"การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้” ที่ผมเคยลองใช้


การเรียนจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่ความรู้ การเกิดความรู้ในตนเอง เพื่อจะนำความรู้ต่างๆ มาจัดการ เพื่อวัตถุประสงค์ของตนเอง

ผมได้พยายามพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลาย ๆ รูปแบบ อย่างปราศจากความรู้วิชาครู

แต่ใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก โดยเทียบเคียงกับตนเองว่า ถ้าเราจะเรียนรู้นั้น เราจะต้องมีอะไรบ้างเป็นองค์ประกอบ จึงจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ โดยมีการพัฒนาการ ดังต่อไปนี้ 

 1.    การสอนแบบเล่านิทาน (Telling tales) ประสบการณ์ตรงของผม ได้เรียนรู้มาจาก จากการเล่านิทานของแม่ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมยให้เห็นข้อดีข้อเสียของแต่ละเรื่อง แล้วจึงมาสรุปว่า เรื่องนี้มีบทเรียนสอนว่าอย่างไร ผมเคยลองใช้วิธีนี้ ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่

เพราะพบว่านักศึกษาไม่ค่อยมีจินตนาการตามเรื่องที่ผมเล่า  อาจจะเป็นเพราะว่าผมเล่านิทานไม่เก่งเหมือนแม่ผม หรือนักศึกษาไม่สามารถจะจินตนาการตามคำพูดของผมได้ หรือนักศึกษาอาจจะไม่สามารถนำจินตนาการมาประมวลเป็นความรู้ได้ 

  2.    การเรียนรู้ดูงาน (Site visits to the best practices) 

ผมก็เลยมาลองหาวิธีการนำไปดูของจริงในสถานที่ต่างๆ พานักศึกษาไปพบกับผู้รู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับนักวิชาการ และระดับชาวบ้าน  

ประเด็นเหล่านี้ก็พบว่า นักศึกษาไม่มีกรอบความรู้กว้างพอที่จะรับรู้ว่าความรู้ต่างๆ ที่มีคนเล่าให้ฟังนั้น มันอยู่ส่วนไหนของความรู้ทั้งหมดที่เขาควรจะมี เปรียบเสมือนหนึ่ง การแยกจดหมายโดยไม่ใส่ช่องแยกไว้ เพียงแต่กองๆไว้ สักพักหนึ่ง พอจดหมายมีจำนวนมาก กองต่างๆ ก็ล้มใส่กัน ในที่สุด ความรู้จึงปนเปกันหมด ไม่รู้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องใด ผมก็เลยกลับมาพิจารณาว่า การที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้จะต้องมาวางกรอบความรู้ซะก่อน เมื่อมีความรู้ใดเข้ามาจะได้แบ่งช่องได้ถูก  

 3.    การสอนแบบพัฒนาความคิดเชิงระบบ (System analysis)

 

 พอกลับมาถึงเรื่องนี้ เลยต้องมาสอนนักศึกษาให้เรียนรู้เรื่อง การมองภาพเชิงระบบ เข้าใจองค์รวมของสภาพปัญหา ใช้หลักการของการค้นหาสาเหตุของปัญหา แล้วนำไปสู่การวางแผนและการแก้ไขปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔  ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง

เพราะนักศึกษายังติดอยู่กับขีดจำกัด ความสามารถในการมองภาพรวมหรือเชิงระบบ ที่ผมใช้คำว่า สายลมปราณยังไม่ต่อเนื่อง หรือบางคนที่สับสนก็จะใช้คำว่าสายลมปราณแตกสลาย” 

ทำให้ไม่สามารถแบ่งกลุ่มของข้อมูล ก่อนจะรู้ข้อมูลได้ เลยต้องย้อนกลับมาอีก ระหว่าง สองวิธี กลับไป กลับมา  ให้ผู้เรียนรู้ข้อมูลคร่าว ๆ  แล้วจัดแบ่งประเภทข้อมูลเหมือนแบ่งช่องจดหมาย  นำความรู้ที่ได้เข้ามาใส่ช่องต่างๆ แล้วสร้างช่องให้เหมาะสมกับจดหมายที่มีมาเรื่อย ๆ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ลักษณะเดียวกับผึ้งสร้างรัง

ที่จะมีการสร้างช่องใหม่ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องวางไข่ใหม่  หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดโครงสร้างของความรู้ และชุดความรู้ วิธีการนี้ดูเหมือนจะได้ผลดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีการสอนนักเรียนจำนวนมาก ตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป ก็จะพบปัญหาว่าวิธีนี้ใช้ไม่ค่อยได้ผล กล่าวคือ จะมีนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่เริ่มตามไม่ทัน หลุดประเด็น และไม่สามารถจะเรียนรู้กับเพื่อนได้  ฉะนั้น เทคนิคการสอนดังกล่าวจึงเน้นในชั้นที่มีนักเรียนจำนวนน้อย 

 4.    การสอนแบบเล่าเรื่อง (Story telling) 

ในกรณีที่มีนักเรียนจำนวนมาก ผมจะพยายามใช้วิธีการสร้างตัวอย่าง พร้อมกับการนำข้อมูลต่างๆเข้ามาสอดแทรกทีละน้อย ๆ ให้เห็นทั้งชุดความรู้ และกลุ่มความรู้ไปพร้อม ๆ กัน เปรียบเสมือนหนึ่งผมแสดงละครการเรียนรู้ให้ดู นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ในกรณีของนักเรียนจำนวนมาก 

 5.    การสอนแบบโครงงาน (Project method) ในกรณีที่นักเรียนจำนวนน้อยจริง ๆ เช่นไม่เกิน ๕ คน ผมจะเน้นให้นักเรียนทำโครงงาน นั่งคุยรายละเอียด เป็นการเรียนรู้เฉพาะบุคคล วิธีนี้ผมจะสามารถประเมินกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละเรื่องของผู้เรียนได้อย่างชัดเจน และประเมินได้ว่า ใครอยู่ระดับไหน และถ้าจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ใกล้เคียงกัน จำเป็นต้องใช้เวลาที่ต่างกัน บางคนอาจจะได้เร็ว

บางคนอาจจะได้ช้า ตามขีดความสามารถ การทำงานเชิงเดี่ยวแบบนี้ จะทำให้เราประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เร็วกว่าการทำงานเป็นกลุ่ม  แต่บางท่านจะเถียงว่า การทำงานเป็นกลุ่มจะทำให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ดีกว่า

อันนี้ผมไม่เถียง แต่ว่าการทำงานที่ผมมอบหมายนั้น มันเป็นกลุ่มโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะใช้ความรู้ชุดเดียวกัน เพียงแต่ว่าทำรายงานของใครของมัน ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล เท่านั้นเอง 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในส่วนของตนเอง ก็ได้ผลงานจากกลุ่มอยู่แล้วโดยปกติ นี่คือตัวอย่างของกระบวนการสอนที่ผมใช้

ซึ่งผมเชื่อว่า จะทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่วัดผลได้ง่าย อาจารย์สามารถจะติดตามประเมินผลได้ตลอดเวลา 

เพราะผมถือหลักการว่า กระบวนการเรียนคือการนำความรู้เข้าสู่ระบบคิดของตนเอง วิธีหนึ่งวิธีใด ก็ได้  

หลังจากนั้น ก็เป็นการนำความรู้มาผสมผสาน คลุกเคล้าให้เกิดชุดความรู้ของตนเอง ที่จะทำให้เกิดปัญญา

อย่างน้อยที่สุด ก็วัดได้โดยจากการตอบข้อสอบ เชิงประยุกต์ ไม่ใช่ข้อสอบแบบท่องจำ หรือยิ่งกว่านั้น ในนักเรียนจำนวนน้อย อาจวัดผลโดยการทำโครงงาน หรือการสัมภาษณ์ ว่า  

ถ้าพบสถานการณ์ต่างๆ ท่านจะแก้ไขด้วยวิธีใด อย่างไร และเปิดโอกาสให้นักศึกษา สามารถสอดแทรกความคิดของตนเองเข้ามาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

และผมจะพยายามให้รางวัลเป็นพิเศษ กับคนที่มีความคิดเป็นของตนเองมากกว่าที่จะจำคำผมสอนมาตอบ  

ฉะนั้น ผมจึงถือหลักว่า การเรียนจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่ความรู้ การเกิดความรู้ในตนเอง เพื่อจะนำความรู้ต่างๆ มาจัดการ เพื่อวัตถุประสงค์ของตนเอง  

ในระยะสั้น คือ การตอบข้อสอบ 

ในระยะยาว คือ การใช้งานในการประกอบอาชีพ 

และเป้าหมายสุดท้าย คือ การสร้างปัญญา

ที่จะนำความรู้ต่างๆ ไปเชื่อมโยงกับผู้อื่นให้เกิดเกลียวและคลื่นแห่งความรู้ตามแนวคิดของ สคส. ที่จะทำให้เกิดการจัดการเรียนรู้ทุกหย่อมหญ้า 

 

หมายเลขบันทึก: 70272เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2006 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

  การสอนแบบบูรณาการ ละครับ

จะสอนแบบไหน

สอนอย่างไร

มันถึงจะเป็นการสอนแบบไม่สอน

จะแทรกซึมความรู้ผ่านรูช่องไหน

หรือจะผ่าสมองยัดใส่เข้าไปทั้งดุ้น

วานเล่าฮูตอบที

เพราะวิธีที่เขียนมานั้นเป็นการสอนภาคปกติ

สอนแบบนอกระบบในสภาวะผิดปกติ เป็นฉันใด

..จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยบรรยากาศทางวิชาการ กิจกรรมการเรียนการสอนที่ทั้งครูและลูกศิษย์ค้นคว้า เรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา จัดการความรู้และสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ฝึกใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา และมีกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมถึงคุณค่าของบัณฑิตที่มีคุณภาพ

  จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย คือการที่สถาบันมีความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม นักศึกษาได้เรียนรู้สภาวะแวดล้อม ปัญหาของสังคม และได้ฝึกจิตอาสาสมัคร ในการร่วมพัฒนาชีวิตชาวบ้าน

  มหาวิทยาลัย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ประชาคม ชุมชน ต่างทำกิจกรรมร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีจิตวิญญาณร่วมกัน

  ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ท่านจารไนไว้

ของเรานี้เรียนแบบ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ ดีไหมละครับอาจารย์ ถ้าให้คลำยังไม่คลำอีก สงสัยว่าจะต้องขยำซะละมั๊ง!!

สวัสดีครับ  ดร.แสวง

          อ่านชุดความรู้วิธีสอนที่อาจารย์ถอดวิธีสอนของอาจารย์ออกมาให้ดูแล้วนี่ นับไว้ได้ความรู้วิธีสอนวิธีต่างๆที่ใช้แล้วเวิร์คไม่เวิร์ค เป็นประสบการณ์ของอาจารย์ที่ผมคิดว่าจะสามารถนำบางวิธีมาปรับใช้กับตนเองที่จะนำไปปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมาย กศน. ชาวบ้าน

          ผมสนใจชุดความรู้ในแนวนี้มากครับอาจารย์ ต้องการพัฒนาตนเองและทีมงานตามแนวนี้อยู่พอดี และยิ่งที่ท่านครูบาท่านกล่าว่าจะต้องพัฒนาไปจนถึงชั้นสอนแบบไม่สอน เรียนแบบไม่รู้สึกตัวว่าเรียน เรียนแบบไม่มีหลักสูตรอย่างที่ตะวันตกออกแบบเค้าโครงหลักสูตรไว้จะต้องทำอย่างไร ผมว่าน่าสนใจสุดๆเลยครับ

          ขอบคุณมากครับอาจารย์

     สวัสดีครับ
     ขอเข้ามารายงานตัวก่อนว่าอ่านจบแล้ว และได้ประโยชน์ครับ  ผมเคยร่วมทีมทำงานการวิจัยเพื่อแสวงหารูปแบบ หรือกระบวนการ การเรียนรู้ โดยยึดเอาในหลวงเป็นต้นแบบ ทั้งพระราชดำรัส พระราชจริยาวัตร  พระราชนิพนธ์ ฯลฯ สรุปออกมาได้เป็น 4 ส่วนสำคัญคือ

  1. มุ่งมั่นด้วยศรัทธา
  2. ใฝ่หาความรู้ คู่คุณธรรม
  3. นำไปใช้อย่างฉลาด
  4. ไม่ประมาท หมั่นตรวจสอบ - พัฒนา

กราบเรียนครูบา ครูนง และอาจารย์พินิจ

ผมว่าเราต้องเอาประสบการณ์มา ลปรร เพื่อให้เกิดผลสรุปวิธีการทำงานเพื่อประเทศชาติในรูปแบบต่างๆได้ดีที่สุดครับ

การสอนแบบบูรณาการให้เป็นการเรียนแบบไม่ต้องเรียนนี่ดีที่สุดครับ

เป็นการจัดการความรู้ไปในตัว ทำให้ใช้ระบบการท่องจำน้อยลง

การฝังใจมากขึ้น เกิด Tacit knowledge เพื่อการใช้งานจริงได้อย่างเข้มแข็งและชัดเจน

ผมว่าเรามาถูกทางแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท