True Experiment


ในบล็อกก่อนๆ ผมได้บันทึกเรื่องเกี่ยวกับ "คำนิยาม"ของการทดลอง, เรื่อง "การวิจัยกึ่งทดลอง" หรือ Quasi Experiment, ในที่นี้ผมจะบันทึกเรื่องของ "การทดลองจริง" หรือ  True Experiment

อันที่จริง  เรื่องที่กล่าวมานี้ท่านทั้งหลายสามารถเข้าห้องสมุดเปิดอ่านได้จากตำราทั่วไป  แต่นั่นมันสำหรับนักวิชาการ หรือผู้ศึกษา  คนทั่วไปไม่ทำเช่นนั้นเลย และดูยากสำหรับเขา  ผมจึงอยากที่จะ "ทำให้มันง่าย"  และอยากจะให้เป็น "ภาษาทั่วไปในชีวิตประจำวัน" ของคนนอกมหาวิทยาลัย  จึงได้นำมันออกจากห้องสมุดมาใส่ไว้ที่นี่  ถ้าเป็นไปตามที่คิด  จะทำให้คนทั่วไปสนทนากับนักวิชาการได้สนุกขึ้น  เมื่อมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปภายนอกมหาวิทยาลัย  นักศึกษาปริญญาโท, เอก, ก็อาจจะละอายบ้าง ที่จะทอดทิ้งการวิจัยเชิงทดลอง!! เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ครับ !!! ผมจะเริ่มตามหัวข้อข้างบนนี้ดังนี้ครับ

                              X       O1   ----------------------- (1)

                  G1       X       O2   ----------------------- (2)

        R       G2       X       O3   ----------------------- (3)

ใน (1) เป๊น Paradigm ที่ผมใช้ประกอบคำนิยาม "การทดลอง"  ใน (2) เป็น Paradigm ประกอบ "การวิจัยกึ่งการทดลอง" (Quasi Experiment)  และใน (3) จะใช้ประกอบ "การวิจัยการทดลองจริง" หรือ True Experiment

ใน (3), R คือ Random  หรือ "การสุ่ม"  คือ  เราสุ่มผู้รับการทดลอง หรือ Subjects ที่เราย่อว่า  Ss เข้าสู่กลุ่มทดลอง(G2)   การสุ่มนี้  ถ้าสุ่มอย่างถูกหลักวิชา  ก็จะทำให้ "ขจัด"  ขยะที่เราไม่ต้องการ ให้ออกไปให้อย่างน้อยเกือบหมด  แล้วจะทำให้ "O3 เป็นผลของ X ที่แท้จริงมากขึ้น" การที่เป็นเช่นนี้แหละที่ทำให้การวิจัยมีคุณค่า  ที่ทำให้เราต้องขนานนามมันว่า "การวิจัยจริง หรือแท้จริง"  ซึ่งแตกต่างจาก (2) อย่างมาก เพราะว่าใน G2 เราหยิบมาเป็นกลุ่ม  เช่น เลือกเอาข้าราชการทุกคนในที่ว่าการอำเภอ ก. มาเป็นตัวอย่างของข้าราชการในจังหวัดนั้น  เลือกนักเรียนชั้น ม.๑ มา ยกชั้น จากโรงเรียน ก. มาเป็นตัวอย่างรับการทดลอง  ทั้งๆ ที่มีนักเรียนชั้น ม.๑ อยู่อีกถึง ๕ ชั้นในโรงเรียนนั้น เป็นต้น

การวิจัยเชิงทดลอง  จะเป็นทดลองแบบแผนใดก็ตาม  เป็นการวิจัยที่เหมาะกับ "การค้นหากฎธรรมชาติหรือกฎเชิงประจักษ์"  โดยเป็นกฎประเภท "กฎเชิงสถิติ"(Statistical Laws)  หรือ "กฎเชิงความน่าจะเป็น" (Probabilistic Laws)  ที่เราจำเป็นจะต้อง "อุปนัย"(Induction) และ "กฎ" ที่ว่านี้แหละคือ "องค์ความรู้"หรือ Body of Knowledge ที่เราชอบพูดกันนั่นแหละ  และมันเป็นองค์ความรู้ขั้น "สุดยอด" ที่ได้จากการค้นพบ !!! 

อ้อ  เมื่อมาถึงตรงนี้ก็อยากจะกระซิบหน่อยว่า  "อย่าได้พูดว่าเราสร้างกฎ(เชิงประจักษ์)โดยเด็ดขาด"  นะครับ  ถ้าใครขืนพูดอีก  ก็ต้องรีบเอาหน้าไปซุกแผ่นดินให้โผล่แต่เท้าอย่าให้ใครเห็นนะครับ  ยิ่งถ้ามีดีกรีปริญญาโท  หรือปริญญาเอกด้วยแล้ว  ยังพูดว่า "กฎ(เชิงประจักษ์)นี้ สร้างโดย ......."    แล้วละก้อ .......!!!

กฎที่มนุษย์สร้างก็คือ กฎหมาย  ส่วนกฎธรรมชาติหรือกฎเชิงประจักษ์นั้น เราค้นพบ ครับ

หมายเลขบันทึก: 70301เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2006 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สุจิตรา บัณฑูรประยุกต์

ขอความกรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบายถึง Yoked control procedure ให้หน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท