มุมมองใหม่ : การเรียนรู้จากประสบการณ์


"การเรียนรู้ของคนเรานั้นมักจะไม่ค่อยได้เรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของตนเองเท่าใด และขณะเดียวกันก็มักจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและล้มเหลวของผู้อื่นมากกว่าจากความสำเร็จของผู้อื่น" ...ไม่เชื่อลองกลับไปทบทวนดูว่าจริงหรือไม่?

            หลักการขององค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลมาจาก  การเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น  แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว การที่เราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง (ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว) กับการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น (ความสำเร็จและความล้มเหลว) มันเกิดขึ้นจริงหรือไม่?

 

            เคยสังเกตไหมว่าเมื่อเราทำผิดพลาด เรามักมีข้อแก้ตัวเป็นประสบการณ์ที่ดีและรับรองว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดเช่นนั้นขึ้นอีก (เนื่องจากเราเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต) แต่คำถามที่สำคัญคือ ทำไมเรายังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบเดิมอยู่เรื่อยๆ? หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เราชอบที่จะเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น เราซื้อหนังสือสูตรสำเร็จด้านต่างๆ เข้ารับฟังการอบรม หรืออ่านกรณีศึกษาจากความสำเร็จของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเราจะได้เรียนรู้จากความสำเร็จของบุคคลหรือองค์กรเหล่านั้น แต่ทำไมล่ะ หลังจากนั้นดูเหมือนว่าสิ่งที่เราได้ลงทุนลงแรงเรียนรู้มักจะค่อยๆ หายไปๆ จากความทรงจำ และไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือนำมาใช้เท่าที่ควร?

 

            ลองนึกถึงเพลงประเภท จิ๊กโก๋อกหัก ที่ชอบเขียนบอกว่า ให้ประสบการณ์เป็นเครื่องสอนใจ...อะไรทำนองนี้ เมื่อเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า แนวคิดของการเรียนรู้จากความล้มเหลวหรือความผิดพลาด เกิดขึ้นจากหลักการที่ว่าเราจะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต และประสบการณ์จะเป็นครูที่ดีที่สุดสำหรับเรา แต่ทีนี้เราลองคิดดูอย่างละเอียดว่า การที่เราจะเรียนรู้จากประสบการณ์ได้จริงๆ เราจะต้องมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ หรือจัดกลุ่มประสบการณ์ต่างๆ ที่เราได้เผชิญมาเพื่อให้สามารถเป็นเครื่องมือในการสอนเราต่อไปได้

 

            แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ขอให้พิจารณาถึงตัวเราเอง เราจะพบว่ามักจะไม่ค่อยมีการคิดวิเคราะห์ หรือพิจารณาประสบการณ์ผิดพลาดที่ผ่านมาเท่าใดนัก เนื่องจากเราไม่ชอบที่จะไปนั่งคิดถึงสิ่งที่ไม่ดีหรือความล้มเหลวในอดีต (ส่วนใหญ่เรามักจะชอบพูดกันว่าให้ลืมความผิดพลาดหรือความล้มเหลว แล้วก้าวต่อไปดีกว่า)  เราไม่ชอบที่จะมานั่งวิเคราะห์ว่าความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของเราเกิดขึ้นจากอะไร ดังนั้นเมื่อความผิดพลาดหรือล้มเหลวเกิดขึ้น ...ลองพิจารณาดูครับ แล้วเราจะพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ย้อนกลับมาเป็นเครื่องสอนเราเลย ซึ่งก็อาจจะตีความหายได้ว่าผู้ที่มีประสบการณ์มากไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านการเรียนรู้มามากก็ได้ มีนักวิชาการด้านการจัดการ ชื่อ Richard Tannenbaum เคยกล่าวไว้ว่า ผู้บริหารระดับสูงที่ทำงานมาสามสิบปี ไม่ได้หมายความว่าเขามีประสบการณ์มาสามสิบปี แต่อาจจะมีประสบการณ์แค่ปีเดียวสามสิบครั้ง

 

            การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นก็เหมือนกัน เมื่อพิจารณาดูดีๆ ก็จะพบว่า เรามักจะเรียนรู้หรือเชื่อมโยงกับความล้มเหลวของผู้อื่นได้ดีกว่าความสำเร็จของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ในเรื่องนั้นๆ (แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราชอบที่จะเห็นความล้มเหลวของผู้อื่น) แต่เป็นเพราะมนุษย์เราจะสามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงความล้มเหลวหรือผิดพลาดของผู้อื่นได้ง่ายกว่าความสำเร็จของผู้นั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ..เวลาที่เราคุยกับเพื่อน ถ้าเพื่อนเล่าแต่ความสำเร็จของตนเองให้ฟัง ลองถามใจเราตรงๆ ว่าจริงๆ แล้วเราคงไม่ได้ชื่นชมหรือเรียนรู้จากความสำเร็จของเพื่อนมากเท่าใด แถมยังอาจจะมีอาการหมั่นไส้ตามมาด้วย ...แต่เมื่อใดก็ตามที่เพื่อนมาปรับทุกข์ หรือเล่าประสบการณ์ ความผิดพลาดให้ฟัง เราจะรู้สึกถึงความมีส่วนร่วม และเห็นอกเห็นใจเพื่อนขึ้นมาทันที เหตุการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถผูกพันและเชื่อมโยงกับความผิดพลาดหรือล้มเหลวของผู้อื่นได้ดีกว่าความสำเร็จ  หากสังเกตต่อไป จะพบว่าการนินทาผู้อื่นมักจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราผูกพันหรือมีส่วนร่วมเป็นกลุ่มมากขึ้น (การนินทาถือเป็นเครื่องมือในการทำให้กลุ่มผูกพันกันมากขึ้น) และเวลาเรานินทา ก็ไม่เคยนินทาถึงความสำเร็จของผู้อื่นใช่หรือไม่? เรามักจะพูดถึงความล้มเหลวหรือความผิดพลาดของผู้อื่นมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากการแบ่งปันความผิดพลาดหรือล้มเหลวของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มมากขึ้น

 โดยสรุป การเรียนรู้ของคนเรานั้นมักจะไม่ค่อยได้เรียนรู้ประสบการณ์ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของตนเองเท่าใด และขณะเดียวกันก็มักจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและล้มเหลวของผู้อื่นมากกว่าจากความสำเร็จของผู้อื่น  ...ไม่เชื่อลองกลับไปทบทวนดูว่าจริงหรือไม่?
หมายเลขบันทึก: 70374เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2006 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีปีใหม่ครับ
  • ตอนแรกไม่แน่ใจ เพราะดูรูปแล้วใสหรือเกิน
  • ใช่ครับ  มีคนไม่น้อย หรือแม้แต่เราเองก็เถอะบ่อยครั้งไปที่ไม่ยอมเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง
  • สวัสดีปี 50 ครับ
  • การเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่นถือเป็นทางลัด และมีภูมิคุ้มกันตัวเอง ต่อไป
  • การเรียนรู้จากคนอื่นก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่มีการคิดวิเคราะห์
  • บางครั้งเราเองก็ไม่อาจจะทำได้ถ้าไม่เห็นความผิดพลาดของคนอื่น

 

การมองดูตนเองเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมักไม่ทำกัน

ความผิดพลาดของผู้อื่นมักเป็นสิ่งที่เรามองเห็นเสมอ

ส่วนความผิดพลาดของตนเป็นสิ่งที่เรามองข้ามและเพิกเฉยกับมัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท