ปัญหาสังคม : อย่างไรจึง...ก้าวร้าว (2)


“พฤติกรรมเหล่านั้นได้ไปก้าวล่วงสิทธิคนอื่นไหม? สิทธิตามกรอบสังคม (ปทัฎฐาน, กฏ, ระเบียบ, กฎหมาย, จารีตประเพณีวัฒนธรรม) หากสังคมที่มีกรอบไม่เหมือนกัน การให้ค่าว่าอะไรคือพฤติกรรมก้าวร้าวน่าจะแตกต่างกัน ความก้าวร้าวบางแห่งเรียกกล้าแสดงออก”

          การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์มีมากมายหลายรูปแบบ พฤติกรรมบางอย่างเรามองว่าเป็นปัญหาสังคม แต่ในอีกสังคมหนึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นกลับถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ายกย่องช่วยเสริมสร้างสร้างสรรค์จรรโลงสังคมให้เข้มแข็งขึ้น แล้วพฤติกรรมอย่างไรเราจึงจะเรียกว่าเป็นปัญหาที่เราจะต้องช่วยกันแก้ นี่แหละที่ต้องมานั่งหาคำตอบเพื่อตอบคำถามว่า "พฤติกรรมอย่างไรถึงเรียกว่าเป็นปัญหา"

          ในขณะที่นั่งทบทวนเพื่อหาคำตอบก็นึกถึงคำว่า ปทัฎฐาน สมองคิดทบทวนหาคำตอบไปเรื่อย จนกระทั่งมาหยุดกึ๊ก!!... “พฤติกรรมเหล่านั้นได้ไปก้าวล่วงสิทธิคนอื่นไหม? สิทธิตามกรอบสังคม (ปทัฎฐาน, กฏ, ระเบียบ, กฎหมาย, จารีตประเพณีวัฒนธรรม) หากสังคมที่มีกรอบไม่เหมือนกัน การให้ค่าว่าอะไรคือพฤติกรรมก้าวร้าวน่าจะแตกต่างกัน ความก้าวร้าวบางแห่งเรียกกล้าแสดงออก” นี่คือคำพูดที่ได้สนทนากับคุณพี่ ชายขอบ เมื่อก่อนกาลนานมาแล้ว

          เมื่อคนอยู่รวมกันจนกลายเป็นชุมชนหรือสังคมหนึ่ง ๆ ขึ้นมา หนึ่งคนหาใช่มีเพียงหนึ่งพฤติกรรมไม่ แต่ในหนึ่งคนกลับมีพฤติกรรมที่หลากหลายมากมายในแต่ละวัน พฤติกรรมที่หลากหลายของหลาย ๆ คน หรือเพียงคนหนึ่งคนเดียวก็สามารถสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมได้ร้อยแปดพันประการ เราจึงต้องสร้างกรอบของสังคมขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนดำเนินชีวิตภายใต้กรอบนั้น อันจะช่วยลดความขัดแย้งความวุ่นวายในสังคมให้ลดน้อยลง ในขณะเดียวกันแต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่ย่อมมีกรอบไม่เหมือนกัน เพราะพฤติกรรมบางอย่างอาจจะได้รับการยกย่องสรรเสริญจากสังคมหนึ่งแต่ในขณะเดียวกันเมื่อไปแสดงออกในอีกสังคมหนึ่งกลับเป็นพฤติกรรมที่โหดร้ายป่าเถื่อนไป การตัดสิน การให้ค่าว่าพฤติกรรมอย่างไรจึงเป็นพฤติกรรมปัญหา จึงค่อนข้างตัดสินยากเอาการ

          ดังนั้น หากเราลองวาดเส้นตรงขึ้นมาดูจุดตัด ที่เรียกว่าอะไรก้าวร้าวไม่ก้าวร้าวนั้นเรียกว่า “Cut Point” จุดตัดที่ว่าและใช้ได้กับทุกสังคมมองว่าสิ่งนั้นคืออะไร...นี่คือคำตอบที่ซ่อนคำถามเพื่อรอการค้นหากันต่อไป ยังคงโยงใยกันเป็นลูกโซ่

หมายเลขบันทึก: 70219เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2006 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เจริญพร อาจารย์ vij

บทความนี้น่าสนใจ และเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับจริยปรัชญาอย่างมากครับ อาจารย์ลองไปดู "กับดักจริยปรัชญา" ที่อาตมาสรุปไว้ อาจมีความเห็นบางอย่างเพิ่มขึ้นก็ได้ครับ ...จะลองวิเคราะห์บทความของอาจารย์ในฐานะนักจริยปรัชญาดูนะครับ เพื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบางอย่าง..

"พฤติกรรมอย่างไรถึงเรียกว่าเป็นปัญหา" ข้อความนี้ น่าจะบ่งชี้ถึงการประเมินค่าพฤติกรรมนะครับ พฤติกรรมที่มีปัญหาคือ ผิดหรือชั่ว ...นี้เป็นการตั้งประเด็นขึ้นมา

ปทัฎฐาน หรือเกณฑ์ตัดสิน ..แต่ละสังคมจะมีเกณฑ์ตัดสินแตกต่างกันไป เหมือนกัน คล้ายคลึง หรือขัดแย้งกัน ไม่แน่นอน ซึ่งสังคมนั้นๆ ได้กำหนดเพื่อความเหมาะสมของสังคมนั้นๆ...ถ้ายอมรับตามเกณฑ์นี้จัดเป็น พหุนิยมเชิงจริยะ

สังคมเชิงซ้อนซึ่งมีลักษณะเป็นพหุภาพหรือมหัพภาค จะมีปัญหาเมื่อเราไม่สามารถหามาตรฐานเดียวขึ้นมาเพื่อให้มีความเหมือนกันได้ ... จุดตัด เพื่อความเหมาะสมเป็นไปได้ยากส์ ดังนั้น จึงมีนักจริยปรัชญาสร้างเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อครอบคลุมทั้งหมดไว้ ให้มีลักษณะเป็น เกณฑ์เดียว และใช้ได้เป็น สากล ...

แนวคิดเรื่องเกณฑ์เดียวที่ใช้เป็นสากลทั่วไปนี้ มีอยู่ ๒ สำนัก คือ

๑. ประโยชน์นิยม "พฤติกรรมที่ถูกต้องคือพฤติกรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์มากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด"

๒. ลัทธิคานต์ "พฤติกรรมที่ถูกต้องคือพฤติกรรมที่เราประสงค์จะให้ทุกคนก็เป็นอย่างนั้น"

แต่ทั้งสองฝ่ายนี้ก็มีปัญหาครับ ..แค่นี้ก่อนนะครับอาจารย์

เจริญพร 

ทักทายคุณครูหน้าหวานก่อน แล้วจะว่ากันต่อ

เส้นแบ่งความก้าวร้าวที่ลากขึ้นมานั้นหากลากผ่านสังคมแต่ละสังคม หรือกลุ่มคนแต่ละกลุ่มย่อย ย่อมไม่น่าจะเป็นเส้นตรงได้ หากครูว่าเป็นเส้นโค้งหรือหยักงอได้ เราจะได้ว่ากันต่อว่าเส้นนี้แบ่งความก้าวร้าวได้จริง หากครูยังยืนยันว่าเป็นเส้นตรง space ไม่เชื่อ และ space ยอมแพ้ แต่ก็ยอมแบบไม่เชื่อนะ

     รออ่านตอนต่อไปในประเด็นที่ได้ตั้งคำถามนี้ไว้นะครับ แล้วจะรวบยอดเพื่อแลกเปลี่ยนกันต่อ อยากให้ไปดูที่ คห.ของ space ในบันทึกนี้ เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา ๑ ด้วยครับ น่าสนใจมากที่เดียว

เข้าไปอ่าน "กับดักจริยปรัชญา" มาแล้วค่ะหลวงพี่ แต่ทีนี้ก็ยัง งง ๆ เลยไปตั้งประเด็นถามหลวงพี่ไว้ บันทึกหลายบันทึก และการต่อยอดของหลวงพี่ล้วนแล้วมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการแก้ไขปัญหาสังคมค่ะ ได้ประเด็นที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมเยอะมากเลยค่ะหลวงพี่...คงต้องไปนั่งทบทวนเรื่องเกณฑ์ตัดสินก่อน และขอ ลปรร.กับหลวงพี่ต่อในประเด็นของ แนวคิดเรื่องเกณฑ์เดียวที่ใช้เป็นสากลทั่วไปของ ๒ สำนัก คือ ประโยชน์นิยม และของลัทธิคานต์ นะคะ

มีประเด็นมากมายที่สนใจค่ะท่าน

 สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณ space 

ขอบคุณสำหรับคำชมที่ดูท่าว่าจะหวานกว่าหน้า Vij ค่ะ...แน่นอนที่สุดค่ะเส้นแบ่งความก้าวร้าวที่ลากผ่านแต่ละชุมชนหรือสังคมย่อมที่จะไม่ใช่เส้นตรง หรือหากในชุมชนเดียวกันแต่คนละหมู่บ้านเส้นที่ออกมาย่อมไม่ตรง เพราะแต่ชุมชนแต่ละสังคมมีพฤติกรรมก้าวร้าวที่แตกต่างกัน ความหนักเบา เล็กใหญ่ สูงต่ำของความรุนแรงต่างกัน เส้นที่ลากผ่านย่อมออกมาเป็นเส้นโค้งหรือหยักงออย่างที่ท่านว่าไว้จริง ๆ ค่ะ

ยอมแพ้ตามหลักของเหตุผลในความเป็นจริงของสังคมค่ะ ทีนี้ space คงจะเข้ามา ลปรร.กันต่อนะค่ะ

  

ขอบคุณคุณพี่ ชายขอบ ที่ติดตามค่ะ เมื่อสักครู่เข้าไปอ่านมาแล้วค่ะ แต่ยังอ่านไม่ละเอียดสักเท่าไร ว่าจะลองเข้าไปอ่านใหม่...ทิ้งรอยไว้ที่บันทึกของหลวงพี่ ค่ะ แต่ตัวเองก็ยัง งง อยู่ค่ะ ไม่แน่ใจว่าหลงประเด็นหรือเปล่า
  • ผมมองว่าเกณฑ์ชี้วัดของแต่ละสังคม หรือชุมชนย่อมมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทวัฒนธรรม  และโดยเฉพาะในกลุ่มสังคมเมืองกับสังคมห่างไกลเมือง (บ้านนอกขอบชนบท หรือชายขอบ) 
  • ตอนนี้ก็กำลังยุ ๆ ให้เจ้าหน้าที่ด้านแนะแนวให้คำปรึกษาสมัครเข้ามาเขียน blog จะได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ เพราะก่อนนี้ก็เปิด blog อาจารย์ให้เจ้าหน้าที่ดูไปแล้ว  ซึ่งในเร็ววันอาจมีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เพิ่มขึ้นอีกคน

จุดที่จะเรียกว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ในอีกแนวคิดหนึ่ง  ผมเห็นว่าขึ้นอยู่กับผู้รับรู้พฤติกรรมแล้วให้ความหมาย    

                       ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณ แผ่นดิน ค่ะ

ประเด็นแรกเชื่อเช่นนั้นเหมือนกันค่ะว่าเกณฑ์ชี้วัดของแต่ละสังคม หรือชุมชนแตกต่างกันอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับการให้ค่าในแต่ละพฤติกรรมของคนในสังคม ดังนั้นเกณฑ์ตัดสินที่ว่าย่อมแตกต่างกันในแต่ละสังคม ทีนี้มอง ๆ ว่าแล้วเกณฑ์อะไรที่สามารถเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ได้กับทุกชุมชนสังคม?

ประเด็นนี้จึงมองว่าเกณฑ์ที่ดีนั้นย่อมสกัดมาจากแต่ละชุมชนหรือสังคมทั้งเล็กทั้งใหญ่ และเราเลือกเอาเฉพาะพฤติกรรมที่สังคมให้ค่าที่เหมือนกัน ส่วนที่ไม่สอดคล้องต้องกันก็ให้ตัดออกไป เป็นการลดข้อย่อยของแต่ละสังคมลงให้เหลือแต่ประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องการ นั่นก็แสดงว่าเราเหลือไว้เพียงพฤติกรรมที่เหมือนกันเพื่อมาสร้างเกณฑ์วัดที่เรียกว่าเป็นที่ยอมรับของทุกคนในสังคมในภาพรวมใหญ่ หรือหากจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานของสังคมก็ย่อมได้ ซึ่งแนวคิดนี้ดิฉันได้ "ปิ๊งแว๊บ" จากการ ลปรร. ระหว่างหลวงพี่ กับคุณ space ในบันทึก  เปรียบเทียบเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมตะวันตกกับวิภัชชวาทในพุทธปรัชญา ๑ ค่ะ

ประเด็นที่สองต้องขอขอบคุณคุณ แผ่นดิน มากค่ะ เป็นความยินดีที่ปลาบปลื้มมากที่จะได้ผู้รู้มาช่วย ลปรร.กันเยอะ ๆ ค่ะ ยินดีต้อนรับอาจารย์เข้าสู่ GotoKnow.org นะคะ และเชิญแวะมา ลปรร.ด้วยความปลื้มปิติและยินดีมากค่ะ

ขอบคุณคุณ แผ่นดิน อีกครั้งค่ะ

ขอบคุณท่าน ผอ.มากค่ะ

นั่นก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของจุดตัดค่ะ จากปัจเจกบุคคลมองว่าอย่างไร? เรียบเคียงจนเป็นชุมชนมองว่าอย่างไร? จนมาถึงสังคมใหญ่มองว่าอย่างไร? สิ่งเหล่านี้ที่ทุกคนในชุมชนในสังคมมองและให้ค่าหรือรับรู้พฤติกรรมนั้นแล้วให้ความหมายเหมือนหรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน...สิ่งที่ทุก ๆ คน คิดเหมือนกันจึงน่าจะเป็นจุดตัดของพฤติกรรมก้าวร้าว หรือไม่อย่างไร? ประเด็นดังกล่าวยังเปิดให้ ลปรร.ต่อนะคะ เพราะบางครั้งการปิ๊งแว๊บของดิฉัน อาจจะปิ๊งแว๊บที่ยังไม่สว่างจ้านักสักเท่าไร จึงรอการ ลปรร. กันต่อไปค่ะ

  • สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณ vij

สวัสดีปีใหม่ค่ะหลวงพี่ และคุณ nutim
สนุกและมีความสุขมาก ๆ นะคะ

ได้เข้ามาอ่านบทความที่อาจารย์เขียนแล้วได้แง่คิดและมีมุมมองที่เพิ่มขึ้น ที่อาจารย์เสนอทางออกให้สังคมในการขีดเส้นตรงสองเส้นเพื่อหาจุดตัดที่คิดว่าเป็นคำตอบของสังคมว่าอะไรคือนิยามของคำว่าความ..ก้าว..ร้าว..? มุมมองก็คือกาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้กฏระเบียบและกติกาเปลี่ยน อีกทั้งบริบทของบุคลนั้นเป็นตัวกระตุ้นหรือทำให้เกิดปฏิกริยามากหรือน้อย ความ..ก้าว..ร้าว ไม่ได้ถูกแสดงออกในคราวเดียวแต่อาจถูกบ่มเพราะในจิตใจเป็นเวลานานได้ หากเราสนใจเพียงผลที่เกิดปลายเหตุ(action)เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ทัน ดังนั้นการที่จะเข้าใจถึงที่มาของนิยามของ..ความ..ก้าว..ร้าว จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท