทุกคนได้ถือปฏิบัติและวางตนอยู่ในกรอบที่กำหนดขึ้น สังคมใหญ่หากมีเกณฑ์มาก เป็นธรรมดาที่จะมีกลุ่มคนไม่ปฏิบัติตาม เพราะในสังคมเล็กที่เขาอยู่จริง ๆ เกณฑ์บางข้อ บางอย่าง เขาถือว่าตรงกันข้ามกับที่สังคมใหญ่ยอมรับ วิธีการจัดการจึงน่าจะมีอยู่ 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ
          1. จัดการที่เกณฑ์ให้เป็น Minimize ที่ไม่ว่าสังคมใหญ่-เล็กยอมรับมากที่สุด วิธีนี้เกิดปัญหาน้อยทีสุดกับการฝืนกฎเกณฑ์ แต่สังคมจะไม่ได้ดั่งใจในเรื่องภาพรวม (ค่อนข้างอิสระ ฟรีสไตล์)
          2. จัดการที่พฤติกรรมของคนให้ปรับเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่ตั้งขึ้นไว้แบบ Maximize ตรงนี้มั้งครับที่เราต้องมาคิดวิธีการจัดการอย่างเช่นทุกวันนี้ การจัดการที่พยายามทำก็มีหลายแบบอีก 2 แบบ แบบสุดโต่ง คือ การลงโทษ และการยกย่องชื่นชม มีวิธีการผสมผสานระหว่าง 2 วิธีอีกมากมาย เช่น การสร้างการรับรู้อย่างเข้าใจแก่คนที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการฝืนกฎเกณฑ์ เป็นต้น

     การสร้างกฎเกณฑ์ทั้ง 2 แบบ ทั้ง Minimize และ Maximize เป็นเรื่องของปทัฏฐานทางสังคม (Norms) ที่ถือว่าเป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (Socializations) เราพบว่าเกิดประเด็นปัญหาขึ้นเราจะไปจัดการมันก็เป็นเรื่องยาก และเราต้องยอมรับว่าการเกิดของ Norm เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้วโดยธรรมชาติ ฉะนั้นเลยเหลือประเด็นเดียวคือการมาจัดการที่พฤติกรรมของคนให้ปรับเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่ตั้งขึ้น ด้วยกลยุทธ์ที่น่าจะต้องศึกษาค้นคว้าให้เหมาะสมต่อไป

     ตรงประเด็นที่กล่าวว่า "เป็นสมการที่แปรผกผันเรื่องกฎเกณฑ์ทางสังคม" ในทัศนะผมจะเป็นว่า ในสังคมเชิงเดี่ยว หรือสังคมเล็ก ๆ ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แท้จริงแล้วจะมี Norm อยู่มากมาย และมักจะเป็นไปแบบไม่รู้ตัว ผมเชื่อว่ามีมากกว่าในสังคมใหญ่ ๆ หรือที่ใคร ๆ เรียกตามตำราว่าเป็นสังคมเชิงซ้อน ด้วยเหตุผลที่ว่าในสังคมใหญ่ ๆ นั้น Norm เหล่านี้ จะลดน้อยถอยลง เพราะเกิดการเลือกเอา Norm ที่ยอมรับได้ในภาพรวมเท่านั้นมาใช้ Norm ที่มีมากในสังคมเล็ก ก็จะเหลือน้อยในสังคมใหญ่ และจะน้อยลงแบบถดถอย เมื่อสังคมยิ่งขยายไปกว้างขางมากขึ้น หรือเป็นสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในชนบทบ้านเราใครใส่ชุดว่ายน้ำในลำคลองยังยอมรับไม่ได้ และการเล่นน้ำใกล้กัน เมื่อเพศต่างกัน ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด แต่ที่ใดที่เป็นที่รวมของกลุ่มคนจากต่างวัฒนธรรมกัน เช่นที่ชายหาดแหล่งท่องเที่ยว เรากลับบอกว่าเหมาะสมกับสถานที่ และยอมรับได้ นั่นแสดงว่ากฎเกณฑ์ หรือที่บันทึกนี้เรียกว่า Norm เริ่มลดลง เป็นอาทิ

     เมื่อสังคมใหญ่ขึ้นหรือซับซ้อนขึ้น Norm ก็ยิ่งลดลง จึงเป็นการแปรผกผัน อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ผมเคยตั้งคำถามไว้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องการแก้ปัญหาพฤติกรรมของมนุษย์ อย่างเช่น อาจารย์น้อง Vij ซึ่งบันทึกนี้จะขอตอบเสียเองในประเด็นกว้าง ๆ ว่า เมื่อ Norm ลดลง เรา (ผู้สนใจฯ) ซึ่งเป็นคนที่มาจากสังคมเล็ก ๆ แล้วไปเป็นสมาชิกของสังคมใหญ่ที่ซับซ้อนเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ เราพก Norm ของสังคมเล็กที่เราสังกัดมาด้วย เราจึงใช้ Norm ของเราไปตัดสินคนอื่นว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมบ้าง เป็นปัญหาบ้าง แล้วเราก็คิดจะหาวิธีจัดการแก้ไข หรือพัฒนา แล้วแต่กรณี ตรงนี้ที่ควรระวังและเป็นห่วง เพราะเราจะพบว่าปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ตรงกับ Norm ที่เรามีเยอะมาก เยอะจนไม่รู้จะไปจัดการให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรดี

     เขียนเสียยาวตั้งใจว่าจะให้สั้น ๆ แต่คราวแรก ด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นมากล่าวข้างต้น จึงเสนอว่าการค้นหาปัญหาและเหตุของปัญหาพฤติกรรมนั้น ต้องละเอียดอ่อนในส่วนที่เป็น Norm จากแต่ละสังคมย่อย (เชิงเดี่ยว) ด้วย เพราะยังไงเสียคนเราก็ต้องสังกัดในสังคมย่อยนั้นมาก่อนที่จะรวมเป็นสังคมใหญ่ ตามที่สมมติขึ้นไว้ในเรื่อง “สังคม” รวมถึงการตีความก็ต้องมีทั้ง Emic และ Etic เป็นสำคัญอีกประการหนึ่งครับ

 

หมายเลขบันทึก: 70430เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เจริญพร จ้า คนชายขอบ

เข้ามาอ่านนะ แต่ข้อเสนอความเห็นเชิงคัดค้านในฐานะที่ถูกพาดพิง (5 5 5 เดียวเครียด ตอนนี้ระเบิดเยอะ หัวเราะไว้ก่อน 5 5 5) จะตั้งไปที่ละประเด็นนะครับ...

สังคมเล็ก กฎเกณท์น้อย แต่ดูเหมือนมาก เพราะเราเก็บรายละเอียดได้มาก เกิดความอืดอัด และะความซับซ้อนในกฎเกณฑ์ก็มีน้อย มีธรรมชาติเป็นไปเชิงจารีต (ทำตามๆ กันมา) ...ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎเกณฑ์ของสังคมเล็กมีลักษณะนิ่งขาดความเคลื่อนไหว หรือเป็นสถิต (static)

สังคมใหญ่ กฎเกณฑ์มาก แต่ดูเหมือนน้อย เพราะเราไม่ใส่ใจกับรายละเอียด มีความคล่องตัว แต่ความซับซ้อนในกฎเกณฑ์มีมาก มีธรรมชาติเป็นไปเชิงเรียนรู้ ..ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎเกณฑ์ของสังคมใหญ่มีลักษณะเคลื่อนไหว แปรเปลี่ยนสูง หรือเป็นพลวัต (dynamic)

ตามตัวอย่างของคุณโยมชายขอบ เรื่อใส่ชุดว่ายน้ำในคลองของชนบท ว่ายอมรับไม่ได้...นั่นคือ การสังเกตเห็นได้ง่าย แต่....

สังคมใหญ่ในกรุงเทพฯ คอยรถเมล์ต้องตามที่ป้ายจอด.. ขับรถต้องรู้จักไฟเขียวไฟแดง...ในวันอาทิตย์ร้านทั่วไปปิด ก็ต้องรู้..ไปเที่ยวสถานเริงรมณ์ก็ต้องมีค่าทิปตามทำเนียม..ที่นี้ใส่รองเท้าแตะ เค้าไม่ให้เข้า..แต่ทำไมที่นี้แต่งตัวสุภาพทั่วๆ ไปเข้าไม่ได้ ต้องนุ่งน้อยห่มน้อยเค้าจึงให้เข้าได้... สิ่งเหล่านี้จัดเป็นปทัสถานของสังคมใหญ่ เช่นเดียวกัน แต่เราไม่ค่อยรู้สึก เพราะเราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดนั่นเอง

เสนอแนะให้ทดลอง นำคนที่อยู่แต่สังคมเล็กไปอยู่สังคมใหญ่ และนำคนที่อยู่แต่สังคมใหญ่ไปอยู่สังคมเล็ก ...น่าจะได้คำตอบเชิงปริมาณได้ว่า ใครตอบยังไง ?

ดังนั้น แนวคิดสมการแปรผกผันเรื่องกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้น น่าจะมีการทบทวน

เพิ่มเติม เรื่องสังคมเล็กสังคมใหญ่ นี้ เดียวนี้กำลังพัดผ่านไปแล้ว เพราะสังคมเล็กได้พัฒนาการมาเป็นสังคมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมองโลกนี้เปรียบเสมือนหมู่บ้านเล็กๆ ที่คนมีวิถีความเป็นไปทำนองเดียวกันโดยอำนาจของเทคโนโลยีและสาระสนเทศ ...ขณะที่สังคมใหญ๋ได้พัฒนาการมาเป็น สังคมโพสต์โมเดิร์น ซึ่งมองว่าโลกนี้ไร้รูปแบบ ไร้ระบบกฎเกณฑ์ สิ่งต่างๆ ตอบสนองเราตามที่เราจะยอมรับและเลือกสรรค์เท่านั้น...

เหนื่อยแล้วจ้า คนชายขอบ

เจริญพร

นมัสการหลวงพี่ชัยวุธ

     เป็น คห.เชิงคัดค้านที่ร่วมก่อปัญญาครับ สังคมเล็ก กฎเกณท์น้อย แต่ดูเหมือนมาก สังคมใหญ่ กฎเกณฑ์มาก แต่ดูเหมือนน้อย เป็นประเด็นสำคัญ ผมกลับมองเห็นว่า "ดูเหมือน" เป็นคำสำคัญ คำ ๆ นี้เป็นคำที่ใช้ตีความให้ค่าหลังการสังเกตแล้ว ฉะนั้นจะมาก-น้อย เลยมาขึ้นกับการสังเกตได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่เป็นความจริงที่สังเกตได้ น่าจะตามนี้นะครับ
     อีกประการหนึ่งด้วยคำว่า กฎเกณท์น้อย แต่"ดูเหมือน" มาก หรือ กฎเกณฑ์มาก แต่"ดูเหมือน" น้อย คำที่อยู่หน้าแต่ เป็นคำที่หลวงพี่สื่อออกมาโดยยอมรับว่ามีจริง ๆ ตามนั้น แต่ที่สังเกตได้นั้นจะอยู่หลังคำว่าดูเหมือน
     เข้าใจว่าเราจะต้องกำหนดขอบเขตกฏเกณฑ์ที่จะสังเกตกันเสียก่อน ในสังคมใหญ่และเล็ก เพื่อให้เหลือหน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis) เป็นหน่วยเดียวกัน แล้วจึงเริ่มลงมือนับเพื่อให้ออกมาเป็นปริมาณให้ได้ แล้วจะบอกความมาก-น้อย ไม่งั้นจะใหญ่จนเรานับไม่ได้
     กลับมาที่เดิมครับสังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์น้อยกว่า และหยาบกว่าสังคมเล็ก เพราะกฎเกณฑ์เหล่านั้นเหลือแล้วซึ่งที่ได้คัดสรรไว้ครับ กฎเกณฑ์ที่ว่าไว้นั้น เป็นของสังคมเล็กแต่ละสังคม แล้วนำมารวมกัน แบบซ้ำนับหนึ่งนะครับ หากไม่ซ้ำนับเพิ่มครับ ทีนี้หากเป็นสังคมใหญ่ ก็นำเอาที่นับได้ทั้งหมดจากสังคมเล็กแต่ละสังคมมารวมกัน อันไหนซ้ำมากที่สุดและเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม (สังคมใหญ่ ส่วนใหญ่ยอมรับ) สิ่งนั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่เหลือจากเลือกสรรแล้ว
     เพราะฉะนั้นผมจึงว่าสังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์น้อยกว่า และหยาบกว่าสังคมเล็ก เสมอครับ หากที่สุดแล้วก็เป็นไปเพียงเท่ากัน ไม่มีโอกาสที่สังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์มากกว่าไปได้

นมัสการมาด้วยความเคารพครับ

ปล.ชอบมาก ๆ ในการ ลปรร.กับหลวงพี่ แต่เหนื่อยแล้วเหมือนกันคร๊าบบบบบบบบ เดี่ยวพักสักครู่จะกลับมาใหม่อีกครั้งนะครับ

เจริญพรจ้า คนชายขอบ

ตามที่อ้างเหตุผลมาไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ

ข้อเสนอทั้งหมด ........( 4 ย่อหน้าแรกเป็นอย่างหนึ่ง)

แต่ข้อสรุปสุดท้าย ( ย่อหน้าที่ 5.. โดยคำว่า เพราะฉะนั้น บ่งชี้ว่าเป็นข้อสรุปข้ออ้างทั้งหมด) ว่า.. 

"เพราะฉะนั้น ผมจึงว่าสังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์น้อยกว่า และหยาบกว่าสังคมเล็ก เสมอครับ หากที่สุดแล้วก็เป็นไปเพียงเท่ากัน ไม่มีโอกาสที่สังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์มากกว่าไปได้"

เมื่อพิจารณาข้ออ้างและข้อสรุปอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าเป็น การตั้งธง ไว้ก่อนแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นเพียง การทำให้มีเหตุผล หรือ การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (rationalization) เท่านั้น...

อนึ่ง เฉพาะการนับหน่วยที่เหมือนกันคัดออก ซึ่งเป็นตัวอย่างในการนำมาเป็นข้ออ้างนั้น อาจใช้ การพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ (falsification)ได้ดังต่อไปนี้

สังคมเล็กๆ คือ s1, s2, s3, s4... ส่วนสังคมใหญ่คือ SS 

s1 มีสมาชิกคือ ก. ข. ค. ง. จ. หน่วย

s2 มีสมาชิก คือ ข. ค. ง. จ. ฉ. หน่วย

s3 มีสมาชิก คือ ค. ง. จ. ฉ. ช. หน่วย

s4 มีสมาชิก คือ ง. จ. ฉ. ช ฌ. หน่วย

ดังนั้น  SS มีสมาชิก คือ ก. ข. ค. ง. จ. ฉ. ช. ฌ.

เมื่ออธิบายทำนองนี้ จะเห็นได้ว่า การอ้างเหตุผลที่นำเสนอมาทั้งหมดในเรื่อง การแปรผกผันเรื่องกฎเกณฑ์ทางสังคม ควรจะมีการทบทวบ

เจริญพรจ้า

ปล. นักตรรกศาสตร์ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า "ความจริงต้องมีเหตุผล แต่เหตุผลมิใช่ความจริง" 5 5 5

หลวงพี่ชัยวุธ ครับ

     ตะกี้พิมพ์เสีบยาว แต่หลุดหายไปหมดเลย ตอนนี้นึกอะไรไม่ออก ยังเหนื่อยอยู่ครับ แต่การ ลปรร.กันดูมีค่ามากมายเหลือเกินเลยนะครับ และแผนภาพที่ยกมาผมว่าสนับสนุนที่ผมนำเสนอไว้ได้อย่างดีเลยนะครับ แต่ไหงที่หลวงพี่สรุปไปอีกทางนึง เดี่ยวค่อยกลับมา ลปรร.อีกครั้งครับ (ยิ้มทั้งหอบครับ)

สวัสดีค่ะคุณพี่ "ชายขอบ"

โดนทั้งพาดทั้งพิงเลย...มีประเด็น (ลป)รร. ที่น่าสนใจค่ะ ในเรื่องกฎเกณฑ์ทางสังคมใหญ่เล็ก...พยายามตีความหลายรอบแล้ว แต่ต้องถอยหลังออกไปตั้งหลักก่อนในรัศมีไม่ไกลมากนักประมาณระยะประชิดตัวนี่แหละค่ะ คิดตรงประเด็นหรือไม่อย่างไรค่อยว่ากัน...

สังคมเล็ก ๆ มากมาย ที่ถูกครอบเอาไว้ด้วยสังคมใหญ่ หรืออาจะเรียกว่า หน่วยย่อยหลาย  ๆ หน่วย รวมกันเป็นหน่วยใหญ่ ทีนี้ขอเข้าประเด็นที่ว่าสังคมเล็กมี Norm อยู่มากมาย ตรงประเด็นนี้พบว่ามี Norm บางตัวถูกกลืนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมเล็ก ๆ นั้นไป และมีเพียง Norm ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ถูกหยิบมาเป็นกฎเกณฑ์สากลในสังคมใหญ่เพระเลือกหยิบเฉพาะ Norm ที่เหมือน ๆ กันของแต่ละสังคมย่อย ๆ มาเป็นกฏเกณฑ์สากลที่คนในสังคมใหญ่ยอมรับได้ ดังนั้นจึงมองว่ายังมี Norm อีกมากมายในสังคมเล็กที่ตกหล่นไปเพราะในแต่ละสังคมเล็กย่อมมี Norm อีกมากมายที่แตกต่างกันออกไป Norm เหล่านั้นจึงไม่ได้หยิบมาเป็นกฎเกณฑ์สากลของสังคมใหญ่

ในที่นี้จึงมองว่า สังคมใหญ่มี Norm ของสังคมน้อยกว่า Norm ของสังคมเล็ก ๆ เพราะ Norm ในสังคมใหญ่คัดหรือเลือกมาเฉพาะที่เหมือนกันเท่านั้นมาเป็นกฎเกณฑ์สากลของสังคม (แค่นี้ก่อนเดี๋ยวจะ งง ๆ มึน ๆ ไปกันใหญ่) หรือคุณพี่ "ชายขอบ" จะเสนอว่าไงในประเด็นนี้ ไม่ทราบว่า Vij เข้าใจชัดเจนหรือเปล่า หรือเข้าใจตรงกันหรือไม่อย่างไร...โปรดแถลงมา...(หายมึน!!! แล้วจะมา ลปรร.ใหม่ค่ะ)

อาจารย์น้อง Vij ครับ

     ใช่เลยครับ ตามนั้นเลย ประเด็นที่ไปตรงกับบันทึกของอาจารย์น้อง คือ สิ่งที่ตก ๆ หล่น ๆ หายไปเพราะสังคมใหญ่ละเลยนำพามาใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเล็ก ๆ เช่นครอบครัว กลุ่ม เครือข่าย ชุมชน คุ้ม ละแวก หมู่บ้าน ฯลฯ มีอยู่นี่ซิครับ ที่อยากให้อาจารย์ได้ค้นหาและนำมาปรับใช้อยู่ บางทีนะครับ (คาดเดาเอา) มันอาจจะช่วยแก้โจทย์ของอาจารย์น้องได้บ้าง แต่ผมก็คาดเดาเอาเท่านั้นนะครับ

ประเด็น สังคมแบบพระศรีอาริยะ สังคมยูโทเปีย สังคมแชงกรีล่า สังคมอนาคต ไฝ่ฝันให้คนกระทำด้วยความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่เนื่องจากสังคมที่ดีมาจากรากฐานของบุคคลแต่ละคนทำให้บุคคลต้องแสวงหา ต้องกระตือรือร้น ต้องปกป้องตัวเองจากสิ่งไม่ต้องการ ทำให้สังคมต้องมีการแบ่งแยก แยกตัวออก มีกฎระเบียบของสังคมเอง เป็นวัฒนธรรม ธรรมเนียมปฎิบัติที่ไม่มีเหตุผลที่ดีนักก็ตาม

สังคมกับปัจเจกชนจึงต้องหาสมดุลย์กันให้เจออย่างไรก็ตามสังคมปัจจุบันพิสูจน์ตัวเองแล้วว่านำความเจริญเติบโตให้กับสังคมเองได้จริงเพราะมีระบบที่เข็มแข็ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท